Skip to main content
sharethis

ประชาไท—20 มิ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กรีนพีซร่วมกับนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายชุมชนไม่เอาถ่านหิน จัดการแถลงข่าว "จากเหมืองถ่านหินสู่ชั้นบรรยากาศ จากไฟฟ้าถึงค่าเอฟทีและผู้บริโภค" ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขณะนี้ สังคมไทยมาถึงทางสองแพร่ง ถ้าเรายังเสพติดพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะตกอยู่ในมือของธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม แต่หากเราพัฒนาและใช้พลังงานหมุนเวียน เราจะได้ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก่อประโยชน์ต่อคนในสังคมโดยรวม และปกป้องสิ่งแวดล้อม


 


การเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องมาจากการประชุม Thai Power 2006 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 มิถุนายน 2549 ของภาคนโยบายและธุรกิจพลังงาน ซึ่งจะประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางตลาดพลังงานของประเทศไทย ที่โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ โดยมีการระบุว่า ภายใต้โครงการความมั่นคงด้านพลังงานแห่งชาติ ประเทศไทยต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 13,000 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2554-2558


 


โดยประมาณครึ่งหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าจะเป็นโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอีกครึ่งหนึ่งจะเปิดให้มีการประมูลแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระภาคเอกชนปลายปีนี้ หรือต้นปี 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนฯ จะสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อรับประกันเสถียรภาพของแหล่งพลังงาน


 


ทั้งนี้ การที่เก็บค่าเข้าร่วมการประชุม 3 วัน จำนวน 60,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นการประชุมแบบปิดประตู ไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วม


 


อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเปรียบเทียบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อให้เกิดต้นทุนการผลิต ภาระการนำเข้าเชื้อเพลิง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนผลกระทบภายนอกมากที่สุด หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกเพียง 6,300 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2558 จะมีการปล่อยมลพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณ 358,011 ตัน และปรอทจำนวน 20,496 กิโลกรัม สะสมในสิ่งแวดล้อม


 


ขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพ คาดการณ์ว่าจะมีการเสียชีวิตฉับพลัน 228 คน การเสียชีวิตแบบเรื้อรัง 2,223 คน ดังนั้น ทางเลือกของสังคมไทยจึงไม่ใช่ถ่านหิน แต่เป็นการเร่งรัดพัฒนาพลังงานสะอาดและหมุนเวียนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน


 


ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยอิสระด้านนโยบายสาธารณะ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ไทยสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการพยากรณ์ว่า มีความต้องการใช้พลังงานถึง 21,963 เมกกะวัตต์ ขณะที่ใช้จริงเพียง 21,064 เมกกะวัตต์ เท่ากับพยากรณ์ผิดพลาด 899 เมกกะวัตต์เทียบได้กับโรงไฟฟ้า 1 โรง


 


มีทางเลือกที่ดีกว่าพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ นั่นคือ พลังงานหมุนเวียน ซึ่ง ณ วันนี้ มีพลังงานหมุนเวียนในไทยรวมกัน 1,000 เมกกะวัตต์แล้ว แม้จะยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ก็ผลิตได้มากกว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะนะซึ่งวางแผนการผลิตไว้ที่ 700 เมกกะวัตต์


 


ทั้งนี้ หากหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน จะลดภาระการลงทุนได้ถึง 14,300 ล้านบาท ลดค่าเชื้อเพลิงได้ 373,800 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 130.5 ล้านตันด้วย


 


สายรุ้ง ทองปลอน เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า งบประมาณการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่สูงถึงนับแสนล้านบาทไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สถาบันวิชาการ หรือองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งสาธารณะอื่นๆ และได้มีการคำนวณการใช้พลังงานผิดพลาดซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน


 


ผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า หากภาครัฐมีนโยบาย และมาตรการสนับสนุน ประเทศไทยจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2563 ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหากรัฐบาลไทยจะมีนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net