Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 มิ.ย. 2549 นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอนโยบายให้มีการย้ายชาวเขาเผ่าปะต่องที่อาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนทั้งหมดให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเดียว ซึ่งนายดิเรกกล่าวว่านโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ของชาวเขาเผ่าปะต่องให้ดีขึ้น อีกทั้งยังต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของเผ่าให้อยู่คู่จังวัดแม่ฮ่องสอนไปนานๆ ซึ่งการย้านหมู่บ้านมาอยู่รวมกันจะช่วยให้จังหวัดสามารถควบคุมดูแลได้ง่ายดายและทั่วถึงมากขึ้น


 


ทั้งนี้ ชาวเขาเผ่าปะต่อง หรือ กะเหรี่ยงคอยาว ที่อาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านห้วยปูเก้ ต.ผาบ่อง อ.เมือง หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง อ.เมือง และหมู่บ้านคะยาในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง หมู่บ้านทั้งหมดอยู่ติดรัฐคะยา ซึ่งเป็นชายแดนพม่า


 


เจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดได้แจ้งแก่ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 แห่งให้รับทราบนโยบายการย้ายชาวเขาเผ่าปะต่องทั้งหมดมารวมกันเป็นหมู่บ้านเดียว ซึ่งก็คือที่บ้านห้วยปูเก้ แต่นโยบายดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกแก่ชาวบ้านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงในชีวิต


 


นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ จ.แม่ฮ่องสอน แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่าการย้ายชาวบ้านจาก 3หมู่บ้าน หรือประมาณ 200 ครัวเรือน มารวมไว้ในพื้นที่เดียวกันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทางแม่ฮ่องสอน เพราะที่ผ่านมาชาวปะต่องหรือกะเหรี่ยงคอยาวมีอยู่เฉพาะในแม่ฮ่องสอนที่เดียวเท่านั้น ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวไป แต่เกรงว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งในด้านพื้นที่ที่จะใช้สำหรับอยู่อาศัย รวมไปถึงเรื่องสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การศึกษา และที่ดินทำกินของชาวบ้านด้วย


 


หากสิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเด็นเรื่องที่ดินทำกิน ทางจังหวัดจะต้องจัดเตรียมที่ดินให้กับชาวบ้าน เนื่องจากวิถีชีวิตโดยส่วนใหญ่ของชาวปะต่องมีอาชีพทำไร่ทำสวนเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่สามารถทำไร่ ทำสวนได้ เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องหารายได้โดยการเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป และรายได้จากสินค้าหัตถกรรมที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวดูวัฒนธรรมกะเหรี่ยงคอยาวใน แต่ชาวบ้านได้รับรายได้ส่วนน้อยจากการท่องเที่ยว เพราะรายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ที่บริษัททัวร์


 


นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ของการย้ายชาวบ้านให้ชัดเจน พร้อมกันนั้นก็ต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องถามความสมัครใจชาวบ้านด้วยว่าคิดเห็นอย่างไร จะย้ายหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น กรณีการหลบหนีออกไปหางานทำนอกพื้นที่ในฐานะแรงงานต่างด้าว และอาจถูกนายจ้างกดขี่ค่าแรง เพราะบัตรสีฟ้ายังไม่ได้คุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกับคนไทย เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดยังไม่ได้ดำเนินการโยกย้ายใดๆ อีกทั้งแผนการดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net