Skip to main content
sharethis


 


 


วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2006


ธนก บังผล, ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 




 


ภาระอันหนักอึ้งของ พลโทองค์กร ทองประสม ในฐานะแม่ทัพภาค 4 มีลูกน้องใต้บังคับบัญชาหลายพันนาย ซึ่งต้องปฏิบัติงานที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเหตุความไม่สงบทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากจะต้องสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตแล้วยังมีความหนักใจในปัญหาไฟใต้อยู่หลายประการ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด การวางระเบิดในวันเดียวถึง 50 จุด เมื่อวันที่ 15มิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะเป็นเหตุที่ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่เกิดเหตุความไม่สงบ การแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ของรัฐนั้นมืดบอดอย่างยิ่ง


 


กระนั้น จนป่านนี้ "มวลชน" และ "การข่าว"ยังเป็นเรื่องหลักที่ภาครัฐพ่ายแพ้มาโดยตลอด นาทีนี้ แม่ทัพภาค 4 คือ ผู้ที่จะตอบคำถาม


 


พลโทองค์กร เริ่มบทสนทนาว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ฝ่ายก่อความไม่สงบมีความพยายามก่อเหตุทุกๆ เรื่อง พร้อมๆ กันหลายๆ เป้าหมายการติดต่อสื่อสารที่ง่ายทำให้เป้าหมายที่ผู้ก่อการกำหนดง่ายขึ้นซึ่งเป็นเป้าหมายสาธารณะ มีการแอบเอาถุงไปไว้ในห้องน้ำบ้าง ประตูบ้าง


 


"ซึ่งการจะแก้ปัญหาตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยเป็นหูเป็นตา ถ้าหากเห็นความเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตของกลุ่มบุคคลต่างๆ อยากให้ช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายของพี่น้องประชาชนจนทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป เศรษฐกิจเปลี่ยนไปการลงทุนการท่องเที่ยวก็ไม่มีใครกล้ามา ตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างมาก"


 


โดยแม่ทัพภาค 4 ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่มวลชนไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมาจาก ผู้ก่อการใช้ความรุนแรง โหดเหี้ยม ข่มขู่ราษฎรทำให้ชาวบ้านไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่


 


"อย่างวันที่ 15 มิถุนายน ที่มีการก่อเหตุระเบิด 50 จุด จริงๆมีการแจ้งเตือนห้วงเวลาที่จะมีเหตุแต่ไม่มีรายละเอียด ไม่รู้ว่าอะไรที่ไหน เจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจดูแลรักษาความปลอดภัยให้ครู โดยไม่คาดคิดว่าผู้ก่อเหตุจะกล้าทำขนาดนี้"


 


พลโทองค์กร กล่าวว่า หลังจากมีการก่อเหตุได้มีการหารือกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ทำเป็นรายละเอียดความเสียหายส่วนรวมส่งถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างเข้มงวด


 


ในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบกำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แม่ทัพภาค 4 บอกว่า สถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้วแต่ความรุนแรงบางเหตุการณ์ยังรุนแรง มีการฆ่าตัดคอ ระเบิดรถทหาร อีกทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่มีความก้าวหน้าขึ้น มีการจับกุมคนทำผิด ได้ความร่วมมือจากประชาชน ค้นพบที่ซ่อนอาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากขึ้น ความก้าวหน้าการสืบสวนสอบสวนตรวจค้นอุปกรณ์มีมากขึ้น


 


"เราประเมินว่า เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามดิ้นรนแสดงศักยภาพ โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมจนเกิดผลเสียในพื้นที่ แนวโน้มในอนาคตผมคิดว่า น่าจะยังคงเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องพยายามทำงานหามาตรการป้องกัน จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ ต้องใช้เวลาใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่จะนำสันติสุขมาสู่พื้นที่ เพราะหัวใจคือการให้ความร่วมมือในแต่ละหมู่บ้าน อำเภอ ตำบล ชาวบ้านต้องดูแลกันทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือดูแลความสงบเรียบร้อย"


 


โดยเขาย้ำว่า การทำความเข้าใจตรงนี้ไม่ง่าย เพราะฝ่ายผู้ก่อการใช้ความโหดเหี้ยม สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน


 


สำหรับพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้ (พ.ร.บ.ดับไฟใต้)ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.)ได้นำเสนอต่อรัฐบาล แม่ทัพภาค 4 ยอมรับว่ายังดูไม่ละเอียด และขอเวลาศึกษา


 


"ข้อเสนอของ กอส.ที่ผ่านๆ มา มีลักษณะของการไม่ติดอาวุธ ถามว่าสถานการณ์ปัจจุบันถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ติดอาวุธ เมื่อเกิดเหตุร้ายใครจะรับผิดชอบ ให้ถอนทหารออกแล้วยกเลิก พระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.บ.ฉุกเฉิน 2548) โดยให้กำลังในพื้นที่ไม่ติดอาวุธ ถ้าเกิดเหตุร้ายขึ้นจะมีผู้รับผิดชอบหรือเปล่า ปกติถ้ามีเหตุร้าย ยังมีคนร้ายทำร้ายประชาชน เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุม มีความจำเป็นที่ต้องใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน กอส.สามารถบอกได้ว่าให้ยกเลิก แล้วเหตุการณ์จะไม่เกิดหรือ"


 


อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ภาครัฐจัดตั้งลงมาดูแลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายหน่วย งาน พลโทองค์กรบอกว่า แต่ละหน่วยงานมีระบบ หน้าที่จะทับซ้อนหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงเป็นผู้ตัดสินใจ


 


ด้านปัญหาการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่ทัพภาค 4 วิเคราะห์ว่า ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพี่น้องคนไทยทั้งหมด การใช้กฎหมายโดยเข้มงวดจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางเรื่องบางมาตรการต้องละเอียดอ่อนในการใช้


 


"บางเรื่องที่ต้องเข้มงวดจริงๆ เอ็นจีโอ หรือองค์กรอิสระต่างๆก็จะตำหนิเจ้าหน้าที่รัฐ ตรงนี้เป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก และเป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้การทำงานล่าช้า" พลโทองค์กร กล่าวและว่า


 


"จริงๆ การทำงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่คำนึงถึงประชาชน แต่ผู้ก่อการไม่คำนึงถึงผู้บริสุทธิ์ แผนของเราบอกตรงๆว่ายาก อย่างการวางระเบิดในห้องน้ำ สถานีรถไฟ องค์การบริหารส่วนตำบล ในชุมชนไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น ทำให้คิดเหมือนกันเพราะเราไม่อยากให้เกิด ไม่คาดคิดว่าจะทำขนาดนี้ คนเดือดร้อนคือพี่น้องประชาชน ต่อไปต้องแก้ไขการทำงานในบางส่วน การข่าวต้องแม่นยำมากขึ้น เร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องทุกภาคส่วน ให้ดูแลชุมชนของตัวเอง โดยการดำเนินการในการแจ้งเหตุร้ายเหตุด่วน ต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงในหลายๆ ด้านให้มีความฉับไว"


 


"เหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เพิ่งจะบ่มเพาะมันมีประวัติศาสตร์มายาว นานพอสมควร ความเชื่อของเยาวชนที่ถูกฝังความเชื่อเรื่องรัฐปัตตานี มีการถูกกีดกันใช้เวลาบ่มเพาะยาวนาน การจะปรับเปลี่ยนความคิดในเวลาสั้นๆ 1-2 ปี เป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนทัศนคติต่างๆ วัยรุ่นที่เราจับกุมได้ทำร้ายพระ ซุ่มลอบยิงทหาร เป็นนักศึกษาที่มีความประพฤติเรียบร้อย แต่ถูกเกลี้ยกล่อม ถ้าถามว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน เจ้าหน้าที่ทุกคนอยากให้เสร็จเร็วๆ ทุกคนอยากกลับบ้านกลับไปอยู่กับครอบครัว"


 


ระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ พลโทองค์กร บอกว่า มีการทบทวนกันอยู่เสมอ โดย 4-5 เดือน มีการยึดอุปกรณ์ประกอบระเบิดได้พอสมควร ได้จับกุมคนประกอบระเบิด


 


"มันเกิดอะไรขึ้นที่เขาสามารถใช้ระเบิดในที่ต่างๆ ข้อบกพร้องของเราคือมวลชนและการข่าว เรามีจุดอ่อนตรงไหนต้องปรับปรุง อย่างการประกอบระเบิดเอาไปวางมันรอดหูรอดตาไปได้อย่างไร"


 


นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า ในช่วงพระราชพิธีฉลองครองราชย์ 60 ปี ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ในขณะที่มีข่าวว่าวันที่เกิดระเบิดจะเป็นวันคล้ายวันสถาปนาวันชาติมลายูปัตตานีแต่ไม่เคยคิดว่าวันไหนเป็นวันสำคัญ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันสถาปนารัฐ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้ดูแลในช่วงพระราชพิธีจนเกิดความอ่อนล้า


 


"เจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งตำรวจทหารทุกคนเหน็ดเหนื่อย บางทีเราต้องการกำลังใจ"


 


สุดท้าย พลโทองค์กร เล่าถึงความฝัน ในวันที่ไฟใต้สงบให้ฟังว่า ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านผนึกกำลังดูแลความปลอดภัย ทำความเข้าใจกับเยาวชนที่หลงผิด เป็นหูเป็นตาให้รัฐ


 


"เมื่อไรที่พี่น้องผนึกกำลังได้ความสงบสุขจะกลับมา ขึ้นอยู่ว่าพี่น้องให้ความร่วมมือแค่ไหน คนที่ลำบากคือคนในพื้นที่ เศรษฐกิจ การกรีดยางกระทบกันหมด จากที่เคยออกไปกรีดยางตอนตี๓ ตี๔ ก็ทำไม่ได้เป็นความหวาดระแวงหมด เจ้าหน้าที่พยายามลงไปทำความเข้าใจ นำผู้นำท้องถิ่นมาขอความร่วมมือ ทุกคนที่เชิญมาก็รับปากว่าจะกลับไปทำความเข้าใจ"


 


ทั้งหมดนี้คือความในใจของแม่ทัพภาค 4 ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net