บทความ 24 มิถุนา : 74 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง : ขบวนการแรงงานไทย

โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

 

ขบวนการแรงงานไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

แรงงานรับจ้างในระยะต้นของสยามประเทศเมื่อระบบทุนแรกพัฒนาส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน สาเหตุด้วยคนไทยติดอยู่กับพันธนาการของระบบไพร่และถูกผลักสู่พื้นที่นาเพื่อผลิตข้าวเพื่อการส่งออกในกระบวนการแบ่งงานระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาวริ่ง (เอฟทีเอยุคแรก) แรงงานจีนเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นกงสีเป็นสมาคม สมาคมลับอั้งยี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในระยะแรกนั้น อั้งยี่แม้จะไม่ใช่องค์กรแรงงานในความหมายของสหภาพแรงงาน แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่สมาคมอั้งยี่ได้นำการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกรรมกรจีน การนัดหยุดงานหลายครั้งของคนงานเหมืองที่เกิดขึ้นในยุคนั้นถูกนำโดยอั้งยี่ จนทำให้ในที่สุดรัฐไทยก็ได้ออกกฎหมายห้ามการรวมตัวกันเป็นอั้งยี่และบังคับให้ต้องมาจดทะเบียนเป็นสมาคมสโมสรในปี 2440 แต่กระนั้นก็ไม่เคยปรากฏว่ามีสมาคมหรือสโมสรของคนงานได้รับการยอมรับให้จดทะเบียน จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปแล้วนั่นแหละสมาคมคนงานรถรางที่ถือเป็นสมาคมของคนงานแห่งแรกจึงได้รับการจดทะเบียนในเดือนสิงหาคม

 

การที่บรรพบุรุษของแรงงานรับจ้างไทยเป็นคนเชื้อสายจีนทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเป็นไปอย่างยากลำบากมากกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยติดปัญหาทางเชื้อชาติและข้อจำกัดทางการเมือง กรรมกรจีนถูกมองเป็นคนต่างด้าว และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีน คนงานจีนในไทยจึงถูกจับตามากขึ้นอีกระดับด้วยข้อหาอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรค "สาธารณะรัฐ" และ "สังคมนิยม" ที่แพร่ระบาดอยู่ในจีนเข้ามาในไทยด้วย

 





   

    รัฐไทยใช้ความคิดเรื่อง "ความมั่นคง

    แห่งชาติ" มาเป็นกรอบใหญ่ในการ

    กำหนดนโยบายด้านแรงงานใน

    ประเทศไทยมาตั้งแต่แรกและยังคงมี

    อิทธิพลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

   

การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงาน

   ไทยในระยะแรกก่อนเปลี่ยนแปลง

    การปกครองจึงเป็นขบวนการใต้ดิน ที่

    นำโดยกรรมกรจีนซึ่งเป็นส่วนข้าง

    มากของแรงงานรับจ้างในไทย แม้

    ภายหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจผนวก

    กับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง

    สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ชาวนา

   ไทย จำนวนมหาศาลต้องทิ้ง






ที่นาเข้าเป็นกรรมกรรับจ้างในโรงงานอันเป็นการเพิ่มสัดส่วนของแรงงานไทยในตลาดแรงงาน แต่กระนั้นขบวนการแรงงานก็ยังคงมีบทบาทจำกัด อยู่ในลักษณะเป็นขบวนการใต้ดินของกรรมกรเชื้อสายจีนมีบทบาทนำ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งลงมาเคลื่อนไหวจัดตั้งเป็นแกนนำในขบวนการกรรมกร นั่นคือคณะกรรมกร      ที่นำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช และคณะซึ่งได้มีการออกหนังสือพิมพ์กรรมกรเป็นกระบอกเสียงและเครื่องมือในการต่อสู้

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับขบวนการแรงงานไทย

ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกว่าขบวนการแรงงานไทยในขณะนั้นได้เข้ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่เชื่อกันว่าผู้นำในขบวนการแรงงานบางส่วนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระดับหนึ่งกับปีกซ้ายของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายถวัติ ฤทธิเดช กับนายปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรมีการเคลื่อนไหวกับมวลชนอย่างจำกัดก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยเหตุที่






   

คณะราษฎรได้เลือกใช้วิธีการรัฐประหารที่ใช้กำลังทหารเป็นฐานกำลังสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หาได้ใช้วิธีการปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือปฏิวัติ ฝ่ายแรงงานได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรอย่างชัดเจนก็หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว ที่เห็นเด่นชัดก็คือกรณีการปราบกบฎบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 ที่สมาคมคนงานหลายสมาคมได้เข้าร่วมมือกับคณะราษฎรอย่างเปิดเผย

2475 ได้ทำให้ขบวนการแรงงานไทยส่วนหนึ่งขึ้นมา 

 


เคลื่อนไหวบนดิน เนื่องจากการที่รัฐบาลใหม่ยอมจดทะเบียนให้กับสมาคมของคนงาน ทำให้องค์กรของคนงานมีฐานะทางกฎหมาย ประกอบกับความสัมพันธ์                                            


ระหว่างหัวขบวนกรรมกรกับปีกซ้ายของคณะราษฎรทำให้ขบวนการแรงงานเติบโตขึ้น มีองค์กรแรงงานจำนวนมากได้เข้าจดทะเบียนเป็นสมาคม และมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรศูนย์กลางระดับชาติ ที่โดดเด่นมากคือสมาคมอนุกูลกรรมกรที่นำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช ขบวนการแรงงานในช่วงดังกล่าวไม่ได้จำกัดสมาชิกอยู่แค่กรรมกรในโรงงาน หรือลูกจ้างที่มีนายจ้างเท่านั้น ทว่ายังได้ผนวกเอาผู้รับจ้างอิสระเข้ามาด้วยเช่นคนงานลากรถที่ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างในความหมายปัจจุบัน รวมทั้งคนตกงานที่มีจำนวนมากมายมหาศาลก็ได้ถูกผนวกเข้าสู่ขบวนการแรงงานด้วย มีการเคลื่อนไหวของ คนงานอย่างเปิดเผยและคึกคักเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็มีกรรมกรอีกส่วนที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ใต้ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มกรรมกรจีนนิยมคอมมิวนิสต์ ดังปรากฎหลักฐานเอกสารการเคลื่อนไหวของคณะกรรมกรหนุ่งแห่งสยามเมื่อต้นปี 2476 ท่าทีของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต่อฝ่ายสังคมนิยมและการออกพรบ.คอมมิวนิสต์เป็นแรกกดดันให้ส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมกรยังคงต้องดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะใต้ดิน

 


ลัทธิทหารและสงครามโลกครั้งที่สอง

ชัยชนะของคณะราษฎรเหนือฝ่ายอำนาจเก่าในการปราบกบฎบวรเดช บรรยากาศของสงครามและการขึ้นสู่อำนาจของหลวงพิบูลสงครามทำให้รัฐบาลคณะราษฎรหันไปใช้กองทัพ เป็นฐานค้ำชูอำนาจทางการเมืองของตน การถูกผลักออกจากศูนย์กลางอำนาจรัฐของปีกซ้ายคณะราษฎรทำให้ขบวนการแรงงานซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีกซ้ายของคณะราษฎรก็พลอยถดถอยกำลังลงไปด้วย รัฐบาลอำนาจนิยมไม่ประสงค์ที่จะเห็นขบวนการกรรมกรเข้มแข็งใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อริดรอนสิทธิของคนงาน ทำให้ขบวนการแรงงานต้องหลบลงไปทำงานในระดับใต้ดิน และส่วนหนึ่งได้เข้ามีบทบาทสำคัญในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น





   

รัฐบาลพลเรือนหลังสงครามและการปรากฏตัวของสมาคมสหอาชีวะกรรมกร

กระทั่งการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของจอมพลป. พิบูลสงคราม การสิ้นสุดของของมหาสงครามและการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์และพลพรรคเสรีไทยที่ทำให้ขบวนการแรงงานกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมามีบทบาทอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของสมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ที่เป็นองค์กรนำโดยได้ผนวกองค์คนงานทั้งในระบบ(หมายถึงคนงานที่เป็นสมาชิกสมาคมคนงานที่จดทะเบียน)และนอกระบบ(หมายถึงแรงงานอิสระอื่น ๆ) เข้ามาอยู่ในขบวนการอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ทำให้แนวความคิดแบบสังคมนิยมที่ถือเอาผู้ใช้แรงงานเป้าหมายสามารถเผยแพร่ได้อย่างเปิดเผยได้ส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของขบวนการแรงงานด้วย วันกรรมกรสากลได้ถูกจัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในปี 2489 ที่สวนอัมพรและต่อมีในปี 2490 ที่ท้องสนามหลวงที่กล่าวกันว่ามีคนงานนับแสนเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้


วิกฤติการณ์ทางการเมืองหลังสงครามกับการชะงักงันของขบวนการแรงงาน

ขณะที่ประชาธิปไตย อุดมการณ์สังคมนิยมและขบวนการแรงงานกำลังได้รับการพัฒนาก็ได้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองอันเนื่องจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่กลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญทั้งทางการเมืองและพัฒนาการของขบวนการแรงงานไทย การเมืองไทยได้ถูกเหวี่ยงไปทางขวาอย่างแรง การรัฐประหารของคณะทหารบกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ยุติบทบาททางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์กับพรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญสองพรรคการเมืองที่มีความสัมพันธ์ระดับหนึ่งกับหัวแถวของขบวนการแรงงานไทยที่นำโดยสหอาชีวะกรรมกรในช่วงนั้น และนี่ได้ส่งผลให้สหอาชีวะกรรมกรต้องถูกควบคุมและจับตาอย่างใกล้ชิดโดยรัฐ และต้องยุติบทบาทไปในที่สุดเมื่อรัฐบาลไม่ยอมต่อทะเบียนให้ในปี 2494 ขณะที่ลดบทบาทของสหอาชีวะกรรมกรลง รัฐก็ได้เข้าส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคมกรรมกรไทยขึ้นมามีบทบาทนำแทน รัฐได้เข้าแทรกแซง โดยส่งคนใกล้ชิดเข้าควบคุมการบริหารงานอีกทั้งยังให้การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อให้ขึ้นต่อรัฐ สมาคมกรรมกรไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาแม้จะได้รับอิทธิพลและการแทรกแซงจากรัฐแต่รัฐก็ไม่อาจครอบงำองค์กรได้อย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากฝ่ายซ้ายในไทยก็ได้ส่งคนของตนเข้ามาร่วมมีส่วนร่วมบริหารด้วย สมาคมกรรมกรไทยจึงเป็นเวทีการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในขบวนการแรงงาน การปราบปรามขบถสันติภาพและการออกกฎหมายการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2495 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อขบวนการแรงงานไทย

 

ช่วงปลายทศวรรษที่ 2490 ได้ปรากฏความขัดแย้งภายในรัฐบาลที่ส่งผลในจอมพล ป. ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและนโยบายทางการเมือง โดยการพยายามผ่อนปรนทางการเมืองยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขบวนการกรรมกรเองกระแสเรียกร้องเพื่อความเป็นเอกภาพได้ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มกรรมกร 16 หน่วยขึ้น ซึ่งมีบทบาทสูงเด่นมาก ขณะเดียวกันปีกขวาจัดของรัฐที่นำโดยพลตำรวจเอกเผ่า ก็ได้เข้าสนับสนุนจัดตั้งองค์กรแรงงานอีกสายหนึ่งขึ้นนั่นคือสมาคมเสรีแรงงานขึ้นเพื่อพยายามช่วงชิงการนำ

 

ระบอบสฤษดิ์ - ถนอม - ประภาส และการแช่แข็งขบวนการแรงงาน

สงครามเย็น อเมริกาและความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน่ กับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มซอยราชครูกับกลุ่มสี่เสาเทเวศในช่วงปลายรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามที่นำสู่การรัฐประหารสองครั้งวันที่ 16 กันยายน 2500และ 20 ตุลาคม 2501 ที่ได้นำประเทศไทยไปสู่การมีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จและการเป็นรัฐที่ 51 หรือส่วนพ่วงของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีผลให้ขบวนการแรงงานไทยต้องชะงักงันไปอีก 15 ปีเต็ม เมื่อหัวขบวนแรงงานซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจอมพลป. และพลตำรวจเอกเผ่า รวมทั้งกรรมกรที่เคยอยู่ในสมาคมอาชีวะกรรมกรและกรรมกรฝ่ายซ้ายที่สัมพันธ์กับ พ.ค.ท.ล้วนถูกกวาดล้างจับกุมเข้าไปอยู่ในคุก ที่อยู่ข้างนอกก็ต้องยุติบทบาททางการเมือง เพราะถ้าหากไม่ยุติก็จะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับศุภชัย ศรีสติอดีตกรรมการ "สมาคมกรรมกรไทย", เลขาธิการ กรรมกร "16 หน่วย" และ ผู้ก่อตั้ง "สภาคนงานแห่งประเทศไทย" ที่ถูกจับในวันที่ 30 มิถุนายนและประหารชีวิตในวันที่ 6 กรกฎาคม ด้วยอำนาจตามมาตรา 17 ของจอมเผด็จการสฤษดิ์

 

14 ตุลาฯ ยุคทองขบวนการแรงงานไทย

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ที่ประกาศใช้ในปี 2515 ที่รับรองสิทธิในการจัดตั้งองค์กรของคนงานอีกครั้ง, เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ, บรรยากาศการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและการเติบโตของอุดมการณ์และขบวนการสังคมนิยมในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ มีส่วนเกื้อหนุนอย่างสำคัญให้ขบวนการแรงงานไทยฟื้นตัวและพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อุดมการณ์สังคมนิยมที่มีอิทธิพลอย่างสูงในขบวนการฝ่ายก้าวหน้าทั้งมวลได้ส่งผลอย่างมหาศาลต่อการทำงานของขบวนการแรงงานไทยในช่วงนั้น คำว่า "จิตใจเสียสละ รักชาติ รักประชาชน"  ที่เป็นเสมือนกรอบ "ศีลธรรมใหม่" ของประชาคมฝ่ายก้าวหน้านั้นเทไปอยู่ที่คนยากคนจนนั่นก็คือ "ชาวนาและกรรมกร" ประเด็นการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานจึงได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากคนที่รับเชื่อกรอบศีลธรรมใหม่นี้ ที่สำคัญคือ "พลังสามประสาน" (ชาวนา นักศึกษาและกรรมกร) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงนั้นมีส่วนช่วยทำให้การทำงานของขบวนการแรงงานมีพลังและประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็ได้ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบของการพึ่งพิงแบบใหม่ขึ้น (เปลี่ยนจากการพึ่งพิงนักการเมืองเป็นการพึ่งพิงนักศึกษาปัญญาชน) แทนที่จะแสวงหาและพัฒนาความเข้มแข็งภายในในลักษณะของการพึ่งตนเองพึ่งสมาชิก

 

ขบวนการแรงงานในช่วงนั้นแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งนำโดยศูนย์ประสานงานกรรมกรอยู่กับกรอบสังคมนิยมแบบที่เชื่อใน "การต่อสู้ทางชนชั้น" ที่นำโดยเทิดภูมิ ใจดี บัณฑิต จันทร์งามและเสกสรรค์ ประเสร็ฐกุล ส่วนที่สองนำโดยกลุ่มสหภาพแรงงานที่นำโดยไพศาล ธวัชชัยนันท์ และอารมณ์ พงศ์พงันที่เรียกกันว่าเป็นพวก "ลัทธิสหภาพแรงงาน" ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลของแนวคิดสังคมนิยมไม่น้อย กลุ่มที่สามคือพวกเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม ที่มีทนง เหล่าวานิชย์และอีกหลายคนเป็นแกนนำทำงานใกล้ชิดกับขบวนการขวาจัด

 

6 ตุลาฯ และวิกฤติศรัทธา

หลังเหตุ 6 ตุลาคม 2519 ที่บีบให้ฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากต้องตัดสินใจเดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาเข้าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้ปีกซ้ายสุดของขบวนการแรงงานไทยที่เป็นสังคมนิยมแบบเชื่อในเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นยุติการดำเนินกิจกรรมในเมือง เหลือก็แต่อีกสองส่วนคือฝ่าย "ลัทธิสหภาพแรงงาน" และฝ่าย "ขวาจัด" ที่ยังคงสืบสานดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

หลังจากเข้าป่าได้ไม่นานฝ่ายก้าวหน้าในเมืองก็ได้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและได้ถอนตัวออกมาในที่สุด ซึ่งได้นำไปสู่วิกฤติศรัทธาต่ออุดมการณ์สังคมนิยมในที่สุด กรอบสังคมนิยมที่เคยเป็น "ธงนำ" ร่วมกันของฝ่ายก้าวหน้าทั้งมวลในสังคมไทยก็ได้สลายตัวลง จนทำลายความเป็นเอกภาพทางความคิดของขบวนการฝ่ายก้าวหน้า ปัญญาชนที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าและรับเชื่ออุดมการณ์สังคมนิยม ต่างออกมาหาทางออกส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม ทำให้เกิดเป็นขบวนการ NGOs ที่ต่างคน ต่างเอาตัวรอด สนใจเฉพาะปัญหาตนไม่สนใจปัญหาคนอื่น ขบวนการแรงงานที่เคยเข้มแข็งและพึ่งพิงอยู่กับ "พลังสามประสาน" ก็สูญเสียพันธมิตรที่จะประสานให้เป็นพลังเข้มแข็งแบบเคย อุดมการณ์สังคมนิยมที่เคยมีอิทธิพลเหนือขบวนการแรงงานไทยบางส่วนก็ค่อย ๆ เสื่อมคลายลง ปีกปฏิรูปของขบวนการแรงงานไทยที่เชื่อใน "ลัทธิสหภาพแรงงาน" ขาดนักคิดและไม่สามารถพัฒนาความเชื่อแบบสังคมนิยมของตนให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับสำหรับการต่อสู้ในระบบรัฐสภาได้ (นั่นคือความล้มเหลวของการพัฒนาแนวความคิดแบบสังคม (นิยม) ประชาธิปไตยได้

 

ขบวนการแรงงานที่ไร้อุดมการณ์

ขบวนการแรงานที่ไร้อุดมการณ์ทำให้ขาดเอกภาพและเป้าหมายในการเคลื่อนไหว ขบวนการแรงงานที่เคยเป็นขบวนการที่มีฐานกว้างในลูกจ้างที่หลากหลายก็ถูกกำหนดโดยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้จำกัดอยู่เฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการ ทำให้มีความคับแคบมากขึ้น และหดตัวลงเรื่อย ๆ ชัยชนะของเสรีนิยมใหม่ กระแสโลกาภิวัตน์ การพังทลายลงของกำแพงเบอลิน และการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก และความอ่อนล้าของอุดมการณ์สังคมนิยมในประเทศไทย ทำให้ประเด็นแรงงานค่อย ๆ ถูกคลายความสำคัญลงทุกขณะ จนในที่สุดประเด็นแรงงานก็ไม่ได้เป็นประเด็นสาธารณะอีกต่อไป ความอ่อนแอตรงนี้ทำให้ส่วนนำของขบวนการแรงงานรุ่นใหม่ที่ไม่มีความต่อเนื่องกับขบวนการ 14 ตุลาฯ หรือแนวทางสังคมนิยมต่างพยายามแสวงหาหนทางแห่งความอยู่รอดและในที่สุดก็หันไปนำเอาวัฒนธรรมอุปถัมป์แบบดั้งเดิมของสังคมไทยกลับมาใช้ คือการแสวงหาผู้อุปถัมป์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการวิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อขอการสนับสนุนในประเด็นการเคลื่อนไหวเฉพาะหน้า การพึ่งพิงนักวิชาการซึ่งก็มีให้พึ่งไม่มากนัก และการพึ่งพิงองค์กรต่างประเทศเป็นต้น

 

ส่วนผู้นำแรงงานกลุ่มที่ก้าวหน้าที่สุดและเป็นผลิตผลตกค้างจากขบวนการเดือนตุลาฯ และประกาศตนเชื่อมั่นในสังคมนิยมที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้างก็พึงพอใจที่จะมีอาณาจักรเล็ก ๆ ในกลุ่มความเชื่อเดียวกันของตนมากกว่าที่จะมุ่งมั่นสร้างความเป็นเอกภาพกับองค์กรแรงงานส่วนอื่น ๆ ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น และถูกมองว่าล้าหลังกว่า เชื่องช้ากว่า การสร้างความเป็นเอกภาพให้กับขบวนการแรงงานเป็นงานจำเป็นแต่ก็เป็นงานที่ยากลำบากต้องอาศัยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ศรัทธา จริงใจ จริงจัง ซึ่งน่าเสียดายที่แม้เราจะมีผู้นำแรงงานที่ดี ซื่อสัตย์ ทว่าไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว และน่าเสียดายที่ความอังหังการ์ในความดีและความซื่อสัตย์ของผู้นำฝ่ายก้าวหน้าเหล่านี้ได้ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการเรียงร้อยขบวนการแรงงานไทยที่กระจัดกระจายไร้เอกภาพให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเป็นพลังที่จะสามารถถ่วงดุลกับอำนาจล้นฟ้าของพรรคการเมืองฝ่ายทุนที่มีอำนาจเหนือรัฐไทยอย่างไร้ขีดจำกัดในวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท