Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 มิ.ย.49      ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า แหล่งข่าวในหน่วยงานความมั่นคงซึ่งปฏิบัติหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและผู้ไม่หวังดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของ จ.นราธิวาส ถูกลอบวางระเบิด รวม 20 จุด ในพื้นที่ 11 อำเภอ ประกอบด้วย (1.) อ.ตากใบ 1 จุด (2.)อ.ระแงะ 2 จุด (3.) อ.ศรีสาคร 1 จุด (4.) อ.รือเสาะ 4 จุด (5.) อ.จะแนะ 2 จุด (6.) อ.เมือง 1 จุด (7.) อ.บาเจาะ 1 จุด (8.) อ.แว้ง 3 จุด (9.) อ.สุคิริน 3 จุด (10.) อ.ยี่งอ 1 จุด และ (11.) อ.เจาะไอร้อง 1 จุด


 


ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่า กลุ่มที่ก่อความไม่สงบครั้งนั้นถูกแบ่งได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ การกระทำของกลุ่มเยาวชนที่ใช้ชื่อรหัส กลุ่ม "เบอร์ซาตูเปอร์มูดอ" หรือการรวมพลังของกลุ่มพลังเยาวชนเพื่อการต่อต้านอำนาจรัฐ และขยายอิทธิพลไปสู้การขยายเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น โดยการลอบวางระเบิดป่วนเมืองเพื่อแสดงความสามารถ และสร้างศักยภาพ หวังดึงและชักชวนกลุ่มเป้าหมายเยาวชนให้เข้ามาร่วมในขบวนการให้ได้มากที่สุด มีหน้าที่ปฏิบัติการลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ สถานที่ราชการ วางเรือใบ เผา และก่อกวนทั่วไป ภายใต้การติดตามดูแลด้านผลงานอย่างใกล้ชิดจากแกนนำรุ่นพี่ที่อยู่ในขบวนการ


 


ส่วนในระดับที่สอง จะทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี เพื่อการปลุกระดมปลุกจิตสำนึกให้ฮึกเหิม เกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้นอีกในทุกพื้นที่ ดึงกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาร่วมในขบวนการเพื่อล้างสมองคนในหมู่บ้านให้ได้อย่างน้อย 50% โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การกอบกู้รัฐปัตตานีดารุสซาลาม และขับไล่ และขจัดเสี้ยนหนามหรือกลุ่มคนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับขบวนการให้ออกนอกพื้นที่


 


ทั้งนี้แหล่งข่าวจากผู้จัดการระบุว่า "ในช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่การข่าวหลายหน่วยงานยังได้รับรายงานรายงานข่าวตรงกันมาว่าทางกลุ่มเบอร์ซาตูเปอร์มูดอ และขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ มีแผนที่จะลงมือโจมตีเจ้าหน้าที่ครั้งใหญ่ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดการนองเลือดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หลังจากที่ได้ทำการประเมินศักยภาพของเจ้าหน้าที่แล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.49 ที่ผ่านมา และยังมีแผนที่จะบุกปล้นอาวุธปืนของทางราชการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีการกระทำการไปพร้อมๆ กันในวันดังกล่าวด้วย"


 


ในวันเดียวกัน ศูนย์ข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ก็รายงานว่า ตำรวจสันติบาลประเทศมาเลเซีย สามารถจับกุมนายกาลียา ยะลาแป อุสตาส โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ค่าหัว 1,000,000 บาท และมือวางระเบิด 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้


 


นายกาลียา ยะลาแต เป็นคนสนิทและเป็นคนทำหน้าที่เสนาธิการให้กับ นายกระแต บาซอ อดีตครูใหญ่ ร.ร.ธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งได้หลบหนีการจับกุมไปอยู่ยังประเทศเพื่อนบ้าน รายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่สันติบาลมาเลเซียควบคุมตัว นายกาลียาได้ใน ต.กาเนาะแมเราะ รัฐกันลันตัน ขณะนี้ส่งตัวไปควบคุมไว้สอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย กรุงกัวลาลัมเปอร์ และได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยแล้วโดยอยู่ในระหว่างการที่หน่วยข่าวความมั่นคงตรวจสอบข่าวเพื่อขอตัว นายกาลียา กลับมาดำเนินคดี


 


นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า นายกาลียา อาจเป็นผู้สั่งการให้ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งได้เดินทางเข้าด่านชายแดนที่ อ.สะเดา จ.สงขลาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. เพื่อวางแผนก่อนที่จะเดินทางกลับไปที่รัฐกะลันตัน แหล่งข่าวระดับสูงมาเลเซียอ้างว่า นายกาลียาผิดข้อตกลงกับทางการมาเลเซียที่ตกลงว่าจะไม่ยุ่งกับการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแลกกับการอยู่ในประเทศมาเลเซีย


 


ส่วน โพสต์ทูเดย์ เผยข้อมูล "แนวร่วม อาร์เคเค" RKK (RUNDA KUMPULAN KECIL) ผ่านปาก พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) ที่อธิบายคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ปฏิบัติการวางระเบิดป่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย. รวมทั้งเหตุรุนแรงสะเทือนขวัญอื่นๆในรอบปี


 


พล.ต.ท.อดุลย์ ในฐานะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ยะลา (ศปก.ตร.สน.ยะลา) อธิบายว่า แท้จริง อาร์เคเค เป็นเพียง 1ใน 5 ฝ่ายของขุมข่ายของขบวนการก่อการร้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า อาร์เคเคกระจายครอบคลุมอยู่กว่า 500 หมู่บ้าน หรือประมาณ 3000 คน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ส่วนฝ่ายอื่นได้แก่ ผู้รู้ หรืออูลามะ (ULAMA) กลุ่มนี้มีหน้าที่ปลุกระดมคัดเลือกคนเข้ามาร่วมขบวนการ จะเน้นไปยังเด็กที่มีความประพฤติเรียบร้อย เคร่งครัดศาสนา เป็นที่รักของครอบครัว และคนในหมู่บ้าน


 


ฝ่ายที่ 2 เป็น ฝ่ายการเมือง (POLITIC) เป็นฝ่ายที่คิดในการขับเคลื่อนการก่อเหตุร้ายรายวัน การยิงเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติการจิตวิทยา เช่น การปล่อยข่าวลือ เพื่อสร้างภาพให้ออกมาในทำนองว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ฝ่ายผู้ก่อการได้เปรียบเจ้าหน้าที่ รวมทั้งพยายามขยายเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องใหญ่เสมอ


 


ทั้งนี้ รูปธรรมของยุทธวิธีฝ่ายการเมือง ถูกอธิบายผ่านเหตุระเบิด 65 จุด เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน โดย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ศปก.ตร.สน.ยะลา ระบุว่า บางจุดกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สามารถเข้าไปก่อเหตุภายในสถานที่เป้าหมายได้ ก็ดำเนินการโดยนำระเบิดไปวางที่ริมรั้ว ตามพงหญ้าในสนามเด็กเล่นแล้วจุดระเบิด ซึ่งจะทำให้ภาพออกมาว่าเป็นการระเบิดภายในสถานที่นั้นๆ ถือเป็นยุทธวิธีที่ต้องการสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่


 


ฝ่ายที่ 3 เป็น ฝ่ายเศรษฐกิจ (ECONOMIC) ซึ่งจะเกี่ยวกับระบบการเงิน โดยมีหน้าที่หาเงินสนับสนุนในการก่อเหตุ ซึ่งจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐพบว่า มีเงินบางส่วนที่มาจากกลุ่มค้ายาเสพติด


 


ฝ่ายที่ 4 เป็น ฝ่ายปฏิบัติการ หรือหน่วยทหารชุดรบขนาดเล็กที่มีชื่อย่อว่า อาร์เคเค (RKK) จะมี 1 ชุดปฏิบัติการจำนวน 6 คน ต่อ 1 หมู่บ้าน ซึ่งจะมีการคัดจากเด็กดีในหมู่บ้านที่สามารถรักษาความลับได้ดี ขึ้นตรงด้วยหัวหน้าชุดเพียงคนเดียว


 


กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเยาวชนที่เรียกว่า เปอมูดอ (PERMUDA) ซึ่งเข้าสู่กระบวนการคัดสรรจากกลุ่มอูลามะ เพื่อวางตัวว่าจะให้ปฏิบัติงานในกลุ่มใด โดยทั้งหมดนี้จะแฝงตัวอยู่กับประชาชนในหมู่บ้านและไม่รู้จักกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการปิดล้อมตรวจค้นภายในหมู่บ้าน ก็จะมีกลุ่มดังกล่าวออกมาขับเคลื่อนทันที เช่น การขัดขวางการจับกุม การตัดต้นไม้ขวางเส้นทาง การจับกุมตัวประกัน เป็นต้น


 


พล.ต.ท.อดุลย์ ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ภายในหมู่บ้านกำลังปฏิบัติงานเพื่อแยกแยะกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาฝ่ายสืบสวนสอบสวนก็สามารถพิสูจน์ทราบเครือข่ายไปกว่า 549 คน และก่อนหน้านี้มีการจับกุมตัวไปกว่าร้อยคน รวมทั้งปะทะสูญเสียไปอีกจำนวนหนึ่ง


 


จากการซักถามคนที่เข้าสู่ขบวนการฯ ทราบว่า การคัดตัวผู้เข้าร่วมเป็นหน้าที่ของฝ่ายอูลามะ ซึ่งเน้นคนดีๆ ในชุมชน โดยกลุ่มจะให้ความสำคัญกับบุคคลนั้น และมีการส่งคนไปพบปะหลายครั้ง จากนั้นชวนพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ในอดีต มีการปลูกฝังอุดมการณ์ ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างเยอะ จนเข้าสู่กระบวนการซุมเปาะ (สาบานตน) และมอบหมายภารกิจ ซึ่งบางส่วนก็จะถูกคัดไปฝึกเพื่อเป็นหน่วยทหาร ซึ่งจะใช้เวลาในการฝึก และฝึกในพื้นที่ปิดลับต่างๆ เป็นรุ่นๆ ไป


 


ทั้งนี้ อาร์เคเคแต่ละหน่วยมีเงื่อนไขในการก่อเหตุว่า ใน 1 ชุดปฏิบัติการจะต้องก่อเหตุใช้ได้ 1 เหตุการณ์ต่อ 1 เดือน ซึ่งถ้าทุกกลุ่มปฏิบัติการได้ตามเงื่อนไข ก็จะทำให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 6 พันเหตุการณ์ใน 1 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net