Skip to main content
sharethis


พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก แห่งภูฐาน บุคคลหนึ่งในร้อยที่นิตยสารไทม์เพิ่งจัดให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลก ทรงให้มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นตัวแทนเสด็จพระราชดำเนินมาฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการเปิดตัวกษัตริย์องค์ต่อไป และเปิดประเทศภูฏานสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างามน่าจับตายิ่ง


 


ประเทศภูฏานเด่นชัดในแผนที่โลกทันที ทุกสายตาจับจ้องที่มกุฎราชกุมารผู้ซึ่งอีก 2 ปีข้างหน้า จะได้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และยังเป็นยุคสมัยแห่งการก้าวย่างที่สำคัญของภูฏาน ที่จะเปลี่ยนแปลงจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย


 


พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (พระราชบิดาเจ้าชายจิกมี) มีกระแสพระราชดำรัสสะท้านโลกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1972 ซึ่งครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 16 ชันษาว่า


 


"Gross National Happiness (GNH) is more important than Gross National Product (GNP)."


 


นั่นคือ เน้นดัชนีชี้วัดความสุขมากกว่าดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


 


ภูฏานแสดงให้เห็นว่า "ความรวยมิใช่ความสุขเสมอไป" รายได้ต่อหัวประชากรภูฏาน อาจแค่เพียง 1,400 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ไทยอยู่ที่ 8,100 ดอลลาร์ แต่คนภูฏานไม่ต้องเผชิญควันบุหรี่ ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ขอทานน้อย อาชญากรรมต่ำ และไม่ต้องกังวลกับปัญหานักท่องเที่ยวแบกเป้ เพราะคนจะไปเที่ยวภูฏานได้ จะต้องจ่ายภาษีท่องเที่ยวสูบลิบวันละ 200 ดอลลาร์


 


ภูฏานภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แน่วแน่กับพระราชดำรัสดัชนีทางเลือกจนได้แปลงมาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยมีเป้าหมาย GNH คือ


 


1.การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ


2. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


3.การส่งเสริมวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี


4. การมีธรรมาภิบาล


 


"ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเราคือใคร เราจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเราถูกขนาบข้างด้วยประเทศใหญ่ที่


เป็นต้นรากวัฒนธรรมอย่างจีนและอินเดีย ทั้งยังถูกรุกเร้าด้วยกระแสวัฒนธรรมตะวันตก เราเชื่อว่าศาสนานำพาความสุขมาให้เรามากกว่าลัทธิบริโภคนิยม เราจึงมุ่งให้ประชาชนภูฏานตระหนักว่าคุณภาพชีวิตอยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่วัตถุ" ยังเป็นอีกวลีทองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและวัฒนธรรมภูฏาน


 


นี่คือภาพสะท้อนความชัดเจนการบริหารประเทศของคนที่นั่น คนที่เม็ดเงินไม่ได้สำคัญกว่าความสุข


แต่ก็ใช่ว่าคนภูฏานจะปฏิเสธการเคลื่อนตัวของโลกาภิวัฒน์ แต่เลือกในสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสมกับตนเอง เช่น การเปิดให้บริษัทโทรศัพท์มือถือประมูลเพื่อสร้างระบบในภูฏาน และกำลังติดตั้งตู้เอทีเอ็มในเมืองหลัก รวมถึงการยกเลิกการแบนโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต


 


แต่วันนี้ มังกรน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัย กำลังขยับตัวครั้งสำคัญ


 


พระราชบิดาของเจ้าชายจิกมี ได้เริ่มให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระราโชบายกระจายอำนาจและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจากการศึกษารัฐธรรมนูญของ 150 ประเทศ แล้วส่งร่างดังกล่าวไปให้ประชาชนทุกบ้านศึกษา ก่อนลงประชามติแก้ไขรายละเอียด แต่ประชาชนของภูฏานยังไม่มั่นใจในการหยิบยื่นอำนาจให้ฝ่ายการเมืองมากขึ้นนัก ยังคงรักและเทิดทูนระบอบกษัตริย์อยู่


 


ปี 2551 จะเป็นปีที่ภูฏานปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี แต่ก็เป็นปีแห่งการยุติระบอบนี้ เพราะจะเป็นปีแรกที่จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และเป็นปีที่เจ้าชายจิกมีจะขึ้นครอบราชสมบัติแทนพระราชบิดา


 


เจ้าชายจะต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของประเทศตนเองครั้งสำคัญ


 


แต่ดูเหมือนว่าเจ้าชายได้ทรงเลือกแล้วว่าจะทำอย่างไร การที่ทรงเลือกสร้างสรรค์โลกแห่งความสุขบนเส้นทางความพอเพียง ดังกระแสพระราชดำรัสที่ทรงมีไว้ในประเทศไทยว่า จะทรงตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย และพระราชบิดานั้น ยืนยันแล้วว่า


 


เจ้าชายจิกมีกำลังพยายามนำพาดินแดนแห่งมังกรนี้ฝ่าคลื่นลม ท้าทายกระแสโลกไปสู่ความสุขในนิยามของภูฏานด้วยพลังแห่งวัฒนธรรมอันเข้มแข็งที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในเลือกขัตติยะของพระองค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net