ข่าวประชาธรรม : วิกฤตพลังงานบนความต้องการที่ไม่เคยพอ

แม้ว่าปัจจุบันนี้ โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตน้ำมันที่ทั้งร่อยหรอลงและมีราคาแพงขึ้น   แต่ทว่า ความต้องการของคนไม่เคยลดน้อยลงเลย รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงหันมาสนใจพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้น  เพื่อนำมาทดแทนน้ำมันที่มีแต่จะแพงขึ้นนั่นเอง


 

สำหรับประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง หรือผลิตได้แค่เพียงบางส่วน ก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศที่ไม่สามารถผลิตได้เลย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ว่าจะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน เป็นปริมาณมหาศาลแค่ไหน

 

ในการนี้ รัฐบาลจึงต้องวางแผนนโยบายด้านพลังงาน เพื่อจัดการกับทรัพยากร "น้ำมัน" ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อย่างรอบด้านและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเทศใดก็ตาม สามารถผลิตน้ำมันใช้ในประเทศเองได้ ย่อมหมายถึงลดการนำเข้า และลดการขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศได้อีกด้วย

 

แต่ทางออกที่เหมาะสมดังกล่าวนั้น ไม่ว่าจะเลือกใช้พลังงานทดแทน หรือหมุนเวียน จะนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่นั้น ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบกันต่อไป...

 

"ทดแทน" ไม่ใช่ยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจนำเสนอรายงานพิเศษ เรื่องก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งเป็นพลังงานอย่างหนึ่งที่รัฐบาลไทยส่งเสริมให้ใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ในขณะนี้ โดยนำเสนอถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

กล่าวคือ ถึงแม้ว่าก๊าซเอ็นจีวีจะได้รับความสนใจ และมีประชาชนหันมาใช้กันมากเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเร่งรัดรณรงค์เพื่อให้สำเร็จในเวลาอันสั้น อาจจะมีปัญหาตามมาในระยะยาว ทั้งในระดับผู้บริโภคและระดับประเทศด้วย

 

ประการแรก หากพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ความปลอดภัยของผู้ใช้รถที่นำเครื่องยนต์ไปดัดแปลงติดตั้งอุปกรณ์เชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งๆ ที่รถถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับน้ำมัน ก็อาจจะส่งผลต่อเครื่องยนต์ ให้สึกหรอเร็วขึ้น

 

ประการที่สอง การนำเข้าอุปกรณ์เอ็นจีวีจากต่างประเทศ จะทำให้ไทยเสียดุลการค้า กอปรกับการที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ต้องช่วยค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และต้องใช้เงินอุ้มราคาก๊าซไว้ ทำให้ปตท. จะต้องยอมขาดทุนไปจนถึง 7 ปี กว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

 

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า ยังไม่มีคำรับรองจาก ปตท. ว่ารัฐบาลจะอุ้มราคาเอ็นจีวีไว้ได้นานเพียงใด  เพราะเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาก๊าซเหมือนเช่นที่เคยทำกับน้ำมันดีเซลที่พยุงราคาไว้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ก็ต้องปล่อยไปตามกลไกตลาดเมื่อปีก่อน   สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้รถโดยฉับพลัน

 

 "อีกทั้ง การเร่งรัดให้ใช้เอ็นจีวีในระยะสั้นๆ เนื่องจากรัฐบาลปล่อยปละละเลย ไม่ส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น  ทั้งๆ ที่ค้นพบก๊าซธรรมชาติชนิดนี้มาไม่ต่ำกว่า 44 ปีแล้ว ทำให้มองเหมือนต้นไม้ที่ถูกเร่งให้โต โดยไร้รากแก้ว น่าเป็นห่วงว่าจะล้มครืนหรือไม่"

 

จากรายงานนี้ เราจะพบว่าก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งกำลังเป็นพลังงานทดแทน (alternative energy) ที่น่าสนใจ มีราคาถูกกว่าน้ำมันและผลิตได้เองภายในประเทศ จึงช่วยลดการขาดดุลการค้าได้อยู่บ้าง แต่กระนั้นการนำ "ก๊าซเอ็นจีวี" มาใช้ก็ยังพบอุปสรรค ปัญหาที่ต้องดูแลแก้ไขกันต่อไป ทั้งนี้ก๊าซก็ไม่ต่างไปจากน้ำมันซึ่งใช้ไปก็หมดไป หรือที่เราเรียกว่า "พลังงานสิ้นเปลือง" นั่นเอง

 

ฉะนั้น ก๊าซเอ็นจีวีจึงอาจถือได้ว่าเป็นพลังงานทดแทน (แทนน้ำมัน ที่คาดกันว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะถูกใช้จนหมดไปจากโลก) ซึ่งถ้าก๊าซชนิดนี้ถูกใช้จนร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ เชื่อว่า เราคงต้องมองหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นมาทดแทนก๊าซเอ็นจีวีกันต่อไป อย่างแน่นอน

 

"หมุนเวียน" ด้วยการเพาะปลูก

 

หันมามอง พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) กันบ้าง นั่นคือ พลังงานที่ใช้แล้วสามารถผลิตขึ้นมาใหม่ได้ในระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก อาทิ พลังงานทีได้จากคั้นสกัด พืชพันธุ์ไม้ ฟืน แกลบ กากอ้อย เป็นต้น

 

จากบทความใน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2549   นำเสนอประเด็นเรื่องพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา ซึ่งกล่าวถึงพืชชนิดหนึ่งที่เพาะปลูกกันมาก และเจริญเติบโตได้ดีในเขตประเทศร้อนชื้น อีกทั้งกำลังเป็นพืชที่น่าจับตามอง และเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับ ต้นปาล์มน้ำมัน ต้นอ้อยอีกด้วย

 

สำหรับพืชอย่างสบู่ดำ หรือ Jatropha curcas แม้ว่าเมล็ดของมันจะทำให้ผู้ทานท้องร่วงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้านำมาผลิตเป็นน้ำมัน เจ้าต้นนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นวัตถุดิบชั้นยอดเลยทีเดียว น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสบู่ดำนี้สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนให้กับรถยนต์ได้เป็นอย่างดี

 

ด้าน ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ คณบดีคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ดำเนินการโครงการสบู่ดำไบโอดีเซล กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2548 ว่า

 

 "การวิจัยเรื่องสบู่ดำนั้น เริ่มในประเทศไทยเมื่อประมาณ 25 - 26 ปี มาแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่สนใจก็เนื่องมาจากในสมัยก่อนราคาน้ำมันยังอยู่ที่ประมาณลิตรละ 3 - 5 บาท ซึ่งถูกมาก ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำมันจะราคาสูงเหมือนอย่างปัจจุบัน ทำให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องหยุดไป"

 

 "แต่ทุกคนทราบว่าสบู่ดำสามารถนำมาเป็นไบโอดีเซลได้ และการที่เราหันกลับมามองเรื่องสบู่ดำเนื่องจากคิดว่าทิศทางของน้ำมันมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น  เพราะเมื่อไรที่รัฐบาลเลิกอุ้ม ราคาน้ำมันดีเซลก็ต้องพุ่งสูงขึ้น กระแสตอนนี้จึงเริ่มมองหาแก๊สโซฮอล์ ซึ่งทำจากอ้อย หรือมันสำปะหลัง และกระแสตรงนี้ไม่เฉพาะไทย แต่เป็นไปทั่วโลก ที่พยายามจะหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น"

 

ทางรัฐบาลอินเดียเองก็มีแผนว่าจะขยายพื้นที่ในการปลูกพืชชนิดนี้เพิ่มเป็น 39.2 ล้านเฮกเตอร์ (หรือประมาณ 392 ล้านตารางกิโลเมตร) ในเขตพื้นที่ที่คาดว่าต้นนี้สามารถเจริญเติบโตได้ และหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มันจะช่วยทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคน้ำมันในอินเดียได้

 

 "เราพบว่า เราสามารถผลิตไบโอดีเซลจากมันได้ และถ้าเรากำหนดราคาให้ต่ำลง เราคิดว่าอนาคตสดใสแน่นอน" นายอาร์เค มาลโฮตรา นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยบรรษัทน้ำมันในอินเดีย กล่าว

 

ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่กำลังมองเรื่องพลังงานทดแทนอยู่ในขณะนี้ ทั่วทั้งเอเชีย รัฐบาลต่างๆ ก็กำลังทำการวิจัยพืชพันธุ์มากมาย ที่คาดว่าจะสามารถช่วยยกเลิกการพึ่งพิงจากภายนอกได้ ซึ่งเมื่อใดความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เงินก็ไหลออกนอกประเทศไปหมด

 

ดังนั้น น้ำมันปาล์มและต้นอ้อย เหล่านี้ก็เป็นพืชสำคัญในท้องถิ่น แถบภูมิภาคนี้ และยังมีน้ำมันมะพร้าว มูลสัตว์ ซึ่งก็ได้ทดลองไปแล้ว เพื่อนำมาผลิตพลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล และ ไบโอดีเซล

 

"ทางเลือก" ที่ไม่คุกคาม แหล่งอาหาร

 

มาเลเชีย หนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มในมากที่สุดในโลก และยังได้รับการยอมรับให้ใช้พืชผลมาผลิตไบโอดีเซล ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งกำลังพยายามทำให้พลังงานทั้งหมดควรจะมีส่วนผสมของพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลประมาณ 5.75 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2010 (พ.ศ.2553) และมีแผนจะส่งขายให้สิงคโปร์เป็นมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านบาทด้วย

 

บริษัท BP เองก็จะทุ่มเงินกว่า 353.2 ล้านบาทเพื่อทำการค้นคว้าวิจัยสบู่ดำในอินเดีย โดยประกาศว่าจะทำให้สามารถผลิตเอทานอลต่อปีได้กว่า 110 ล้านลิตรต่อปีในออสเตรเลียสำเร็จภายในปีหน้านี้ ซึ่งจะทดแทนการใช้น้ำมันทั่วไปด้วยเอทานอลประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2010 (พ.ศ. 2553)

 

จากฐานข้อมูลบริษัทน้ำมันอย่าง British-based D1 ได้ลงทุนเงินกว่า 751 ล้านบาทใช้ไปกับการส่งเสริมการปลูกสบู่ดำในอินเดีย อินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์เกือบทั้งหมด

 

รัฐบาลอินเดียกล่าวเสริมว่า รัฐประสบความสำเร็จในการผลิตน้ำมันจากสบู่ดำ เพื่อใช้ทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และกำลังปลูกต้นกล้าสบู่ดำบนพื้นที่กว่า 7 พันตารางกิโลเมตร บริเวณสองข้างทางตลอดแนวรางรถไฟ  แล้วจึงจะนำเมล็ดมาบดและสกัดออกมาจนเป็นน้ำมันสีเหลือง นำมาผสมกับดีเซลจนได้ออกมาเป็นไบโอดีเซล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการขยายพื้นที่การเพาะปลูกต้นไม้ชนิดนี้ หรือเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่จะหันมาเพาะเลี้ยงพืชพันธุ์ชนิดนี้กี่มากน้อย

 

ดูเหมือนว่า มันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในเอเชีย เทียบกับคู่แข่งอย่างต้นปาล์ม ซึ่งสบู่ดำนั้นสามารถจะปลูกได้ไปทุกแห่ง กล่าวคือ มันจะไม่เป็นคู่แข่งกับพืชผลที่เป็นอาหาร และหวังว่าต่อไปในอนาคตมันจะไม่ไปคุกคามพื้นที่เขตป่าดิบชื้น และพื้นที่เปราะบางทางนิเวศวิทยาใดๆ

 

คริส แชทเทอร์ตัน ผู้บริหารระดับสูงของ D1 Oils เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมองว่าสบู่ดำเป็นคู่แข่งคนสำคัญของต้นปาล์มเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้พืชชนิดที่กินไม่ได้นี้เอง ที่เป็นทรัพยากรสำคัญมากกว่า พืชจำพวกอื่นที่ให้น้ำมันเช่นเดียวกัน อย่าง ต้นทานตะวัน "เพราะว่า คุณจะไม่ต้องแย่งชิงพื้นที่ที่ใช้ในการทำการผลิตด้านเกษตรเพื่อการบริโภค เพื่อผลิตอาหาร มีเพียงชนชั้นกลางหยิบมือเดียวที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล ที่ผลิตจากพืชที่กินได้ เอาไว้ใช้ขับเคลื่อนรถเก๋งหรูหราของพวกเขาเท่านั้นเอง"

                       

"อนาคต" ที่ดูเหมือนจะสดใส

 

สำหรับประเทศไทยเอง แม้กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดลุยเดช พระองค์ก็ทรงใช้รถยนต์พระที่นั่ง ที่ใช้น้ำมันปาล์มเช่นกัน และยังทรงส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศของพระองค์มานานกว่า 20 ปีแล้ว ล่าสุดในวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ก็ทรงมีพระบรมราโชวาทในเรื่องพลังงาน ทรงกล่าวว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า โลกอาจจะขาดแคลนพลังงานน้ำมันด้วย

 

ปัจจุบันปั๊มน้ำมันหลายร้อยแห่งในเขตกรุงเทพมหานคร ยังได้ให้บริการเติมน้ำมันด้วยก๊าซโซฮอล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผสมเอทานอล 10 เปอร์เซ็นต์ และยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล-เบนซินทั่วไปเล็กน้อยด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ด้วยการไม่คิดภาษีเพื่อให้ผลิตเอทานอลได้มากขึ้น

 

แต่แม้ไทยกำลังรณรงค์ให้ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ก็ยังพบข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณเอทานอลที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับเอ็นจีวี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฟอร์ดได้ผลิตรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์

 

ในปี 2546 มี 8 บริษัทได้รับอนุมัติให้ผลิตเอทานอลได้โดยมีกำลังผลิตรวม 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 25 บริษัทที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่กลับเกิดปัญหาขึ้นกับโรงงานที่ใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลซึ่งบางครั้งประสบกับภาวะราคาแพงมาก จนต้องหยุดการผลิตลง อย่างเช่นโรงงานของบริษัท ไทยแอลกอฮอล์จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

 

ด้าน นายประพล วงษ์ท่าเรือ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 9 กระทรวงพลังงาน กล่าวในการสัมมนา เรื่อง "พลังงานทดแทน : การพัฒนาและส่งเสริมไบโอดีเซล" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ณ ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 เห็นชอบกับแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกัน 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง

 

โดยทั้งนี้ความต้องการน้ำมันดีเซลในประเทศไทยในปี 2547 มีประมาณ 53 ล้านลิตรต่อวัน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีความต้องการใช้ประมาณ 20-25 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นราว 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการทั้งประเทศ

 

กระทรวงพลังงานจึงได้วางยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2555 จะต้องผลิตไบโอดีเซลในอัตราส่วนร้อยละ 10 โดยคาดว่าในปี 2555 จะมีการใช้น้ำมันดีเซล 85 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะต้องผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 8.5 ล้านลิตรต่อวัน เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินได้ถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี

 

วัตถุดิบหลักที่จะใช้ในการผลิตไบโอดีเซล คือ ปาล์มน้ำมันซึ่งศักยภาพในการผลิตของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 ต้นต่อไร่ ได้มีการวางแผนร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ได้ 3.3 ตัน ต่อไร่ต่อปี และวางแผนการเพิ่มพื้นที่ปลูกให้ได้ 5 ล้านไร่ โดย 1 ล้านไร่ ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอีก 4 ล้านไร่ขยายพื้นที่ปลูกภายในประเทศในระยะเวลา 5 ปี

 

ซึ่งผลผลิตที่วางไว้นี้ยังไม่เพียงพอที่จะมาผลิตไบโอดีเซล ให้ได้ร้อยละ 10 ในปี 2555 จึงได้มีการวางแผนวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของสบู่ดำจากผลผลิตเฉลี่ยในปัจจุบันประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ให้เป็น 4,200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี โดยวางแผนทำการวิจัยและพัฒนาภายใน 3 ปี

 

จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของสบู่ดำ ที่จะทำการวิจัยและพัฒนาระหว่างปี 2549 - 2555 โดยในระยะแรก เน้นการให้ความสำคัญกับการปลูกสบู่ดำทดแทนพลังงานในระดับชุมชน

 

และกระทรวงคาดหวังไว้ว่า เมื่อมีงานวิจัยและพัฒนารองรับให้สบู่ดำได้ผลผลิตสูงขึ้นมากกว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี จึงจะพัฒนาการปลูกสบู่ดำเพื่อทดแทนพลังงานในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

 

"อนาคต" ที่น่าเป็นห่วง

 

ด้าน เกาะหลายแห่งในแถบแปซิฟิก ที่ซึ่งอยู่ห่างไกล และค่อนข้างโดดเดี่ยวนั้น ต้องนำเข้าน้ำมันต่อปีเป็นจำนวนมากและมีราคาสูง ทั้งยังมีความเปราะบางสูงในการถูกโจมตีทางเศรษฐกิจ หากราคาขายน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น บริษัทน้ำมันต่างๆ จึงมองหาทรัพยากรหรือผลิตผลอย่างอื่นมาทดแทนการนำเข้านี้

 

 "การใช้เชื้อเพลิงทดแทน กำลังเป็นหัวข้อสำคัญมากในขณะนี้ในกลุ่มประเทศเล็กๆ เหล่านั้น" ฌอง ชาเนียล ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Unelco Vanuatu ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ในตลาดตอนนี้

 

อีกทั้งบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่าง  Fiji Electricity  ก็มีแผนจะปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานทั้งหมดในบริษัทให้ไปใช้พลังงานทางเลือกให้ได้ภายในปี 2011 นี้ (พ.ศ.2554)

 

รัฐบาลอินเดียกล่าวด้วยว่า ต้องการจะเพิ่มการอุปโภคพลังงานทางเลือกจาก 5 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ไปสู่ 25 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการใช้พลังงานที่ได้จากพลังงานพืช นิวเคลียร์ พร้อมทั้งพลังงานลม และการใช้ประโยชน์จากสบู่ดำด้วย

 

ครึ่งหนึ่งของประชากรอินเดียบริโภคอุปโภคน้ำมัน  5 เปอร์เซ็นต์จากเอทานอล รัฐบาลจึงวางแผนมุ่งส่งเสริมให้เพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษข้างหน้าให้ได้

 

ในประเทศจีน รัฐบาลก็ทั้งสนับสนุน ทั้งส่งเสริมให้คนหันมาใช้เอทานอล และยังให้เงินสนับสนุนการผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ พลังงานจากเขื่อน และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งเพิ่มศักยภาพพลังงานทางเลือก โดยคาดว่าจะเพิ่มจาก 7 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ไปสู่ 15 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 (พ.ศ.2563)

 

เมื่อน้ำมันแพง แต่คนกลับซื้อหารถยนต์มาใช้กันเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงตลาดที่สดใสและดีเยี่ยมของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก" คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีนกล่าวอย่างเป็นทางการในการประชุม

 

"ทำให้เอทานอลเป็นที่รู้จัก ว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลผลิตเมล็ดพืชพันธุ์ทางการเกษตรมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีความยั่งยืนอีกด้วย" คณะกรรมการกล่าวเสริม

 

ในประเทศอื่นๆ ก็ใช้ผลประโยชน์และข้อดีต่างๆ จากการทำไบโอดีเซล นำมาจูงใจ และกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อการเติบโตในภาคเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน

 

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างเชื่อว่า การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากมาย แต่พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มความต้องการในการบริโภคที่มีอยู่ได้

 

นักวิทยาศาสตร์บางท่านกล่าวว่า ผลิตผลหรือน้ำมันที่ได้จากการนำพืชพันธุ์ต่างๆ มาผลิตนั้น อาจกลืนกินหรือใช้ทรัพยากรอื่นๆ มากมายแทนที่จะเป็นการเก็บรักษามันไว้ก็ได้

 

"การผลิต" กับต้นทุนราคาแพง

 

การปลูกพืชชนิดที่มีองค์ประกอบของน้ำมัน ซึ่งจะนำมาผ่านกระบวนการคั้น สกัดต่อไปจนได้น้ำมันออกมานั้นพบว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเชื้อเพลิงจำพวกนี้ ก็ต้องอาศัยต้นทุนการผลิตเช่นกัน นั่นคือ พื้นที่จำนวนมหาศาลในการเพาะปลูก เพื่อตอบสนองความต้องการมหาศาลของผู้บริโภค

 

ในเดือนพฤษภาคม นักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายออกมาต่อต้านโครงการของอินโดนีเชีย ซึ่งจะทำการเปลี่ยนพื้นที่กว่าล้านเฮกเตอร์ (หรือหลายแสนตารางกิโลเมตร) ในเขตป่าดิบชื้นบริเวณเกาะโบเนียว ให้เป็นไร่ปลูกต้นปาล์มแทน

 

ดร.อาร์เทอร์ รากูสคาส ศาสตราจารย์จากศูนย์เทคโนโลยีจอร์เจีย ผู้ทำงานร่วมในการศึกษาวิจัยไบโอดีเซล และเผยแพร่นิตยสาร Science magazine ยังมองเห็นหลุมพรางที่สำคัญบนหนทางนี้ด้วย

 

 "ข้อวิจารณ์หนึ่ง สำหรับการทำไบโอดีเซล ที่พวกคุณต้องการผลิตเพิ่มจาก 2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์นั้น คุณต้องทำเปลี่ยนการทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารไปเป็นการผลิตเชื้อเพลิง และนั่นแหละมันเป็นการแข่งขันระหว่าง อาหาร กับ พลังงาน อย่างแท้จริง" ดร.อาร์เทอร์ กล่าว

 

 "และมันจะเลวร้ายยิ่งกว่า ถ้าโลกของเรายังคงเผชิญกับความอดอยากอยู่อย่างนี้ แต่เราต้องมาเปลี่ยนต้นทุนการผลิตเพื่อผลิตเชื้อเพลิง เราจึงต้องตัดสินใจเลือกระหว่างอาหาร กับเชื้อเพลิงให้ดี"

 

พลังงานทางเลือกที่ผลิตได้ในเอเชียทั้งหมดในปัจจุบัน เป็นเพียงแค่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานที่ใช้กันอยู่ขณะนี้ ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงกล่าวว่า การผลิตพลังงานทางเลือกนี้จึงสามารถใช้ได้ในประเทศเพียงปีต่อปีเท่านั้น ไม่มีทางไปไกลถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้นได้เลย

 

 "นอกจากนี้ รัฐบาลในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย ยังได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล และพยายามกำหนดบทบังคับออกมาเป็นกฎหมาย" กล่าวโดย นายคอนราโด เฮรูเอลลา เจ้าหน้าที่ชำนาญการเฉพาะด้านพลังงานแนวใหม่ ที่ทำงานร่วมกับโครงการอาหารและการเกษตรกรรมของสหประชาชาติ เขายังกล่าวต่อว่า "ตอนนี้ เป้าหมายไม่ใช่การเพิ่ม การขยาย แต่เป็นการทำอย่างไรให้ยั่งยืนต่างหาก"

 

ทางด้าน "เอทานอล" ซึ่งส่วนใหญ่สกัดได้จากข้าวโพดในสหรัฐอเมริกา ผลิตจากน้ำตาลในบราซิลและเอเชีย ซึ่งนำมันผสมกับน้ำมันและนำไปใช้ ส่วน "ไบโอดีเซล" ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดทำมาจากเมล็ดพืชที่มีส่วนผสมเป็นน้ำมัน พบมากในแถบยุโรป และพืชผักจากสหรัฐ ปาล์ม มะพร้าว และสบู่ดำ ในแถบเอเชีย นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลและนำไปใช้

 

ข้อดีของเอทานอล คือ เผาผลาญแล้วทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นนั้น เอทานอลผลิตเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนที่น้อยว่าก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มาจากซากพืชซากสัตว์ (หรือพวกน้ำมันปิโตรเลียมทั้งหลาย) ข้อมูลนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science ค้นพบโดยสาขาเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกา และยังกล่าวอีกด้วยว่า ไบโอดีเซลสามารถช่วยลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศได้ถึง 78 เปอร์เซ็นต์

 

กระนั้น ข้าวโพด ต้นอ้อย ปาล์ม มะพร้าว ก็ยังมีข้อพิพาทเรื่องการแปลงที่ดินจากการเพาะปลูกพืชชนิดอื่น หรือการถางป่าแปลงพื้นที่เพื่อหันมาปลูกเหล่านี้กันมาก จนเกิดข้อกังวลด้านความสูญเสียของระบบนิเวศขึ้นมา

 

"ทางรอด" หรือบทอวสาน ?

 

จากรายงานการศึกษาโดย Union of Concerned Scientists องค์กรที่ศึกษาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อตั้งมากว่า 37 ปี ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเพาะปลูกพืชสำหรับนำมาแปรรูปเป็นพลังงานนั้น ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อระบบนิเวศ เพราะแม้ว่าการเพาะปลูกพืชเหล่านี้จะสามารถช่วยเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงเว้นพักการเพาะปลูกพืชหลัก หรือแม้แต่เพิ่มสารอาหาร แร่ธาตุให้กับดิน ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่าพืชจำพวกให้น้ำมันนี้ มีรากที่ช่วยเกาะยึดดิน ซึ่งเป็นการช่วยลดการชะล้างหน้าดิน การกัดเซาะ และบรรเทาน้ำท่วมได้

 

กระนั้นการทำไร่พืชพลังงานเหล่านี้ ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน แม้ว่าพืชจำพวกนี้จะใช้ยาปราบศัตรูพืชปริมาณน้อยกว่า ไร่ที่ปลูกพืชกินได้ทั่วไป แต่ความต้องการใช้พลังงานที่สูงมาก พื้นที่ที่นำมาเพาะปลูกก็จะเพิ่มและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับการผลิตน้ำมันที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในโลกอุตสาหกรรมใบนี้ ดังนั้นปริมาณการใช้สารเคมีก็จะเพิ่มขึ้นแปรผันตามกันนั่นเอง

 

อีกทั้งการปลูกพืชเหล่านี้ จำเป็นต้องตัดต้นพืชออกไปแปรรูปทั้งหมด แทนการที่พืชพันธุ์จะได้เหี่ยวเฉาและตายลง ถูกจุลินทรีย์ย่อยกลับมาเป็นปุ๋ย เป็นแร่ธาตุกลับสู่ดินอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากปลูกพืชพลังงานในป่า ทั้งยังส่งผลเสียต่อความหลายหลายทางชีวภาพอีกด้วย เมื่อระบบนิเวศถูกตัดตอนลงไป

 

สุดท้ายคือ ดินบริเวณที่ปลูกนั้นก็จะเสื่อมคุณภาพลงไป จำเป็นต้องขยับขยาย หาพื้นที่ใหม่ เมื่อนั้นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ คงต้องถูกทำลายลง ความกินดีอยู่ดีของมนุษย์อาจต้องนำมาสังเวย ให้การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสังเวยความต้องการที่ไม่เพียงพอ และพอเพียงเท่านั้นเอง

 

คงกล่าวได้เพียงว่า พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หรือเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน เพราะหากมนุษย์ยังไม่หันมาให้ความสำคัญกับการอุปโภค บริโภคทรัพยากรอย่างพอเพียง หรือประหยัดใช้น้ำมันเท่าที่จำเป็น เพื่อที่มนุษย์จะได้ไม่ต้องดิ้นรน หาหนทางเอาเปรียบธรรมชาติเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการที่ไม่เคยเพียงพอ-ไม่เคยสิ้นสุด ไปมากกว่านี้เลย...

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :

 

 "สบู่ดำ" มีแหล่งกำเนิดในอเมริกากลาง พ่อค้าชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในประเทศไทยสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ชื่อสามัญ Physic nut เป็นไม้ผลยืนต้น มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี เจริญเติบโตง่าย มีความสูง 2-7 เมตร ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ลำต้น ผล และเมล็ดมีกรด hydrocyanic เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง และมีสารพิษ curcin ในเมล็ด เนื้อไม้ไม่มีแก่นหักง่าย ในเนื้อไม้เมื่อหักจะมียางสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนๆ ไหลซึมออกมา ใบเป็นใบเลี้ยงคู่ ใบกว้าง มีฐานเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักคล้ายในละหุ่ง แต่หยักน้อยกว่า ดอกออกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ลักษณะดอกเป็นรูประฆังเมล็ดสบู่ดำมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 35 ของน้ำหนักเมล็ด เมล็ดสบู่ดำจำนวน 4 กิโลกรัม นำมาสกัดน้ำมันได้ 1 ลิตร และที่เหลือเป็นกาก จำนวน 3 กิโลกรัม น้ำมันสบู่ดำสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

 

รายงานพิเศษ พืชพลังงานทดแทน ภูมิปัญญาพึ่งตนเอง โดย ดร.สุรพงษ์ เจริญรัถ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจฯ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

TOXIC  NUT  PROMISES  OIL-BILL  RELIEF by Michael Casey Bangkok Post, May 7, 2006

Environmental Impacts of Renewable Energy Technologies, Union of Concerned Scientists, www.ucsusa.org

www.manager.co.th

www.bangkokbiznews.com

www.biodieseltoday.com

 

สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท