Skip to main content
sharethis


รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาคม จ.อุบลราชธานี

 


 


ชาวนาใน อ. สว่างวีระวงศ์ หันทำนาหว่านเพิ่ม เหตุต้นทุนต่ำ ด้านชุมชนฮ่องอ้อ รายได้ทรุด จับปลาในช่วงนำมากไม่ได้ ขณะที่คนในชุมชนหันจับอาชีพหาหน่อไม้ขายรายได้ทะลุ 10,000 บาท / เดือน


 


นายประวัติ ไชยกาล ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนฮ่องอ้อ อ.สว่างวีระวงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว PSUNEWS เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 ว่า ในช่วงฤดูทำนาวิถีชีวิตของชาวนาในยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม สังเกตจากวิธีการทำนาที่อาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาช่วยทุ่นแรง จากเดิมที่เคยใช้แรงงานคนในการปักดำนา ได้เปลี่ยนเป็นเป็นการทำนาหว่านแทน ประกอบกับชุมชนฮ่องอ้อเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับลำน้ำมูลซึ่งเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมมากว่าชุมชนอื่น ทำให้การทำนาที่ใช้แรงงานคนในการปักดำนั้นใช้ระยะเวลาในการทำนานกว่าแบบหว่านและเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ เมื่อเทียบต้นทุนในการทำนาแล้วแบบหว่านถูกกว่าเกือบเท่าตัว และที่สำคัญไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม เนื่องจากนาหว่านใช้ระยะเวลาน้อยกว่านาดำ ชาวนาสามารถ ดูแลรักษาได้ดีกว่าแบบใช้แรงงานคน ซึ่งในชุมชนฮ่องอ้อมีพื้นที่ในการทำนาเพียงแค่ 50 ไร่ จาก 30 ครัวเรือน คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพหาปลาและหาทรัพยากรในชุมชนที่สามารถเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการทำนา


 


ชุมชนฮ่องอ้อเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ป่า ที่คนในชุมชนเรียกว่า "ป่าบุ่ง ป่าทาม" เกือบ 2,000 ไร่ ครอบคลุมถึงชุมชนต่าง ๆ อาทิ ชุมชนหนองสโนว์ ชุมชนท่าช้าง ชุ่มชนบุ่งแมลง และชุมชนฮ่องอ้อ แต่ในปัจจุบันป่าดังกล่าวยังคงหลงเหลือให้ชาวชุมชนได้ใช้เป็นแหล่งหาอาหารเลี้ยงปากท้อง ไม่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้แปลงสภาพเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน แต่สิ่งหนึ่งที่มากับช่วงหน้าฝน คือ หน่อไม้ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่คนในชุมชนได้ใช้เป็นตัวสร้างรายได้ โดยการหาหน่อไม้มาขาย ในรูปแบบของการต้ม การดอง และขายหน่อไม้สด ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ถึงแม้ว่าชุมชนฮ่องอ้อจะเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับป่าบุ่ง ป่าทามที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่คนในชุมชนเองก็ยังมีอุปสรรค์ในเรื่องของทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อจำนวนความต้องการของคนในชุมชน เนื่องจากชุมชนอื่น ๆ ได้มาอาศัยผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งหาอาหารเหมือนกับคนในชุมชนฮ่องอ้อด้วยเช่นกัน เนื่องจากป่าในชุมชนอื่นที่มีลักษณะอุดมสมบูรณ์ได้เลือนหายไปจากปัจจุบัน


 


นอกจากนี้ชุมชนฮ่องอ้อยังมีอาชีพที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษโดยอาศัยความใกล้ชิดกับลำน้ำมูลในการประกอบอาชีพหาปลา เด็ก ๆ ที่เกิดมาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตริมฝั่งมูลเมื่อโตขึ้น ก็สามารถประกอบอาชีพช่วยผู้ปกครองได้ แต่ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ปลาชนิดต่าง ๆ กำลังวางไข่และแพร่ขยายพันธุ์ทำให้ปลามีขนาดตัวที่โตกว่าช่วงฤดูอื่น ๆ มาก แต่ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในลำน้ำมูลก็เพิ่มสูงขึ้น ท้องน้ำเริ่มมีต้นหญ้าหนาขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการวางไข่ของปลาชนิดต่าง ๆ ทำให้การจับปลานั้นยากขึ้นกว่าช่วงอื่น ๆ ซึ่งทางชุมชนได้มีการกำหนดขนาดของเครื่องมือจับปลา และห้ามให้มีการลากอวน เพื่อหลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้มีอยู่คู่ลำน้ำมูล ตลอดจนคนในชุมชน จะได้ใช้เป็นแหล่งอาหารได้ตลอดทั้งปี


 


ด้านนายปิยะพร ผ่องศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำชี บ้านท่าช้าง อ. สว่างวีระวงศ์ กล่าวถึงการทำนาของคนในชุมชนที่หันมาทำนาหว่านมากกว่านาดำ ว่า เนื่องจากต้นทุนในการทำนาดำสูงกว่านาหว่าน รวมทั้งกระบวนการทำนาดำนั้นมีความยุ่งยากมากว่า ถึงแม้จะให้ผลผลิตที่มากกว่าแต่คนในชุมชนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำนาหว่านมากกว่า ซึ่งช่วงเดือนมิถุนายนถือเป็นช่วงที่ย่างเข้าสู่ฤดูทำนาหลายครอบครัวได้ทำการหว่านเสร็จเรียบร้อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่บางครอบครัวยังใช้วิธีการทำนาดำที่อาศัยแรงงานคนปักต้นกล้าลงที่นาแทนการหว่าน ซึ่งขั้นแรกชาวนาต้องหว่านกล้าไว้บนแปลงนา ปกติหลังการหว่านประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ก็สามารถถอนต้นกล้านั้นไปปักดำได้ การใช้แรงงานคนจะมีข้อดีคือ ต้นกล้าที่ปลูกจะมีความเป็นระเบียบและดูแลง่ายกว่า ในขณะที่นาหว่านส่วนใหญ่เมื่อหว่านแล้วต้องกลับมาหว่านซ้ำอีก เนื่องจากบางที่หว่านแล้วไม่มีต้นกล้าที่จะเจริญเติบโตออกมา


 


"ข้อจำกัดของนาดำนั้นจะยุ่งยากในเรื่องของการถอนกล้าที่ต้องอาศัยแรงมือ และในปัจจุบันหาแรงงานที่จะมารับจ้างทำยาก ทำให้คนในชุมชนแห่งนี้เกิดแนวความคิดในการช่วยผ่อนแรงการถอนต้นกล้า โดยการนำตาข่ายที่มีความถี่มาก ๆ มาช่วยในกระบวนการทำนา หลังจากที่ชาวนาได้ทำการไถนาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะนำตาข่ายมาปูทั่วทั้งแปลงนาที่ต้องการหว่านเมล็ดข้าวเปลือก โดยรากของข้าวเปลือกนั้นจะชอนไชเข้าไปในรูของตาข่าย และจะเจริญเติบโตทะลุรูของตาข่ายขึ้นมา เมื่อต้องการถอนต้นกล้าชาวนาก็สามารถดึงตาข่ายขึ้น เพี่อมัดเอาจำนวนต้นกล้าตามที่ต้องการได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่สามารถช่วยผ่อนแรงได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ แต่ต้นทุนในการซื้อตาข่ายอาจสูง ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวในท้ายสุด"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net