Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากภาพเหตุการณ์คลิปวิดีโอเด็กนักเรียนหญิงตบตีกันถูกเผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุเพียงแค่มองหน้าและเกิดความไม่พอใจกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมจะต้องมองให้ลึก เพราะความรุนแรงในรูปของการทำร้านร่างกาย สภาวะจิตใจที่ก้าวร้าวไม่มีเฉพาะแค่กลุ่มเด็กวัยรุ่นชายเสียแล้ว ยิ่งโฟกัสไปในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา จะเห็นว่าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่ผู้ปกครอส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าลูกหลานของตัวเองก่อเรื่องตบตีกันจนถึงขั้นเลือดตกยางออก โดยจะทราบข้อมูลก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้นมา


 


หากย้อนมองในอดีตของสังคมไทยก็อาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น แต่เดี๋ยวนี้กับการแก้ปัญหาด้วยการ ตบ ตี จิก เตะ เกิดความผิดปกติตรงที่มี "ผู้หญิง" กระทำมากกว่าผู้ชาย ..!!!


 


ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ เปิดเผยว่า จากตัวเลขของการติดตามสภาวะการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมภาพ (สสส.) สะท้อนให้เห็นว่ากรณีที่นักเรียนหญิงตบตีกัน แล้วถ่ายภาพเป็นคลิปวิดีโอเป็นปัญหามานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม เพราะมีเด็กที่ตกอยู่ในวัฏจักรของความรุนแรงและการใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนด้วยกันมาก


 


จากตัวเลขที่สำรวจเด็ก 150000 คน ทั่วประเทศใน 76 จังหวัด จังหวัดละ 2000 คน พบว่า เด็กในระดับมัธยม อาชีวศึกษา ปวช. และปวส. ตกอยู่ในวังวนของการถูก ตบ ตี เตะ ประมาณ 1 ใน 10 หรือประมาณ 700000 คนจาก มัธยม อาชีวศึกษา ปวช. และปวส.ทั้งหมด 7 ล้านคน ซึ่งมีความแตกต่างกันไม่มาก อยู่ระหว่างร้อยละ 8 - 10 โดยภาคกลางมีปัญหาความรุนแรงสูงสุด คือร้อยละ 12 และภาคเหนือตอนบน มีความรุนแรงต่ำสุด คือ ร้อยละ 8 แต่ไม่แตกต่างกันมาก


 


"เด็กที่มีภูมิหลังเป็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยกจะสร้างปัญหามากที่สุด ตัวอย่างเด็กในสถานพินิจ ร้อยละ 60 มาจากเด็กบ้านแตก เห็นได้ชัดเจนว่าครอบครัวทำให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ส่งผลให้เด็กเก็บกดอารมณ์ แล้วก็ระบายออกมาในรูปแบบของความรุนแรงกับเพื่อน กับคู่กรณี เช่น การตบ ตี


 


ดร.อมรวิชช์กล่าวอีกว่า ปัญหาสื่อ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ เช่นตัวอย่างจากหนัง ละคร ที่มีการจิกหัวตบทำให้กลายมาเป็นความชินชาส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่เว้นแม่แต่ละครเกาหลี ญี่ปุ่น ที่จะมีฉากในโรงเรียนยกพวกตีกันบ่อยๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวในสังคมคือ ความรุนแรงจะถูกยกระดับจนกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นเรื่องน่ายกย่อง ฉะนั้นทางออกที่สำคัญคือ ระยะยาวต้องทำให้รู้จักวิธีจัดการความรุนแรง


 


ในสหรัฐอเมริกา เจอปัญหามากกว่าประเทศไทย มีเด็กในระบบการศึกษา 50 ล้านคน พบเด็กกว่า 200,000 คน ที่พกปืนไปโรงเรียน และกำลังมีวิธีการสอนเด็กในเรื่องสันติศึกษา โดยให้เด็กทะเลาะกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะให้เด็ก 2 คนทะเลาะกัน แล้วถ่ายวิดีโอให้ดูว่า เวลาทะเลาะกัน หน้าตาเด็กกลายมีความโหดร้าย จากหน้าตาสวย หล่อ ก็กลายเป็นหน้ายักษ์ โดยงานวิจัยของสหรัฐชี้ว่า สาเหตุที่เด็กทะเลาะ ตีกัน มาจาก 2 เรื่อง คือ พูดไม่เข้าหูกับพูดไม่รู้เรื่อง


 


สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหาระยะยาว ทางโรงเรียนต้องสอนทักษะชีวิตให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ส่วนในระยะสั้น เด็กที่มีพลังร้าย เกิดอาการเก็บกดจากครอบครัว สังคม หากแก้ปัญหาโดยการลงโทษหรือไล่ออก อาจจะเป็นการเพาะความก้าวร้าวในตัวเด็กมากขึ้นกว่าเดิม ในอนาคตเด็กเหล่านี้อาจจะกลายเป็นอาชญากร ทางออกคือ ต้องให้เด็กแสดงพลังร้าย ความก้าวร้าวออกมาในทางที่สร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ทางสังคม ในสถานศึกษา สังคม เพราะเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปเพราะเชื่อว่า เวลาเด็กได้สัมผัสสิ่งที่ดี จะส่งเสริมให้พลังที่ร้ายในตัวเด็กเป็นพลังที่ดีได้


 


 ป้าแอ๊ว ผู้ใหญ่ที่ดูแลกลุ่มเยาวชน เอ็นดีอาร์ ( NDR ) ในจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า การที่เด็กตบตีกันแล้วถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ เป็นแฟชั่นที่กำลังฮิตในกลุ่มเด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถ้าเด็กคนไหนตบตีกันแล้ว ไม่มีคลิปวิดีโดถือว่าเชยมาก และเด็กส่วนใหญ่ที่ตบตีกันมักมีสาเหตุมาจากการผิดใจเรื่องผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การต่อยหรือทำร้ายกันในเชียงใหม่ของกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายเริ่มจะหายไป แต่ผู้หญิงเริ่มร้ายกว่าผู้ชายและมีมากขึ้น


 


"แฟชั่นนี้กระจายในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ตบตีกัน ผู้ที่ชนะจะถ่ายเก็บไว้ ในกลุ่มเยาวชนของ NDR มีเกือบ 200 คน และก็จะมีเรื่องต่อย ตบตีกันบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เด็กที่ตบกันก็จะตัวเล็กมาก เด็กที่ทะเลาะกันก็จะตะโกนใส่กัน แล้วถ้าถึงจุดหนึ่ง ก็จะตบกันตรงสถานที่นัดพบหรือสถานที่ที่เจอกัน ณ เวลานั้นเลย แต่เด็กผู้หญิงจะไม่รุนแรงเท่าผู้ชาย แค่พกช้ำ"


 


ขณะที่ มี่กับเนส อายุ 14 ปี เด็กมัธยมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่และเป็นสมาชิกในกลุ่มเยาวชน NDR เล่าว่า ทั้งสองมีเรื่องตบตีกันบ่อยครั้งกับผู้หญิงคู่อริ สาเหตุของการตบตีว่าส่วนใหญ่จะโดนหาเรื่องจากคู่อริก่อน โดยการเข้ามามองหน้ากัน แล้วถามว่ามีปัญหาอะไรที่ข้องใจกัน ส่วนใหญ่ก็ตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายก็โหมเข้าตบกัน โดยใช้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่เว้นเท้า


 


"ส่วนใหญ่พวกหนูจะเสียเปรียบ เพราะหลายครั้งอีกฝ่ายจะมีมากกว่า เพราะคนที่กำลังมากกว่าจะได้เปรียบ ใครที่ชนะก็จะถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ โดยไม่ได้ทำตามกระแส แต่เพราะมันสะใจ เวลาเอามาดู"


 


ทั้งสองยังบอกอีกว่า เด็กผู้หญิงในกลุ่ม ต้องขอให้เด็กผู้ชายในกลุ่มซ้อมเตะ ต่อยให้ เช่น ล่อเป้า เตะเป้า เพื่อตนเองจะได้มีเทคนิคและวิชาป้องกันตัว บางครั้งต้องเลือกสถานที่ที่จะตบตีกัน เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่เห็น แต่ถ้าเจอกันในสถานที่สาธารณะ ถ้าไม่พอใจกันก็ตบกันตรงนั้นทันที และที่แรงสุดอาจใช้อาวุธเช่น มีด


 


แต่หลายครั้งที่กลุ่มเด็กเหล่านี้ถูกผู้ใหญ่ อาจารย์จับได้ในโรงเรียน โดยทางโรงเรียนก็จะดำเนินการเขียนใบเตือนและหักคะแนนความประพฤติ แต่วิธีการเหล่านี้หาใช่ทางออกที่จะทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้หยุดหรือเลิกการตบตีกันได้ เพราะมี่กับเนสทิ้งท้ายว่า "ถ้าเรื่องเงียบลง พอเจอคู่อริก็ต้องตบกันอีกอยู่ดี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net