นิติปฏิวัติ!!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ก่อน 16.00 น. ของวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 บรรยากาศทางการเมืองที่อึมครึมกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ลดหายไปอย่างที่ไม่ได้เห็นมานาน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แม้จะยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามว่า การกระทำของ กกต.ในบทบาทหน้าที่ที่ผ่านมา มีทางเลือกให้ กกต.แค่ไหน และความผิดควรจะถึงขั้นนี้หรือไม่ แต่เมื่อการพิจารณาเป็นไปตามเหตุและผล ดุลพินิจและคำพิพากษาของศาลก็เป็นเรื่องที่ควรจะยอมรับ

 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาล ก็ให้ความเห็นในที่ประชุม ครม.ว่า กกต.คงจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ท่าทีของคนในรัฐบาลต่างก็ยอมรับ บรรยากาศการยอมรับการเลือกตั้งที่จะมีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาดูแลจากการเสนอชื่อของที่ประชุมศาลฎีกาดูจะเป็นไปด้วยดี

 

ก่อน 16.00 น. นักกฎหมายจำนวนมากพาเหรดมาให้ความเห็น บางคนรอลุ้นและคาดหวังว่า ศาลจะไม่ให้ประกันตัว เพื่อหวังว่าจะทำให้ กกต.3 ท่าน จำต้องสิ้นสภาพโดยไม่มีข้ออิดเอื้อน

 

เราหายใจอย่างโล่งอก แล้วบอกตัวเองว่า เอาละ ถึงขั้นนี้ กกต. คงต้องยอมลาออกแล้ว แม้บางคนจะพูดว่าไม่ลาออก แต่น้ำเสียงก็ไม่ได้หนักแน่นอะไร

 

เราหายใจสบายขึ้นหลังจากเครียดมานานเกินครึ่งปี

 

ทว่าหลัง 16.00 น. เมื่อศาลชั้นต้นแถลงไม่ให้ประกันตัวเข้าจริงๆ คำถามก็คือทำไมในใจยังมีข้อกังวล สีหน้าที่แสดงความวิตก จึงเกิดขึ้นกับนักกฎหมายจำนวนน้อยจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผมและเพื่อนพ้องใน "ประชาไท"

 

และเราจะพูดเรื่องเหล่านี้กันในสภาพที่กฎหมายไทยมีคดีหมิ่นศาลคอยปิดปากในนามรักษาความสงบกันอย่างไร

 

ผมนึกถึงบทความของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่พูดถึงหลักคิดที่เกี่ยวกับการประกันตัว ผมนึกถึงชาวบ้านว่า แม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการประกันตัว คนระดับ กกต. ยังมีไม่ได้ แล้วชาวบ้านจะเหลืออะไร

 

เราต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลนะครับ และการพิพากษาของศาลก็มีชั้นของการตรวจสอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งแปลว่าผิดพลาดได้ แต่ผลของการไม่ให้ประกันตัวคราวนี้ มีผลต่อตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. คือต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

 

บางคนเปรยว่า ทำไมเหมือนจะแกล้งกันเลย เราบอกว่า เราต้องยอมรับคำตัดสินของศาล

 

บางคนบอกว่า นี่อาจจะไม่ยุติธรรม แล้วชาวบ้านตัวเล็กๆ จะทำอย่างไร เราบอกว่า ระวังหมิ่นศาล

 

บางคนบอกว่า ต้องเห็นใจศาล ศาลเองก็ถูกกดดัน เราบอกว่า ศาลจะยอมรับการถูกกดดันไม่ได้ ไม่ว่าจะใครที่ไหนเพราะศาลเป็นที่สถิตของความยุติธรรม คำตัดสินของศาลในคดีหนึ่งเป็นตัวอย่างให้อีกคดีหนึ่ง

 

เราพบว่า ศาลกำลังสร้างช่องโหว่มหาศาลที่ให้ "การเมือง" เข้าแทรกแซง เพราะวันใดที่ศาลมีอำนาจปลดคณะกรรมการที่ดูแลการเลือกตั้งได้ในสถานการณ์ที่มีผลได้ผลเสียเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในอนาคตผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงก็อาจจะเลือกข้างกลั่นแกล้งผู้ดูแลเลือกตั้งที่เป็นกลางได้เหมือนกัน

 

นี่เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน

 

เฮ้อ บรรยากาศจะดีอยู่แล้วเชียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท