Skip to main content
sharethis

เมื่อที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน จ.ลำพูน และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "นานาทัศนะ สถานการณ์แรงงานปัจจุบัน ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?" ขึ้นที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานในภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการ คนงาน และข้าราชการจากกระทรวงแรงงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก


 


เปิดตัวสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ


นายอนุชา มีทรัพย์ รองประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์(นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือที่เพิ่งตั้งได้ 2 เดือนที่ผ่านมากล่าวถึงการมีสหภาพแรงงานเป็นแห่งแรกของภาคเหนือว่า สหภาพแรงงานเกิดเพราะมีความเหลื่อมล้ำในการทำงาน อย่างงานที่ตนทำคือการเจียระไนเพชรจริงๆ มีต้นทุน 1 ดอลลาร์แต่ส่งออกกะรัตละ 5,000 ดอลลาร์ บริษัทกำไรมหาศาลแต่พวกผมได้เงินเดือนห้าพันกว่าบาท ทำให้คนงานรู้สึกว่าได้ค่าตอบแทนน้อยมาก


 


"ทุกทีเวลามีปัญหาเราก็แค่เก็บไปบ่นแล้วไปทำงานต่อ ไม่เคยมีใครคิดแก้ปัญหา เราทำสหภาพขึ้นมาไม่ใช่ด้วยอารมณ์ หรืออยากเด่นอยากดัง แต่ทำเพราะเราต้องการทำงานในสิ่งที่เรารักคือการเจียระไน เราไม่อยากออกไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานด้วยใจรัก เราทำเพื่อให้ชีวิตและคุณภาพของเราดีขึ้นบ้างไม่ถึงกับต้องร่ำรวยหรือเอาจนแตกหักไปข้างหนึ่ง ขอเพียงให้เห็นคุณค่าของพนักงาน เราจึงมีสหภาพเกิดขึ้น"


 


สหภาพไม่ใช่ตัวบ่อนทำลาย แต่เป็นการรวมตัวของพนักงาน แต่ละครั้งเราเจอผลกระทบ เราขึ้นไปเดี่ยวๆ เขาไม่ฟังเรา แต่เดี๋ยวนี้เรามีองค์กร เมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานมีปัญหา ก็ขึ้นไปหานายจ้างได้


 


นายอนุชา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากมีสหภาพแรงงานแล้ว ปรากฏว่าสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงาน คือถูกย้ายงานไปทำแผนกอื่น ถูกลดโอที และหนักข้อเข้าคือถูกฝ่ายบุคคลบังคับให้ลาออกเอง จึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูด้วย เพราะลำพังเราเป็นสหภาพแรงงานเกิดใหม่ ยังต้องการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิแรงงานด้านต่างๆ


           


เอ็นจีโอเผยสารพัดวิธีนายจ้างเอาเปรียบแรงงาน


 


นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยถึงวิธีการของนายจ้างที่จะเอาเปรียบการทำงานแรงงาน เช่น บังคับให้คนงานลงนามในสัญญายินยอมทำงานล่วงเวลาให้คนงานต้องยอมทำงานล่วงเวลาไปตลอด ไม่สามารถที่จะกำหนดเองว่าอยากทำงานล่วงเวลาในวันใด ไม่เช่นนั้นคนงานอาจต้องเลือกระหว่างการไม่ยอมทำสัญญายินยอมทำงานล่วงเวลา กับการที่บริษัทไม่ยอมให้ทำงานล่วงเวลาไปเลย 15-30 วัน ซึ่งจริงๆ แล้วคนงานอยากทำงานล่วงเวลา เพราะทำให้เพิ่มเงินเดือนเกือบครึ่งหรือเท่าตัวจากรายได้ปกติ เพียงแต่คนงานต้องการทำงานล่วงเวลาด้วยความสมัครใจเองมากกว่าที่จะถูกบังคับให้ทำไปตลอด


 


นอกจากนี้หลายบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เริ่มใช้มาตรการปิดงานบางแผนก ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ แบบไม่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโรงงานได้แจ้งกรมแรงงานแล้วหรือไม่ เช่นวันนี้มีการทำงาน แต่พอถึง 5 โมงเย็นจึงค่อยมาแจ้งว่าพรุ่งนี้จะหยุด ที่ร้ายกว่านั้นคือบอกตอนเช้า โดยยอมจ่ายเงินร้อยละ 60 ของค่าแรงซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ตามกฎหมายก็จริงแต่ว่าเป็นการใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ จนเหมือนกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนงาน เพราะจริงๆ แล้วโรงงานสามารถใช้วิธีเกลี่ยงานให้คนงานมีงานทำทุกคน เดือนหนึ่งหยุดช่วงละ 3-4 วันก็แย่สำหรับคนงานแล้วเพราะทำให้ค่าตอบแทนที่ไดไม่เพียงพอ


 


"เมื่อคนงานทนสภาพกดดันไม่ไหว ก็ต้องลาออก บ้างออกเอง บ้างก็ถูกบังคับให้ลาออก โดยที่การบังคับให้ลาออกนี้คือบริษัทต้องการเลิกจ้างแต่ไม่ต้องการจ่ายเงินชดเชย แต่ให้ลงนามในใบลาออก สละสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่มีการฟ้องร้องใดๆ ทั้งสิ้นกับบริษัท แม้การลงนามในใบลาออกบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่บริษัทก็ใช้วิธีบังคับให้ลงนามเพื่อที่ว่าจะตัดสิทธิการฟ้องร้องบริษัทในการทำงานที่ผ่านมา" นายสุชาติกล่าว


 


นอกจากนี้นายสุชาติยังเปิดเผยปัญหาเรื่องกองทุนเงินทดแทน ที่นายจ้างหาวิธีเลี่ยงการจ่ายเงินจากกองทุนทดแทนกรณีที่มีคนงานบาดเจ็บจากการทำงานในโรงงานด้วยการส่งฝ่ายบุคคลตามคนงานไปโรงพยาบาลแล้วบอกให้ใช้สิทธิประกันสังคมเพราะเจ็บป่วยข้างนอก เพื่อให้โรงงานไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่เสียชื่อเสียง โรงงานบางแห่งยอมใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนเพราะนิ้วขาดแต่พอรักษาตัวเสร็จก็เลิกจ้างโดยให้พนักงานพิพากษาด้วยการลาออกเองโดยให้เหตุผลว่าพนักงานประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงบริษัท ซึ่งกรณีการบาดเจ็บในการทำงานมักเกิดขึ้นบ่อย เพราะบริษัทมักดัดแปลงเครื่องมือ เช่น เอาเครื่องจักรที่คัดแยกชิ้นส่วนออกเพราะทำงานช้า แล้วให้คนเอามือใส่แทนเพราะทำให้ได้งานเร็วขึ้น ซึ่งก็คาดการณ์ได้ว่าสักวันมันต้องพลาด เพราะมีการเอามือใส่เข้าไปแบบนี้


 


"การกำหนดเป้าในการทำงานสร้างปัญหาให้กับคนงานเยอะมาก การใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ซึ่งทำให้การผลิตของคนงานไม่ถนัด ประสิทธิภาพจะลดลง แต่โรงงานตั้งเป้าไว้สูง หากทำไม่ได้ตามเป้าย่อมหมายถึงรายได้ที่ลดลง คนงานจึงเลือกที่จะไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยเพื่อให้ได้งานตามเป้า" นายสุชาติกล่าว


 


นักวิชาการวิพากษ์ "ไม่มีประชาธิปไตยในโรงงาน"


 


ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ว่า รู้สึกว่าเมื่อเดินเข้าประตูโรงงานเมื่อไหร่ ประชาธิปไตยก็สิ้นสุดลงเมื่อนั้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น คือในกระแสโลกาภิวัฒน์มันถูกครอบงำด้วยสิ่งที่เรียกว่า "การค้าเสรี" โดยสหรัฐบอกว่าไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่า ไทยน่าจะได้เปรียบจากการค้าเสรี แต่การค้าเสรีไม่ใช่แค่การค้าขาย แต่มันทำให้เกิดการขยายตัวการลงทุน การค้าเสรีคือการขยายตัวของทุน และภาคการผลิตที่ไทยไม่ได้เปิดออกไปคือภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นการทำค้าเสรีจะทำให้คนชนบทเข้าไปในภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น และการเกษตรจะเป็นเกษตรเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น เกษตรพันธะสัญญา


 


"ส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัฒน์ ก็มาจากบรรษัทข้ามชาติ บรรษัทข้ามชาติใช้วิธีแบ่งงานกันทำ โดยประเทศอุตสาหกรรมเป็นผู้คิดค้นต้นแบบของสินค้า ใช้คนงานมีฝีมือคิดค้นสินค้าตัวใหม่ และจดลิขสิทธิ์ โดยไม่ทำการผลิตเองแต่จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ประเทศอื่นซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาทำ เราเรียกว่าห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) และผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ก็มีทั้งรับผลิตในโรงงาน และนอกโรงงาน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าวิธีการเช่นนี้ทำให้ประเทศพัฒนามีส่วนต่างของกำไรมากเกินไป มันไม่เป็นธรรม สำหรับการค้าแบบนี้มันทำให้บรรษัทข้ามชาติเติบโต และย้ายฐานการผลิตไปเรื่อยๆ หากประเทศกำลังพัฒนานั้นค่าจ้างเริ่มแพง ซึ่งการผลิตลักษณะนี้ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม" รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ กล่าวในที่สุด


 


อนุกรรมการด้านสิทธิแรงงานฯ เผยข้อเรียกร้องของคนงานขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน


 


นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ อนุกรรมการด้านสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าข้อร้องเรียนมากที่สุดของคนงานที่ร้องเรียนเข้ามาร้อยละ 80 เป็นเรื่องสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน สิทธิในการเรียกร้องต่อรองของกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกที่ถูกเลิกจ้างบ้างหรือถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอนุกรรมการด้านสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดทำรายงานประจำปีต่อรัฐสภาและสาธารณชน นอกจากนี้อนุกรรมการด้านสิทธิแรงงานยังพบว่ามีกรณีที่ฝ่ายบุคคลบีบบังคับให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานลาออก โดยเป็นผู้รวบรวมใบลาออกเอง ทั้งที่เรื่องของการลาออกน่าจะเป็นเรื่องของพนักงานตัดสินใจเอง


 


อนุกรรมการด้านสิทธิแรงงานยังกล่าวเสริมด้วยว่า "แม้จะมีการปฏิรูปการเมือง แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศในรั้วโรงงานไม่เคยเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ นายจ้างมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอีกมาก และสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตราบใดที่วัฒนธรรมอำนาจนิยมหรืออำนาจเผด็จการของนายจ้างไม่มีการเปลี่ยนแปลง"


 


ศิโรตม์ หวังคนงานสร้างจินตนาการใหม่เพื่อสามัคคีชนชั้น


นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวาย กล่าวถึงเรื่องของสิทธิแรงงานว่า "คนงานต้องเริ่มต้นด้วยความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า สิทธิของผู้ใช้แรงงานแยกไม่ออกในฐานะที่เป็นสิทธิของประชาชนคนหนึ่งในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในหรือนอกโรงงาน สิทธิรัฐธรรมนูญระบุไว้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการชุมนุม สิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะเรียกร้องเรื่องต่างๆ เป็นสิทธิที่ติดตัวเราอยู่ตลอดเวลา และสิ่งนี้เป็นหลักการที่สำคัญที่สุดในการจะทำความเข้าใจสิทธิแรงงานในยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะว่าฝ่ายรัฐ และนายจ้าง พยายามจะบอกกับคนงานไม่เฉพาะแต่ในนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกก็คือ โรงงานที่เป็นของฝ่ายทุน เป็นพื้นที่ๆ นายจ้างจะออกคำสั่งอะไรก็ได้ เฉพาะฉะนั้นถ้าคิดแบบนี้ ก็คือการทำลายสิทธิการเมืองขั้นพื้นฐานของคนงานทุกคน พูดอีกอย่างก็คือความเชื่อที่ว่าโรงงานเป็นพื้นที่ของฝ่ายทุนอย่างเด็ดขาด ในด้านหนึ่งคือการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนว่าในทางปฏิบัติมีการละเมิดรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา และพื้นที่ๆ มีการละเมิดรัฐธรรมนูญมากที่สุดคือโรงงาน และคนที่ถูกละเมิดมากที่สุดก็คือท่านซึ่งอยู่ในห้องประชุมนี้"


 


นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า "คนงานระดับพื้นฐานจะต้องรวมกลุ่มกัน ต้องคิดถึงคนงานในฐานะที่เป็นคนชั้นเดียวกันกับเราให้มากที่สุด เราต้องคิดถึงคนยากจน คิดถึงคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับเราว่าเขาเป็นพี่น้องกับเรา นี่คืออาวุธของชนชั้นกรรมาชีพ ที่เราใช้กันมาตลอดหลายศตวรรษ และเป็นอาวุธที่ทรงพลังอยู่ในปัจจุบัน"


 


"นายจ้างพยายามจะบอกว่า คนงานไม่ใช่พวกเดียวกัน คนงานแต่ละคน คนงานแต่ละพื้นที่ต้องแย่งงานกัน อาวุธที่สำคัญที่สุดของคนงาน มันต้องเริ่มต้นที่จินตนาการอีกแบบหนึ่ง นั่นคือจินตนาการที่คิดว่าไม่ว่าคนงานจะต้องแย่งงานกันแต่ท้ายที่สุดแล้วเรามีผลประโยชน์ร่วมกัน คือการรวมพลังกันเพื่อปกป้องชีวิตของเรา ร่างกายของเราแขนขาของเรา ไม่ให้เสียไปจากการเป็นฟันเฟืองราคาถูกๆ ของนายจ้าง" นายศิโรตม์กล่าวในที่สุด


 


ผู้นำแรงงานอาวุโสหวังความสมานฉันท์


นางอรุณี ศรีโต ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายคนตกงาน สหภาพแรงงานไทยเกรียงและรองประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวแสดงความยินดีต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือว่า เมื่อมีสหภาพแรงงานที่ลำพูนเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของภาคเหนือแล้ว เราคนงานต้องรักษาสหภาพแรงงานเอาไว้และต้องทำให้เป็นสหภาพแรงงานตัวอย่าง ทำให้นายจ้างและคนงานในลำพูนเห็นว่าการมีสหภาพเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ต้องมีการขยายวง ซึ่งการจะสร้างสหภาพแรงงานได้ องค์ความรู้สำหรับผู้ใช้แรงงานเรื่องกฎหมายแรงงานและการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องสำคัญ


 


นางอรุณี ยังกล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันว่าสมัยนี้ขบวนการแรงงานถูกแยกสลายไปมาก ไม่มีความเป็นเอกภาพเหมือนก่อน สมัยก่อนผู้นำแรงงานไม่ให้ขึ้นค่ารถเมล์ รัฐบาลก็ต้องฟัง ขณะที่เดียวนี้ผู้นำแรงงานพูดไปก็ไม่มีเสียง หรือพูดไปข่าวก็ไม่ลง การรวมตัวของแรงงานมีความจำเป็นจริงๆ ถึงตกงานยังต้องรวมตัว เพราะถ้าไม่รวมตัวเราก็ไม่มีอำนาจต่อรอง


 


อนึ่งการเสวนาครั้งนี้ นับเป็นการเสวนาเรื่องแรงงานเป็นครั้งแรกในภาคเหนือ นับจากที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคนงานบริษัท E.F.D. (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดลำพูน สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน) ได้เป็นผลสำเร็จนับเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net