Skip to main content
sharethis

5 ก.ค. 2549 พินิจ กอศรีพร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมองค์การการค้าระดับรัฐมนตรีกลุ่มย่อย อย่างไม่เป็นทางการ ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก (WTO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน -2 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมาว่าการประชุมดังกล่าวได้สรุปประเด็นการเจรจา 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน และเป็นประเด็นที่มีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่มาก ได้แก่ เรื่องการเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรและการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้ ปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ได้ตั้งเป้าหมายของการเจรจาครั้งนี้ไว้สองเป้าหมาย เช่นกัน คือ


 


1.) ต้องการเร่งมือผลักดันให้เกิดกระแสการค้าใหม่ หรือ New Trade Flow ทั้งในส่วนที่เป็นการค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม


 


2.) ต้องกดดันสหรัฐอเมริกาให้ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ทำให้กลไกตลาดผกผัน


 


ทว่า ผลการประชุมดังกล่าวไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยประเทศที่มีอิทธิพลต่อการประชุม WTO มีทั้งหมด 6 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น บราซิล อินเดีย และออสเตรเลีย


 


ประเทศเหล่านี้ไม่ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้การเจรจาหาข้อสรุปไม่ได้


 


นายพินิจกล่าวเพิ่มเติมว่าแม้ทางกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จะยินยอมให้มีการประชุมครั้งนี้ และมีการเปิดตัวตลาดสินค้าเกษตรให้ใกล้เคียงกับข้อเสนอของ G-20 โดยยอมลดภาษีสินค้าเกษตรในภาพรวมลงร้อยละ 51 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงการเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหว ประกอบกับทางการอียูได้ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ ลดการอุดหนุนลงเหลือไม่เกิน 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ อ้างว่าไม่สามารถลดการอุดหนุนลงได้อีกแล้ว เช่นกัน


 


ขณะเดียวกัน ประเทศอินเดียและบราซิลซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาก็มีความเห็นว่า หากประเทศพัฒนาแล้ว ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดถึงการเจรจากับประเทศกำลังพัฒนา เพราะที่ผ่านมากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบทุกทาง


 


"จากท่าทีของประเทศสหรัฐอเมริกา และการประชุมโดยภาพรวม ทำให้มีความเป็นไปได้ที่การเจรจารอบโดฮา (ปี 2547) ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและจะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2549 นี้ จะประสบความล้มเหลวอีกครั้ง และทุกอย่างย่อมส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยด้วย" นายพินิจกล่าว


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net