Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

: The Real War


 


โดย  อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 



นูรี อัล-มาลิกี นายกรัฐมนตรีอิรัก


 


 


สืบเนื่องมาจากช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเรื่องสงครามอิรักที่ตกเป็นข่าว "ครึกโครม" มากๆ ทั้งในอิรักและวอชิงตัน


 


ในอิรัก มีการเปิดตัว "แผนการสมานฉันท์แห่งชาติ" (National Reconciliation Plan) ขณะที่ในวอชิงตัน หลังดีเบตการถอน/ลดจำนวนทหาร (ที่แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้) ในวุฒิสภาช่วงก่อนหน้านี้ อยู่ดีๆ ก็มีการปล่อยข่าวเรื่อง "แผนการลดจำนวนทหาร" อันไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยเงื่อนไขจากกองทัพตามมา...ครั้งที่เท่าไหร่ขี้เกียจจำ


 


ก็แค่กแคกddไอเดียคร่าวๆ ที่เพนตากอนนำเสนอทำเนียบขาว และทำเนียบขาวก็ยังไม่เอาด้วย แต่ถึงกระนั้น สื่ออเมริกันก็มีความสนุกสนานในการประโคมข่าวพวกนี้เป็นพิเศษ


 


ทั้ง 2 ประเด็นในอิรักและวอชิงตันต่างก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกกันไม่ออก และยังมีความเชื่อมโยงกับบทวิเคราะห์ใน "ประชาไท" ก่อนหน้านี้ (ที่พูดถึงเรื่องไดอะล็อกระหว่างอเมริกา รัฐบาลอิรัก กับฝ่ายต่อต้านซุนนี) ด้วยเหตุนี้ บทความ "อเมริกายังไม่แพ้" เลยต้องมีตอนสองตามมา เพื่อเป็นการอัพเดทสถานการณ์และลองหาคำตอบดูเล่นๆ เบื้องต้นว่า ภายใต้กระแสร้อนๆ ที่ผ่านมา...ของจริงมีราคาเท่าไหร่?


 


เราจะมีโอกาสเห็นฝ่ายต่อต้านโยนอาวุธทิ้ง หันมาจับมือตกลงกับอเมริกา ผู้นำชีอะต์และเคิร์ด ในเร็วๆ นี้มั้ย?


 


ณ จุดนี้ แม้แผนการสมานฉันท์ที่นายกฯ อิรักงัดออกมาโชว์จะเป็นแค่แนวทางกว้างๆ ที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด แต่คำตอบก็ดูจะไม่ได้ลึกลับอะไรนัก ผ่านไปแค่ 1 สัปดาห์ ฝ่ายต่อต้านกลุ่มที่เป็นแกนหลัก 2 กลุ่ม ก็ออกมาปฏิเสธแผนนี้อย่างไม่มีเยื่อใย เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้


 


ในเมื่ออัล-มาลิกีแทบจะเป็นเพียงนักแสดงที่ยืนอยู่ข้างหน้า อเมริกายังคงเป็นผู้กำกับและคุมสตอรีบอร์ดเข้มข้นอยู่ข้างหลัง และในเมื่อการสมานฉันท์แยกไม่ออกจาก "กำหนดการถอนทหารกลับบ้าน" สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านส่วนใหญ่ต้องการก็คือสิ่งที่อัล-มาลิกีหาให้ไม่ได้ และไม่มีปัญญาจะหามาให้


 


อเมริกาจำเป็นต้องอยู่ต่อไปในอิรัก แม้เหตุผลที่แท้จริง...จะไม่นิยมเป็นข่าวประโคมฮือฮาเท่าไหร่นัก ท่ามกลางความเงียบงันหลับหูหลับตาของสื่อส่วนใหญ่ในอเมริกา การสร้างฐานทัพและการผลักดันเรื่องดีลน้ำมันในอิรักยังคงมีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ บางที บริษัทน้ำมันของอเมริกาอาจจะกำลังเข้าใกล้ชัยชนะมากกว่าที่เราคิด และบางที ผู้นำอเมริกาอาจจะ "ไม่พร้อมสำหรับการสมานฉันท์" ไปตลอดชีวิต


 


กรีนโซนวันนี้...อาจจะมีรัฐบาลใหม่ กรีนโซนชั่วโมงนี้...อาจจะมีการตกแต่งหน้าร้านและนำเสนอสินค้าใหม่ๆ แต่กรีนโซนวินาทีนี้ ยังไม่ใช่ที่ที่เราจะไปคาดหวังเรื่องเซอร์ไพรส์ได้ง่ายๆ


 


 


แผนการสมานฉันท์ที่แกล้งๆ ลืมหัวใจสำคัญ


หลังการเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ผ่านไปราวๆ หนึ่งเดือน นายกรัฐมนตรีอิรัก นูรี อัล-มาลิกี ก็ได้นำเอา "แผนการสมานฉันท์แห่งชาติ" ที่เคยเกริ่นเอาไว้ มาเปิดตัวต่อหน้ารัฐสภาและสาธารณชน เมื่อ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยแผนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงแผนแม่บทคร่าวๆ 28 ข้อ (บางแห่งบอก 24 ข้อ) มีจุดประสงค์เพื่อลดความรุนแรงใน "นรกอิรัก 2006" และส่งเสริมความปรองดองสันติสุขระหว่างอิรักที่แตกออกเป็นฝักฝ่ายและนิกายต่างๆ


 


และแน่นอนว่า เป้าหมายหลักของแผนนี้ย่อมหมายถึงการปรองดองกับ "ฝ่ายต่อต้านซุนนี" นั่นเอง หลังการแอบซุ่มเจรจากันเป็นพักๆ เปิดๆ ปิดๆ มาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว


 


เนื้อหาของแผนโดยสรุป คือ


-          ประกาศนิรโทษกรรม "สำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายการก่อการร้าย และอาชญากรรมสงคราม"


 


-          นำมาตรการยุบสลายพรรคบาธ (เข้มงวดล้างผลาญ) ในปี 2003 กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากขึ้น


 


-          จ่ายค่าชดเชยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการก่อการร้าย และปฏิบัติการทางทหาร


 


-          ทำกองทัพให้ปราศจากการเมือง ลดอิทธิพลของฝ่ายต่างๆ เร่งปรับปรุงกองกำลังด้านความมั่นคงของอิรักเพื่อการถ่ายโอนงานจากกองกำลังฝ่ายพันธมิตร ตลอดจนพิจารณาปลดอาวุธกองกำลังนอกกฎหมาย


 


-          ริเริ่มมาตรการต่างๆ เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในคุก ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ทำทารุณนักโทษลอยนวล ฯลฯ


 


อัล-มาลิกีประกาศจะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อมาทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะ และแม้ว่าเขาจะนำเสนอแผนการนี้ต่อสมาชิกรัฐสภา แต่มีข่าวจากผู้ช่วยของเขาว่า...มาตรการต่างๆ ที่จะตามมาไม่จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของอิรัก


 


ว่าแต่ว่า การประกาศนิรโทษกรรมด้วยภาษาที่ส่งเสริมอาการมึนงงเลิกคิ้วข้างบน เอาเข้าจริงๆ แล้ว แปลว่าอะไรกันแน่? นายกฯ อัล-มาลิกีคิดจะนิรโทษกรรมให้กับคนดีหรือผู้บริสุทธิ์ที่ไหน?


 


"แผนนี้เปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่ต้องการจะเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง ร่วมพัฒนาประเทศ ร่วมปกป้องประชาชนอิรัก ตราบใดที่เขาเหล่านั้นไม่เคยก่ออาชญากรรม" อัล-มาลิกีอธิบายแบบไม่อธิบาย ก่อนที่จะขยายความวันต่อมาว่า


 


"การนิรโทษกรรมนี้ไม่นับรวมคนที่ฆ่าชาวอิรัก และคนที่ฆ่าทหารของฝ่ายพันธมิตร เพราะทหารเหล่านั้นเข้ามาในอิรักภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศอิรัก" มาลิกีสรุปว่า "นักรบที่ไม่ได้ฆ่าใครเท่านั้นถึงจะรวมอยู่ในแผนนี้"


 



ซัลเมย์ คาลิสัด ทูตอเมริกาประจำอิรัก
 


 


ขณะที่ ซัลเมย์ คาลิสัด ทูตอเมริกันประจำอิรัก กล่าวว่า การนิรโทษกรรมนี้เป็นเรื่องที่ "ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม" และ "ยังมีรายละเอียดที่ต้องไปว่ากันอีกมาก" แต่ที่แน่ๆ คาลิสัดยืนยันว่า...จะไม่มีการยกโทษให้คนที่โจมตีอเมริกา


 


"คนที่อุทิศชีวิตเพื่อปลดปล่อยประเทศนี้ให้มีเสรีภาพ เปิดหน้าต่างทางประวัติศาสตร์ให้กับประเทศนี้ เราจะต้องเคารพในการกระทำอันเสียสละของพวกเขา" คาลิสัดพูดยกย่องทหารอเมริกาให้ได้ยินทั่วกัน (ตามประสาคนที่เกิดมา-ไม่เคยอ่านรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน)


 


เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แผนนี้ อัล-มาลิกีได้สั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในอิรักอีกกว่า 450 คนตามมา หลังจากนั้น 2 วัน ล่าสุด ยอดผู้ถูกคุมขังที่ได้รับนิรโทษกรรมจากรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 2,500 คน จากจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ 28,700 คน (ตามรายงานของกระทรวงสิทธิมนุษยชนอิรัก ณ วันที่ 30 เมษายน 2005) ทั้งนี้ ส่วนที่อยู่ภายใต้การคุมขังของอเมริกามีถึง 14,000 คน


 


พ้นไปจากประเด็นนิรโทษกรรมที่ว่านี้ สิ่งที่หายไปดื้อๆ ในแผนสมานฉันท์ ก็คือ กำหนดการถอนทหารต่างชาติ


 


คิดจะสมานฉันท์กับฝ่ายต่อต้านซุนนี...แต่กลับไม่มีความชัดเจนเรื่องการถอนทหาร?


 


ใครที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเรื่องการเจรจาสมานฉันท์ของฝ่ายต่างๆ ในอิรักมาบ้าง คงจะรู้ดีว่า ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดของฝ่ายต่อต้านซุนนีที่มักจะยืนกรานมาตลอดก็คือ กำหนดการถอนทหารต่างชาติ ตามด้วยการประกาศนิรโทษกรรมนักรบฝ่ายต่อต้าน โดยการยอมรับว่าการโจมตีผู้ยึดครองต่างชาติเป็นสิ่งชอบธรรม แตกต่างจากการก่อการร้าย ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่เพียงจะถูกสื่อสารออกมาหลายครั้ง แต่ยังเคยเป็นที่เห็นชอบร่วมกันมาแล้วระหว่างผู้นำอิรักฝ่ายต่างๆ ในเวที การประชุมเพื่อการสมานฉันท์ที่ไคโร พฤศจิกายน 2005 (ซึ่งกลุ่มสันนิบาตอาหรับลงทุนเป็นเจ้าภาพ ไม่เกี่ยวกับอเมริกา) ถึงแม้ว่างานนั้นจะจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีผลผูกพัน แต่ก็ได้รับการยกย่องจากหลายฝ่ายว่าเป็นก้าวแรกของการสมานฉันท์ที่แท้จริง


 



ตรงกันข้ามกับแผนการสมานฉันท์ของรัฐบาลอิรักฉบับนี้ แม้เนื้อหาหลายส่วนจะได้พัฒนาขึ้นมาจากผลการเจรจาที่ไคโรก็ตาม แต่สุดท้าย...ส่วนสำคัญที่สุดก็ได้ถูกโยนทิ้งไป แกล้งๆ ลืมไปซะงั้น


 


อัล-มาลิกี อ้างเหตุผลว่า ที่ไม่มีการประกาศเรื่องนี้ออกมาชัดๆ เพราะเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่สามารถแน่ใจได้ว่ากองกำลังของอิรักจะเข้มแข็งพอที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระปราศจากกองกำลังต่างชาติได้เมื่อไหร่


 


แต่ใครก็ตามที่เคยฟังเหตุผลข้ออ้างแบบนี้มา 100 ครั้ง ย่อมรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เหตุผลของอัล-มาลิกี


 


แต่ใครก็ตามที่มองจ้อง "ปาก" ของอัล-มาลิกีดีๆ จะเห็นได้ทันทีว่า "มันไม่ซิงค์" (อ้ะ)


 


คุณจะให้ผมบอกเขาว่า...อย่าเกลียดการยึดครองของต่างชาติ?


การเปิดตัวแผนนี้ (ที่รอคอย) ก่อให้เกิดฟีดแบคด่วนจี๋ตามมาอย่างคกคัก แอลเอไทมส์ (แอลเลไทมส์) รายงานว่าชาวซุนนีจำนวนมากคิดว่า แผนดังกล่าวยังไม่ตอบรับความต้องการของพวกเขามากพอ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่มีการนำเสนอโปรแกรมถอนทหารอย่างเป็นรูปธรรม


 


ชีค อาลี ฮาทัม สุเลมาน ผู้นำเผ่าอัลบู อาซาฟ (Albu Asaf) ซึ่งอยู่ในเขตฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านจังหวัดอัล-อันบาร์ ให้สัมภาษณ์ว่า


 


 "คุณจะให้ผมบอกอะไรกับคนที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเหล่านั้น? บอกว่า...อย่าไปเกลียดการยึดครองของต่างชาติน่ะเหรอ?" เขาย้อนถาม "ผมเสียใจ ผมทำไม่ได้"


 


นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่แบกแดด วามิด นัดมี บอกว่าข้อเสนอที่ไม่มีการถอนทหาร ก็เท่ากับข้อเสนอที่ทำลายตัวเอง "ถ้าผมเป็นฝ่ายต่อต้าน ผมคงไม่คุยกับรัฐบาลที่ขึ้นกับกองทัพต่างชาติหรอก...คุยกับกองทัพต่างชาติไปเลยดีกว่า"


 


โอมา อัล-กาบูรี โฆษกพรรคซุนนีฆราวาส (National Dialogue Front) ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของแผนนี้ว่า "มันไม่ควรริบเอาสิทธิของประชาชนไป-สิทธิที่จะต่อต้านการยึดครอง มันควรต้องแยกให้ออกระหว่างการต่อต้านและการก่อการร้าย"


 


ฮาริธ อัล-ดารี ผู้นำสมาคมนักวิชาการมุสลิม (Association of Muslim Scholars) ซึ่งเป็นผู้นำชาวซุนนีที่มีชื่อเสียงและบารมีสูงสุดคนหนึ่ง กล่าวถึงแผนนี้ว่า "ไร้ความหมาย"


 


ที่มันไร้ความหมายก็เพราะ "เขา (มาลิกี) ไม่รวมเอาใครไว้ในแผนนั้นเลย"


 


ขณะที่นักการเมืองซุนนี อดีตสมาชิกรัฐสภาชุดก่อนหน้า ซาดูน อัล-สุไบดี ตั้งคำถามว่า "คุณจะเรียกว่านิรโทษกรรมได้ยังไง? ในเมื่อเรากำลังพูดว่า เราจะปล่อยคนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ก็คนที่ยังไม่ถูกตั้งข้อหา ตรรกะแบบนี้มันพิลึกไปมั้ยเนี่ย?"


 


ส.ส. เคิร์ดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคนหนึ่ง มาห์มูด ออธมาน ก็ออกมาวิจารณ์ในจุดเดียวกัน


 


"โดยทั่วไป ฝ่ายต่อต้านก็มือเปื้อนเลือดกันทั้งนั้น ถ้าคุณอยากจะสมานฉันท์กับคนที่ไม่เคยก่อความรุนแรงแล้วล่ะก็ ความรุนแรงก็จคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ"


 


นักวิชาการชื่อดัง ฮวน โคล เป็นอีกคนที่มีความข้องใจในหลักการเรื่องการนิรโทษกรรม (อย่างแรง)


 


"หนังสือพิมพ์อัล-ฮายัต (Al-Hayat) รายงานว่า อัล-มาลิกีมองว่าแผนสมานฉันท์นี้เป็นอำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นเขาจะดำเนินการต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องเข้าสภาฯ เพื่อโหวตรับรอง นอกจาก ส.ส.ชีอะต์รายหนึ่งออกมาแสดงความไม่พอใจในประเด็นนี้แล้ว ยังมีสมาชิกพรรคชีอะต์ยูไอเอ (พรรครัฐบาล) จำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่กับไอเดียนิรโทษกรรมให้ฝ่ายต่อต้านซุนนี


 


แต่ปัญหาจริงๆ กลับตรงกันข้าม การนิรโทษกรรมไม่ได้ครอบคลุมไปถึงใครก็ตามที่ "ทำให้คนอิรักต้องเสียเลือดเนื้อ" รวมทั้ง คณะผู้บริหารของบุชยังทำให้อัล-มาลิกีต้องล้มเลิกความคิดที่จะประกาศนิรโทษกรรมให้กับ "ฝ่ายต่อต้านที่ฆ่าทหารอเมริกา" อีกต่างหาก


 


ถ้าจุดประสงค์ของแผนนิรโทษกรรมมีขึ้นเพื่อจะดึงเอาตัวนักรบกองโจรตัวใหญ่ๆ เข้ามาร่วมเวทีการเมือง แผนนี้ก็เปล่าประโยชน์ นักรบระดับนั้นจะไม่ได้ฆ่าทั้งทหารอเมริกาหรือคนอิรักเชียวหรือ? แล้วชาวซุนนีซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าใคร ทำไมจะต้องได้รับการนิรโทษกรรมด้วย? คนพวกนั้นคงจะต้องเป็นนักรบที่ไร้ฝีมือหรือน่าสงสารมากๆ


 


มันคงเหมือนกับ คิสซินเจอร์ พูดว่า...ผมยินดีจะคุยกับเวียดนามเหนือ  แต่จะไม่คุยกับคนที่ช่วยเวียดกงฆ่าทหารอเมริกาหรือทหารเวียดนามใต้น่ะแหละ"


 


ด้วยเหตุผลและตรรกะประมาณนี้ ฮวน โคลจึงค่อนข้างเชื่อว่า เป้าหมายหลักของ "แผนสมานฉันท์" หาใช่ความสมานฉันท์จริงๆ ไม่ แต่น่าจะเป็นไปเพื่อสลายความแข็งแกร่งของฝ่ายต่อต้านมากกว่า โดยเฉพาะการนำมาตรการยุบเลิกพรรคบาธที่เข้มข้นถอนรากถอนโคนในอดีตกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเกี่ยวพันโยงใยซับซ้อนในขบวนการฝ่ายต่อต้าน เป้าหมายที่จะสลายขั้วและหาแนวร่วมใหม่ๆ ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย


 


โคลสรุปว่า "มันสายเกินไป และมันให้ในสิ่งที่เล็กน้อยเกินไป" 


 


ลอเรตตา นโปเลียโอนี  (Loretta Napoleoni) นักวิชาการและนักเขียนเจ้าของผลงานที่ว่าด้วยฝ่ายต่อต้าน/การก่อการร้าย-ที่มีชื่อเสียงมากในยุโรป ขอร่วมวงชำแหละแผนนี้ด้วยคน


 


"ไม่มีอะไรสักอย่างในแผนนี้ที่จะนำไปสู่ดีล มันไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะให้อีกฝ่ายยอมรับ"


 


และต่อไปนี้เป็นคำอธิบายเก๋ๆ ไม่ซ้ำใคร


 


"มันเป็นแค่ window dressing (การจัดตู้โชว์หน้าร้าน) สำหรับโลกตะวันตกมากกว่า มันเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นเพื่อขายอิมเมจ เพื่อที่จะพูดว่า โอ...รัฐบาลใหม่ในอิรักกำลังพยายามสร้างสันติภาพจริงๆ ด้วย แล้วหลังจากนั้น...สันติภาพนี้ก็จะถูกปฏิเสธตามมา แล้วรัฐบาลใหม่ก็จะไม่เหลือทางเลือกอะไร นอกจากเดินหน้าปราบปรามประชาชนต่อไปลูกเดียว"


 


ปิดท้ายกับ รอเบิร์ต ดรายฟัส นักวิเคราะห์/นักข่าวแนว investigative ขวัญใจปัญญาชนซ้าย - คนที่เราไม่สามารถปล่อยให้ทัศนะของเขา...ลอยนวลได้


 


"สำหรับฝ่ายต่อต้านส่วนใหญ่ ประเด็นการถอนทหารถือเป็นตัวชี้วัดว่าดีลนี้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนฝ่ายต่อต้านในอิรักให้เดินหน้าไป...ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการยึดครองของต่างชาติ เท่าที่ผมเคยพูดคุยกับบรรดาผู้นำฝ่ายต่อต้านในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาเต็มใจที่จะประกาศสงบศึกเพื่อให้อเมริกาถอนทหารออกไปตามกำหนด แต่พวกเขาจะไม่เอาด้วย...ถ้าดีลนั้นปล่อยให้มีการยึดครองอิรักต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการไม่รวมประเด็นนี้ไว้ ก็เท่ากับมาลิกีได้ทำให้โอกาสที่จะตกลงกับฝ่ายต่อต้านกลุ่มหลักๆ ในอิรัก...เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ (next to impossible)"


 


และเนื่องจากในช่วงนั้น (25 มิถุนายน) มีการปล่อยข่าวเรื่องแผนการลดจำนวนทหารของเพนตากอนออกมาพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความสับสนและสร้างกระแสบางอย่าง ดรายฟัสจึงขออาสาอ่านเกมตบตา "ลดทหารแต่ไม่ยอมถอนทหาร" แถมท้ายมาด้วย


 


"รัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านจะตกลงกันได้หรือไม่...เราคงจะได้เห็นกันในโอกาสต่อไป แต่ระหว่างนี้ ในส่วนของข่าวคราวที่ พลเอกจอร์จ เคซีย์ (ผู้บัญชาการระดับสูงในอิรัก) จงใจปล่อยออกมา เรื่องแผนคาดการ-การลดจำนวนทหารนั้น เราไม่ควรจะมองว่าอเมริกาคิดจะยุติการยึดครองอิรักเด็ดขาด นี่ไม่ใช่ก้าวแรก จุดนั้นยังห่างไกลมาก สิ่งที่เคซีย์บอกเราก็คือ ทั้งกองทัพบกและนาวิกโยธินไม่สามารถคงจำนวนทหารในอิรักไว้ที่ระดับ 127,000 ได้ในอนาคต สำหรับคำแนะนำที่ว่า...ให้ถอนทหารชุดแรกประมาณ 7,000 คนในเดือนกันยายนนั้น เป็นแค่เกมการเมืองล้วนๆ เพียงเพื่อจะเรียกคะแนนเสียงให้รีพับลิกันก่อนหน้าการเลือกตั้ง (มิดเทอม) ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ข้อเสนอการถอนทหารล็อตใหญ่ปลายปี 2007 ก็ผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดีแล้วว่า ยังสามารถคงจำนวนทหารประมาณ 50,000 -75,000 ไว้ในอิรักเป็นการถาวร


 


และวอชิงตันโพสต์ ก็พูดไว้ชัดในรายงานที่เกี่ยวกับเคซีย์ว่า ทั้งนี้...กองกำลังขนาด 50,000 -75,000 นาย "เป็นจำนวนที่กองทัพบกและนาวิกโยธินสามารถคงไว้ที่นั่นได้ เกือบจะเรียกได้ว่าตลอดไป แบบไม่มีกำหนด"


 


ถ้าสมานฉันท์เป็นของปลอม แล้วอะไรเป็นของจริง?


หลังการประกาศแผนหนึ่งสัปดาห์ หลังฝุ่นที่ตลบอบอวลตลอดอาทิตย์จางลง 2 กรกฎาคม เค้าลางของความล้มเหลวเริ่มปรากฎเป็นครั้งแรก เมื่อฝ่ายต่อต้านกลุ่มหลักๆ 2 กลุ่มออกมาปฏิเสธแผนนี้ด้วยท่าทีเสียงดังฟังชัด ผ่านสถานีอัล-จาซีรา (สดจากแบกแดด)


 


อิบราฮิม อัล-ชัมมารี โฆษกกลุ่ม Islamic Army in Iraq (บาธธิสต์ชาตินิยมเป็นแกนนำ แต่ใช้ชื่ออิสลามเพื่อให้ดูอินเทรนด์นิดหน่อย) กล่าวว่า แผนของอัล-มาลิกี ยังห่างไกลมากจากการเป็น "ก้าวแรกเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ"


 


"ถ้าข้อเสนอนี้ไม่นับรวมคนที่ต่อสู้กับอเมริกัน แล้วข้อเสนอนี้คิดจะสมานฉันท์กับใคร?"


 


อัล-ชัมมารี ไม่ยอมรับสถานะรัฐบาลนี้ เขาบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นแค่ "พวกเทคโนแครตที่คิดแต่จะฉกฉวยผลประโยชน์จากคนอิรักไปวันๆ"


 


ฝ่ายต่อต้านแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ถ้าจะมีการเจรจาในอนาคต...พวกเขาไม่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลหุ่น


 


"ถ้าพวกอเมริกันคิดจะเอาจริงเรื่องนี้ เราพร้อมจะเจรจาแบบคู่เจรจาบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นไปไม่ได้...ที่จะให้เรามานั่งคุยกับเอเจนต์พวกนั้น"


 


โมฮัมเหม็ด ฮัสซัน อัล-กาอิลานี โฆษกกลุ่ม Brigades of 1920 Revolution (กลุ่มชาตินิยมที่เอาชื่อมาจากการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์กับจักรวรรดินิยมอังกฤษ) บอกว่าคนที่ต้องการการสมานฉันท์ไม่ใช่รัฐบาล


 


"ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายของอัล-มาลิกี แต่มันเป็นเรื่องระหว่างเรากับกองกำลังยึดครองของอเมริกา แล้วทำไมเราจะต้องไปเจรจาตกลงกับอัล-มาลิกีด้วย?"


 


"ฝ่ายต่อต้านมีจุดยืนแรงกล้าในเรื่องต่อต้านการยึดครองต่างชาติ ทุกหน่วยของฝ่ายต่อต้านปฏิเสธแผนนี้...ก็เพราะมันไม่ได้พูดถึงการยึดครองสักนิด"


 


จนถึงชั่วโมงนี้...ชัดเจนอย่างยิ่งว่าฝ่ายต่อต้านต้องการอะไร ทุกคนทั่วโลกน่าจะรู้แล้วว่าฝ่ายต่อต้านต้องการอะไร พร้อมจะโยนอาวุธทิ้งและเซ็นสัญญาสงบศึกเมื่อไหร่ แต่ที่ไม่รู้จริงๆ ก็คือมันจะมีวันนั้นมั้ย...วันที่อเมริกาจะเปลี่ยนใจทำเซอร์ไพรส์...หันมาหยิบยื่นในสิ่งที่พวกเขาอยากได้?


 



โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา


 


 


28 มิถุนายน หลังการประกาศแผนร้อนๆ นักข่าววิ่งไปถาม โดนัลด์ รัมสเฟลด์ เรื่องกำหนดถอนทหารจากอิรัก รัมสเฟลด์ทำตัวเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ท่องสคริปต์เดิมๆ ไม่มีว่อกแว่กว่า...อเมริกาจะไม่มีทางเซ็ตกำหนดการถอนทหารเด็ดขาด


 


"ความคิดของประธานาธิบดียังคงเหมือนเดิม นั่นก็คือ กำหนดการถอนทหารไม่ใช่เรื่องดีมีประโยชน์ มันเท่ากับส่งสัญญาณให้ศัตรูได้ใจว่า ไม่ต้องทำอะไร นั่งคอยไป แล้วก็จะได้เป็นเจ้าของทุกอย่างเอง"


 


"เป้าหมายของเรา...ไม่ใช่การเอาอะไรไปแลกกับอะไรเพื่อให้ใครพอใจ แต่เป้าหมายของเราคือความสำเร็จ"


และความสำเร็จก็เป็นเรื่องที่รัมสเฟลด์ยืนยันว่า "ขึ้นอยู่กับสถานการณ์"


 


87% ของคนอิรักต้องการให้อเมริกาถอนทหาร ถ้าเราหักจำนวนชาวเคิร์ด 3 จังหวัดที่ค่อนข้างแยกตัวเป็นอิสระและ "เอาด้วย" กับอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ออกไป อาจพูดคร่าวๆ ได้ว่า คนอิรักที่เหลือ-ทั้งชีอะต์และซุนนีเกือบทั้งประเทศอยากให้อเมริกาถอนทหาร ไม่ใช่แค่นักรบฝ่ายต่อต้านเท่านั้น


 


ที่งานประชุมสันติภาพโลก (World Peace Forum) แคนาดา สดๆ ร้อนๆ ปลายเดือนที่ผ่านมา แอคทิวิสต์ 2 คนที่สนใจเรื่องอเมริกา-อิรัก ได้โคจรมาเจอกัน คนแรกคือ ดาร์ จามาล (Dahr Jamail) นักรายงานข่าวอิรักยอดเยี่ยม กับอีกคน แอนโทเนีย ยูฮาส (Antonia Juhasz) นักวิชาการและนักเขียนเจ้าของผลงานว่าด้วยอะเจนดาบุชและการครอบงำทางเศรษฐกิจของเอ็มไพร์ (The Bush Agenda: Invading the World, One Economy at a Time) จากงานนั้น จามาลนำสิ่งที่พูดคุยกับยูฮาสมาเล่าต่อในบทความของเขาสั้นๆ แต่ก็พอจะทำให้เราเข้าใจคำพูดปริศนาที่ว่า "ขึ้นอยู่กับสถานการณ์" ของรัมสเฟลด์ได้ดีขึ้น


 


"ยูฮาสบอกผมว่า ชาวคณะบุช/เชนีย์กับพรรคพวกบริวาร กำลังประสบความสำเร็จขนานใหญ่ในอิรัก อิรักตอนนี้ ผลิตและส่งออกน้ำมันเกือบจะมากเท่าระดับที่เคยทำได้แล้ว เธอบอกว่า "ทั้ง เอ็กซอน เชฟรอน โคโนโค เชลล์ บีพี และ แมราธอน ต่างก็โกยกำไรจากงานนี้ทั่วหน้า"


 


"ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันรุนแรงเร็วๆ นี้แล้วล่ะก็ สัญญาที่อเมริกาทำไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจทั้งหมด (อายุสัญญา 25-40 ปี) จะขูดเอาแต่ส่วนดีๆ ที่หลงเหลืออยู่ในเศรษฐกิจอิรักไปอย่างมีประสิทธิภาพสุดๆ เธอเล่าว่า ภายใน 2 เดือนรัฐบาลหุ่นเชิดจะผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมา และภายใน 6 เดือน สัญญาที่บริษัทตะวันตกทั้งหลาย (อ่านว่า "ยักษ์ใหญ่น้ำมัน") ได้ทำเอาไว้ ก็จะมีผลบังคับใช้


 


"สิ่งที่บุชและบริษัทพวกนั้นต้องการก็คือ ข้อตกลงในรูปแบบที่เรียกว่า PSA - Production Sharing Agreement" (1) ยูฮาสระบุ "ข้อตกลงในรูปแบบนี้ จะทำให้บริษัทน้ำมันของอเมริกาสามารถควบคุมและเข้าถึงน้ำมันซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทพวกนั้นไม่เคยเข้าถึงมาก่อน และก็อย่างที่เรารู้กันว่า...สงครามครั้งนี้ จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องอะเจนดาพวกนี้มาโดยตลอด


 


สรุปแล้ว ฐานทัพถาวรของอเมริกาในอิรัก ก็คือสิ่งที่ต้องมีไว้เพื่อใช้ปกป้อง คุ้มครอง และรักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทน้ำมัน...เธอบอกผมอย่างนั้น"


 


น้ำมัน ความมั่งคั่ง อำนาจเหนือภูมิภาค และอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ ในโลก...สิ่งเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กัน และจุดเริ่มต้นที่ดีก็คืออิรัก ยูฮาสอธิบายเรื่องนี้ทั้งหมดไว้ในหนังสือเธอแล้ว


 


ด้วยงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ ตลอดช่วงที่ผ่านมา อเมริกากำลังเร่งสร้างฐานทัพถาวรในอิรัก อย่างน้อย 4 แห่ง หนึ่งในนั้นที่พอจะมีรายละเอียดคือ ฐานทัพอากาศบาลัด (Balad Air Base) ซึ่งมีทั้งรถไฟใต้ดิน พิซซาฮัท สตาร์บัค ป็อปอายส์ เบอร์เกอร์คิงบริการ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ ฮอลล์อีก 4 ฮอลล์ และยังกว้างพอที่จะรองรับทหารได้ 20,000 นาย เครื่องบินได้อีก 250 ลำ


 



สถานทูตที่แพงที่สุดในโลก - อยู่ระหว่างก่อสร้าง


 


ยังไม่นับสถานทูตขนาดเท่าเมืองวาติกัน จุพนักงานได้ถึง 8,000 คน มีทุกอย่างครบเครื่องถึงพร้อมเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์นักการทูต - รวมทั้งสระว่ายน้ำที่ลือกันให้แซ่ดว่าใหญ่ที่สุดในประเทศอิรัก


 


"อลังการงานสร้าง" กันซะขนาดนี้ ไม่มีใครทายใจถูกว่าอเมริกาคิดจะอยู่ที่นี่ต่อไปอีกกี่ปี 1 ปี 2 ปี หรือสัก 200-300 ปี?


 


ฝ่ายต่อต้านชาวซุนนีอยากให้อเมริกาไป าวซุนนีเกือบทั้งประเทศอยากให้อเมริกาไป ชาวอิรักเกือบ 90%อยากให้อเมริกาไป แต่อเมริกาของบุชมี "ความจำเป็นถึงตาย" ที่จะต้องอยู่ อเมริกาไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อเสรีภาพ อเมริกาไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อสันติภาพ และอเมริกาไม่ได้มาที่นี่เพื่อสร้างประชาธิปไตย


 


อเมริกาไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อให้ใคร "สมานฉันท์" กับใคร และแน่นอนที่สุด ฐานทัพของอเมริกาไม่ได้มีไว้เพื่อ "รักษาความปลอดภัย" ให้กับคนอิรัก o


 


..........................................................


อธิบายท้าย


(1) PSA - Production Sharing Agreement สำหรับอุตสาหรรมน้ำมันอย่างในอิรัก ที่บ่อน้ำมันขนาดใหญ่และความเสี่ยงในการสำรวจมีน้อยมาก วิธีที่ประเสริฐคือรัฐลงทุนเอง โดยตรง ผลประโยชน์ตกเป็นของชาติ แต่ท่ามกลางความเงียบพ้นหูพ้นตาที่ผ่านมา มีการผลักดันข้อตกลงประเภทนี้ระหว่างรัฐบาลกับบริษัทพัฒนาบ่อน้ำมันของเอกชนมาตลอด แน่นอนว่า ภายใต้สภาวะไม่มีอำนาจต่อรองเช่นนี้...ย่อมเป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบอยู่แล้ว เอกชนเป็นคนลงทุนและมีสิทธิในบ่อน้ำมันตามสัญญา ยิ่งบ่อน้ำมันสมบูรณ์อย่างอิรัก โอกาสทำกำไรยิ่งเยอะมั่กๆ และนี่ก็จะเป็นดีลในฝันของบริษัทน้ำมันไปอีกนาน


 


ไม่จำเป็นต้องมีการแปรรูปบริษัทของรัฐ วิธีนี้เป็นวิธีหากินที่คุ้มค่า คล่องตัว และงุบงิบทำได้ง่ายกว่า คนที่ได้คือบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่กับนักการเมืองอิรักทั้งหลายที่เอาด้วยกับอเมริกา


 


ไว้โอกาสเหมาะๆ เราจะหยิบเรื่องดีลน้ำมัน อะเจนดาบุชที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ/ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ตลอดจนเรื่อง "โคตรฐานทัพ" มาขยายความกันอย่างละเอียดต่อไป


 


ข้อมูลประกอบ


Reconciliation Plan to be Unveiled, Juan Cole, Informed Comment, June 25, 2006


Iraq PM unveils unity proposals, BBC, June 25, 2006


U.S. General in Iraq Outlines Troop Cuts, Michael R.Gordon, New York Times, June 25, 2006


Ambiguity Threatens Iraq Reconciliation: Analysts, IslamOnLine, June 26, 2006


Divisive Plan to Unify Iraq, Borzou Daragahi, Los Angeles Times, June 26, 2006


Iraqi Premier Offers 'Reconciliation,' but No New Plans for Amnesty, Sabrina Tavernise, New York Times, June 26, 2006


Iraq Leader Says No Pardons for Attacks on Soldiers, Sabrina Tavernise, New York Times, June 27, 2006


Iraq releases more than 450 detainees for national reconciliation, Xinhua, June 27, 2006


An Accord In Iraq?,  Robert Dreyfuss, TomPaine, June 27, 2006


Rumsfeld Says U.S. Won't Set Iraq Exit as AP Cites Sunni Offer, Bloomberg, June 28, 2006


An Iraqi Withdrawal From Iraq, Dahr Jamail, TruthOut, June 28, 2006


Iraqi armed groups reject Maliki plan, Aljazeera, July 2, 2006


Orwell in Iraq: Snow Jobs, Zarqawi and Bogus Peace Plans, Dahr Jamail, TruthOut, July 3, 2006


 


...................................................................


หมายเหตุถึงผู้อ่าน - คือตอนนี้ การออกเสียงชื่อภาษาอังกฤษเป็นไทยของดิฉัน...อาจจะไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย ชวนให้สับสนนิดหน่อย ต้องขออภัยด้วยค่ะ (อย่างชื่อดาร์ จามาล ดิฉันเคยเขียนดาร์ จาเมล แต่หลังจากฟังไปฟังมา 20 รอบ ขอเปลี่ยนใจ) คือหลายๆ ชื่อ มันไม่มีเสียงไหนใช่เลย ดิฉันก็แค่พยายามจะออกเสียงให้ใกล้เคียงมากที่สุด


 


การออกเสียงของดิฉันยึดตามสื่ออเมริกา "Democracy Now" เป็นหลัก เพราะเป็นสถานีเดียวที่ฟัง (ดู) เป็นประจำตอนนี้ อีกสักพักคาดว่าทุกอย่างจะเข้าที่ ใจเย็นนิดนึงนะคะ ดิฉันกำลังพยายามจะหามาตรฐานการถอดเสียงภาษาปะกิดอันงงๆ ของตัวเองอยู่ค่ะ


 


 


 


อ่านตอนแรก : อเมริกายังไม่แพ้ : สุดยอดบทวิเคราะห์ขยี้กึ๋น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net