Skip to main content
sharethis

 

ณ ตอนนี้ แม้จะยังไม่มีใครเดาได้ว่าจังหวัดที่ 77 "สุวรรณภูมิมหานคร" จะ มีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นแบบไหน แต่ที่แน่ๆ แล้วก็คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมงนั้น จะเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ในวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้

สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการภายในสนามบินดูเหมือนจะครบครันทั้งอาคารผู้ โดยสาร อาคารจอดรถ สถานีรถไฟฟ้า โรงแรม ภัตตาคาร ตลอดจนปั๊มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้แทนคนพิการประเภทต่างๆ ไม่ได้ไปสำรวจการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็คงยังไม่รู้ว่ายังมีสิ่งที่ขาด...

โดยจากผลการสำรวจพบว่า คนพิการไม่สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะในอาคารผู้โดยสาร อาทิ ประตูทางเข้าแบบผลักเปิด-ปิด ไม่เอื้อต่อคนพิการด้านร่างกาย ถ้าหากใช้แรงผลักมากอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ พื้นทางเดินก็ใช้วัสดุที่ลื่นมาก และบางส่วนเป็นทางลาดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อคนพิการ โดยเฉพาะคนที่ใช้ไม้ค้ำยัน ขาเทียมและไม้เท้า

นอกจากนี้ ผู้นั่งเก้าอี้รถเข็นไม่สามารถใช้ห้องส้วมได้เพราะแคบและราวจับไม่เหมาะสม โถปัสสาวะที่สูงเกินไปทำให้ผู้นั่งเก้าอี้รถเข็นและเด็กชายใช้โถปัสสาวะไม่ ได้ คนตาบอดใช้ลิฟท์ไม่ได้เพราะไม่มีอักษรเบรลล์ที่ปุ่มกดเลือกชั้น และไม่มีเสียงบอกชั้นที่ลิฟท์เปิด และไม่มีสัญญาณไฟเตือนอันตรายแก่คนหูหนวก โดยเฉพาะในห้องน้ำและในลิฟท์

ทั้งที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และขจัดเจตคติที่ไม่ถูกต้องของสังคมที่มีต่อคนพิการ มีการตราพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 แม้แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ก็ได้บัญญัติถึงเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพ ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิของคนพิการ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งตนเองได้เอาไว้

แต่เรื่องทำนองนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

และหนนี้ก็เกิดขึ้นกับสนามบินที่หลายคนวาดหวังว่า จะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

พันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ผู้เคยนำสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เดินขบวนเรียกร้องให้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ เป็นเวลาร่วม 5 ปี ตั้งแต่ปี 2538 -2542 ทำให้มีลิฟท์และทางลาดใน 5 สถานี (จาก 20 กว่าสถานี) บอกกับ "ประชาไท" ว่า "ทุกวันนี้ พอรู้ว่าจะมีการก่อสร้างอะไรตรงไหนก็ต้องรีบส่งหนังสือไป ขอให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องไปไล่ตาม"

"มีกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ตั้งแต่ 1 กันยายน 2548 อยู่แล้วว่าถ้าไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เจ้าพนักงานต้องมีความผิด แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา มักพบว่า ความผิดดังกล่าวจะยังไม่เกิดจนกว่าจะมีคนไปชี้ว่ามันผิด"

กรณีสนามบินสุวรรณภูมิ พ.ท.ต่อพงษ์ เล่าว่า ได้เคยขอทราบรายละเอียดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก มาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ขอให้คนพิการไม่ต้องเป็นห่วง เพราะได้ดำเนินการให้เรียบร้อยตามมาตรฐานสากลแล้ว ทั้งยังแจ้งว่า ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูภายในสถานที่ก่อสร้างด้วย

กระนั้น ทางองค์กรคนพิการเองก็ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลอยู่ตลอด อย่างวันที่ 29 กันยายน 2548 ที่รัฐบาลจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ องค์การคนพิการสากลก็ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ 29 พฤศจิกายน เดินขบวนใหญ่ไปทำเนียบรัฐบาล ได้พบนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับปากว่าจะดำเนินการให้ตามที่ร้องขอ

จนเมื่อ 27 ธันวาคม ที่คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้แทนคนพิการประเภทต่างๆ มีโอกาสได้เข้าไปดูงานโครงการสนามบินสุวรรณภูมิและดูสถานที่ก่อสร้างจริงใน อาคารผู้โดยสารจึงได้พบว่า การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในระบบขนส่งมวลชนอยู่ใน เกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานสากล

หลังจากนั้น แม้จะมีการยื่นหนังสือกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ถึงจะมีการยอมรับความผิดพลาดที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ที่สุดแล้ว ก็ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก โดยอ้างว่า การก่อสร้างรุดหน้าไปมากแล้ว ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) หลายครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีใครหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา ต่างหันไปให้ความสนใจกับการเตรียมเปิดใช้สนามบินแทน

"24 มกราคม 2549 เราไปยื่นหนังสือให้นายกฯ กับมือ ก่อนการเข้าประชุมคณะกรรมการฯ คาดหวังว่าเรื่องของเราจะถูกหยิบไปพูดในวาระ แต่กลับไม่มีการพูดถึงเลย"

"ปัญหา ของเรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุยกันมาตั้งแต่ก่อนสร้าง พอสร้างไปแล้วจะมาขอความเห็นใจ ก็คิดว่าไม่ควรให้ความเห็นใจ ไม่เช่นนั้น เราก็ต้องเห็นใจทุกเมกะโปรเจค เพราะเขาจะไม่ทำ และมาบอกว่า แก้ไม่ได้แล้ว"

พ.ท.ต่อพงษ์ สงสัยว่า มีการตัดงบในส่วนนี้ออกไปหรือเปล่า เพราะตามแบบนั้นมีอยู่ และเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องมโหฬารอยู่แล้วในสนามบินสุวรรณภูมิ เขากล่าวเสริมว่า ถ้ามีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมาแต่แรก จะไม่ต้องเพิ่มงบเพื่อแก้ไขงาน

หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก มองว่า นี่คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเตรียมข้อมูลเพื่อฟ้องศาลปกครองและจะถวายฎีกาผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ด้วย

"แล้วก็กินนอนปิดสนามบิน เผาทำลาย ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดเป็นประเด็นทางสังคม ในที่สุด สังคมก็จะบอกว่า "คนพิการรอหน่อยไม่ได้หรือไง ให้เขาเปิดใช้ไปก่อน" ถ้าสังคมไม่เข้าใจก็จะพูดแบบนั้น แต่เราจะต้องบอกว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร เราไม่ได้เอาแต่ใจตัวเอง

พ.ท.ต่อพงษ์ ยกตัวอย่างการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในญี่ปุ่นว่า สนามบินล่าสุดที่เปิดเมื่อปีที่แล้วที่นาโงย่า มีการจ้างคนพิการเป็นที่ปรึกษา สำหรับดูแลด้านนี้ทั้งระบบ

"ที่เล่าให้ฟัง ไม่ได้จะบอกให้จ้างคนพิการไปทำงาน เพียงแต่จะขอเข้าไปทำด้วย ทำให้ฟรีๆ เลย"

ต่อคำถามที่คนพิการระดับรากหญ้าถามว่า ถ้าสนามบินสุวรรณภูมิดีแล้วพวกเขาจะมีกินไหม พ.ท.ต่อพงษ์ อธิบายว่า ถ้าสนามบินดี จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุคนพิการได้ ในช่วงไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวทั่วไปจะเข้ามาเที่ยว ขณะที่กลุ่มคนพิการจะมาช่วงโลว์ซีซั่น มาแล้วอยู่นาน มีผู้ติดตาม เมื่อมีคนพิการต่างชาติเดินขวักไขว่อยู่ในเมือง จะทำให้ต้องมีการปรับปรุงระบบขนส่ง กระตุ้นการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว

"ร้านค้าร้านรวงจะเริ่มคิดแล้วว่า ทำไมไม่ทำทางลาดเล็กๆ สำหรับคนพิการ ถ้าทำนิดเดียวจะได้เงินเข้ามาเยอะเลย"

ทั้งหมดนี้ แม้จะไม่เห็นผลทันที แต่สุดท้ายแล้ว คนพิการรากหญ้าก็จะได้ประโยชน์ เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน ทำให้พวกเขาอยู่ในสังคมได้

นอกจากนี้ พ.ท.ต่อพงษ์ มองว่า สุวรรณภูมิไม่ใช่มีแค่อาคารผู้โดยสาร แต่เป็นเมือง มีรถไฟจากมักกะสัน มี บขส.พิเศษ เป็นเมืองใหญ่ที่ต้องเป็นเขตปกครองพิเศษ ต้องมีการก่อสร้างอีกมาก ขณะนี้มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อยู่ข้างใน แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้

"ขนาดอาคารผู้โดยสารซึ่งเป็นหัวใจของสนามบินยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วอาคาร อื่นๆ จะมีได้อย่างไร อย่าถามว่าคนพิการจะไปใช้เมื่อไหร่ หรือบอกว่าที่นี่ไม่เกี่ยวกับคนพิการ ไม่ใช่กรมประชาสงเคราะห์ เพราะเมื่อรัฐเองเคยพูดถึงการจ้างงานคนพิการ การให้คนพิการสอบแข่งขันเข้าเรียน เข้าทำงานได้ แปลว่า สักวันหนึ่งคนที่ทำงานในนั้น อาจเป็นคนพิการ จึงไม่ใช่ว่าจะไปไล่เขาออก ต้องให้เขาทำงานในนั้น"

"แม้กระทั่งหน่วยดับเพลิงก็ต้องมีทางลาด ถ้าสร้างมาก่อนอย่างดับเพลิงบางยี่ขันจะไม่ว่า แต่นี่สร้างใหม่ ถ้าผมมีธุระก็ต้องเข้าไปได้ นี่เป็นบริบทของสังคม

"ถ้ารัฐบาลขาดจิตสำนึกแล้วจะให้ผมทำอะไรกับสังคม เพราะผมต้องการรัฐบาลเป็นหัวหอก เพราะเขาเป็นคนกำหนดนโยบายควบคุมทรัพยากร ผมจะทำโปรเจคสร้างจิตสำนึกจะเอาเงินที่ไหนสร้าง จะทำสปอตทีวีจะทำอะไร อยู่ในมือคุณหมดแล้วตัวเองไม่มีจิตสำนึก จะอ้างว่าคนละรัฐบาลไม่ได้เพราะรัฐบาลเป็นนิติบุคคล

"ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาดีกว่ารัฐบาลทักษิณที่เขาว่ากันว่าดีสารพัดเรื่อง ยืนยันว่าเรื่องหนึ่งที่ห่วยแตก คือ เรื่องคนพิการ ถ้าไม่มีรัฐบาลที่ผ่านมา ชีวิตเราไม่เลวกว่าเดิม อาจดีขึ้นกว่าเดิมเพราะมันมีพัฒนาการจนได้รับรางวัลนานาชาติด้านคนพิการ เมื่อปี 2544 (Frankin Delano Roosevelt International Disability Award) มันมาของมันเรื่อยๆ แต่มาหยุดชะงักเมื่อรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามา เพราะไม่มีนโยบายด้านนี้เลย"

พ.ท.ต่อพงษ์ บอกว่า การจะพัฒนาคนพิการ ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบใหญ่ๆ คือ การพัฒนาที่ตัวคนพิการและการพัฒนาที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวคนพิการ

ขณะนี้ เรายึดติดกับการพัฒนาตัวคนพิการ แม้แต่องค์กรของคนพิการเองก็เปลี่ยนแนวการทำงาน เนื่องจากนโยบายที่เปลี่ยนไป

กลุ่มคนพิการถูกสลายไปพร้อมกับตอนที่เงินหวยเข้ามา

"พอมีเงินหวยโยนมา ต่างคนต่างคว้า แล้วก็แยกกันไปเขียนโครงการ เพื่อเอาเงินมาใช้ ทุกคนก็มีธงของตัวเอง ต่างคนต่างหันหลังให้กัน โดยลืมสิ่งที่เป็นปัญหาประเด็นร่วม ซึ่งก่อนหน้ารัฐบาลนี้มา องค์กรคนพิการมีประเด็นชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่เราจะมารวมกัน

"แต่พอเงินมาต่างคนต่างเดินสายฝึกอาชีพต่างจังหวัด คนพิการต่างจังหวัดเห็นคนพิการกทม. เหมือนเทวดา เอาเงินไปให้ ไม่มีใครจับที่สิ่งแวดล้อมเลย ทุกคนไปจับที่ตัวคนพิการหมด"

เขามองว่า วิธีการนี้ไม่ได้ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะงานพัฒนาคนพิการต้องพัฒนาสองส่วนพร้อมๆ กัน แต่เราได้เสียทรัพยากรไปกับส่วนเดียวมานานแล้ว จึงควรหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวคนพิการซึ่งเราไม่เคยลงทุนกับมันเลย เพราะแม้ว่าคนพิการจะได้รับการพัฒนาเป็นการส่วนตัวอย่างไร แต่หากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ลิฟท์ ระบบขนส่ง ก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ทำอะไรไม่ได้ เป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่มีสุขภาพแข็งแรง

พ.ท.ต่อพงษ์ ขยายความคำว่า "สิ่งแวดล้อม" ว่าประกอบด้วยปัจจัย 4 ข้อ คือ หนึ่ง ด้านกายภาพ ได้แก่ อาคารสถานที่ ห้องน้ำห้องท่า ถนนหนทาง สอง ด้านข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สำหรับคนตาบอด คนหูหนวก คนที่พูดไม่ได้ ต้องทำให้เขาเข้าถึงหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ ห้องสมุดประชาชนต้องมีเทปหรือซีดีที่บันทึกเสียงอ่านหนังสือ

รวมทั้งภาษามือ เวลาคนที่พูดไม่ได้ถูกตำรวจจับไป ไม่สามารถให้การได้ ตำรวจก็หาว่า หัวหมอ หาว่า แกล้งไม่พูด ซ้ำยังถูกทำร้ายร่างกายเอาอีก ไปโรงพยาบาล หมอก็ไม่ยอมฟัง จะให้ยาท่าเดียว เขาจะอธิบายก็ไม่มีใครสื่อสารกับเขาได้

สาม คือ กฎเกณฑ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนต่างๆ ข้อห้าม ข้อยกเว้น กฎหมายที่กีดกันเลือกปฏิบัติทั้งหลายแหล่ เช่น คนพิการเข้าคณะนี้ไม่ได้ห้ามเรียน ห้ามขับรถ และสุดท้ายคือ เจตคติ ความเชื่อค่านิยมของคนในสังคม

การจะแก้ไขให้คนพิการได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป คงต้องแก้ทั้งระดับนโยบายและทัศนคติ เขาเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 จะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดของคนพิการในรอบ 15 ปี แต่ก็ยังมีบางจุดที่ควรแก้ไข เช่น จำนวนผู้แทนของคนพิการในคณะกรรมการระดับชาติน้อยไป มีเพียง 2 คน ขณะที่มีข้าราชการเกือบ 20 คน นอกจากนี้ สถานภาพของคณะกรรมการระดับชาติ ก็อยู่ในระดับแค่รัฐมนตรี ขณะที่เรื่องคนพิการต้องประสานข้ามกระทรวง

เขาเน้นว่า สิ่งที่สำคัญ คือ สภาพบังคับ ถ้าไม่มีบทลงโทษก็บังคับใครไม่ได้เพราะคนไม่กลัว และควรเพิ่มมาตรการจูงใจเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยรัฐบาลต้องใจป้ำมากกว่านี้ และรัฐต้องปรับวิสัยทัศด้านคนพิการใหม่

"เรื่องคนพิการ รัฐต้องยอมลงทุน ใช้คำว่า ลงทุน ไม่ใช่สงเคราะห์ รัฐต้องยอมลงทุน โดยมีเป้าหมาย รัฐจะสงเคราะห์แบบให้เปล่าไม่ได้แล้ว เพราะถ้าเช่นนั้น ชีวิตคนพิการก็ไร้เป้าหมาย เพราะคนให้ก็ไร้เป้าหมาย ให้เงิน ให้บริการ ให้เครื่องช่วย ให้ ให้ ให้ ให้อย่างเดียว พอให้แบบให้เปล่าแบบคนใจบุญ คนใจบุญเนี่ยพอไม่มีก็ไม่ทำนะ"

เช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลคิดอย่างนั้น เมื่อไม่พร้อมก็ไม่ทำ รัฐบาลต้องมีนโยบาย ต้องเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งที่คนพิการจะได้รับต้องเป็นสิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ รัฐต้องมีเป้าหมายมากกว่านี้

รัฐต้องไปสู่ส่วนที่ทำงานได้ มีกำลังการผลิตได้ เอากำลังการผลิตออกมา เพราะเขาทำงานได้ดีกว่าคนที่ฉกชิงวิ่งราว เขาต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ต้องมีกำลังการผลิต รัฐไม่เคยคิดแบบนี้

คนพิการมีหลายกลุ่ม มีทั้งในส่วนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนยากจน รัฐจะให้อะไรก็ว่ากันไป แต่อย่าเหมาว่า ทุกคนจนหมด ในขณะที่มีกลุ่มหนึ่งอยู่ตรงกลาง กลุ่มพอมีก็กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวย ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่อยู่ในทั้งสองกลุ่ม แต่ก็ต้องการมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป มีกิจกรรมนันทนาการ ไปดูหนัง ดูละคร ไปสวนสาธารณะ ไปดูเห่เรือ

"หากพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม จะรองรับได้ทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ๆ แต่ถ้าให้เปล่าจะไปลงกลุ่มยากจน และทิ้งอีก 2 กลุ่ม"

คนพิการกว่าร้อยละ 60 เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทำงานได้ แต่บางคนไม่มีเงินทุน คนในครอบครัวไม่ต้องการให้ทำ ถูกจับไปอยู่สถานสงเคราะห์ กลุ่มนี้ถ้ามีสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาก็จะทำงานได้ แต่รัฐกลับหมดงบไปปีละหลายร้อยล้านไปฝึกอาชีพให้คนประมาณร้อยละ 2 ที่ระบุว่า ไม่มีทักษะในการทำงาน

พ.ท.ต่อพงษ์ เห็นว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พิการไม่มาก พวกเขาวนเวียนไปฝึกโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ แต่ก็ยังไม่มีงานทำ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

"ถ้าจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มันได้ผลเยอะกว่าเอาเงินไปทุ่มที่ตัวคนพิการ เพราะคนพิการมีทักษะ มีความคิดความอ่าน มีภูมิปัญญาชาวบ้าน พวกการฝีมือ ไม่ต้องไปฝึกให้เขาหรอก เขามีภูมิปัญญาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ฝึกเอาได้ นั่งทำที่บ้าน ขอให้เขาเอามาขายได้เถอะ"

"แต่ถามว่าทุกวันนี้ ไปตลาดได้ไหม ซื้อวัตถุดิบได้ไหม มีทางเลือกอะไรบ้างไหม ในเมื่อออกไปไหนไม่ได้ คนจะคิดแต่ว่า ถึงเวลาจะมีคนซื้อวัตถุดิบมาให้ มารับสินค้าไปจำหน่ายให้ ถ้าจะให้ดีจริง เขาต้องไปเปิดท้ายแข่งกับเขาได้ นี่คือ การมีส่วนร่วมทางสังคม ถึงไม่มีรถมาเปิดท้าย ก็ต้องขึ้นรถเมล์มาขายได้"

แต่ตอนนี้การเดินทางที่สะดวกที่สุดของคนพิการ คือ รถแท็กซี่ ซึ่ง พ.ท.ต่อพงษ์ มองว่า ไม่ยุติธรรม เพราะในขณะที่รายได้น้อย แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูง แม้ว่าจะมีรถไฟใต้ดินซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม แต่ถามว่าแล้วจะไปถึงสถานีได้อย่างไร

"เรากำลังเดินมาผิดทาง" พ.ท.ต่อพงษ์ บอก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net