Skip to main content
sharethis

บทนำ

"Stand by the Union Jack
Send those niggers back
If you're white, you're alright
If you're black, send 'em back"

นี่คือเนื้อเพลงเชียร์ทีมชาติอังกฤษยอดฮิตของเหล่ากองเชียร์ 'ฮูลิแกน-ชาตินิยม' (hooligans - patriotism) ชาตินิยมในอดีตเพลงหนึ่ง สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันให้เห็นถึงความคับแคบในการเปิดใจรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของการเชียร์กีฬาประเภทนี้ จากแฟนฟุตบอลบางส่วน

แต่เพลงนี้ ณ ช่วงบริบทปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะเป็นการไม่สมควรแล้ว สำหรับการขับขานพร้อมเพรียงเป็นหมู่คณะเพื่อให้กำลังใจเหล่าขุนพลนักเตะสิงโตคำราม เพราะนักฟุตบอลผิวสีหลายคนของอังกฤษได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นถึง ความสามารถและความสำคัญ ของพวกเขาเองว่ามีมากแค่ไหน สีผิวและชาติพันธุ์มิใช่อุปสรรคในการที่จะ "เอาดี" กับกีฬาประเภทนี้

ความพยายามที่จะทำให้เกมฟุตบอลสลัดภาพ "ความรุนแรง - สิ่งเลวร้ายแอบแฝง" ออกไปนั้น นอกจากการขจัดความรุนแรงของเกมและอันธพาลในคราบกองเชียร์แล้ว "การเหยียดผิว-ชาติพันธุ์" เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะต้องทำให้มันหมดไปให้ได้ทั้งในและนอกสนามฟุตบอล

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กีฬาอันดับหนึ่งที่ถูกยกย่องว่าสามารถสร้างเอกภาพในความแตกต่างบนโลกใบนี้ อย่างเกมฟุตบอล คงจะถูกตั้งคำถามว่าความพยายามนั้นแค่เพียงการสร้างภาพใช่หรือไม่?

แฟนฟุตบอลฝ่ายขวา กับการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์

ปัจจุบันเกือบทุกสโมรสรในระดับลีกสูงสุดของอังกฤษล้วนแล้วแต่มีนักฟุตบอลผิวสี - ต่างชาติพันธุ์เข้ามาสร้างสีสันและยกระดับมาตรฐาน คุณภาพการเล่นฟุตบอลในอังกฤษให้หลากหลายยิ่งขึ้น

'อาเทอร์ วอร์ตัน' (Arthur Wharton) นักฟุตบอลผิวดำคนแรกของเกาะอังกฤษ เซ็นต์สัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับสโมสร Darlington FC ในปี 1889 หรือราวร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ทว่าการเหยียดผิวในเกมกีฬาชนิดนี้ยังไม่เคยหมดสิ้นไป ความรุนแรงของมันก็ขึ้นอยู่กับบริบทสภาพแวดล้อมในแต่ละยุค

จากวอร์ตัน จนถึงปัจจุบัน นักฟุตบอลผิวสีในอังกฤษได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในเชิงลูกหนังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบว่าทุกวันนี้นักฟุตบอลผิวสีในอังกฤษมีจำนวนมากกว่า 25% ของทั้งหมด แต่จากการสำรวจของเบียร์ Carling ผู้สนับสนุนการแข่งขันของ Premier League ในฤดูกาลที่ 1993/94 พบว่ามี 1% ของแฟนบอลที่ไม่ใช่ "คนผิวขาว" นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของภาพที่เราเห็นคนผิวขาวหัวรุนแรง รุมร้องรำทำเพลง ยั่วยุ เสียดสีนักเตะผิวสีอยู่เนืองๆ

นอกจากจะเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศแล้ว ชนผิวสียังเป็นชนกลุ่มน้อยข้างสนามฟุตบอลอีกด้วย

เพลงเชียร์ที่มีท่วงทำนองและเนื้อหาดูถูกและเหยียดสีผิว ได้ยินบ่อยครั้งในสนามฟุตบอล ในยุคทศวรรษที่ 1970 และ 1980 แฟนบอลผู้นิยมการเหยียดผิวข้างสนามชอบที่จะทำเสียงแบบ "ลิง" เพื่อล้อเลียนยั่วยุนักเตะผิวสีในสนาม นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ดูว่าไม่น่าที่จะนำมาล้อเล่น-ล้อเลียนได้ เพราะเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนจิตใจผู้อื่นอย่างแรง เช่นเมื่อปี 1981 เหตุการณ์ไฟไหม้ที่ Deptford ทำให้นักฟุตบอลเยาวชนผิวดำ 13 รายสีชีวิต เหตุการณ์นี้กลับถูกนำไปเป็นเพลงล้อเลียนที่ข้างสนามของทีม Millwall ดังนี้ :

"We all agree
Niggers burn better than petrol"

ผู้เล่นผิวดำเองมิใช่ว่าจะเป็นเป้าหมายของพวกแฟนบอลฮูลิแกน-ชาตินิยม กลุ่มเดียวเท่านั้น เหล่าแฟนบอลชาตินิยมบ้าคลั่งเอียงขวาเหล่านี้ ยังมีเป้าหมายยั่วยุ-เสียดสี แฟนฟุตบอลต่างชาติพันธุ์ของสโมสรอื่น เช่น แฟนฟุตบอลของทีม Tottenham Hotspur ซึ่งส่วนมากมีเชื้อสายยิวก็มักจะถูกยั่วยุจากฝ่ายตรงข้ามเสมอ ดังเช่นเพลงเชียร์ที่ว่า :

"Those yids from Tottenham
The gas man's got them
Oh those yids from White Hart Lane*"

(* White Hart Lane คือ สนามเหย้าของ Tottenham Hotspur)

ค่านิยม "ขวาจัด" ของกลุ่มแฟนบอลในอังกฤษมีมาเกือบทุกยุคทุกสมัย เริ่มตั้งแต่ในทศวรรษที่ 1930 กลุ่ม British Union of Fascists ได้ทำร้ายแฟนลูกหนังชนชั้นกรรมชีพ จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนมาถึงทศวรรษที่ 1970 ในอังกฤษ เหล่าแฟนบอลขวาจัด และเหล่า Hooligans ต่างก็สร้างปัญหาให้กับเกมกีฬานี้ โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวสำคัญคือกลุ่ม The National Front (NF) พวกเขาได้ออกนิตยสาร Bulldog ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับความบันเทิงและฟุตบอล แน่นอนว่ามีเนื้อหา "การเหยียดสีผิว-ชาติพันธุ์" แฝงอยู่ในนั้นด้วย ขาประจำของ Bulldog มีทั้งแฟนทีมต่างสโมสรต่างๆ ทั่วอังกฤษ ประโยคบรรยายสรรพคุณอย่างหนึ่งของนิตยสารที่ว่า "most racist ground in Britain' ได้กลายเป็นสโลแกนของแฟนทีม West Ham, Chelsea, Leeds United, Millwall, Newcastle United และ Arsenal ซึ่งในขณะนั้นถือว่ามีค่านิยมขวาจัดแข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในหลายสโมรสรของอังกฤษ

ในยุคทศวรรษที่ 1980 แฟนฟุตบอลขวาจัดติดตามเชียร์ขุนพลสิงโตคำรามนอกประเทศอย่างเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการอาละวาดของกลุ่ม Hooligans ที่คุกคามภูมิภาคยุโรปในยุคนี้

เข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 1990 ความพยายามแรกในการยับยั้งการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ที่เป็นรูปธรรม ของอังกฤษก็เกิดขึ้น การร้องเพลงล้อเลียน-เสียดสี ที่เกี่ยวกับการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่กระนั้นมันก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ผ่านท่วงทำนองการเชียร์ฟุตบอลได้ เนื่องจากการลงโทษบุคคลปัจเจกทำได้ยาก ทั้งจากเรื่องการหาหลักฐานและเจาะจงหาผู้กระทำผิด เพราะบนอัฒจันทร์ที่คละเคล้าไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา

ในปี ค.ศ.1995 กลุ่มแฟนบอลขวาจัดของพลพรรคสิงโตคำราม ยกพลไปเยือนกรุง Dublin เพื่อชมการแข่งขันนัดกระชับมิตรระหว่าง สาธารณะรัฐไอร์แลนด์ กับ อังกฤษ การปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายทำให้เกมกระชับมิตรนี้ต้องยุติลง หลังเล่นได้ประมาณครึ่งชั่วโมง กลุ่มสนับสนุน British National Party (BNP) ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุความรุนแรง มีการร้องเพลงเชียร์เสียดสีและด่าทอชาวไอริช เมื่อบุกมาถึงถิ่นเจ้าบ้านพร้อมกับกริยามารยาทเช่นนี้ การแข่งขันนัดกระชับมิตรจึงกลับได้รับผลลัพธ์ตรงกันข้าม

ในยุโรปเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับอังกฤษ กลุ่ม Neo-nazi และ Neo-fascist ถือว่าเป็นตัวป่วนของการสร้างความสมานฉันทน์ในสนามฟุตบอล สโมสรที่ถูกจับตามองเกี่ยวกับปัญหานี้ได้แก่ Lazio และ AC Milan ของอิตาลี Paris Saint-Germain ของฝรั่งเศส Real Madrid และ Espagnole ของสเปน เป็นต้น

ในอิตาลี ผู้เล่นเชื้อสายยิวอย่าง 'รอนนี โรเซนทาล' (Ronnie Rosenthal) ไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสร Udinese ได้แม้แต่เกมเดียว ทั้ง ๆ ที่สโมสรต้องจ่ายเงินซื้อตัวเซ็นต์และสัญญามา ทั้งนี้เนื่องด้วยผลจากการกดดันของกลุ่มแฟนบอล Neo-fascist ของทีมนั่นเอง

ผู้เล่นอย่าง 'อารอน วินเทอร์' Aaron Winter ก็ประสบปัญหาคล้ายกันที่โรม เนื่องด้วยความเป็นชาว Suriname ของเขา แฟนบอลทีม Lazio ต้นสังกัดของเขาเอง กลับขับไล่เขาด้วยป้าย 'Niggers and Jews Out' ดาวเตะจอมห้าวทีมชาติอังกฤษอย่าง 'พอล อินซ์' (Paul Ince) ที่เคยไปค้าแข่งอยู่ในทีม Inter Milan ก็รู้ซึ่งดีต่อความไม่เป็นมิตรเท่าที่ควรของแฟนบอล Neo-fascist เหล่านี้

ประเทศเยอรมัน อีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่แฟนบอลฝ่ายขวามีความแข็งแกร่งและเป็นกลุ่มก้อนสูง บ่อยครั้งที่จะได้เห็นแฟนฟุตบอลทีมชาติเยอรมันทำท่าแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ (Hitler salutes) โดยเฉพาะเจาะจงในเกมการแข่งขันระดับชาติ

มีรายงานที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวสร้างปัญหาของกลุ่มแฟนบอล Neo-nazi เหล่านี้ เช่น ในปี 1990 กลุ่ม skinheads (หนึ่งในพลพรรค Neo-nazi) ทำร้าย-ข่มขู่นักเตะผิวสีส่วนน้อยในลีกของเยอรมัน ปี 1992 กลุ่ม neo-nazi ใช้การแข่งขันฟุตบอลเป็นโอกาสในการจัดตั้งกลุ่มโจมตีชนกลุ่มน้อยในแต่ละท้องถิ่นรวมถึงสถานที่พักพิงของชาวยุโรปตะวันออกในเยอรมันด้วย จากการวิเคราะห์-สำรวจของเยอรมัน พบว่า 20% ของแฟนฟุตบอลในเยอรมันมีความใกล้ชิดกับกลุ่ม Neo-nazi

ประเทศสเปน สถานที่รวมความหลากหลายทางเอกลักษณ์และชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้เข้าด้วยกัน เกมฟุตบอลถือว่าเป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายนั้น ด้วยการที่ไม่มีข้อกำหนดกีดกันมากมายเหมือนเช่นลีกอื่นๆในยุโรป ผู้เล่นนอกสหภาพยุโรปจำนวนมากหลั่งไหลกันมาจากทั่วสารทิศ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ และพัฒนาเกมฟุตบอลลีกสเปนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งทีมแชมป์สโมสรยุโรปทีมล่าสุดอย่าง F.C. Barcelona ก็ประกอบด้วยผู้เล่นจากหลากหลายภูมิภาคในโลก

นอกจากนี้ความเป็นท้องถิ่นนิยมของทีมสโมสรในสเปนก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา และมีประวัติศาสตร์ยาวนานเก่าแก่ ในยุคของนายพลฟรังโก (Franco) เรืองอำนาจ สองทีมที่เปรียบเสมือนหนามยอกอกของนายพลเผด็จการผู้นี้คงจะหนีไม่พ้น F.C. Barcelona ของชาว Catalan กับ Athletico Bilbao ของชาว Basque (ทีม Athletico Bilbao มีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของทีม ก็คือ ผู้เล่นในทีมทุกคนจะต้องมีเชื้อสาย Basque เท่านั้น )

ทีม Real Madrid คือกระบอกเสียงทางการเมืองของฟรังโกอันสำคัญในยุคที่เขามีอำนาจสูงสุด แต่เมื่อใดที่ Real Madrid ซึ่งเป็นหัวขบวนของทีมฟุตบอลฝ่ายขวา (ในลีกของสเปน ทีมฟุตบอลที่มีคำว่า Real นำหน้าหมายถึงทีมนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์) เผชิญหน้ากับ Barcelona หรือ Bilbao ก็เหมือนกับการทำสงครามเชิงสัญลักษณ์ "การกำหราบชนกลุ่มน้อย กับ การปลดปล่อยเพื่ออิสระภาพ" ถูกอัญเชิญลงไปในสนามและอัฒจันทร์ แน่นอนว่าการเชียร์ของต่างฝ่ายล้วนแล้วแต่มีเรื่องของประวัติศาสตร์-ชาติพันธุ์-และการเมือง เกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น การเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ในสเปนจึงเป็นอีกแห่งที่มีความระอุร้อนของเกมกีฬาผสมผสานกับเรื่องของการเมือง

ในยุโรปตะวันออกเอง เกมฟุตบอลที่มีความเกี่ยวโยงกับชาติพันธุ์และการเมือง ก็มีความเข้มข้นดุเดือดไม่แพ้สเปน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ในตอนที่ Croatia ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Yugoslavia เกมการแข่งขั้นระหว่าง Dinamo Zagreb ตัวแทนของชาวโครแอต กับ Redstar Belgred ซึ่งเป็นของชาวเซิร์บ เมื่อปี 1990 ในช่วงต้นเกมแฟนบอลของทั้งสองฝ่ายตะลุมบอนกันทั้งในสนามและบนอัฒจันทร์ ตำรวจ Yugoslavia ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บกลับทุบตีแฟนบอลชาวโครแอต ปล่อยให้ชาวเซิร์บกระทำวุ่นวายต่อไปทั่วทั้งสนาม ว่ากันว่าเหตุการณ์นั้นเป็นหนึ่งในหลายความโกรธแค้นของชาวโครแอต อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามปลดปล่อย Croatia ในกาลต่อมา

เหล่านี้คือตัวอย่างการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ ในภูมิภาคต่างๆ ของยุโรป

การเหยียดผิวในยุโรป จากปากคำของ 'ลิลิยอง ตูราม' (Lilian Thuram) 

[คัดลอกมาจากบทความ - ทัศนคติ : การเงียบเฉยเป็นบาปยิ่งกว่า โดย ลิลิยอง ตูราม / วารสาร ยูเนสโก คุริเย กันยายน 2544]


 'ลิลิยอง ตูราม' (Lilian Thuram) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส

 .. ครั้งแรกที่ผมพบเจอการเหยียดผิวที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นผม 9 ขวบ เด็กผิวดำในโรงเรียนของผมล้วนโดนตั้งฉายา อย่างนี้เรียกว่าการเหยียดผิวรึเปล่า? สิ่งที่เด็กทำอาจดูเหมือนแค่ความเขลาแต่มันก็ยังส่งผลต่อผมอยู่ดี ผมมาจากกัวเดอลูปซึ่งหลากหลายชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยผมไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยกกีดกันใดๆเลย

การเหยียดผิวไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดและสร้างขึ้นโดยกำหนดความเหนือกว่าและด้อยกว่าบนพื้นฐานของสีผิวและวัฒนธรรม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการลบล้างสิ่งนี้ เด็กๆยังถูกสอน เรื่องความหลากหลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ขณะที่ความจริงมนุษย์เรามีเพียงเผ่าพันธุ์เดียว การพูดถึงชุมชนที่แตกต่างกันน่าจะถูกต้องกว่า

การสอนประวัติศาสตร์ของผู้คนก็เลวร้ายเต็มที แต่ละประเทศยึดถือสิ่งที่สอนต่อๆกันมาเพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับพฤติกรรมในอดีตของตน ในทำนองเดียวกัน ผมก็ตกตะลึงสิ่งที่เรื่องราวของคนผิวดำที่ปรากฎในตำราประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคที่ตกเป็นทาสเท่านั้น ชีวิตความเป็นอยู่ก่อนหน้าช่วงประวัติศาสตร์อันน่าตื่นใจนี้ไม่เคยเป็นที่รับรู้ ราวกับคนดำเกิดมาก็เป็นทาสอย่างนั้นแหละ! วัฒนธรรมความเป็นมาที่แท้จริงของคนดำก็ล้วนถูกดูหมิ่นเสมอ อันทำให้เกิดความว่างเปล่าทางประวัติศาสตร์และคลี่ม่านคลุมความทรงจำของผู้คนเหล่านี้

ถ้าเราหวังสักนิดที่จะขจัดการเหยียดผิวให้สิ้นไป เราก็มีหน้าที่ต้องจดจำ แต่ละชาติต้องยอมรับสิ่งที่ตนทำผิดพลาดไป โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทาสซึ่งผมเชื่อว่าเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการเหยียดผิว ความจริงต้องถูกจารึกไว้ ไม่ใช่เพื่อมุ่งแก้แค้น แต่เพื่อเป็นวิถีทางที่จะนำพาเราไปสู่การปรองดองกันอย่างแท้จริง

สมรภูมินี้ยังห่างไกลจากชัยชนะ ตอนที่ผมไปอิตาลีในปี 1996 ผมไม่ได้สังเกตเห็นท่าทีใดๆ ของการเหยียดผิวหรือการรังเกียจคนต่างเชื้อชาติเลย อยู่ๆสถานะการณ์ก็พลิกผันไปในทางเลวร้าย ทำไมกีดกันคนอื่นอย่างนี้? ทำไมก้าวร้าวอย่างนี้? คำถามพวกนี้ยังคงไร้คำตอบ

ผมเคยผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดระหว่างการแข่งขันนัดหนึ่งเมื่อครั้งที่ยังสังกัดสโมสร Parma แฟนบอลบางคนพากันตะเบ็งเสียงร้องเพลงล้อผู้เล่น 2 คนของทีม A.C. Milan ว่า "บากินกล้วยอยู่ในกระท่อมของเวอาห์" เมื่อแข่งเสร็จ ผมก็หยิบเรื่องนี้มาคุยกับเพื่อนร่วมสโมสรคนอื่นๆ ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่ใส่ใจ และผมก็ไม่อาจรับได้ การเงียบเฉยถือเป็นเจตคติที่เลวร้ายที่สุด การต่อสู้กับการเหยียดผิวก็คือการต่อสู้กับการเงียบเฉยด้วยเช่นกัน

ผมได้พบปะกับเด็กนักเรียนอิตาลีเป็นประจำ และพยายามปลูกฝังให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสังคมแบบผสมผสาน อันเป็นบ่อเกิดสำคัญของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ผมมั่นใจว่าเยาวชนเหล่านี้จะไม่มีใจนิยมชมชอบพฤติกรรมล้อเลียนในเชิงเหยียดผิวที่ทำกันอย่างไร้ขอบเขตในสนามฟุตบอลแน่

แค่พูดถึงสิ่งดีๆที่ทำกันอยู่นั้นไม่พอ คุณต้องเผชิญกับสิ่งเลวร้ายด้วย และใช้มันเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรผิด ต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายตรงจุดนั้นเพื่อไม่ให้มันนำไปสู่ปัญหาที่สุดจะทนได้ อย่างเรื่องฟุตบอล ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังมาก เราต้องลงมือกำจัดการเหยียดผิวในทุกรูปแบบในสนามแข่ง และหยุดยั้งไม่ให้ใครใช้สนามฟุตบอลเป็นเวทีแสดงทัศนะอันไม่พึงประสงค์ออกมา

ผมผิดหวังที่ลัทธิเหยียดชนชาติยังคงแสดงอิทธิฤทธิ์อยู่ เป็นอย่างนี้มาหลายศตวรรษแล้ว เรายังได้รับการบอกกล่าวเสมอว่า เราอยู่ในโลกมหัศจรรย์ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกัน แต่ความเป็นจริงกลับโหดร้าย เพราะในแง่จิตวิญญาณแล้วเรายังไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นสักกี่มากน้อย แม้แต่สิทธิที่จะแตกต่างกับเพื่อนบ้านยังไม่มี ผมเชื่อว่าโลกาภิวัฒน์หมายถึงการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพความแตกต่างของบุคคล เพราะในตัวเราแต่ละคนและทุกคนต่างก็มีที่มาที่แตกต่างกัน

การต่อต้านการเหยียดผิว


การรณรงค์การต่อต้านการเหยียดผิวของ FIFA ในฟุตบอลโลก 2006

การรณรงค์การต่อต้านการเหยียดผิวของ FIFA ในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดนี้ (Say No to Racism) ถือว่าเป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นความพยายามต่อต้านสีผิวได้ถูกเล็งเห็นและมีการนำมาปฏิบัติแล้วพอสมควร

ดังที่กล่าวไปในขั้นต้น การร้องเพลงล้อเลียน-เสียดสี ที่เกี่ยวกับการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในอังกฤษ ตามกฎหมาย "The 1991 Football (Offences) Act."

สำหรับกลุ่มแฟนบอลที่ต่อต้านการเหยียดผิวที่รวมตัวกลุ่มแรก และได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในอังกฤษ ก็คือกลุ่ม Leeds Fans United Against Racism And Fascism (LFUARAF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1987 เพื่อรณรงค์-ต่อต้าน กลุ่มแฟนบอลขวาจัดในสนาม Elland Road ซึ่งเป็นสนามเหย้าของ Leed United นอกจากนี้กลุ่ม LFUARAF ยังทำการแจกจ่ายใบปลิวรวมถึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความรุนแรงในการเหยียดผิว นอกสนามฟุตบอลอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นที่ Elland Road แฟนฟุตบอลที่เล็งเห็นถึงปัญหาความรุนรงในการเหยียดผิวทั่วเกาะอังกฤษก็เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยเริ่มต้นที่ข้างสนามทีมเหย้าของสโมสรตนเองก่อน ที่ Leicester มีกลุ่ม Leicester City Foxes Against Racism จากนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วบริทเตน สโมสรชั้นนำเช่น Everton, Celtic, Manchester United, Cardiff City, Leyton Orient และ Chelsea ก็ต่างมีกลุ่มแฟนบอลที่ต่อต้านการเหยียดผิวและแนวคิดขวาจัด และสองสโมสรที่ได้รับคำยกย่องในเรื่องการต่อต้านการเหยียดสีผิวอย่างเป็นรูปธรรม คงหนีไม่พ้น Derby County และ Charlton Athletic

ที่ Derby County การต่อต้านการเหยียดผิวถือว่าเป็นภาระกิจและวาระที่สโมสรให้ความสำคัญ ในนามของกิจกรรมที่เรียกว่า "Rams Against Racism" ในเกมการแข่งขันที่ Derby เป็นเจ้าบ้าน จะมีการตระเตรียมความพร้อมต่างๆ อาทิ ป้ายต่อต้านการเหยียดผิวข้างสนาม , ข้อความต่อต้านการเหยียดผิวในตั๋วหรือโปรแกรมการแข่งขัน ฯลฯ นอกจากนี้ในแถบ Derby ซึ่งมีชุมชนชาวเอเซียในท้องถิ่น สโมรสรเองก็ให้ความสนับสนุนเยาวชนในชุมชนเหล่านี้ในเรื่องของการแข่งขัน,การฝึกซ้อม,การผ่อนคลาย จากเกมฟุตบอล

ในลอนดอน สโมสร Charlton Athletic ก็มีภาระกิจและวาระเรื่องต่อต้านการเหยียดผิวที่เรียกว่า "Red, White and Black at the Valley " สโมสรให้ความร่วมมือกับ ตำรวจ, สภาท้องถิ่น และกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิว จัดทำโปสเตอร์ , ข้อความต่อต้านการเหยียดผิวในตั๋วหรือโปรแกรมการแข่งขัน นอกจากนี้ Charlton Athletic ยังส่งผู้เล่นของทีมไปให้ความรู้เรื่องการต่อต้านการเหยียดผิวในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาท้องถิ่นรวมถึงชุมชนรอบข้างอีกด้วย

การต่อต้านการเหยียดผิวกลายเป็นเรื่องสำคัญในสังคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษในยุคทศวรรษที่ 1990 เมื่อในปี 1993 การร่วมมือกันของ 3 องค์กร คือ โครงการรณรงค์เพื่อความเสมอภาคทางเชื้อชาติ (Campaign for Racial Equality : CRE ) , สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (Professional Footballers Association : PFA) และ สมาคมผู้ติดตามเกมกีฬาฟุตบอล (Football Supporters Association : FSA) ได้ร่วมกันจัด Campaign "Let's Kick Racism Out of Football " โดยจัดทำข้อเสนอให้สโมสรฟุตบอลและภาครัฐร่วมมือปฎิบัติในกรอบการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์ ดังนี้

1.ให้แต่ละสโมสรเคร่งครัดและเคารพในกฎหมายที่ว่าด้วยการร้องเพลงเชียร์ที่มีเนื้อหาเหยียดผิว-ชาติพันธุ์

2.ให้แต่ละสโมสรประกาศและทำความเข้าใจต่อสาธารณะ ในเรื่องของการต่อต้านการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ และตักเตือนแฟนบอลในการร้องเพลงเชียร์ที่มีเนื้อหาเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ ในเกมการแข่งขัน

3.ในตั๋วปี (season ticket) ให้ระบุถึงการห้ามการเหยียดผิว การร้องเพลงเชียร์ที่มีเนื้อหาเหยียดผิว-ชาติพันธุ์

4.ห้ามจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาการเหยียดผิว-ชาติพันธุ์ รอบสนามฟุตบอล ในวันที่มีการแข่งขัน

5.ให้ลงโทษตักเตือน ผู้เล่น, ผู้ที่เกี่ยวข้อง, แฟนบอล ที่เกี่ยวข้องหรือกระทำการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์

6.ให้แต่ละสโมสรทำความเข้าใจ-ข้อตกลงร่วมกับสโมสรอื่นๆ ในการปฏิบัติเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์

7.ให้แต่ละสโมสรทำความเข้าใจ-ข้อตกลงร่วมกับตำรวจ,เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์

8.ถอด-รื้อ-ทำลาย ป้าย,ข้อความที่มีเนื้อหาการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์ ออกจากสนามฟุตบอล

9.ทำความเข้าใจและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่-พนักงานของสนามและสโมสร ในเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์

10.ให้แต่ละสโมสรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ รวมถึงให้ความรู้แก่ท้องถิ่นทั้งสถานศึกษาและชุมชนในเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์

ข้อนำเสนอเหล่านี้กลายเป็นรากฐานการนำไปปฏิบัติจริง ของขบวนการต่อต้านการเหยียดผิวทั่วภูมิภาคยุโรปในกาลต่อมา

ความพยายามในการต่อต้านการเหยียดผิว - ชาติพันธุ์ จากอดีตส่งผลให้ภาพรวมของการ เหยียดผิว - ชาติพันธุ์ ลดน้อยถอยลงไปมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่หมดไปเลยทีเดียว สังเกตได้จากข่าวคราวของเรื่องนี้ในวงการฟุตบอลยุโรปและทั่วโลก

ผลของการปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องคงจะสัมฤทธิ์ผลในอนาคต หากผู้เล่น, ผู้เกี่ยวข้อง, แฟนฟุตบอลและสื่อ เห็นว่ามันคือวาระร่วมของทุกคนที่ต้องขจัดสิ่งเลวร้ายแฝงออกไปจากเกมนี้.


ข้อมูลประกอบการเขียน
Armstrong, G. 1998. Football Hooligans: Knowing the Score. Oxford: Berg.
Wagg, S.1984. The Football World: A Contemporary Social History. Brighton: Harvester Press.
วารสาร ยูเนสโก คุริเย (ฉบับภาษาไทย) กันยายน 2544
นิตยสาร National Geographic (ฉบับภาษาไทย) มิถุนายน 2549
How to Watch the World Cup Politics and War by Other Means By Tony Karon - http://www.tomdispatch.com (ฉบับแปลภาษาไทย "การเมือง สงคราม และสันติภาพ ในฟุตบอลโลก" โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ www.prachatai.com )
http://en.wikipedia.org/wiki/Hooliganism
http://en.wikipedia.org/wiki/Neo-Nazism
http://en.wikipedia.org/wiki/Skinhead
http://www.fifa.com
http://www.sirc.org/publik/fvracism.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net