Skip to main content
sharethis


 


 


ชื่อบทความเดิม : หนังเกาหลี สู้ๆ  สู้ตาย


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว


 



 


ความพยายามของลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างสหรัฐฯ ในนามของข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอนั้น ก้าวไปถึงไหนเดือดร้อนไปถึงที่นั่น


 


ล่าสุด ในสัปดาห์นี้ก็มีการเจรจากันกับประเทศเกาหลี ท่ามกลางผู้ประท้วงนับหมื่นคน เราอาจจะไม่แปลกใจมากหากผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์มากที่สุด แต่ในครั้งนี้ สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านอย่างมากในเรื่องนี้ คือ กลุ่มผู้สร้าง ผู้กำกับ และนักแสดงภาพยนตร์


 


มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลี 2 วันว่า  "ดารานักแสดง ผู้สร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์ประมาณ 3,000 คนได้ออกมาประท้วงการเจรจาเอฟทีเอระหว่าเกาหลีและสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ตั้งเงื่อนไขให้เกาหลีลดโควตาการฉายภาพยนตร์เกาหลีซึ่งเดิมอยู่ที่ 146 วันต่อปี ให้ลดลงครึ่งหนึ่งและให้มีโควตาให้กับภาพยนตร์จากฮอลลีวูดมากขึ้น"  ข่าวสรุปว่า  ที่คนเหล่านี้ต้องออกมาประท้วงเป็นเพราะ "เกรงว่าจะตกงาน"


 


เข้าใจว่า นี่เป็นวิธีการมองที่ตื้นไปเล็กน้อยกับการด่วนสรุปเช่นนั้นเพียงประเด็นเดียว เพราะว่าประเด็นของภาพยนตร์เกาหลีกับประเด็นภาคธุรกิจอื่นๆ นั้นต่างกันอยู่ไม่ใช่น้อย ทุกวันนี้เรียกได้ว่าภาพยนตร์เกาหลีเป็นสินค้าส่งออกชนิดหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศมหาศาล  ซึ่งประเด็นของเกาหลีไม่ใช่แค่เรื่องการสูญเสียรายได้เพียงเรื่องเดียว แต่มีประเด็นอื่นที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น


 


ภาพยนตร์เกาหลีผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายกว่าที่จะก้าวมาถึงวันนี้ วันที่ภาพยนตร์เกาหลีฮิตติดตลาดไปทั่วเอเชีย และกำลังจะก้าวไปทั่วโลกแล้วด้วย สิ่งที่เกาหลีขายไปพร้อมกับภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เนื้อหาที่สนุกสนานหรือโครงเรื่องที่น่าติดตามดังเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย แต่กลับพ่วงไปพร้อมกับการขายวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีด้วย และการที่เกาหลีสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้นั้นก็เพราะว่ามีนโยบายเกี่ยวกับโควตาเวลาการฉายภาพยนตร์เกาหลีนั่นเอง


 


จากเดิมนั้นเกาหลีเคยยินยอมให้มีการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้อย่างเสรี แต่ด้วยความเหนือกว่าในทุกด้านของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า ปรากฎว่าภาพยนตร์เกาหลีแทบจะไม่มีโอกาสปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ในประเทศเกาหลีเลย ผู้สร้างผู้ผลิตก็ไม่สามารถจะทำภาพยนตร์ขึ้นมาแข่งขันได้  ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนเกาหลีดูภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศเกาหลีเองมากขึ้น ในปี 1993 รัฐบาลจึงออกกฎให้โควตาแก่ภาพยนตร์เกาหลีที่ในการฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศ 146 วันต่อปี หรือ 40% ของเวลาฉายภาพยนตร์ต่อปี  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมเกาหลี เพราะถือว่า ภาพยนตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ที่หมายรวมไปถึงการเป็นตัวแทนในการแสดงให้ภาพความเป็นอยู่ของชุมชน และประเทศชาติ


 


ภายหลังจากการให้โควตาเวลา ปรากฏว่า ภาพยนตร์เกาหลีก็สามารถมีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดภาพยนตร์จาก 15% เป็น 40% ในเวลาเพียง 3 ปีต่อมา และจากปี 1993 ที่มีผู้ชมภาพยนตร์เพียง 48 ล้าน เพิ่มเป็น 105 ล้านในปี 2002 หรือเพิ่มขึ้นถึง 220% และรายได้จากการส่งออกภาพยนตร์เพิ่มจาก 170,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1993 เป็น 15 ล้านเหรียญฯ ในปี 2002 หรือ 880%


 


แต่ว่า ขณะนี้ทางเกาหลีได้มีการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอระหว่างเกาหลีกับสหรัฐฯ อยู่ และถูกสหรัฐฯ ขอให้เกาหลีนั้นลดโควตาเวลาการฉายหนังเกาหลีไปครึ่งหนึ่ง และเพิ่มเวลาให้กับหนังฮอลลีวูดแทน ดังนั้น กลุ่มต่างๆ ในเกาหลีจึงต้องออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องการคงโควตาดังกล่าวไว้


 


จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้นั้นเริ่มขึ้นที่การเจรจาทวิภาคีด้านการลงทุนครั้งแรกระหว่างเกาหลีกับสหรัฐฯ (ประมาณปี 1998) ที่สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้เกาหลียกเลิกโควตาเวลาภาพยนตร์ออกไป ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ Motion Picture Association ได้ล็อบบี้ให้องค์การการค้าโลกจัดให้ภาพยนตร์อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมแทนที่จะอยู่ในหมวดวัฒนธรรม ซึ่งทำให้จะต้องใช้กฎเดียวกับสินค้าทั่วๆ ไป ก็เท่ากับว่าประเทศที่ต้องติดอยู่ภายใต้สนธิสัญญาการค้าเสรีนี้ไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมที่เติบโตภายในประเทศตัวเองจากการไปแข่งขันโดยตรงกับฮอลลีวูดได้ สหรัฐฯ ได้ใช้เงื่อนไขนี้มาแล้วกับเม็กซิโกตามข้อตกลงเขตการเสรีอเมริกาเหนือ   (NAFTA) ที่ทำให้ธุรกิจหนังเม็กซิโกซบเซาลงไปอย่างทันตาเห็น จนเดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครได้เห็นหนังแม๊กซิกันเลย หรือ แม้แต่ในยุโรปเองที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็ง ปรากฏว่าส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์นั้นตกเป็นของฮอลลีวูดไปกว่า 60%


 


มาถึงตอนนี้ทางสหรัฐฯ ก็หันมาพุ่งเป้าที่เกาหลีโดยอ้างว่า เกาหลีนั้นมีศักยภาพมากพอที่จะสามารถแข่งขันในตลาดอย่างเสรีกับฮอลลีวูดโดยตรงได้แล้ว และหากการเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีนั้นได้ข้อยุติ การตัดโควตาการฉายภาพยนตร์เกาหลีลงก็จะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม ปีหน้า


 


อย่างไรก็ตาม  ทางเกาหลีนั้นกำลังพยายามหาช่องทางอย่างเต็มที่ที่จะต่อสู้เพื่อให้โควตายังคงอยู่ เพราะเชื่อว่านี่เป็นการปกป้องวัฒนธรรมเกาหลี จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมาตกอยู่ภายใต้ระบบแข่งขันเสรีเช่นนี้ 


 


ก่อนหน้านี้ ทาง UNESCO (ตุลาคม 2005) ได้มีอนุสัญญาที่ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้  โดยได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การแสดงออกทางวัฒนธรรมนั้นหมายถึงการแสดงออกในสิ่งที่เป็นผลจากการสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล กลุ่มคน สังคม รวมทั้งการแสดงออกในเนื้อหาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ มีแง่มุมทางศิลปะ  และมีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดออกมาจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แต่ละชาติสามารถที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งนับวันจะยิ่งสูญหายไปเพื่อให้ยังคงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโลกนี้


 


ดังนั้น เรื่องการต่อสู้ของเกาหลีเพื่อจะให้ได้มาซึ่งเวลาการฉายกับเกาหลีตามโควตาเดิมนั้นจริงๆ แล้วไม่ควรที่จะเป็นเรื่องของเกาหลีเพียงประเทศเดียว แต่จริงๆ แล้วนานาประเทศก็ควรจะหันมาให้ความสำคัญด้วยเพราะหากยอมให้วัฒนธรรมถูกนำไปแข่งขันเช่นเดียวกันสินค้าทั่วๆ ไป สังคมเล็กๆ หรือประเทศที่วัฒนธรรมไม่เข้มแข็งพอ ก็อาจถูกวัฒนธรรมของประเทศใหญ่เข้ามากลืนจนไม่เหลือวัฒนธรรมของตนเองในที่สุด


 


เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ แกรี เนล ผู้อำนวยการใหญ่เครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม (International Network for Cultural Diversity - I.N.C.D) ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้สร้างผลงานทางวัฒนธรรมระดับโลกและเป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสมาชิกถึง 400 องค์กรจาก 71 ประเทศ นั้นเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการต่อสู้ของเกาหลีในครั้งนี้และสนับสนุนการต่อสู้ดังกล่าวด้วย


 


แกรี กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้เกาหลีเพื่อให้ยังคงโควตาสำหรับเกาหลีให้ได้ เพราะว่าการต่อสู้ครั้งนี้คงไม่ใช่เพื่อประเทศเกาหลีเพียงประเทศเดียวแต่เป็นการเคลื่อนไหเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก รวมทั้งไปส่งสาส์นไปยังรัฐบาลเกาหลีว่า "เป็นเรื่องที่ผิดมากๆ หากรัฐบาลเกาหลีจะพิจารณาที่จะยอมทำให้วัฒนธรรมต้องหายไปให้เพียงเพื่อเอฟทีเอ"


 


ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยเชียร์เกาหลี กันเถอะ เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมยังคงอยู่ อย่าให้ทั้งโลกนี้ต้องถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมฮอลลีวูดเหมือนกันไปหมดทั้งโลกเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net