มาห์มูดิยา : เมื่อทหารอเมริกา "ข่มขืน-ฆ่า" เด็กอายุ 14...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

อาเบียร์ คาซิม ฮัมซา เกิด 19 สิงหาคม 1991

บัตรประจำตัวประชาชน - ออกให้เมื่ออายุ 18 เดือน

 

 

 


Iraq : The Real War

 

 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

 

หลังข่าวฉาวเรื่องสังหารหมู่ที่ฮาดิธาเป็นต้นมา เรื่องราวความป่าเถื่อนของกองทัพอเมริกาก็กลายมาเป็นคดีดังอย่างต่อเนื่อง

 

จากฮาดิธา ซาลาฮุดดิน ฮัมดานิอา คาอิม จนถึงล่าสุดที่ "มาห์มูดิยา" (Mahmoudiya)

 

มาห์มูดิยาแตกต่างจากคดีอื่น เพราะมันเป็นครั้งแรกที่เหตุการณ์ "ทหารอเมริกาข่มขืนผู้หญิงอิรัก" กลายเป็นคดีความขึ้นมา (หลังข่าวคราวก่อนหน้าได้รับการปฏิเสธจากกองทัพมาตลอด) กองทัพอเมริกาได้ออกมาเปิดเผยและยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเรื่องนี้มีมูล ภายหลังการสืบสวนเบื้องต้น ได้มีการตั้งข้อหาไปแล้วกับอดีตทหารและทหารจำนวนหนึ่ง

 

หลังอเมริกายึดครองอิรัก คนอิรักอาจจะชาชินกับการสังหารหมู่หรือสังหารโหดที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งไปแล้วในชีวิตประจำวัน แต่กับปฏิบัติการข่มขืน ฆ่า และเผาเด็กอายุ 14 ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีมิติแตกต่างออกไป เพราะในวัฒนธรรมของคนมุสลิมอย่างในอิรัก มันหมายถึง การหยามเกียรติและศักดิ์ศรีกันในขั้นรุนแรง เป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดอับอาย กระทบความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไปอย่างมาก หลังสำนักข่าวเอพีเอาเรื่องนี้มาเปิดเผยในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนระดับชาติไปแล้ว

 

แอคทิวิสต์ด้านสิทธิมนุษยชน โมฮัมเหม็ด อัล-ชีคลี (Mohammed al-Shekhli) ผู้อำนวยการองค์กร Transitional Justice Studies Center ให้สัมภาษณ์ อัล-จาซีรา ทันทีที่คดีนี้เป็นข่าวว่า

 

"สิ่งที่เกิดขึ้นในฮาดิธาและมาห์มูดิยา คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่สุด เราขอเรียกร้องให้ชุมชนหรือองค์กรระหว่างประเทศยื่นมือเข้ามาแทรกแซงโดยด่วน"

 

4 กรกฎาคม รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ฮาชิม อับดุล ราห์มาน อัล-ชีบลี (Hashim Abdul-Rahman al-Shebli) ซึ่งเป็นชาวซุนนีเช่นเดียวกับครอบครัวผู้ตาย ได้ออกมาเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง-มีบทบาท "หยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน" ในอิรักเช่นกัน พร้อมกับประณามการกระทำครั้งนี้ว่า

 

"ถ้าเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงๆ มันจะเป็นอาชญากรรมที่อัปลักษณ์ ไร้ซึ่งศีลธรรมใดๆ วิปริตชั่วร้าย และไม่มีความเป็นมนุษย์"

 

ช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายรอบด้าน รัฐบาลอิรักยังไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมากนัก นอกจากความพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนอิสระของฝ่ายอิรักขึ้นมาเอง ขณะเดียวกัน ความไม่พอใจทหารอเมริกาและสถานะ "เหนือกฎหมาย" ของทหารอเมริกาในอิรักก็กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

11 กรกฎาคม นักข่าวอิรักสังกัดลอสแอนเจลิสไทมส์ ราฮีม ซัลมาน (Raheem Salman) ให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันถึงบรรยากาศทั่วๆ ไปว่า

 

"มันมีผลกระทบมหาศาลต่อสังคมอิรักจริงๆ มันเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงในวัยนี้ บางคนมองว่ามันเป็นเรื่องน่าสยดสยอง ชวนให้สะอิดสะเอียน ขณะที่บางคนก็ว่ามันเป็นตราบาปที่น่าละอาย แม้แต่ในประวัติศาสตร์ของกองทัพอเมริกาด้วยซ้ำ ขณะที่บางคนบอกว่า มันเป็นแค่ตัวอย่างของปฏิบัติการอันโหดร้ายที่เป็นฝีมือทหารกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในส่วนของนักการเมืองอิรัก มีส.ส.หญิงบางรายได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรงที่อาคารรัฐสภา เรียกร้องให้ฝ่ายอิรักได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคดีนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้อเมริกาทำเองเหมือนทุกครั้ง คนส่วนใหญ่ตามท้องถนน ต่างก็กลัวว่าเรื่องนี้มันจะหายเงียบไปเหมือนเรื่องอื่นๆ กลัวว่าจะไม่มีการลงโทษที่มันสมเหตุสมผลเกิดขึ้น คนอิรักเหล่านั้นอยากเห็นการลงโทษขั้นเด็ดขาด ไม่ใช่แค่การขึ้นศาลจอมปลอม"

 

เกิดอะไรขึ้นที่มาห์มูดิยา? และ "เสี้ยวเล็กๆ" ในความดิบเถื่อนทั้งหมดของอเมริกาหน้าตาเป็นยังไง? เราจะมาดูรายละเอียดเรื่องนี้เท่าที่จะพมีให้ดูได้...เพราะมันเป็นความจริงที่จะไม่มีโอกาสฉาย "ในโรงหนังมัลติเพลกซ์ โปรแกรมต่อไป ใกล้ๆ บ้านคุณ"

 

ความเป็นมา และแบบว่า...เรื่องเล่าอย่างเป็นทางการ

ย้อนหลังไปประมาณ 4 เดือนที่แล้ว วันหนึ่งในเดือนมีนาคม 2006 ที่เมืองมาห์มูดิยา - 20 ไมล์ทางตอนใต้ของแบกแดด - พื้นที่ปะทะเข้มข้นและเป็นชุมชนที่ชาวซุนนีและชีอะต์อยู่ปะปนกัน ครอบครัวชาวซุนนี 4 คน พ่อแม่และลูกสาว 2 คนได้ถูกฆาตกรรมที่บ้านหลังหนึ่ง ทหารอเมริกาที่คุมพื้นที่บอกชาวบ้านแถวนั้นว่า เป็นการกระทำของ "ฝ่ายต่อต้านในอิรัก"  ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ไม่มีการจับตัวคนร้าย การเกิดขึ้นและเงียบหายของฆาตกรรมทำนองนี้...ถือเป็นเรื่องปกติใน "อิรักภายใต้การยึดครอง"

 

จนกระทั่ง 16 มิถุนายน มีการโจมตีที่จุดตรวจ ยูซิฟิยาห์ (Yusifiyah) ห่างจากมาห์มูดิยา 5 ไมล์ ส่งผลให้ทหารอเมริกาตายไป 1 ถูกจับไป 2 และเนื่องจากการใช้กำลังบุกเข้าลักพาตัวทหารไปเช่นนี้...ถือเป็นกรณีพิเศษที่นานๆ จะเกิดขึ้นที กองทัพอเมริกาจึงระดมกำลังทั้งอเมริกาและอิรัก 8,000 นาย ปฏิบัติการ "พลิกแผ่นดิน" ตามหาทหารที่หายไป ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ

 

19 มิถุนายน มีการพบศพทหารชั้นประทวน 2 นายที่ถูกจับไปในสภาพยับเยินสุดๆ ศพมีร่องรอยของการถูกทรมานทารุณและถูกฆ่าตัดคออย่างโหดเหี้ยม กลุ่มต่อต้านที่ชื่อ  Mujaheddin al-Shura Council  ซึ่งมาจากการรวมตัวของพวกเอ็กซตรีมมิสต์อิสลามหลายกลุ่ม (รวมทั้ง al-Qaeda in Iraq) ออกมาอ้างความรับผิดชอบ

 

30 มิถุนายน นักข่าวเอพีออกมาปูดข่าวว่า ขณะนี้ ทหารอเมริกา 5 นายกำลังถูกกองทัพสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการข่มขืน-ฆ่าผู้หญิงอิรัก รวมทั้งฆ่าสมาชิกในครอบครัวของเธออีก 3 ชีวิต โดยทหารกลุ่มนี้ เป็นทหาร "หมวดเดียวกัน" กับทหารที่เพิ่งถูกสังหารโหดไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

 

และนั่นก็คือ หมวดที่ 1 กองร้อย B กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 502 กองพลส่งทางอากาศที่ 101 (อย่างไรก็ตาม กองพลส่งทางอากาศที่ 101 เป็นเพียงต้นสังกัดทางการ ในทางปฏิบัติ กรมทหารราบที่ 502 ไปปฏิบัติหน้าที่ติดหนึบอยู่กับกองพลทหารราบที่ 4 ในอิรัก)

 

"แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเรื่องนี้" บอกนักข่าวว่า หลังความตายของเพื่อนทหารในครั้งนั้น ความสะเทือนใจและความรู้สึกกดดันได้ทำให้ทหารคนหนึ่ง (ที่รับรู้เรื่องนี้) ออกมาปริปากเรื่องเหตุการณ์ฆ่า-ข่มขืนที่ย้อนหลังไปในเดือนมีนาคมในมาห์มูดิยา แหล่งข่าวกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการโจมตีของฝ่ายต่อต้าน แต่มาจากความสนใจที่พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยตรง หลังรับทราบเรื่อง พลตรี เจมส์ เธอร์แมน (Maj. Gen. James D. Thurman) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 จึงสั่งให้มีการสืบสวนเรื่องราวทั้งหมด

 

ทันทีที่ ไรอัน เลนซ์  (Ryan Lenz) นักข่าวเอพีซึ่งเคยทำข่าวแบบ "ฝังตัว" คลุกคลีอยู่กับกรมทหารราบที่ 502 ที่มาห์มูดิยามาก่อน ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในพริบตา มีการขุดคุ้ยรายละเอียดทั้งจากฝั่งทหาร และจากปากคำประจักษ์พยาน ตามมาเป็นระลอก

 

3 กรกฎาคม มีการเปิดเผยตัวผู้ต้องสงสัยเป็นครั้งแรก คือ สตีเฟน กรีน (Steven D. Green) อดีตทหารยศสิบตรีกองประจำการ (Private First Class) ซึ่งถูกปลดจากกองทัพก่อนหน้านี้ โดยกองทัพชี้แจงว่ามีสาเหตุมาจากปัญหา "ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ" (มีการขยายความเพิ่มเติมต่อมาว่า - เป็นลักษณะ "ต่อต้านสังคม") กรีนไม่ได้อยู่ในอิรัก เขากลับไปใช้ชีวิตพลเรือนและถูกจับที่อเมริกา อัยการรัฐได้แจ้งข้อหาข่มขืนผู้หญิงอิรัก พร้อมกับข้อหาฆ่าผู้หญิงและคนในครอบครัวของเธอรวม 4 คน ในวันที่ 12 มีนาคม แก่สตีเฟน กรีน คดีนี้มีการยื่นฟ้องศาลในรัฐเคนทักกี ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 และกรีนได้ปฏิเสธความผิดตามข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา

 

ตามเอกสารคำให้การที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่พิเศษของเอฟบีไอเพื่อขอหมายจับ (เนื้อหา-เอามาจากเจ้าหน้าที่สืบสวนของกองทัพเป็นหลัก) ระบุว่า กรีนกับทหารอีก 3 คนได้ร่วมมือกันก่อการครั้งนี้ โดยให้ทหารอีกคนหนึ่งเป็นคนอยู่โยงรับหน้าที่เฝ้าวิทยุสื่อสารแทน  หลังจากทหารบางคนเปลี่ยนชุดดำเพื่ออำพรางตัวเอง ทหารทั้ง 4 ได้บุกไปที่บ้านของผู้หญิงซึ่งอยู่ห่างจากจุดตรวจไปเพียง 200 หลาพร้อมด้วยอาวุธจำนวนหนึ่ง ทหารหลายคนได้ให้การว่า กรีนเป็นผู้เดียวที่ลงมือฆ่า และมีเพียง 2 คนคือกรีนกับ "ทหารอีกคนหนึ่ง" เท่านั้นที่มีส่วนในการข่มขืนผู้หญิงคนดังกล่าว

 

เอกสารได้ให้รายละเอียดตรงนี้ไว้ว่า ก่อนจะลงมือข่มขืน กรีนได้ต้อนให้พ่อแม่และน้องของผู้หญิงเข้าไปอยู่ในห้องๆ หนึ่ง หลังจากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น กรีนเดินออกมาจากประตูแล้วก็พูดว่า "กูฆ่าพวกมันตายหมดแล้ว" หลังจากนั้น มีคนเห็นกรีนกับ "ผู้สมรู้ร่วมคิดอีกคนหนึ่ง" ลงมือข่มขืนผู้หญิง ก่อนที่กรีนจะยิงเธอเข้าที่หัว "สองหรือสามนัด"

 

กรีนได้หยิบปืนไรเฟิล  AK-47 ที่วางอยู่ในบ้านหลังนั้นมาใช้ในการสังหารครั้งนี้ ก่อนที่จะให้ทหารคนหนึ่งนำไปทิ้งที่ลำคลองในเวลาต่อมา

 

นอกจากคำให้การนี้ ยังมีรูปภาพที่ถ่ายในที่เกิดเหตุอีก 15 รูป (เป็นขั้นตอนปกติทั่วไปของกองทัพที่จะต้องมีการถ่ายรูปเก็บไว้ประกอบรายงาน) ซึ่งนอกจากจะมีรูปศพของผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กแล้ว ยังมีรูปของ "ร่างคนที่ถูกเผาไหม้ ซึ่งดูคล้ายๆ ร่างของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีผ้าห่มคลุมร่างกายช่วงบนไว้"

 

ไม่มีการเปิดเผยชื่อของทหารคนอื่นๆ และชื่อของเหยื่อทั้งหมด แต่เอฟบีไอระบุว่าเหยื่อที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงอายุ 25 และน้องสาวที่ตายอายุ 5 ขวบ

 

10 กรกฎาคม มีการตั้งข้อหาทหารอีก 5 คนในอิรักตามมา พร้อมเปิดเผยชื่อเพิ่มเติม

 

ทหาร 4 นายที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรง คือข่มขืน ฆ่า และสมรู้ร่วมคิดกับสตีเฟน กรีนได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ เจมส์ บาร์คเกอร์ (Spc. James P. Barker) สิบเอก พอล คอร์เทซ (Sgt. Paul E. Cortez) สิบตรี เจสซี สปีลแมน (Pfc. Jesse V. Spielman) สิบตรี ไบรอัน ฮาเวิร์ด (Pfc. Bryan L. Howard)

 

ส่วนทหารอีกหนึ่งนายที่กองทัพบอกว่าไม่ได้ร่วมด้วยแต่ไม่ยอมรายงานเรื่องนี้ ถูกตั้งข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ สิบเอก แอนโธนี อีริบ (Sgt. Anthony W. Yribe)

 

และนี่คือคำชี้แจงสั้นๆ ล่าสุด...ที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่าในรายงานครั้งแรก คำถามที่ตามมาก็คือ...ตกลงทหารที่รุมข่มขืนมีทั้งหมดกี่คนกันแน่? (5 คน?) ผลการสืบสวนล่าสุดเป็นอย่างไร? จนถึงวินาทีนี้ (วันที่ 13) ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม กองทัพยังไม่ปริปาก แต่ขั้นตอนต่อไปของกองทัพก็คือ การไต่สวนใหญ่เพื่อดูว่าจะมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ สำหรับการดำเนินคดีในศาลทหาร

 

 

 

"ในชีวิตผม ผมไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยว่า

จะต้องมาเจอเข้ากับภาพที่ชวนให้สยดสยองขนาดนี้"

 

 

 

และต่อไปนี้...เป็นปากคำจากชาวบ้าน

ใครตายในอิรัก? ถ้าคุณฟังแค่รายงานจากกองทัพในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา...เหยื่อที่ถูกข่มขืนชาวอิรักอาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีชื่อและไม่มีหน้า

 

ตามเอกสารที่กองทัพยื่นให้ศาล เธอถูกอ้างถึงว่าเป็น "ผู้หญิงอิรักคนหนึ่งที่อายุ 25" ตามเอกสารของทหารบางนาย เธอถูกอ้างว่าเป็นผู้หญิงอายุ 20

 

แต่เธอมีชื่อ (อาจจะยาวนิด แต่ออกเสียงไม่ยาก) แล้วเธอก็ไม่ได้อายุ 25 หรือ 20 อย่างที่กองทัพว่า เธอไม่ใช่หญิงสาวหรือผู้หญิง (woman) อย่างที่สื่อส่วนใหญ่ใช้เรียกเธอมาตลอดด้วย แต่เธอเป็นแค่เด็กผู้หญิง (girl) เท่านั้น

 

เธอชื่ออาเบียร์  ชื่อเต็มคือ อาเบียร์ คาซิม ฮัมซา อัล-จานาบี (Abeer Qasim Hamza al-Janabi) เกิดวันที่ 19 สิงหาคม 1991 และวันที่ทหารอเมริกัน (ไม่รู้จำนวนคน) บุกเข้ามาข่มขืน เธอยังอายุไม่เต็ม 14 ปี 7 เดือนด้วยซ้ำ

 

เธอมีชื่อ มีตัวตน เหมือนพ่อแม่และน้องของเธอที่เสียชีวิตไป ตามหลักฐานใบรับรองศพจากโรงพยาบาลมาห์มูดิยา เหยื่อที่เสียชีวิตพร้อมกับอาเบียร์ก็คือ พ่อ - คาซิม ฮัมซา ราชีด อัล-จานาบี (Qasim Hamza Rasheed al-Janabi) ตายจากส่วนหัวถูกบดขยี้จนเละด้วยลูกปืน แม่ - ฟาครียา ทาฮา มูเฮซิน อัล-จานาบี (Fakhriya Taha Muheisin al-Janabi) ตายจากบาดแผลถูกยิงหลายนัด และน้องสาว - ฮาเดล คาซิม ฮัมซา อัล-จานาบี (Hadeel Qasim Hamza al-Janabi) ตายจากบาดแผลถูกยิงหลายนัดเช่นกัน

 

ตามรายงานของรอยเตอร์ 9 กรกฎาคม อาเบียร์ถูกระบุว่าตายเพราะ "บาดแผลจากการถูกยิงที่ศีรษะหลายนัด และจากการถูกเผา" แต่ไม่มีการระบุถึงร่องรอยการถูกข่มขืนในนั้น ช่วงเวลาการตายถูกระบุว่าเป็นเวลาบ่าย 2 โมงของวันที่ 12 มีนาคม 2006 นักข่าวสันนิษฐานว่า อาจหมายถึงช่วงเวลาที่ญาติคนหนึ่งของฟาครียาชื่อ เมห์ดี โอเบอิด ซาลีห์ (Mehdi Obeid Salih) ไปพบศพ

 

เอกสารซึ่งลงวันที่ 13 มีนาคมนี้ เป็นใบรับรองศพที่หมอคนหนึ่งในโรงพยาบาลออกให้ ยังไม่มีหน่วยงานอิสระที่ไหนเข้ามาพิสูจน์ยืนยันความจริง และในส่วนของอายุของสมาชิกครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งที่สื่อต่างๆ ลงคลาดเคลื่อนกันอยู่ (รอยเตอร์บอกว่าน้องสาวอาเบียร์อายุ 6 ขวบ) อย่างไรก็ตาม วันเกิดของอาเบียร์ที่ระบุในนั้น "ตรงกันเป๊ะ" กับในบัตรประชาชนของเธอที่นักข่าวรอยเตอร์ไปควานหามา

 

และบัตรประชาชนของรอยเตอร์นี่เอง...ที่ทำให้ข้อถกเถียงวุ่นๆ (มั่วนิ่ม) เรื่องอายุจริงของอาเบียร์ต้องยุติไป (ก่อนหน้านี้ เพื่อนบ้านและนายกเทศมนตรีมาห์มูดิยาให้ข่าวแย้งกองทัพมาตลอดว่าอาเบียร์อายุ15)   

 

อาเบียร์เป็นใคร? เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างไร? ต่อไปนี้...จะเป็นการเรียบเรียงคำบอกเล่าจากเพื่อนบ้าน ผู้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ ทั้งที่ผ่านการรายงานของสื่อฝรั่ง สื่ออิรัก ตลอดจน "สื่อของฝ่ายต่อต้าน" ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง เพื่อให้เราได้รับฟังมุมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากกองทัพ

 

อาเบียร์ คาซิม ฮัมซา เป็นเด็กผู้หญิงชาวอิรักธรรมดาๆ ที่บังเอิญเกิดมาหน้าตาดี เธอโตมาในครอบครัวจนๆ ในย่านเกษตรกรรมจนๆ และมีชีวิตแบบชาวบ้านจนๆ ชานเมืองแบกแดดทั่วไป ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

 

ในประเทศที่สงครามเกิดขึ้นแทบทุกหนแห่งนอกกรีนโซน อเมริกาได้ตั้งจุดตรวจเพื่อ "รักษาความปลอดภัยให้คนอิรัก" แทบจะทุกท้องถนน เฉพาะแบกแดดแห่งเดียว มีจุดตรวจประมาณ 600 จุด (ข้อมูลเดือนกันยายนปีที่แล้ว) และโชคร้ายจริงๆ ที่บ้านของอาเบียร์ดันอยู่ห่างจากจุดตรวจของทหารหน่วยนั้นไปเพียง "200 หลา"

 

อาบู ฮาเซ็ม เพื่อนบ้านวัย 51 เล่าให้ ซันเดย์เทเลกราฟ/ลอนดอน ฟังว่า...เพราะสถานการณ์ความปลอดภัยที่แย่มาก พ่อแม่ของเธอเลยต้องให้ลูกสาวเลิกไปโรงเรียน

 

"เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานบ้าน หรือไม่ก็อยู่ในสวน เพราะฉะนั้นพวกอเมริกันแถวนั้นจึงมีโอกาสเห็นเธอหลายครั้ง เธอเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาสวย เมียผมยังบอกเลยว่า พวกทหารอเมริกาชอบจ้องมองเธอบ่อยๆ พอผมเล่าเรื่องนี้ให้พ่อเด็กฟัง เขาบอกผมว่า คงไม่มีปัญหาหรอกน่า...อาเบียร์มันเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ เอง"

 

ครอบครัวของอาเบียร์ไม่ได้มีกันอยู่แค่ 4 คนเท่านั้น อเบยรอาเบียร์ยังมีน้องชายอีก 2 คน คือ อาห์เหม็ด และ โมฮัมเหม็ด เพียงแต่วันเกิดเหตุ ช่วงเวลาเกิดเหตุ - กลางวันแสกๆ - น้องของเธอไปโรงเรียนยังไม่กลับ

 

ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์ 3 กรกฎาคม (หน้า A15) โอมาร์ จานาบี เพื่อนบ้านรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้าช่วงเกิดเหตุ ราวๆ วันที่ 10 มีนาคม แม่ของอาเบียร์ได้คุยกับเขาว่า ลูกสาวมาบ่นให้ฟังว่า ทหารอเมริกาพยายามจะเข้ามาวุ่นวายกับเธอ ฟาครียากลัวว่าทหารจะบุกเข้ามาหาสูกสาวเธอตอนกลางคืน เธอถามเขาว่า จะให้ลูกสาวมานอนกับพวกผู้หญิงที่บ้านของเขาได้มั้ย? จานาบีเล่าว่า เขาตอบไปว่าได้ พร้อมกับปลอบให้เธอสบายใจว่า...ทหารอเมริกันคงไม่ทำอะไรอย่างนั้นหรอก

 

แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ เพียงแต่ไม่ใช่เวลากลางคืนเท่านั้น จานาบีเล่าว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม

 

จานาบีเป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปในบ้านหลังนั้น เขาพบร่างอาเบียร์นอนแผ่อยู่ที่มุมห้อง สิ้นใจแล้ว หมอนที่อยู่ขางๆ เธอ และเส้นผมของเธอกำลังลุกไหม้ไฟ เสื้อผ้าของเธอถูกเลิกขึ้นไปถึงคอ จานาบีสรุปว่า

 

"แว่บแรกที่เห็น...ผมก็แน่ใจว่าเธอถูกข่มขืน"

 

วันที่ 11 ทหารอเมริกาคุมที่เกิดเหตุอยู่หลายชั่วโมง พร้อมกับบอกชาวบ้านว่ามันเป็นฝีมือของฝ่ายต่อต้านซุนนีที่ปฏิบัติการก่อเหตุอยู่ในย่านนั้น จานาบีบอกว่า ชาวบ้านงงมาก เพราะครอบครัวของผู้ตายเป็นชาวซุนนี ขณะที่บางคนก็คิดเอาเองว่า อาจจะเป็นฝีมือของพวกติดอาวุธชาวชีอะต์ ศพถูกลำเลียงไปยังโรงพยาบาลในวันที่ 12 ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ

 

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเล่าว่า วันที่ 13  มีคนที่แจ้งว่าเป็นญาติมารับศพไปทำพิธีฝัง ชั่วโมงหนึ่งหลังจากนั้น ทหารอเมริกันมาที่โรงพยาบาลและถามหาศพ วันต่อมา ทหารอเมริกาออกตระเวณค้นหางานศพจนทั่วเมืองแต่ไม่พบ

 

"เนื่องจากศพพวกนั้น...รวมเอาศพของคนที่ถูกข่มขืนไว้ด้วย ญาติผู้ตายจึงไม่จัดงานศพ มันเป็นเรื่องน่าอับอายในธรรมเนียมของเรา"

 

ด้วยเหตุนี้ ญาติๆ จึงเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เจ้าหน้าที่เล่าว่า ญาติผู้ตายเข้าใจว่าพวกกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นเป็นคนทำ ไม่ใช่ทหารอเมริกา

 

จากจานาบีเพื่อนบ้าน ต่อไปนี้เป็นปากคำของจานาบีอีกคนที่เป็นญาติ (บล็อกเกอร์ชาวอิรักคนหนึ่งบอกว่า อัล-จานาบี เป็นเผ่าใหญ่ มีผู้สืบเชื้อสายเยอะ ทั้งสายซุนนีและสายชีอะต์ทั่วประเทศ เลยทำให้เรื่องของอาเบียร์ยิ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง)

 

ตามรายงานของลอสแอนเจลิสไทม์ 6 กรกฎาคม อาบู ฟิราส จานาบี (Abu Firas Janabi) เป็น "คนแรกที่เข้าไปในบ้านหลังเกิดเหตุการณ์"

 

"ในชีวิตผม ผมไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยว่าจะต้องมาเจอเข้ากับภาพที่ชวนให้สยดสยองขนาดนี้" นี่คือประโยคเริ่มต้นของเขา

 

บ้านของอาบู ฟิราส จานาบี อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุครึ่งไมล์ แต่เนื่องจากย่านนั้นเป็นชานเมืองมาห์มูดิยา ที่เต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นาเกษตร แต่ละบ้านจะมีลักษณะเหมือนเป็นฟาร์มเล็กๆ และมีรั้วกั้นง่ายๆ วันที่ 12 มีนาคม ขณะที่บ้านชั้นเดียวของอาเบียร์มีเปลวไฟลุกไหม้ เขาจึงยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

 

จนกระทั่งเพื่อนบ้านรายหนึ่งวิ่งมาส่งข่าว เขากับภรรยารีบออกไปดู แต่เมื่อไปถึงที่บ้านหลังนั้น เขาตะโกนเรียกให้เพื่อนบ้านช่วย แล้วจานาบีก็รู้สึกถึงความผิดปกติ...ที่ไม่มีใครออกมาช่วย เขากับภรรยาจึงช่วยกันดับไฟและเข้าไปในบ้าน

 

"ศพของคาซิม (พ่อ) อยู่ตรงมุมห้อง หัวเขาแหลกเละเป็นชิ้นๆ" เขาเล่าว่าฮาเดลอายุ 5 ขวบ นอนตายอยู่ข้างๆ พ่อเธอ และเขาเห็นฟาครียาแขนหัก

 

อีกห้องหนึ่ง เขาพบศพอาเบียร์ในร่างเปลือยเปล่าและถูกเผา หัวของเธอเหมือนถูกทุบจนแหลก "ด้วยแท่งคอนกรีตหรือแท่งเหล็กอะไรสักอย่าง" เขาตั้งข้อสังเกต

 

"มีรอยเผาตั้งแต่กลางลำตัวจนถึงปลายลำตัว ยกเว้นเท้า" จานาบีเล่าต่อ "ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ผมอยากจะคิดว่าตัวเองกำลังฝันไป แต่มันไม่ใช่ความฝัน เราเอาผ้าคลุมตัวเธอไว้ แล้วผมกับภรรยาก็ออกจากบ้านหลังนั้นมาด้วยกัน"

 

แต่จานาบี ไม่ได้เจอแค่ศพ 4 ศพเท่านั้น เขายังเจอเด็กผู้ชาย 2 คนที่ยืนร้องไห้อยู่หน้าประตูบ้านด้วย น้องชายของอาเบียร์กลับมาจากโรงเรียนพอดีตอนที่พวกเขาไปถึง และจากหน้าประตู เด็กสามารถมองเข้ามาเห็นศพข้างในได้

 

ทั้งหมดพากันไปที่จุดตรวจ แต่เจอเข้ากับทหารอิรัก หลังรับแจ้งเรื่อง ทหารอิรักพากันมาที่บ้านและเอาศพใส่ถุงกลับไปที่ฐานทัพ วันต่อมา จานาบีกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีก เขาถามชาวบ้านแถวนั้นแต่ไม่ได้เรื่องราวที่ตรงกัน บางคนก็ปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น โดยส่วนตัว เขาสงสัยทหารอเมริกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ทหารประจำจุดตรวจจะไม่ได้ยินเสียงปืนหลายสิบนัด ยิ่งกว่านั้น เวลาที่ฆาตกรใช้ย่อมไม่ใช่น้อยๆ เขาประเมินว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 ชั่วโมง

 

หลังเรื่องนี้เป็นข่าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนของอเมริกาได้แวะมาสอบถามข้อมูลจากเขา และแสดงความต้องการจะขอขุดศพเอาไปผ่าพิสูจน์

 

จานาบีบอกว่า ตอนนี้น้องชายของอาเบียร์ 2 คนอาศัยอยู่กับลุงของพวกเขาที่หมู่บ้านอื่น และยังคงมีสีหน้าซึมเศร้าอมทุกข์อยู่

 

"เพราะเด็กมันเสียทั้งพ่อทั้งแม่ ไม่มีบ้าน พี่สาวและน้องสาวก็มาตายไปพร้อมกัน แล้วครอบครัวชาวบ้านอย่างพวกเรามันก็ยากจนเกินไป ทรัพย์สมบัติหรือมรดกอะไร..ก็ไม่มีกับเค้า" จานาบีปิดท้ายว่า

 

"ชีวิตของเด็กพวกนั้น...มันก็อนาถาอย่างนี้แหละ"

 

 

(จบตอน 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท