รายงาน : "น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดจะแก้" จี้รัฐทบทวนสร้างพนังกั้นน้ำปิง

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน จ.เชียงใหม่ และองค์กรพันธมิตร ได้จัดงานเสวนา "น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดจะแก้" พร้อมจัดคอนเสิร์ต "ฮักฝั่งปิง บ่เอาก๋ำแปง" ณ พุทธสถานเชียงใหม่ขึ้น เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ หลังมีข่าวจะมีโครงการพนังกั้นน้ำปิงของ ระยะทาง 19.4 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1,385 ล้านบาท โดยมีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ และตัวแทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วมรับฟังและร่วมกันถกปัญหาดังกล่าว

 

ตัวแทนชุมชนหวั่นพนังกั้นน้ำก่อผลกระทบ

ในช่วงเสวนา "น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดจะแก้" นางไพรินทร์ เทียนตระกูล เลขากลุ่มออมทรัพย์มุสลิมเชียงใหม่ ตัวแทนชุมชนมุสลิมเชียงใหม่ มัสยิดอัต-ตักวา ได้กล่าวถึงมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และประเด็นน้ำท่วมซ้ำซากที่ไม่ได้มาจากน้ำปิงว่า บริเวณชุมชนมัสยิดอัต-ตักวาที่ตั้งอยู่ เป็นที่ลุ่มต่ำประกอบกับท่อระบายน้ำอยู่ในระดับเดียวกัน แต่บางแห่งอยู่สูงกว่าถนน ดังนั้นพอมีฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ก็จะทำให้น้ำท่วมขังทุกครั้ง ต้องรอให้เทศบาลมาสูบน้ำออก ซึ่งก็เป็นการแก้ไขชั่วคราว หากจะรอให้น้ำขังแห้งเองจะรอนาน นอกจากนี้หากระดับน้ำปิงขึ้นสูง น้ำที่ท่วมชุมชนไม่ได้เกิดจากน้ำล้นฝั่งแม่น้ำปิง แต่เกิดจากน้ำปิงที่ล้นทะลักออกมาตามท่อระบายน้ำ

 

"และกรณีที่จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำฝั่งแม่น้ำปิงนั้น ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ อาจแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด อีกทั้งเห็นว่าการสร้างพนังกั้นน้ำปิงอาจทำให้เสียบรรยากาศเมืองน่าอยู่ของเชียงใหม่" นางไพวรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

           

ด้านศาสนาจารย์ บุญญวัฒน์ มโนปัน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพระคริสตธรรมแมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ ประกอบศาสนกิจ ณ คริสจักรที่ 1 เชียงใหม่ ตัวแทนชุมชนคริสตจักรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กล่าวว่า เชิงสะพานนวรัฐ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมคริสจักรเมื่อปีที่แล้ว ที่ผ่านมา เรามักวัดการพัฒนาจากการที่เราเอาชนะธรรมชาติ แทนที่จะคิดอยู่กับธรรมชาติอย่างสงบสุข มองธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุที่ไม่มีชีวิต มีการตีราคา แต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นความคิดแบบทุนนิยม ซึ่งกระทบต่อชีวิตของมนุษย์อย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงอยากถามว่า การพัฒนาดังกล่าวเป็นความสำเร็จที่แท้จริงหรือไม่

 

"หลังจากเกิดน้ำท่วมหนัก เราได้ประชุมหารือกันว่า จะต้องมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และเราเห็นการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องจากโครงการต่างๆ อย่างกรณีโครงการสร้างพนังกั้นน้ำปิง มีใครรู้กันบ้างว่า งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท มีการใช้อำนาจทางการเงิน อำนาจการบริหารที่กระทบต่อพี่น้องประชาชน ชาวบ้านรู้เรื่องเหล่านี้กันบ้างหรือไม่ และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแท้จริงหรือไม่"

           

ในขณะที่ พระมหาสง่า ธีรสังวโร มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) เชียงใหม่ กล่าวว่า จิตวิญญาณของคนเชียงใหม่ในอดีตนั้นผูกพันอยู่กับน้ำ มีการตั้งชื่อถิ่นที่อยู่อาศัยตามสภาพภูมินิเวศน์ที่เกิดขึ้น เช่น ในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ก็ได้ชื่อว่าหนอง เช่น หนองเส้ง หนองหอย หนองไคร้ หนองตอง หนองช้างคืน ตั้งบ้านในที่มีน้ำห้วยไหลผ่าน ก็จะได้ชื่อว่าห้วย เช่น ห้วยแก้ว ห้วยทราย ถ้าอยู่ในที่ดอนน้ำไม่ท่วม ก็จะเรียกว่าสัน เช่น สันทราย สันป่าข่อย สันต้นเปา สันผักหวาน สำหรับตัวเมืองเชียงใหม่ ผู้สร้างเมืองแต่แรกเลือกที่จะตั้งเมืองเชียงใหม่ตามชัยภูมิ 7 ประการ

 

"แต่ในปัจจุบันก็ถูกทำลายจนหมดไม่มีอีกแล้ว เช่น การมีหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ซึ่งเหมือนพื้นที่รับน้ำ ก็ถูกถมกลายเป็นตลาดและห้างสรรพสินค้า หรือการมีแม่น้ำปิงไหล่ผ่านด้านตะวันออกของเมือง แต่ปัจจุบันพื้นที่ติดแม่น้ำปิงส่วนใหญ่ก็กลายเป็นพื้นที่ธุรกิจร้านอาหารไปแล้ว ใครอยากจะไปชื่นชมต้องไปซื้อน้ำกินในร้านนั้น"

           

พระมหาสง่ากล่าวอีกว่า จากการที่ได้ไปดูงานที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พบว่า การมีพนังกั้นน้ำก็เหมือนเป็นเขื่อนริมตลิ่ง ซึ่งหากมีการสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง ก็จะทำให้แม่น้ำเหมือนคลองชลประทาน และคนจะไม่สามารถลงไปเล่นน้ำหากมีพนังที่มีรูปแบบเหมือนกำแพงก่อขึ้น และต่อไปอาจเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมาอีก ไม่ว่าปัญหาภูมิทัศน์ ปัญหาสังคม อย่างที่โอซาก้า ตอนนี้สองฝั่งริมพนังกั้นน้ำจะมีกลุ่มคนจรจัดมาอาศัยอยู่บริเวณนั้นเต็มไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว อยากให้ทางเทศบาลฯ แก้ปัญหาการบุกรุกแม่น้ำปิง ซึ่งทางเทศบาลฯ เคยรับปากว่าจะจัดการกับผู้รุกล้ำแม่น้ำปิง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้จัดการแก้ไขแต่อย่างใด

 

นักวิชาการเสนอให้ทบทวนโครงการ-ปชช.ฟ้องศาลปกครอง

ทั้งนี้ในการเสวนาหัวข้อ "น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดแก้" รศ. ดร.วสันต์ จอมภักดี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เดิมแม่น้ำปิงมีความกว้างเฉลี่ย 200 เมตร แต่ปัจจุบันบางจุดของแม่น้ำมีความกว้างเพียง 30-50 เมตร เพราะมีการบุกรุกครอบครองพื้นที่งอกริมน้ำปิง นี่คือสาเหตุของน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ นับเป็นการทำลายเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิต การแก้ปัญหาด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะเป็นการย้ายน้ำไปท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น อ.สารภี อ.หางดง และ จ.ลำพูน

 

"ดังนั้น เพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นห้วย หนอง คลอง บึง ลำห้วย ลำธารทั้งระบบขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน"

 

ในขณะที่ อ.ลักขณา พบร่มเย็น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในแง่กฎหมาย หากมีการสร้างพนังกั้นน้ำปิง โดยได้ตั้งคำถามต่อการสร้างพนังกั้นน้ำปิงว่า ได้มีการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แล้วหรือยัง นอกจากนี้บริเวณน้ำท่วมถึงนั้น เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า การทำโครงการใดๆ จำเป็นต้องสอบถามไปยังกรมเจ้าท่าเสียก่อน

 

"ดังนั้น จึงอยากเสนอให้ประชาชนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำปิง ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ซึ่งหากเหตุผลของโครงการสร้างไม่ดี เราก็สามารถคัดค้านได้ หรือคำสั่งก่อสร้างโครงการไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนศาลปกครองได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย ซึ่งกรณีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นเพิกถอนการสัมปทานเหมืองทั้งสัมปทานไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี เพราะก่อนที่จะทำเหมืองมีการติดประกาศทำเหมืองเฉพาะที่ทำการ อบต. ซึ่งถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข่าวสารที่ไม่ทั่วถึง คำสั่งสัมปทานจึงถูกเพิกถอนในที่สุด" อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มช.กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาครัฐยืนยันจำเป็นสร้างพนังแก้น้ำท่วม แจงปรับรูปแบบให้เหมาะสมแล้ว

หลังจากนั้น มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยภาครัฐ" โดยนายประพนธ์ เครือปาน นายช่างชลประทานที่ 7 สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ความกว้างของลำน้ำปิงที่จะรองรับปริมาณน้ำหลากได้ต้องมีความกว้างของลำนำ 90 เมตร แต่ในบริเวณที่แม่น้ำปิงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่ 7 จุดที่มีความกว้างของลำน้ำประมาณ 60 เมตร

 

"ซึ่งทำให้น้ำแม่ปิงล้นตลิ่งหากมีปริมาณน้ำมากๆ ได้แก่ บริเวณวัดป่าตัน, สะพานรัตนโกสินทร์-ที่ทำการเทศบาลนครเชียงใหม่, สะพานนครพิงค์-ตลาดต้นลำไย, บริเวณโรงแรมเพชรงาม, วัดไชยมงคล-ฝายท่าศาลา, หลังโรงเรียนมงฟอร์ตประถม-สะพานเม็งราย และ สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 หลังจากนั้น จึงมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกลำน้ำปิง เพื่อแก้ปัญหาเวนคืนที่บริเวณดังกล่าวให้ได้ความกว้างของลำนำที่ 90 เมตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ"

 

ด้าน นางพจนีย์ ขจรปรีดานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงถึงกรณีการสร้างพนังกั้นน้ำปิง ว่า โครงการดังกล่าวไม่มีการทำพนังกั้นน้ำตลอดลำน้ำ ตลอดจนมีการปรับรูปแบบของพนังไม่ให้เป็นกำแพงสูง แต่ปรับเป็นเนินดินเพื่อปรับรูปแบบให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยสุดโดยคำนึงถึงภูมินิเวศน์

 

"ส่วนในกรณีของการจัดการเรื่องการบุกรุกลำน้ำ หากรอให้แก้ไขจนเสร็จจะไม่มีทางที่จะดำเนินการโครงการได้เพราะปีงบประมาณ 2549 กำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้นเพื่อให้โครงการสามารถใช้งบประมาณผูกพันสำหรับโครงการก่อสร้างตลอดลำน้ำ 19.4 กิโลเมตรในอนาคต จึงต้องพิจารณาทำโครงการเร่งด่วน 2 จุด คือ เหมืองฝายพญาคำและโรงเรียนไชยโรจน์ และบริเวณสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 โดยมีการออกแบบพนังให้เป็นรูปแบบของทางเท้าและมีคันคอนกรีตกั้นด้านนอกและมีการปรับรูปแบบไม่ให้เหมือนกำแพง นอกจากนี้จะมีการออกแบบการทำพนังกั้นน้ำชนิดถอดประกอบ โดยปรับตัวอย่างจากแบบที่ใช้บริเวณวัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา เพื่อใช้สำหรับพื้นที่ๆ เกรงปัญหาการบดบังภูมิทัศน์ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการเสวนาซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็น ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยหลายฝ่ายต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์ และให้ข้อมูลที่เป็นทางเลือกในการแก้ไขน้ำท่วมให้หลากหลายวิธีการมากกว่านี้แทนการแก้ปัญหาด้วยการสร้างพนังเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมีการทำประชาพิจารณ์เรื่องการสร้างพนังกั้นน้ำกับประชาชนเพียง 300 คนซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนเชียงใหม่

 

ด้านนางวรวิมล ชัยรัต ตัวแทนชุมชนวัดเกต ได้กล่าวแสดงความห่วงใยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวว่า คนเชียงใหม่ต้องการพื้นที่สีเขียวมากกว่าพื้นที่คอนกรีต และร้องขอให้รัฐช่วยตรวจสอบการบุกรุกลำน้ำปิงด้วยเพราะส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มทุนนอกพื้นที่มากกว่าจะเป็นชาวบ้านดั้งเดิม

 

"สุนทรี" ร่ำไห้วอนคนเชียงใหม่รักษาน้ำปิง

ในงามเสวนาและคอนเสิร์ต "ฮักฝั่งปิง บ่เอาก๋ำแปง" นางสุนทรี เวชานนท์ ศิลปินล้านนา ได้ขับร้องเพลงที่มีเนื้อหาห่วงใยลำน้ำปิงและเมืองเชียงใหม่ พร้อมกล่าวทั้งน้ำตาเรียกร้องให้คนเชียงใหม่หันมาดูแลรักษาแม่น้ำปิงด้วย และเสนอให้มีการทบทวนโครงการพนังกั้นแม่น้ำปิงและหันไปพิจารณาก่อสร้างพื้นที่รับน้ำหรือ "แก้มลิง" เพื่อแก้ปัญหาแทน

 

โดยภายหลังกิจกรรมสิ้นสุดลงประชาชนที่ร่วมงานได้ร่วมกันถือป้ายผ้าแสดงข้อความให้ทบทวนโครงการพนังกั้นน้ำ จากพุทธสถานไปยังบริเวณไนท์บาร์ซาร์ โดยระหว่างทางได้มีการแจกจ่ายแผ่นพับชี้แจงถึงผลกระทบของการสร้างพนังกั้นน้ำปิง ทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่อย่างเป็นระบบแก่ประชาชนที่ออกมายืนดูสองข้างทาง และกลุ่มเครือข่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชนร่วมกับชมรมชาวเชียงใหม่ฮักฝั่งปิง ได้พากันไปร่วมรายการ ITV Hotnews พบประชาชน เรื่องวิกฤตน้ำท่วมเหนือด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท