Skip to main content
sharethis


ผศ.ประสาท มีแต้ม


แทนที่ราคาน้ำมันและก๊าซที่แพงขึ้นๆ อย่างกู่ไม่กลับ จะเป็นโอกาสทำให้ 'พลังงานหมุนเวียน' ซึ่งเป็นมิตรกับโลกมากที่สุดได้ 'ถือกำเนิด' ขึ้นในสังคมไทยอย่างจริงจังและเป็นระบบ แต่นักอนุรักษ์ทั้งหลายก็ต้องพากันอกหัก เพราะนอกจากรัฐจะไม่สนใจพัฒนามันแล้ว ยังหันไปมุ่งเน้นการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิมด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักจากนักอนุรักษ์และชุมชนที่เคยได้รับผลกระทบโดยตรงจำนวนไม่น้อยก็ตาม


ข่าวล่าสุดจากกระทรวงพลังงานระบุว่า รัฐวางแผนการจัดหาพลังงานในระยะยาว 15 ปีข้างหน้า (2550-2564) ให้หันมาพึ่งการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายว่าตั้งแต่ปี 2550-2564 จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 40% จากปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ประมาณ 68% และจะเพิ่มการนำเข้าถ่านหิน โดยคาดว่าเมื่อถึงปี 2559 จะมีการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศมาใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 20% จากปัจจุบันมีเพียง 6%และจะเพิ่มเป็น 29% เมื่อถึงปี 2564


"การเพิ่มการใช้ถ่านหิน/น้ำจะช่วยสร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ ในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถจัดส่งก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ขณะที่ถ่านหินมีราคาต่ำกว่าก๊าซ ที่สำคัญราคาถ่านหินค่อนข้างคงที่ ไม่ขึ้นลงตามราคาน้ำมันเหมือนก๊าซ" คำชี้แจงของพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน


เขายังยืนยันว่า กระทรวงพลังงานได้คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ต้องเป็นถ่านหินนำเข้าคุณภาพดีที่มี สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เจือปนอยู่ให้น้อยที่สุด และต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการก่อสร้างเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าให้น้อยที่สุด


แต่นี่คือคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดหรือไม่ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกไหม และพลังงานหมุนเวียนนั้นยุ่งยาก ราคาแพง สมคำล่ำลือเพียงใด 'ผศ.ประสาท มีแต้ม' อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกมาอย่างยาวนานมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งมานำเสนอม ผ่านเวทีสาธารณะเรื่อง 'ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดโดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549


ภาพกราฟที่ฉายในห้องประชุม แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประชากรโลกมีการใช้พลังเพิ่มขึ้นสูงมากตั้งแต่ทศวรรษแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 1960s ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาก็สูงมากอย่างน่าตกใจ โดยกิจกรรมของการผลิตไฟฟ้าถือเป็นตัวการสำคัญอันหนึ่งในการทำลายชั้นบรรยากาศโลก (ยังไม่นับรวมกิจกรรมอื่น) และทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นต้นตอของภัยพิบัติตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวน ความถี่ และความยาวนาน


ส่วนขนาดการใช้พลังงานในประเทศนั้น พบว่า คนไทยทั้งประเทศใช้พลังงานปีละ 1.3 ล้านล้านบาท หรือราว 20% ของจีดีพี โดยภาระรายจ่ายด้านพลังงานนั้นถือว่าหนักหนาสำหรับคนยากจนอย่างเหลือเชื่อ จากการสำรวจปี 2545 ในหมู่บ้านอู่โลก จังหวัดสุรินทร์ พบว่าชาวบ้านมีรายจ่ายด้านพลังงานคิดเป็น 56% ของรายได้ทั้งหมด (รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 25,000 บาทต่อปี)


เรื่องพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมสร้างนโยบายพลังงานขึ้นมาเอง เพราะมันจะช่วยลดปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างความเป็นธรรมในสังคม เพราะวิธีการผลิตพลังงานไฟฟ้านั้นมีทางเลือกอีกหลากหลายที่เหมาะกับสภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อม หากแต่มันไม่ได้รับการพัฒนาและบริหารอย่างถูกต้องจากรัฐ โดยผศ.ประสาท ยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่เลี้ยงหมู 30,000 ตัวและสามารถผลิตพลังงานจะขี้หมูได้ แต่มีความสามารถในการใช้ได้เพียงครึ่งเดียวของผลผลิต ที่เหลือนอกจากนั้นไม่มีระบบรองรับดังเช่นในต่างประเทศ ซึ่งใครก็ตามที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ สามารถขายเข้าระบบกลางได้ตลอด เมื่อต้องใช้ครึ่ง ทิ้งครึ่งเช่นนี้ โครงการดีๆ จึงมีอันต้องพับเก็บ


"คนทั้งโลกถูกหลอกให้ติดยึดอยู่กับพลังงานฟอสซิลที่กลุ่มคนไม่กี่กลุ่มผูกขาด ทำให้ติดยึดกับวาทกรรมที่ว่า พลังงานเหล่านั้นเป็นพลังงานสะอาด ทันสมัย"


ส่วนคำถามเกี่ยวกับความคุ้มทุนของพลังงานทางเลือก ซึ่งมักถูกทำให้มีภาพว่าเป็นพลังงานราคาแพงนั้น ข้อมูล ณ ปี 2005 พบว่า เยอรมันเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 1,800 เมกะวัตต์ (ภาคใต้ 14 จังหวัดของไทยใช้ไฟฟ้าราว 1,600 เมกะวัตต์)  ส่วนไบโอดีเซลในเยอรมันนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 12% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งประเทศ โดยรัฐบาลเยอรมันมีการลดภาษีสำหรับไบโอดีเซล ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลปกติเพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ไบโอดีเซล


"ทำไมรัฐบาลไม่ใช้ระบบภาษีมาช่วยอย่างในเยอรมัน ตอนนี้รัฐอุดหนุดก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี ทำไมไม่อุดหนุนไบโอดีเซล ตอนนี้มีใช้กันแค่ 0.1% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด ทั้งที่ในหลวงท่านก็รับสั่งเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งให้ความเห็นว่า เพราะไบโอดีเซลมันก็แค่ลิเกโรงหนึ่งเท่านั้น"


ขณะที่ในอินโดนีเซีย ธุรกิจพลังงานลมก็กำลังเป็นไปอย่างสดใส บริษัทในอินโดนีเซียกำลังวางแผนจะติดตั้งกังหันลมบนตึกสูงภายในประเทศ ในฟิลิปปินส์มีฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในญี่ปุ่นมีการใช้โซล่าเซลมากที่สุดในโลก ฯลฯ 


"ต้นทุนของพลังงานลมต่ำลงเรื่อยๆ ตอนนี้ลงมากว่า 20-30 เท่าตัว ขณะที่ประสิทธิภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เราเห็นในต่างประเทศ ตัวหนึ่งเกือบร้อยล้าน แต่ภายใน 20 ปีในการผลิตไฟฟ้า มันจะประหยัดถ่านหินได้ 84,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับตึก 10 ชั้น 2 ตึก ธุรกิจพลังงามลมจึงนับว่าสดใสมาก 


เหล่านี้คือ ภาพกว้างๆ ที่น่าจะช่วยให้เห็นว่า 'พลังงานหมุนเวียน' เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อย่างน้อยก็ในประเทศอื่นๆ !


แล้วเราจะเริ่มต้นจากไหน สไลด์แผ่นท้ายสุดให้คำตอบเป็นบทสรุปสำหรับพลเมืองในเรื่องพลังงานว่า 1. ประชาชนต้องร่วมกันสร้างนโยบายพลังงาน 2.ต้องเสนอกฎหมาย Feed in Law ที่รองรับให้ทุกคนสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ 3.ต้องรู้เท่าทันเล่ห์ของพ่อค้าพลังงานและนักการเมือง


ขอเสริมนิดเดียวว่า อาจจะต้องเริ่มต้นจากข้อหลังสุด แล้วไล่ไปหน้า (ฮา) ..

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net