Skip to main content
sharethis

ประชาไท--20 ก.ค. 2549 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงาน อัยการสูงสุด และนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองโฆษกอัยการสูงสุด แถลงข่าวกรณีการได้รับหนังสือตอบรับจากกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา การตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ว่า ในหนังสือของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้ตอบตามเอกสารที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้ร้อง ได้ถามไปในประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีที่เป็นข่าวว่า มีการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น


 


สรุปความได้ว่า จนกระทั่งบัดนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบพยานหลักฐาน โดยเฉพาะที่ว่า บริษัท อินวิชั่น จำกัด หรือตัวแทนได้จ่ายเงินใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย หรือไม่ปรากฏว่ามีการเสนอจะจ่ายเงินให้ หรือได้มีการยอมรับการเสนอจะจ่ายเงินนั้นให้แล้ว


 


อย่างไรก็ดี ถ้าพบพยานหลักฐานในกรณีนี้ ก็จะส่งมาให้อัยการสูงสุดต่อไป และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ไม่ทราบเรื่องพยานหลักฐานใดๆ ที่แสดงถึงร่องรอยการไหลของเงินดังกล่าวข้างต้น



ส่วนที่มีผู้กล่าวหาว่า สำนักงานอัยการสูงสุดปิดบังข้อมูลที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา จัดส่งมาให้นั้น สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า เมื่อกลางปี พ.ศ.2548 ปรากฏข่าวว่า มีการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ หลังจากนั้นเดือนตุลาคม 2548 สตช. และป.ป.ง. ได้ขอให้อัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลาง ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 6 เพื่อดำเนินการขอความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (Department of Justice) ให้ตรวจสอบว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์หรือไม่เพียงใด และหากมีก็ขอให้รวบรวมพยานหลักฐาน หรือสอบปากคำพยานให้ด้วย


 


และหากพบว่ามีการทุจริตในกรณีดังกล่าวจริง ก็ขอให้ช่วยดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องไว้ก่อนด้วย โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ได้ส่งคำขอที่ 0036/17434 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2548 ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา (DOJ) ตามที่ สตช. และ ปปง. ร้องขอ และอัยการสูงสุดไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมทั้งได้ติดตามทวงถาม เพื่อทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าวมาตลอด



กระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 อัยการสูงสุด จึงได้รับหนังสือจากกงสุลสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 แจ้งว่า สำนักงานกิจการต่างประเทศ ฝ่ายคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลการให้ความช่วยเหลือเป็นหนังสือลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 มีเอกสารประกอบจำนวน 50 หน้า ซึ่งเป็นเอกสารส่วนหนึ่ง ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ให้ความร่วมมือในเบื้องต้นจัดส่งมาให้ก่อน ส่วนเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการจัดส่งให้ภายหลังต่อไป และในเอกสารนั้น


 


กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ขอสงวนข้อจำกัดการใช้ตามข้อ 7 ของสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2536 ว่า การใช้ข้อสนเทศ และพยานหลักฐานที่ได้รับมา ตามสนธิสัญญา ถูกจำกัดอยู่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่ได้ร้องขอ และตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น คือใช้เพื่อการดำเนินคดีของ สตช. และ ปปง. หากอัยการสูงสุดจะเปิดเผย หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ก็ขอให้ปรึกษากระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ก่อนว่าจะอนุญาตให้ใช้ได้หรือไม่



โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า อัยการสูงสุดมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในฐานะผู้ประสานงานกลาง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศฯ และอัยการสูงสุดได้ปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยบริบูรณ์ ซึ่งในการขอความร่วมมือระหว่างประเทศคดีอาญา อัยการสูงสุดจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนั้นต้องมุ่งหวังที่จะแสวงหาความร่วมมือในเรื่องทางอาญา ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าต่อไปด้วย


 


ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จึงต้องเคร่งครัดตามสนธิสัญญา หรือข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อกล่าวหาใดๆ ที่อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ว่ามีเจตนาปิดบังอำพรางข้อมูล เพื่อช่วยเหลือผู้ใด ผู้หนึ่งจึงเป็นความเท็จทั้งสิ้น



"ภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด ในการรักษาความยุติธรรม ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเสมอภาคตรงไปตรงมา ดังที่ปรากฏมาตลอด ไม่มีกิจกรรมใดที่ดำเนินการไปเพื่อประสงค์ผลทางด้านการเมือง แต่ทุกกิจกรรมที่กระทำอยู่ ก็เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว



ต่อข้อซักถามว่า ในการดำเนินคดีอาญา เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แจ้งว่าไม่ปรากฏชื่อเจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้อง และเส้นทางการรับเงิน จะทำให้การดำเนินคดีภายในประเทศของไทย ต้องยุติลงหรือไม่ นายอรรถพล ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ เพราะขณะนี้เมื่ออัยการสูงสุดทราบเรื่องตอบกลับของกระทรวงยุติธรรมแล้ว คณะทำงานคดีอาญาฯ เตรียมที่จะประชุมเพื่อตรวจดูว่า สิ่งที่ขอไป และสิ่งที่สหรัฐฯ ตอบกลับมา มีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่


 


หากไม่พอก็จะทำหนังสือยืนยันแจ้งต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อสอบถามรายละเอียดต่อไป รวมทั้งหากเห็นว่า การสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมในสหรัฐ จะทำให้ได้ข้อเท็จจริง และหลักฐานเพิ่มเติมในการดำเนินคดีอาญาภายในประเทศ อัยการก็มีความจำเป็นต้องขอให้สอบสวนพยานบุคคลด้วย



เมื่อถามถึงรายละเอียดหนังสือที่อัยการขอไปยัง กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีประเด็นใดบ้าง นายอรรถพล กล่าวว่า อัยการได้ถามถึงรายชื่อเจ้าหน้าที่ของไทย และสหรัฐฯ มีเกี่ยวข้องทั้งราชการและเอกชน ซึ่งการสอบถามประเด็นนี้ ไม่ได้ลงรายชื่อเฉพาะเจาะจง ว่าเป็นบุคคลในบริษัท หรือหน่วยงานราชการใด แต่เป็นการถามเพื่อให้สหรัฐฯ แจ้งข้อมูลกลับมาว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง เพื่อสอบสวนคดีอาญา


 


นอกจากนี้ ยังได้ขอสำนวนฟ้อง และคำพิพากษาของศาลแขวงสหรัฐฯ ที่ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ยื่นฟ้อง บ.จีอี อินวิชั่น จก. ซึ่งคดีดังกล่าว คู่ความได้ประนีประนอมยอมความกันเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยอัยการต้องการดูรายละเอียดว่า มีการกล่าวถึงบุคคลใดบ้าง


 


สุดท้ายได้ขอให้ดำเนินการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ดี ทางสหรัฐฯ ได้ตอบกลับมาเพียงว่า ไม่พบพยานหลักฐานการเสนอจ่ายเงินของ บ.อินวิชั่น แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ส่วนเรื่องการสอบพยานเพิ่มเติมสหรัฐฯ แจ้งว่า บุคคลที่จะให้สอบเพิ่มเติมนั้น ยังไม่ถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอบพยานเพิ่มเติม แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า จะไม่สอบบุคคลให้ หากไทยยังติดใจที่จะให้มีการสอบพยาน



ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะทำงานสอบสวนคดีอาญา กรณีทุจริตซีทีเอ็กซ์ มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกสอบเจ้าหน้าที่ท่าอากาศ และนักการเมือง ที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า คณะกรรมการจะต้องดูรายละเอียดเนื้อหาหนังสือของสหรัฐฯ ก่อนว่า สมบูรณ์ครบถ้วนเพียงใด ซึ่งในฐานะที่เป็นคณะกรรมการด้วย เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเรียกบุคคลใดมาสอบ เพราะยังไม่เห็นความเกี่ยวข้องการกระทำผิดของนักการเมือง


 



ปชป. จวกอสส. อ้างข้อมูลเก่าแถมหลงประเด็น


ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานตรวจสอบทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยืนยันว่าเอกสารที่อัยการสูงสุดกล่าวอ้างนั้น เป็นเอกสารที่ได้รับมาตั้งกลางปี 2548 แล้ว ซึ่งสหรัฐฯ ตรวจสอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และบริษัท อินวิชั่น เทคโนโลยี จำกัด บางคน และได้มีการสั่งให้ยับยั้งแล้วเปลี่ยนให้เป็นการขายตรงเท่านั้น


 


แต่มีการเขียนในเอกสารคำรับสารภาพว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการนำส่วนต่างของราคาไปเสนอให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย ซึ่งการทำสัญญาส่วนที่เป็นประเด็นปัญหานั้นได้เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงไม่อยากให้อัยการหลงประเด็นในการตรวจสอบ


 


ความผิดปกติมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีที่เมื่อถูกเลิกสัญญาไปแล้ว เหตุใดบริษัทแพทริออต บิซสิเนส คอนซัลแทนต์ จำกัด จึงนำเงินส่วนต่างไปใช้จ่ายได้ โดยผ่านกิจการร่วมค้าไอทีโอ ทั้งที่เงินที่เกิดหนังสือค้ำประกันธนาคาร (แอลซี) ก็ต้องยกเลิกการทำธุรกรรม แต่เหตุใดจึงบอกว่ากระบวนการที่ดำเนินอยู่ถูกต้อง ตอบคำถามได้หรือไม่ ทำไมเมื่อเป็นการขายตรงแล้ว แต่ราคายังเท่าเดิม อัยการทำงานอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่อย่างที่อย่างที่เราคาดหวังในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐพึงกระทำ


 


ทั้งนี้ ถ้าอัยการสูงสุดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็พร้อมที่จะนำวีซีดีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและหลักฐานทั้งหมดที่พรรคประชาธิปัตย์มีอยู่มอบให้กับอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดไม่ควรยุติการสอบสวนเรื่องสินบนเพียงเท่านี้


 


"ถ้ายุติ ก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเอาข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนมาแถลง เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเท่ากับเป็นการปกป้องรัฐบาล คำตอบที่ได้ในวันนี้จึงไม่ใช่คำตอบที่น่าประทับใจ เพราะยังไม่สามารถอธิบายเรื่องส่วนต่างราคาได้ รวมถึงทำไมจึงไม่ยอมคืนเงิน หากอัยการสูงสุดทำไม่ได้ ก็น่าจะมอบให้หน่วยงานอื่นหรือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มารับช่วงต่อ ดังนั้น พรรคจะติดตามเรื่องนี้จนถึงที่สุด" นายเกียรติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net