Skip to main content
sharethis

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณชายฝั่งทางใต้ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 7.7 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นสึนาสูงประมาณ 2 เมตร เข้าโถมซัดบ้านเรือนริมชายหาดอย่างรุนแรง จนบัดนี้ มีรายงานว่า สึนามิได้คร่าชีวิตผู้คนชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติไปแล้วเกือบ 600 ราย มีบ้านเรือนและอาคารได้รับความเสียหาย 1,651 หลัง ตลอดจนเรือและมอเตอร์ไซค์ตลอดแนวชายฝั่งชวาตะวันตกไปจนถึงยอร์กยาการ์ตา รวมทั้งชาวบ้าน 51,759 คนต้องอพยพออกจากบ้านของตนเอง


 


ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย รายงานเหตุการณ์ว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.19 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ละติจูด 9.0 องศาใต้ ลองจิจูด 107.3 องศาตะวันออก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย เมื่อเวลาประมาณ 16.13 น. ได้มี After shock ขนาด 6.3 ริคเตอร์ ความลึก 94 กม. บริเวณตอนใต้เกาะชวา ที่ละติจูด 9.6 องศาใต้ ลองจิจูด 107.6 องศาตะวันออก


 


ต่อมาได้ตรวจพบแผ่นดินไหวตามมา(After shock)อีกหลายครั้งซึ่งมีขนาดต่ำกว่า 6.4 ริกเตอร์ จนทำให้เกิดสึนามิขนาดความสูงประมาณ 2 ต่อมาได้มีการคำนวณขนาดกันใหม่ โดยเครือข่ายสหรัฐอเมริกาปรับจาก 7.2 ริกเตอร์เป็น 7.7 ริกเตอร์


 


ผ่านไปอีกไม่กี่วัน ก็เกิดแผ่นดินไหวในประเทศอินโดนีเซียอีก 2 ครั้งติดต่อกัน โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานธรณีวิทยาวัดความรุนแรงได้ขนาด 6.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากช่องแคบซุนดา 40 กิโลเมตร และห่างจากจากกรุงจาการ์ตา 150 กิโลเมตร ทำให้ผู้คนในอาคารสูงในกรุงจาการ์ตารู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนั้นได้


 


และในวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย


 


จากเหตุการณ์สึนามิในครั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ได้ออกมายอมรับว่า ได้รับคำแจ้งเตือนจากศูนย์เตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เกาะฮาวาย ล่วงหน้า 45 นาที ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า อาจเกิดคลื่นสึนามิขึ้น แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ส่งคำเตือนต่อไปยังพื้นที่เกิดเหตุ โดยอ้างว่า ไม่ต้องการแจ้งสัญญาณเตือนเหตุที่อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง


 


ในขณะที่ นายเอดี พริฮานโตโร เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ก็ออกมากล่าวยอมรับว่า ระบบเตือนภัยสึนามิที่ทางการอินโดนีเซียริเริ่มขึ้นหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และมหันตภัยสึนามิในเดือนธันวาคม 2547 ยังคงไม่สามารถใช้การได้ เพราะจนถึงขณะนี้มีการวางทุ่นลอยนอกชายฝั่งเพื่อวัดระดับความสูงและความแรงของกระแสคลื่นได้เพียง 2 จาก 25 อันเท่านั้น โดยทั้งสองทุ่นก็อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งเกาะสุมาตราไม่ใช่เกาะชวา และแม้แต่ทุ่นลอยทั้งสองอันดังกล่าวก็ยังไม่ทำงานเช่นกัน


 


ในขณะที่หลายคนบอกว่า การเตือนทางโทรทัศน์และวิทยุก็ยังไม่พอ ต้องมีการสื่อสารกับชาวบ้านโดยตรงด้วย และชี้ว่าวิธีเตือนประชาชนโดยตรงที่สุดก็คือการติดไซเรนไว้ที่ชายหาด


 


 


คนไทยสับสนรายงานแผ่นดินไหว 2 หน่วยงานคลาดเคลื่อน


อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมาดูในเมืองไทยบ้านเรา มีรายงานว่า เหตุการณ์สึนามิที่อินโดนีเซียในครั้งนี้ ก็ได้ทำคนไทยโดยเฉพาะในแถบภาคใต้เกิดความตื่นตระหนก เกรงว่าจะเกิดขึ้นกับไทยอีกหน ถึงแม้จะมีรายงานว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไทยก็ตาม แต่เมื่อได้ทำการตรวจสอบรายงานแผ่นดินไหว 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันอยู่


 


ทั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบการรายงานข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวของไทย ซึ่งมี 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(www.ndwc.or.th) กับกรมอุตุนิยมวิทยา ( http://www.tmd.go.th) พบว่า มีการรายงานข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน


 


โดยไล่ย้อนดูจากเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้รายงานว่า เมื่อวันที่13 กรกฏาคม 2549 เกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 3.3 ริกเตอร์ บริเวณ อ.หางดง จ.เชียงใหม่


 


ในขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.28 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ได้เกิดแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ละติจูด 18.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.8 องศาตะวันออก ห่างจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 14 กม. มีขนาด 3.0 ริคเตอร์ ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย


 


ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณเกาะสุมาตรา ขนาด 5.3 ริกเตอร์ไม่เกิดสึนามิ


 


ในขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.19 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 (ตามเวลาในประเทศไทย) ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ละติจูด 9.0 องศาใต้ ลองจิจูด 107.3 องศาตะวันออก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย และแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย และเมื่เวลาประมาณ 16.13 น. ได้มี After shock ขนาด 6.3 ริคเตอร์ ความลึก 94 กม. บริเวณตอนใต้เกาะชวา ที่ละติจูด 9.6 องศาใต้ ลองจิจูด 107.6 องศาตะวันออก เบื้องต้นไม่มีรายงานความเสียหาย และไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย


 


ต่อมา มีการปรับข้อมูลว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.19 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 (ตามเวลาในประเทศไทย) ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ละติจูด 9.0 องศาใต้ ลองจิจูด 107.3 องศาตะวันออก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย เมื่อเวลาประมาณ 16.13 น. ได้มี After shock ขนาด 6.3 ริคเตอร์ ความลึก 94 กม. บริเวณตอนใต้เกาะชวา ที่ละติจูด 9.6 องศาใต้ ลองจิจูด 107.6 องศาตะวันออก ต่อมาได้ตรวจพบแผ่นดินไหวตามมา(After shock)อีกหลายครั้งซึ่งมีขนาดต่ำกว่า 6.4 ริกเตอร์ และได้รับรายงานความเสียหายเพิ่มเติมว่า เกิดสึนามิขนาดความสูงประมาณ 2 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งสำรวจพบแล้ว 37 คน อาคารบ้านเรือนขนาดเล็กเสียหายจำนวนหนึ่ง และจากการคำนวณขนาดใหม่ เครือข่ายสหรัฐอเมริกาปรับจาก 7.2 ริกเตอร์เป็น 7.7 ริกเตอร์


 


ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานว่า เวลา 17.57 น. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 6.2 ริกเตอร์ ที่ความลึกใต้ผิวโลก 10 กม. บริเวณเกาะชวา ระยะห่าง 2,300 กม. จากชายฝั่งอันดามันของไทย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย


 


ในขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณSunda Strait ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ละติจูด 6.4 องศาใต้ ลองจิจูด 105.4 องศาตะวันออก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย และแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย


 


วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รายงานว่า เวลา 21.36 น เกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 5.2 ริกเตอร์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตราระยะห่างจากชายฝั่งอันดามัน 1,515 กิโลเมตร


 


ในขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเมื่อเวลาประมาณ 11.34 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 (ตามเวลาในประเทศไทย) ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริคเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่ละติจูด 9.68 องศาใต้ ลองจิจูด 107.38 องศาตะวันออก ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย และแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อเวลาประมาณ


 


ซึ่งเมื่อมีคนเข้าไปตรวจสอบการรายงานแผ่นดินไหว จากทั้งสองหน่วยงานแล้ว ต่างพบว่า ข้อมูลทั้งในเรื่องเวลา และขนาดของริกเตอร์ ยังมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่ จนทำให้หลายคนสับสนและขาดความเชื่อถือในข้อมูลดังกล่าว


 


ด้านผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว เผยรอยเลื่อนแขนง-รอยเลื่อนสะแกง อาจทำให้เขื่อนในไทยแตก


นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของไทย กล่าวว่า สิ่งที่เราน่าติดตามและเฝ้าระวังก็คือ รอยเลื่อนแขนงต่างๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ตั้งแต่ชวา เกาะสุมาตรา อันดามัน ไปจนถึงพม่า ซึ่งล่าสุดแรงสั่นสะเทือนนั้นได้พาดผ่านตามแนวมุดยาวขึ้นมาทางเหนือ เป็นไปได้ว่า หากแนวมุดเกิดขยับขึ้นไปเชื่อมกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า ก็จะมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 ริกเตอร์ ซึ่งมีพลังมหาศาลเทียบเท่าปรามาณูเป็นพันๆ ลูก


 


ดังนั้น ในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ตั้งแต่ฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตก ยาวไปจนถึงภาคเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเขื่อนในประเทศที่สำคัญหลายแห่ง เนื่องจากต้องเข้าใจว่า โดยธรรมชาติแล้ว การสร้างเขื่อนนั้นหมายถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ ซึ่งตั้งสมมติฐานได้เลยว่า เส้นทางน้ำนั้นก็คือเป็นแนวที่วิ่งสอดคล้องกับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวทางเดียวกันมาก่อน


 


"ลำห้วยลำน้ำนั้น เกิดจากการเคลื่อนที่เป็นร่องเป็นหุบเขามาก่อนที่จะเกิดลำน้ำ และเขื่อนนั้นมาทีหลัง ดังนั้น ผมเชื่อว่า ที่ผ่านมา โครงสร้างของเขื่อนในประเทศนั้นมีการคำนึงถึงเรื่องแผ่นดินไหวจริง แต่ว่าในปัจจุบันเมื่อเหตุการณ์และระยะเวลาผ่านไป อาจต้องมีการหามาตรการอื่นมาเสริม เราต้องยอมรับความจริง เอาข้อมูลต่างๆ มาศึกษาและหามาตรการในการวางแผนป้องกันร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด"


 


นายอดิศร ยังเสนอทางออกอีกว่า วิธีการในขณะนี้ก็คือ ทุกฝ่ายต้องมาคุยกัน ต้องเอาข้อมูลบนพื้นฐานความจริงมาวางแผนร่วมกัน โดยควรมีการเร่งตรวจสอบโครงสร้างของเขื่อนว่ามีมาตรฐานแข็งแรงหรือไม่ และควรมีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่บริเวณที่มีเขื่อนที่อยู่ในรอยเลื่อนทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และการเฝ้าระวังจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะแผ่นดินไหวนั้นมีการเคลื่อนตัวเป็นพลวัตรต่อเนื่องอยู่แล้ว สุดท้าย ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการวางมาตรการวางแผนเตรียมตัวอพยพประชาชนที่เสี่ยงภัยออกจากพื้นที่ให้ทัน หากเขื่อนร้าวหรือแตก


 


สอดคล้องกับการแสดงความเห็นของ นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์คณะวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ที่ได้กล่าวถึงจุดที่ยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวและมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น คือ บริเวณตะวันตกฝั่งเกาะอันดามันของอินเดีย ไล่ไปจนถึงตะวันตกของพม่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะทำให้เกิดสึนามิที่อาจส่งผลต่อประเทศไทยได้ นอกจากนี้บริเวณโซนใต้ของเกาะสุมาตราก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้เขียนบทความ เรื่อง "แผ่นดินไหว เขื่อนวิบัติ : ภัยที่ต้องป้องกัน ก่อนวัวหายแล้วล้อมคอก" เอาไว้ว่า เหตุการณ์สึนามิได้บอกกับสังคมไทยว่าแผ่นดินไหวกับคนไทยไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่น่าเสียดายที่ความสนใจในการป้องกันภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวต่างมุ่งไปที่สึนามิเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวในประเทศ


ความจริงแล้ว คนไทยมีประสบการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวมานานแล้ว ตั้งแต่ในอดีต เช่น แผ่นดินไหวเมื่อปี 2088 มีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ทำให้ยอดเจดีย์หลวงสูง 86 เมตรหักพังลงมาเหลือ 60 เมตร ส่วนแผ่นดินไหวในประเทศที่สำคัญในยุคหลังๆ ก็เช่น


แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2518 มีศูนย์กลางที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เกิดความเสียหายเล็กน้อยบริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง


แผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 มีศูนย์กลางใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ สร้างความเสียหายเล็กน้อยต่ออาคารในกรุงเทพฯ


นอกจากนั้น ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 มีศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย สร้างความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางให้กับอาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน และวัดหลายแห่ง


เตือนกรุงเทพฯ ระวังเสี่ยงตึกทรุดจากแผ่นดินไหว


นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ยังกล่าวถึงกรณีผลกระทบแผ่นดินไหวที่อาจเกิดกับกรุงเทพฯ ด้วยว่า จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวเท่ากับเชียงใหม่ แต่กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงอันตรายมากกว่า เนื่องจากมีฐานรากเป็นดินอ่อน ซึ่งเมื่อเกิดแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว ก็จะส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างอาคารหรือตึกสูงทรุดตัวลงได้ แม้ว่าจะอยู่ห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวก็ตาม


 


นายอดิศร กล่าวอีกว่า นอกจากพื้นที่ที่อยู่ในเขตรอยเลื่อนพาดผ่านทางภาคใต้ ฝั่งตะวันตก ขึ้นไปถึงพม่า จะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว กรุงเทพฯ เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการขยายแรงสั่นสะเทือนของฐานรากซึ่งเป็นดินอ่อน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้โครงสร้างอาคาร ตึกสูงทรุดตัวลงได้


 


"หากดูจากสถิติที่ผ่านมา จะรู้เลยว่า การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้ง แม้จะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ แต่ส่งผลกระทบรับรู้ได้ อย่างเช่น กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2546 เวลา01.16 น.ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า มีขนาด 6.7 ริคเตอร์ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้น รู้สึกสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงบางแห่งของกรุงเทพฯ" นายอดิศร กล่าว


 


"ที่เป็นห่วงกรุงเทพฯ ก็เพราะว่า ในห้วงขณะนี้ จุดเกิดแผ่นดินไหวนั้น จะเกิดในแถบพม่าและเกาะสุมาตราสลับกันไปมา จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน หากเกิดแรงปะทุตรงกลาง ก็จะเกิดความเครียดที่ดันพุ่งเข้ามา และที่สำคัญ ฐานรากของกรุงเทพฯนั้นอ่อนมาก เป็นภาวะดินเหลว หากเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ก็อาจการทรุดตัวของตึกได้ " ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าว


 


นายอดิศร ยังกล่าวย้ำอีกว่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการที่จะป้องกันและแก้ไขโดยเฉพาะสถาปนิกที่ออกแบบโครงสร้างอาคารสูง จะต้องใช้ความรู้ไปช่วยกันป้องกัน รวมทั้งอาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ กันใหม่ นอกจากนั้น จำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจให้ประชาชนมีการตื่นตัวและเตรียมตั้งรับอย่างรู้เท่าทัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และปกป้องชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


นับจากที่ประเทศไทยประสบเจอกับเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 เชื่อว่าหลายคนคงจดจำโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายครั้งนั้นได้ดี กระทั่งมาพบเห็นสึนามึเกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาอีกหน นั่นพอสรุปได้เลยว่า ต่อไป เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net