Skip to main content
sharethis


 


กระแสสมานฉันท์การเมืองถูกหว่านโปรยมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์พอดิบพอดี โดยผู้พยายามเพาะเมล็ดพันธุ์การสมานฉันท์ครั้งนี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระแสสมานฉันท์ยังมาแรงสอดรับกับจิตวิทยาสังคมไทยที่เบื่อหน่ายการเมืองเหลือกำลัง แต่ก็กลับซาไปเมื่อกลางสัปดาห์ด้วยกระแสปฏิวัติ


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองไทยยังคงดำเนินเรื่องแบบวกไปวนมาหาที่จบไม่ลง กระแสสมานฉันท์ก็กลับมาอีกครั้งหลัง ข่าวปฏิวัติถูกปัดตกไปจากหน้าสื่อ พร้อมๆ กับที่ป๋าเติ้ง บรรหาร ศิลปอาชา กลับมารับว่าจะคิดดูอีกทีเรื่องการเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมืองทั้งๆ ที่ก่อนหน้าได้ปฏิเสธเสียงแข็งด้วยเกรงจะเสียผู้เสียคนตอนแก่


 


"ประชาไท" สบโอกาส พบกับพระไพศาล วิสาโล ผู้เคยเป็นหนึ่งในกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติในช่วงเวลาสั้นๆ จึงถามความเห็นในฐานะที่ทำงาน "สมานฉันท์" เช่น ใครจะมาเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยดี การปิดประตูคุยแบบที่พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอพร้อมยืนยันเสียงแข็งนั้นจะเป็นทางออกได้หรือไม่ และการเมืองไทยจะหาทางออกด้วยวิธีสมานฉันท์นั้น จะเป็นไปได้ไหมหนอ


 


การสมานฉันท์ จะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่


การสมานฉันท์มีหลักการอยู่สองสามอย่าง ประการแรกก็คือ การเจรจานั้นต้องครอบคลุมถึงทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะเฉพาะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่พอ และ สอง คือสมานฉันท์อย่างไรก็ตาม ต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ถ้าไม่ยืนอยู่บนความถูกต้องก็ไม่เกิดประโยชน์


 


ปัญหาคือว่าทางคุณทักษิณพร้อมที่จะกลับไปสู่ความถูกต้องหรือเปล่า หรือพร้อมที่จะละเว้น ยกเลิกความไม่ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นพื้นฐานอำนาจของเขา มันคือพื้นฐานที่ทำให้คนตั้งคำถามไม่ใช่เฉพาะกรณีซุกหุ้นอย่างเดียว มันมีมากกว่านั้น ถ้าสมานฉันท์แล้วไม่แตะเรื่องพวกนี้ มันก็ไม่เป็นจริง ก็ไม่มีใครอยากจะสมานฉันท์ เพราะว่ามันก็คือการกลบเกลื่อนปัญหาหรือการยอมรับกับความไม่ถูกต้อง


 


แปลว่าโจทย์ใหญ่ของการสมานฉันท์อยู่ที่คุณทักษิณ


ใช่และเป็นเรื่องใหญ่ อีกประเด็นคือคุณจะสมานฉันท์ในเรื่องอะไร ถ้าจะสมานฉันท์ ในเรื่องเล็กๆ ก็คุยกันง่าย เช่น สมานฉันท์เรื่องการเลือกตั้ง เรื่อง กกต. ก็คุยกันง่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นก็คุยกันยาก มันอยู่ที่ขอบเขตของการสมานฉันท์ว่าเป็นเรื่องอะไร


 


แต่อาตมาเห็นด้วยว่าการเจรจาควรจะต้องมี


 


แต่คุณทักษิณบอกว่าจะเจรจาโดยไม่มีสื่อ ไม่ตั้งโต๊ะ


ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าต้องถือว่านั่นคือขั้นต้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของกระบวนการต้องมีมากกว่านั้น


 


คนที่ควรจะเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยควรมีลักษณะแบบไหน


ก็เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายหรือของทุกฝ่าย คนในวงการเมืองก็ได้ หรือไม่ใช่ก็ได้ ผู้ใหญ่ในเมืองไทยก็คงจะมีคนที่ช่วยไกล่เกลี่ยได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเป็นประเด็นเล็กก็หาง่าย แต่ถ้าเป็นประเด็นใหญ่ก็หายาก


 


ถ้าไม่ใช่การเจรจาจะมีทางออกทางอื่นไหม


อาตมาเชื่อว่ามี และเป็นทางออกที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง อาตมาเชื่อว่าระบบที่เป็นอยู่ก็ยังพอจะทำงานได้ เช่นตอนนี้ ยังมีระบบตุลาการเข้ามากำกับ ก็อาจจะยังพอเป็นที่หวังได้


 


ล่าสุด การมี พรฎ. เลือกตั้งออกมาแล้ว หลวงพี่คิดว่าช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งลงได้บ้างไหม


มันช่วยได้ในแง่ของการลดความไม่แน่นอน ทำให้เกิดอะไรบางอย่างที่แน่นอนขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังติดอยู่ที่ กกต. ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับ คนก็ยังหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขโดยอาศัยกระบวนการตุลาการ


 


แต่ก็มีแนวโน้มว่า แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วปัญหามันก็ยังไม่จบ


ก็แน่นอน เพราะปัญหามันมีมากกว่าการเลือกตั้ง และก็ไม่รู้ว่าจะมีใครบอยคอตเลือกตั้งอีกหรือเปล่า แต่ปัญหาก็ต้องแก้ทีละเปลาะที่ละเปลาะไป เหมือนปัญหาการหยุดยิงระหว่างทมิฬและสิงหลก็ต้องค่อยๆ แก้ทีละเปลาะทีละเปลาะ อย่าไปรีบร้อน อย่าไปร้อนรน


 


0 0 0


 


แถมท้าย น.พ. บัญชา พงษ์พานิช นักกิจกรรมทางสังคมจากภาคใต้ ผู้ศึกษาและรับผิดชอบดูแลมรดกผลงานของท่านพุทธทาสวภิกขุ ได้ตั้งประเด็นแลกเปลี่ยนข้อหนึ่งคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ แสดงธรรมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 โดยท่านพุทธทาสไม่เชื่อเลยว่า ระบบประชาธิปไตยจะนำสันติภาพมา และท่านกล่าวถึงระบบธรรมิกราชาว่า เป็นระบบที่จะต้องกลับมา นั่นคือระบบที่ผู้นำมาจากการที่สังคมร่วมคัดสรร และเป็นผู้นำที่มีธรรม และผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4-5 ปี ก็ถูกด่าเละเทะทุกประเทศ


 


พระไพศาล ได้กล่าวตอบประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ "ประชาไท" จึงนำมาแนบท้ายเป็นของฝากด้วย........


 


ระบบประชาธิปไตยถูกดึงและผลักดันด้วยสองสิ่ง คือบริโภคนิยมและอำนาจนิยม


 


ประชาธิปไตยทุกวันนี้ก็เป็นอำนาจนิยมมาก บุชก็เป็นตัวอย่างของผู้นำที่ใช้อำนาจนิยมมาก หรือว่ารัฐบาลทักษิณก็ใช้อำนาจนิยมอย่างไรบ้างแล้วเป็นประชาธิปไตย และทั้งรัฐบาลบุชและทักษิณต่างก็ถูกผลักดันด้วยทุนนิยมและอำนาจนิยม มันคู่กันไปเลย คืออำนาจนิยม ทุนนิยม และบริโภคนิยม เพราะฉะนั้นนี่คือเรื่องใหญ่


 


ที่ใหญ่กว่านี้คือตัวโลภะ โทสะ โมหะที่เป็นนามธรรม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมีธรรมิกราชาอย่างที่ท่านพุทธทาสพูดหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเลี่ยงอำนาจนิยม เพราะเราเห็นมามากแล้วว่า การใช้อำนาจในนามความดีก็อันตราย บินลาเดน ก็ใช้อาวุธในนามของความดีและพระเจ้า


 


เราควรจะเห็นว่าการใช้อำนาจนำความดีหรือธรรมะนั้น สุดท้ายก็กลายเป็นอธรรม ไม่อย่างนั้นไม่เกิดสงครามระหว่างศาสนาตลอดเวลา ทั้งหมดนี้อ้างในนามธรรมะทั้งสิน หากเป็นอำนาจนิยมเมื่อไหร่ มันไม่ใช่ธรรมะเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นธรรมิกราชาหรืออะไรก็ตาม จะต้องไม่ใช่เผด็จการ จะต้องมีการปรึกษาหารือกันมากขึ้น


 


พูดอย่างตรงไปตรงมา ระบบราชาธิปไตยที่ผ่านมา บางทียังใช้ความรุนแรงน้อยกว่าระบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพราะระบบราชาธิปไตยในอดีต มีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมประเพณีที่จะใช้ความรุนแรงไม่ได้ เช่น มีกฎมณเฑียรบาลบอกว่า ถ้าพระราชาโกรธ ใครให้พระราชาจับมีดคนนั้นตาย ต้องให้พระราชาอยู่ห่างจากมีดมากที่สุด


 


แต่ทุกวันนี้มันแทบไม่มีอะไรมาควบคุม ไม่มีประเพณีวัฒนธรรมที่จะควบคุมการใช้อำนาจ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าบางทีการใช้ความรุนแรงก็กลับได้รับการสรรเสริญด้วย เช่นการฆ่าตัดตอน หรือการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา ไปๆ มาๆ ยุคปัจจุบันกลับอำนาจนิยมกว่าสมัยก่อน อย่างประเพณีรับน้องเป็นความเถื่อนในสังคมสมัยใหม่ซึ่งหาได้ยากกว่าสมัยก่อน


 


ถ้าชาวบ้านจะตกลงอะไรกันสักเรื่องหนึ่ง กว่าเขาจะตกลงกันได้สักเรื่องเขาพูดจาอ้อมไปมา แต่ชนชั้นกลางในสังคมสมัยใหม่ ใช้อำนาจมาก ฉะนั้น แม้จะเป็นประชาธิปไตยก็อำนาจนิยมได้ แต่ราชาธิปไตยหรือธรรมิกราชาก็อาจจะตกอยู่ในข่ายอำนาจนิยมได้เหมือนกันซึ่งเราต้องระวัง


 


อาตมาค่อนข้างเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วอำนาจนิยมเป็นปฏิปักษ์ต่อศีลธรรม แม้ว่าจะกระทำในนามความดีก็ตาม


 


ทีนี้ปัญหาคือว่า ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามันมีความหลากหลายในสังคมมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ปกครองอย่างไรก็ตามก็หนีไม่พ้นการถูกด่า และต้องยอมรับความจริงว่า การถูกด่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในปัจจุบัน เพราะถึงแม้ว่าจะมีคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล แต่ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย หรือได้รับผลกระทบหรือเสียอำนาจ


 


เพราะฉะนั้นจะต้องยอมรับความจริงว่านักการเมือง ผู้ปกครองที่จะต้องถูกวิจารณ์หรือถูกด่านั้นคือความจริงส่วนหนึ่ง ที่เราปฏิเสธไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน เพราะว่ามีความแตกต่างหลากหลายของผู้คนทั้งในทางผลประโยชน์และความคิดเห็นมาก มันจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสงบแบบราบคาบอีกต่อไปแล้ว มันไม่มี Uniformity อีกแล้ว มันมีแต่ Unity ถ้าเรายังหวนหาอาลัย Uniformity อีก จะไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่าสำหรับพวกเรา ต้องยอมรับความจริงอันนี้ และอย่าไปอนาทรมากกับการที่ผู้นำถูกวิจารณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net