Skip to main content
sharethis



 


 


นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชนและชาวบ้านภาคเหนือ ร่วมถกประเด็นปัญหาภาคใต้ วิจารณ์ กอส.หลายยกชกถูก แต่ว่าหลายหมัดชกผิดเป้า ย้ำ ปัญหาไม่ใช่อยู่ชาติพันธุ์ แต่อยู่ที่กระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว พร้อมเสนอใช้กฎหมายเชิงซ้อน ศาลซ้อนศาลแก้ปัญหาไฟใต้


 


เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา นายโคทม อารียา เลขาคณะกรรมการร่วม คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) นำคณะ กอส. มารับฟังการเสนอรายงาน "การเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" ที่บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดรับฟังข้อวิจารณ์ และเสนอทางออกปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ จากประชาชนในภาคเหนือ


 


โดย ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กอส. ที่ผ่านมานั้น หลายยกชกถูก แต่ว่าหลายหมัดชกผิดเป้า เพราะว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เกิดจากปัญหาในเรื่องชาติพันธุ์ เพราะความหมายของชาติพันธุ์ ไม่ใช่เป็นอะไรที่ตายตัว แต่เป็นเพียงสื่อสัญลักษณ์ที่คนเราหยิบมาใช้เท่านั้นเอง แต่ปัญหาที่แท้จริงที่เกินใน 3 ชายแดนภาคใต้ มันเกิดจากปัญหากระบวนการยุติธรรมมันล้มเหลวมากกว่า


 


"เพราะที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทย มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าในเรื่องการถูกอุ้มฆ่า แต่พอคนมุสลิมออกมาเรียกร้อง ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม กลับไม่ได้รับปกป้อง ไม่มีหลักประกันในโครงสร้างของระบบความยุติธรรมอย่างแท้จริง ทุกวันนี้ ดูจากรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการยุติธรรมของไทย จะเห็นได้ชัดว่า มีแต่กลไก แต่ไม่ได้ใส่หัวใจมนุษย์ลงไปด้วย เพราะถ้าเราแก้ไขที่หัวใจ มันก็แก้ไขได้ คลี่คลายได้"


 


เสนอให้ใช้กฎหมายเชิงซ้อน และมีศาลซ้อนศาล


ดร.อานันท์ กล่าวอีกว่า สาเหตุของปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมาจากการมีมุมมองเชิงเดี่ยว คือ เป็นการมองปัญหาจากมุมเดียว และมองว่าเรื่องชาติพันธุ์กับเรื่องชาตินิยมเป็นอันเดียวกัน หรือการมองเรื่องชาติพันธุ์ในลักษณะที่หยุดนิ่งตายตัว ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาก็คือจะต้องอาศัยหลักคิดเชิงซ้อน ซึ่งจะต้องเข้ารื้อในระบบกฎหมาย ซึ่งตนหวังมากเลยที่อยากจะให้ทาง กอส.วิเคราะห์ทางด้านนี้


 


"เราต้องยอมรับว่า ภาคใต้เป็นที่แรกของเมืองไทย ที่มีการยอมให้มีกฎหมายสองอันซ้อนกันอยู่ นั่นคือ กฎหมายไทย และกฎหมายมุสลิม โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องครอบครัว หรือศาสนา นั่นหมายความว่า มีกฎหมายซ้อนกันได้ แต่พอนานๆ ไป กลับไม่เห็นมีกฎหมายเหล่านั้นอยู่เลย เพราะฉะนั้น ตนคิดว่า น่าจะมีการรื้อโครงสร้างของระบบยุติธรรมกันใหม่ โดยเอากฎหมายมุสลิมที่มีอยู่แล้วมาปรับเสริมให้มันดีขึ้น แม้กระทั่งในเรื่องของศาล ซึ่งไม่ได้มีการนำไปปรับใช้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย


 


ดังนั้นการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่อยากเสนอก็คือ อยากให้พื้นที่ภาคใต้ นำเอากฎหมายเชิงซ้อนไปใช้ โดยให้มีศาลหลายชนิด เป็นระบบศาลซ้อนศาล ให้มีการถ่วงดุลกัน นอกจากจะมีเพียงศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาซึ่งเป็นระบบศาลเดียวกัน เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ มีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน เพื่อจะได้นำเอาจารีต กฎหมายที่แตกต่างกันในพื้นที่ มาประมวลใช้ในการตัดสินด้วย ไม่ใช่เอากฎหมายจากส่วนกลาง กฎหมายเชิงเดี่ยวไปยัดเยียดใส่เขา ซึ่งไม่สามารถประกันความยุติธรรมให้กับคนในพื้นที่ได้ ซึ่งแนวคิดนี้มิใช่เพียงใช้แค่กับภาคใต้ ในอนาคตอาจต้องใช้กันทั้งประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นหลัก ซึ่งทั่วโลกเขาก็มีการปรับใช้กันแล้ว


 


ด้านนายศักดา ตามี่ ตัวแทนชาติพันธุ์ภาคเหนือ กล่าวถึงมุมมองในเรื่อง "อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์" ว่า เหตุการณ์ปัญหาภาคใต้ที่ผ่านมา ได้มีการพยายามโยงใยว่า มีกลุ่มชนเผ่าจากภาคเหนือเข้าไปมีส่วนร่วมกับปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้เห็นมุมมองความคิดของรัฐ ว่ายังคงมีอคติทางต่อกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนเดิม และทุกวันนี้ นโยบายรัฐ พยายามจะบอกว่าได้เปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนทุกเชื้อชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เลย"


 


คู่อริ นั้นคือ รัฐกับโจร แต่ชาวบ้านนั้นคือลูกหลง


นางนิตยา หว่างไพบูลย์ ทีมกฎหมายจากสภาทนายความ ซึ่งเป็นคนมุสลิม ก็ได้วิจารณ์ข้อเสนอและทางออกปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ในมุมมองเรื่อง "ศาสนากับกฎหมาย" ว่า ปัญหาทุกอย่างล้วนเกิดจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐทั้งสิ้น และจะเห็นว่า นโยบายรัฐไทย ยิ่งนาน ก็ยิ่งห่างไกลจากหลักการ ห่างไกลจากคนอิสลามมากยิ่งขึ้น


 


"ตนเคยทำงานด้านกฎหมายให้กับชนเผ่าทางภาคเหนือ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก ระหว่างคนชนเผ่าทางเหนือ กับคนมุสลิมใต้ ยกตัวอย่างกรณีที่มีการข่มขืน ฆ่าและฝังของหญิงชนเผ่า คนชนเผ่าเขากล้าที่จะออกมาเรียกร้อง กล้าที่เดินเข้าพบตำรวจภาค 5 หรือสภาทนายความ แต่ทางใต้ ไม่มีกล้าที่จะออกมาทวงถาม แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการอุ้มฆ่ากันเป็นพันๆ ศพ แต่ก็ไม่สามารถที่จะออกไปเรียกร้องอะไรได้ ซึ่งเมื่อเรียกร้องอะไรไม่ได้ ก็จำต้องเลือกวิธีของชาวบ้านเอง"


 


นางนิตยา กล่าวอีกว่า กรณีที่มีข่าวว่า รัฐอาจมีการเจรจากับโจร ซึ่งตนอยากจะบอกว่า ทุกวันนี้ ชาวบ้าน 3 จังหวัดภาคใต้เขาไม่สนใจที่จะเจรจากับทั้งทางการไทยหรือว่าโจร แต่อยากเจรจาหาทางแก้ไขกับชาวบ้านด้วยกันเองเท่านั้น


 


"มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟัง วันดีคืนดี ก็มีทหารเดินเข้ามาหา บอกให้ช่วยเป็นสายทหาร พอรุ่งเช้าก็มีโจรเดิน


เข้ามาข่มขู่ว่าจะอุ้ม ในขณะถ้ามีโจรเดินเข้ามาขอให้เป็นสาย พออีกวันก็มีนายท่านมาขู่อุ้ม ซึ่งปัญหาอย่างนี้ บอกได้เลยว่า คู่อริ นั้นคือ รัฐกับโจร แต่ชาวบ้านนั้นคือลูกหลง"


 


นางนิตยา กล่าวด้วยว่า 2 ปีที่ผ่านมาของ กอส. ปัญหาภาคใต้ไม่ดีขึ้นเลย และเชื่อว่า ถึงแม้ว่าจะตั้งคณะกรรมการอะไรเข้ามา ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้


 


สื่อกลายเป็นตัวสร้างปัญหาคนมุสลิมใต้โดยไม่รู้ตัว


ด้านนายบัณรส บัวคลี่ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภาคเหนือ ได้ออกมากล่าวว่า ทุกวันนี้ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ กำลังกลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับคนมุสลิมใต้โดยไม่รู้ตัว โดยดูได้จากการนำเสนอข่าวเพียงแต่เรื่องการวางระเบิด การถูกฆ่า แต่ไม่มีการนำเสนอข้อเท็จจริงให้ครบด้านว่า ทำไมถึงต้องเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น มีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งขณะนี้ ก็เห็นว่ามีศูนย์ข่าวอิศราฯเท่านั้นที่พยายามจับประเด็นเหล่านี้อยู่


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ออกมากล่าวว่า รัฐไทยพยายามสร้างความเป็นใหญ่ทางวัฒนธรรมของ "ความเป็นไทย" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐ ดังนั้นเมื่อคุณมีลักษณะต่างไปจากความเป็นไทย คุณจึงผิดทันที ทั้งนี้ การนำเสนอของสื่อมวลชนได้ส่งต่อความชอบธรรมทางวัฒนธรรมนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบคนต่อต้านจึงต้านแรง ดังนั้นถ้าเราหวังความสมานฉันท์ สื่อต้องทำความเข้าใจต่อประชาชนว่าความแตกต่างถือเป็นความหลากหลาย ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม


 


ชี้นโยบายไทยรักไทย ขัดหลักเศรษฐกิจอิสลาม


ในขณะที่ นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน เสนอให้ทบทวนบริบทของโลกาภิวัฒน์ว่าอาจขัดกับหลักเศรษฐกิจของศาสนาอิสลามที่เน้นความพอเพียงและความเสมอภาค ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ทำให้เกิดสถานบริการและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


 


นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ยังเสนอให้ยุติบทบาททางทหาร ให้ทหารกลับเข้าที่ตั้ง และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านตัดสินใจกันเองว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งตนขอเสนอให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอีกทางออกหนึ่งของการปกครอง 3 จังหวัด


 


ปราชญ์ปกาเกอะญอ เสนอยกเลิกกฎอัยการศึก


พะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ และกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า น่าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก และมีการถอนทหาร รวมถึงศึกษารูปแบบการปกครองของประเทศมาเลเซียที่เป็นสหพันธรัฐ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องแก้กันตรงไปตรงมาไม่ใช่เอาทหารตำรวจลงไปยิงคนในพื้นที่


 


นักวิชการ ม.พายัพ เสนอให้แก้ปัญหาเชิงรุกโดยภาคประชาชน


ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามกล่าวว่า ทุกวันนี้ ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม แม้ไม่รู้จักกันก็สามารถที่จะโกรธและเกลียดกันได้ ตนจึงอยากให้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกจากประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้วในสังคมของเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้คนต่างวัฒนธรรมมากมายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เราน่าจะเริ่มต้นหยิบยกจากจุดนี้


 


 


สอดคล้องกับแนวความคิดของ นายชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการสังคม ที่กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือ การทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดกับคนข้างนอกมาจับมือกันและทำงานร่วมกัน เพราะถ้าไม่มีกระบวนการนี้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกตัดออกไป และถูกกระทำได้ง่ายขึ้น การเปิดพรมแดนให้ประชาชนเจอกันเองสื่อสารกันเอง มันจะทำให้เกิดความเข้าใจแบบทะลุ เร็วกว่า จริงกว่าโดยภาคประชาชน


 


กอส.ยอมรับข้อเสนอการแก้ปัญหาโดยคน 3 จว.ใต้ ย้ำต้องปฏิรูประบบยุติธรรม


โดยช่วงท้ายของการเสวนา นพ.อนันตชัย ไทยประธาน กรรมการ กอส. ได้กล่าวว่า ข้อเสนอของ นายชัชวาล ทองดีเลิศ น่าสนใจ เพราะผู้ทำงานจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยตอนแรกก็ไม่รู้ประเด็นเรื่องกฎหมาย สิทธิมนุษยชนอะไร แต่พอทำมา 2 ปี เริ่มเกิดเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ คือรัฐและฝ่ายก่อการจะทะเลาะกันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราถือว่ามีทางออกให้กับประชาชนแล้ว นอกจากนี้การที่ตนขึ้นมาภาคเหนือก็รู้สึกดีใจที่ได้เจอเพื่อนมิตร พันธมิตรมากมาย


 


ด้านนายโคทม อารียา เลขาคณะกรรมการร่วม กอส. ก็ออกมากล่าวว่า ที่ผ่านมา สังคมไทยมีภาพที่เกิดจากเข้าใจผิดๆ ต่อชาวมุสลิมอยู่มาก


 


"ตอนที่ตนลงพื้นที่และพบปะชาวบ้านพบว่า เวลาที่มีข่าวคนร้ายลงมือทำร้ายชาวไทยพุทธ ชาวบ้านมุสลิมไม่ได้รู้สึกเฉยๆ สมน้ำหน้า สะใจ ไม่ใช่! นี่เป็นการเข้าใจผิด พวกเขารู้สึกเสียใจมาก และรู้ว่าสิ่งที่คนร้ายทำไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม"


 


นายโคทม กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการจุดประกายความคิดเพื่อการมองในระยะยาว ที่เสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนในการขับเคลื่อนส่วนต่างๆ ซึ่งการตอบสนองก็ได้รับในระดับหนึ่ง ซึ่งต่อไปอาจเป็นแนวทางนำไปปรับใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ พันธุ์ เพราะมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีปัญหาในเรื่องนี้เหมือนกัน ในส่วนข้อเสนอ ของนักวิชาการและประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนาได้วิจารณ์รายงานของ กอส. ในประเด็นเรื่องการรื้อโครงสร้างของระบบยุติธรรม หรือในเรื่องชาติพันธุ์ก็เป็นข้อเสนอที่ดี ซึ่งจะได้นำไปลงลึกในรายละเอียดอีกที


 


"ในเรื่องของการเสนอรายงาน กอส.ต่อรัฐบาลนั้น ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีการส่งหนังสือตอบรับมาว่า จะนำข้อเสนอแนะของ กอส.ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขในสังคม และทราบว่ามีการพูดคุยกับกองทัพกันด้วย โดยเฉพาะในเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งเราหวังมากที่จะเสนอให้มีการปฎิรูประบบยุติธรรมให้ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net