สัมมนา "ประชานิยม" : กองทุนหมู่บ้าน สร้างหนี้หรือรายได้

ประชาไท - 31 ก.ค.2549  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนา "กองทุนหมู่บ้าน : สร้างหนี้หรือรายได้" เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสัมมนาเรื่องประชานิยม โดยครั้งหน้าจะจัดสัมมนาเรื่อง " 30 บาท คุณภาพกับการเข้าถึง" ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 

ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรมัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวถึงที่มาของโครงการสัมมนาชุดนี้ว่า ปี 2540 เป็นครั้งแรกที่นโยบายเศรษฐกิจมีผลโดยตรงต่อการเลือกตั้ง "นโยบายประชานิยม" ได้ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จนกระทั่งปี 2548 ก็ยังตอกย้ำอีกครั้งว่านโยบายประชานิยมจะต้อเร่งเดินหน้า และมีผลต่อเศรษฐศาสตร์มหภาคของไทยอย่างชัดเจน การจัดสัมมนาซีรี่ส์นี้จึงเป็นไปเพื่อดูว่า นโยบาย 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน ฯ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ และควรแก้ไขปฏิรูปอย่างไร

 

ดร.สมชัย จิตสุชน จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงความหมายของนโยบายประชานิยมว่า เป็นนโยบายรัฐที่รัฐบาลใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง ทำให้คนนิยมอย่างรวดเร็ว  ก่อเกิดผลเสียต่อวินัยการคลัง และทำให้เสพติดได้เป็นระยะๆ ไม่ถาวรเพราะเมื่อเงินหมด หรือปัญหาระยะยาวชัดเจนขึ้นมา ความนิยมก็จะหมดไป

 

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมจะได้ผลต้องมีจังหวะที่เหมาะสม เช่น ประชานิยมของพรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นในช่วงปรากฏการณ์การตื่นตัวของคนรากหญ้าหลังวิกฤตเศรษฐกิจ อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ ประเทศไทยมีทรัพยากรส่วนเกินมาก ทำให้คนชั้นกลางไม่ต่อต้านนโยบายประชานิยมมากนัก เพราะในช่วงแรกไม่เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจมหภาคและนายทุนก็ได้ประโยชน์ด้วย

 

ส่วนข้อดีข้อเสียเป็นเรื่องคุยกันไม่จบสิ้น เพราะเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่ลงไปทุกหมู่บ้านย่อมต้องมีทั้งดีและเลว แต่จากข้อมูลที่ได้ทำให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถอ้างได้ว่ากองทุนหมู่บ้านช่วยแก้ปัญหาความยากจน  เพราะคนจนมีโอกาสเข้าถึงกองทุนพอๆ กับจำนวนที่ไม่เข้าถึง และจำนวนคนที่เอาเงินกองทุนไปขยายธุรกิจเดิมนั้นมีเพียง 6-8%

 

"มันก็อาจจะช่วยได้บางส่วน แต่ก็มีคำถามต่อมาว่า เป็นการใช้เงินลงทุนที่คุ้มค้าหรือไม่ เพราะใช้งบประมาณเกือบแสนล้านบาท และมันจะยั่งยืนหรือไม่ ถ้ามองในแง่ดีนี่คือการเรียนรู้ครั้งสำคัญของชาวบ้าน เพียงแต่มันเป็นการบังคับให้เรียนรู้พร้อมกัน โดยที่บางแห่งอาจจะยังไม่พร้อม" ดร.สมชัยกล่าว

 

ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า ความยั่งยืนนั้นวัดจากอัตราการใช้หนี้คืนของชาวบ้าน ซึ่งพบว่าตัวเลขค่อนข้างสอดคล้องกับทางการคือ มีคนใช้คืนกองทุน 95% แต่ก็พบปรากฏการณ์ "ผลัดผ้าขาวม้า" คือการกู้แหล่งอื่นมาคืนก่อนเพื่อจะขอกู้กองทุนต่อ โดยพบว่า ชาวบ้านเกินกว่า 70 % กู้กองทุนเกิน 1 ครั้ง และยังพบว่าผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านได้จริง มักเป็นคนที่กู้เงินแหล่งอื่นอยู่ด้วย หรือมีความคุ้นชินกับการเป็นหนี้ สามารถบริหารจัดการเงินหมุนเวียนได้

 

ส่วนผลทางด้านเศรษฐกิจของผู้ที่ได้กองทุนพบว่า ระหว่างปี 2545-2547 ผู้ที่กู้หนึ่งครั้ง กู้สองครั้ง หรือไม่กู้เลยต่างก็มีรายได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แสดงว่าการได้กู้ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น

 

ดร.วิชัย ตุรงค์พันธุ์ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า คำถามวันนี้คือกองทุนหมู่บ้านสร้างรายได้หรือก่อหนี้ เป็นประเด็นเดิมๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนัก และคำตอบที่ได้เมื่อ 3 ปีที่แล้วกับปีนี้ก็ไม่ต่างกัน ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอ้างหลายครั้งว่ากองทุนหมู่บ้านเป็นโยบายที่แก้ปัญหาความยากจนเพราะก่อรายได้เพิ่ม ซึ่งความจริงตอบได้แล้วว่าไม่ได้แก้  เพราะแม้รายได้ของคนที่กู้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่จากการศึกษาพบว่ารายจ่ายของชาวบ้านยังสูงกว่ารายได้

 

ดร.วิชัย กล่าวว่า มีคำถามสำคัญว่าเงินที่ชาวบ้านกู้ได้เฉลี่ย 20,000 - 50,000 บาทต่อครัวเรือนนั้นน้อยไปหรือไม่และควรชำระคืนในเวลาใด บอกได้เลยว่าไม่น้อยไปโดยเฉพาะกับคนที่ไม่เคยกู้ได้มาก่อน ส่วนการชำระคืนนั้น หลายประเทศทำวิจัยพบว่า สำหรับคนจนแล้วหากยืดเวลาชำระคืนให้จะทำให้เกิดหนี้เสียต่ำ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าควรจะเป็นเวลาเท่าใด

 

อย่างไรก็ตาม ดร.วิชัย ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวคิดที่ต้องการให้กองทุนหมู่บ้านมีความยั่งยืน ผ่านการผลักดันให้เป็นธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยกำหนดระยะเวลา 3 ปีสิ้นสุดในปี 2550 นี้ เนื่องจากความพร้อมของแต่ละท้องที่ไม่เท่ากัน และส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ขาดทักษะในการสร้างรายได้ให้กับกองทุนนอกเหนือจากการปล่อยกู้เท่านั้น แต่หลายแห่งแม้แต่การทำบัญชีปกติก็ยังมีปัญหา

 

นอกจากนี้ธนาคารออมสินได้เข้าไปวางระบบ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด แต่ยังพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร จึงเป็นปัญหาอีกว่าธนาคารหมู่บ้านจะต้องพึ่งธนาคารออมสินไปตลอดหรือไม่ นอกจากนี้การตั้งเป็นธนาคารหมู่บ้านอาจต้องมีการยุบรวมกองทุนเข้าด้วยกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่พอ อาจก่อให้ปัญหาในอีกลักษณะหนึ่ง เพราะวัฒนธรรมการบริหารงานในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

 

"ความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านจะมีความสามารถในการจัดการเงินก้อนใหญ่แค่ไหนและจะถูกฟ้องล้มละลายได้หรือเปล่านี่ยังเป็นคำถาม และในสภาวะปัจจุบันที่เอ็นพีแอลมีแนวโน้มมากขึ้น การเบี้ยวหนี้ด้วยความจงใจกับเบี้ยวเพราะขาดแคลนจริงๆ จะมีการจัดการแตกต่างกันอย่างไร"ดร.วิชัยกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ดร.วิชัยกล่าวว่า ไม่เคยมีนโยบายที่ไหนเอาเงินเข้าไปในระบบถึง 80,000 กว่าล้านบาท และดึงคนให้เข้ามาร่วมงานในระบบกว่า 15 ล้านคน แต่คำถามคือมันมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และเราจะใช้ช่องทางตรงนี้ในการทำประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง เพราะคงไม่มีโอกาสที่จะสร้างระบบการมีส่วนร่วมแบบนี้ได้ง่ายๆ แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท