องค์การเภสัชฯ เตรียมผลิตยาไข้หวัดนกรับมือวิกฤติ

2 ส.ค. 2549 องค์การเภสัชฯ เตรียมผลิตยาไข้หวัดนก "GPO-A-FLU" รับมือวิกฤติหวัดนก คาดเริ่ม พ.ย.นี้ เผยกำลังผลิตวันละ 4 แสนเม็ด ยันมีวัตถุดิบรองรับผลิตได้สูงถึง 1 ล้านเม็ด ครม.สรุป ยังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ที่ประชุม รมต.อาเซียน จี้รัฐบาลเสี่ยงภัยหวัดนก อัดงบล้างหวัดนกให้สงบโดยเร็วที่สุด

 

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลายพื้นที่จะยังอยู่ในวงจำกัด แต่ทางการก็พยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้ ล่าสุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เตรียมรับมือสถานการณ์ในอนาคต ด้วยการเตรียมผลิตยาไข้หวัดนกในเร็วๆ นี้

 

อภ.เตรียมผลิตยาไข้หวัดนก

 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 พล.ท.น.พ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว "นวัตกรรมยาเพื่อสุขภาพของคนไทยว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมเตรียมผลิตยาไข้หวัดนก "GPO-A-FLU ภายใต้เครื่องหมายการค้าของ "จีพีโอ องค์การเภสัชกรรม" เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศ หากมีการระบาดโรคไข้หวัดนกในคน มีวัตถุดิบที่ผลิตได้สูงถึง 1 ล้านเม็ด มีกำลังการผลิตวันละ 4 แสนเม็ด ทั้งเตรียมวัตถุดิบสำรองไว้อีก 1 ล้านเม็ดด้วย ซึ่งมีราคาเพียงเม็ดละ 70 บาท ขณะที่ยาที่นำเข้ามาสำรองไว้มีราคาเม็ดละ 120 บาท

 

สำหรับยาดังกล่าวอยู่ระหว่างให้โรงพยาบาลศิริราช ทดลองชีวะสมมูลเกี่ยวกับการแตกตัว การละลายของยา ว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยานำเข้าหรือไม่ คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย หากรัฐมีนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมผลิต ก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ผลิต เนื่องจากยังไม่มีนโยบายจากรัฐบาล อีกทั้งตอนนี้มีผู้ป่วยที่ตายด้วยไข้หวัดนกเพียง 1 ราย อยู่ระหว่างเฝ้าระวังอีก 70 ราย หากสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะดำเนินการได้ทัน และเชื่อว่าความต้องการไม่ถึง 5-10 ล้านเม็ด

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันนี้มีโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานการผลิต จีเอ็มพี ตั้งอยู่ที่ ถนนพระราม 6 และมีแผนที่จะขยายโรงงานแห่งใหม่ที่ย่านรังสิตจำนวน 100 ไร่ ใช้เงินลงทุนภายในปีนี้ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำลังการผลิตในเบื้องต้น 200-300 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มเป็น 1,000 ล้านเม็ดในเวลา 2 ปี และขยายเพิ่มอีกที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี อีก 1,500 ไร่ด้วย

 

ศ.น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เหมาะจะใช้วัคซีนหวัดนกในสัตว์ เนื่องจากหากฉีดวัคซีนในสัตว์ จะไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่ตายแม้จะติดเชื้อหวัดนกก็ตาม ดังนั้น คนจะไม่ทราบว่าสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่เป็นหวัดนก ทำให้ไม่ระมัดระวังในการป้องกัน เมื่อไปสัมผัสมูลไก่ คนก็จะติดเชื้อจากสัตว์

 

ทั้งนี้ ในฮ่องกงที่สามารถทำได้ผลสำเร็จ เนื่องมาจากมีการควบคุมที่ดี โดยฟาร์มไก่ที่ฉีดไวรัสหวัดนกจะเหลือไก่ที่ไม่ฉีดวัคซีนหวัดนกไว้ประมาณ 30-50 ตัว และทุกๆ สัปดาห์จะเอามูลไก่ไปตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อหวัดนกก็แปลว่าไก่ติดเชื้อหวัดนกไปทั้งฟาร์ม ดังนั้นก็ต้องฆ่าไก่ทิ้งทั้งฟาร์ม เพื่อป้องกันหวัดนกแพร่ระบาดออกไป

 

พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะยังมีฟาร์มเปิดอยู่ ประมาณ 80-90% ของคนที่ติดเชื้อหวัดนกจากสัตว์ล้วนติดมาจากสัตว์ปีกในฟาร์มเปิด ดังนั้นวัคซีนหวัดนกจึงเหมาะสำหรับสัตว์ประเภทสวยงาม เช่น ไก่ชน เพราะติดหวัดนกแล้วไม่ตาย แต่เรายังไม่พร้อม ถ้าจะใช้ต้องควบคุม ต้องมีผู้มีความรู้ ขณะเดียวกันเมื่อวัคซีนไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนจึงไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ จึงทำให้ไม่ทราบว่าวัคซีนที่ใช้เป็นของจริงหรือของปลอม มีอยู่หลายครั้งที่เป็นวัคซีนปลอม วัคซีนผสมน้ำกลั่น และวัคซีนที่เป็นน้ำกลั่นอย่างเดียว ดังนั้นการใช้วัคซีนหวัดนกจึงยังไม่เหมาะสม

 

ศ.น.พ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ว่าสัตว์ปีกที่ใช้วัคซีน เมื่อเป็นหวัดนกแล้วไม่ตาย คนเอามากินเนื้อ ถ้าเป็นเนื้อที่ปรุงสุกไม่มีอันตรายต่อคน แต่ถ้าปรุงไม่สุกก็มีอันตราย ถ้าคนไปสัมผัสเลือด มูลสัตว์ก็ติดได้ และถ้าเป็นไก่ไข่ หากมีมูลไก่ติดที่ไข่ คนไปสัมผัสก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อหวัดนกได้

 

ครม.สรุปติดหวัดนกแค่ 1 ยังไม่ติดเพิ่ม

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปสถานการณ์หวัดนกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ล่าสุด พบว่า มีการระบาดในพื้นที่ 2 จังหวัดคือ พิจิตรและนครพนม มีพื้นที่สีแดงที่ต้องควบคุมเฝ้าระวัง 7 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ล่าสุดได้เอกซเรย์ทุกบ้านว่ามีไก่ป่วยตายผิดปกติหรือไม่ แต่ไม่มีพื้นที่ใดมีอัตราไก่ป่วยตายผิดปกติ

 

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การระบาดใน จ.นครพนม มีพื้นที่เลี้ยงไก่หนาแน่นมาก มีฟาร์มกว่า 70 ฟาร์ม เจ้าหน้าที่ได้ทำลายไก่ทั้งหมดแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนผู้ต้องสงสัยที่ จ.นครพนม ผลตรวจออกมาแล้วว่าไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนก

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก โรคไข้เลือดออก และโรคมือปากเท้าเปื่อย จากการสอบสวนโรคต่างๆ พบว่าโรคไข้เลือดออกมีการระบาดหลายพื้นที่ของประเทศ มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 21,014 ราย เสียชีวิตแล้ว 23 ราย ส่วนโรคไข้หวัดนกมีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อจำนวน 1,960 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่พบว่าเป็นไข้หวัดนกและเสียชีวิตแล้ว ล่าสุดยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

 

น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขและเกษตรฯ อาเซียน ที่อินเดีย เมื่อวันที่ 27-28 กรกฎาคม เรื่องการควบคุมโรคไข้หวัดนกของภูมิภาค โดยที่ประชุมได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศในทวีปเอเชีย เร่งสกัดไข้หวัดนกให้สงบโดยเร็ว พร้อมให้รัฐสนับสนุนงบในการควบคุมโรคอย่างเพียงพอ และให้ทุกประเทศเน้นการลดความเสี่ยงของประชาชนไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกทุกวิถีทาง

 

ในแง่การควบคุม น.พ. ธวัช กล่าวว่า ได้รับงบประมาณดำเนินการ 133 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ชุดและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากร จนถึงอาสาสมัคร (อสม.) รวมทั้งอื่นๆ ที่จำเป็นอีก ขณะนี้ได้จัดส่งไปให้ทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว และยังมีสำรองอยู่ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคระดับเขต และที่ส่วนกลาง ขณะนี้ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วกว่า 1,000 ทีม และ อสม.กว่า 8 แสนคน ทำงานเต็มที่ และประชุมติดตามผลภาพรวมประเทศทุกวันพุธ

 

ยันไทย-ลาวต้องร่วมมือสกัด

วันเดียวกัน นายกันตธีร์ ศุภมงคล รักษาการ รมว.การต่างประเทศ ชี้แจงกรณีนายยง จันทรังสี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาว ตำหนิเจ้าหน้าที่ไทยที่โยงเอาลาวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในไทย โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ไทยไร้ความรับผิดชอบและไร้มารยาท ว่าในเรื่องนี้ขอย้ำว่าลาวกับไทยจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปพิจารณาว่าปัญหามาจากที่ไหน

 

"เรื่องไข้หวัดนกเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ ด้วยความโปร่งใส และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเพื่อนบ้าน โดยเรามีกองทุน บุคลากร และอุปกรณ์พร้อมสิ่งที่เราอยากเห็น คือ การรักษา การป้องกัน ความโปร่งใส และความร่วมมือ ดังนั้น ทุกอย่างขอให้อยู่ในกรอบนี้ คงไม่มีการไปชี้ว่าใคร และที่ไหนเป็นต้นเหตุการระบาด และจะย้ำเรื่องความร่วมมือเป็นหลัก" นายกันตธีร์ กล่าว

 

ขณะที่เวบไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเวียงจันทน์ ไทมส์ รายงานในวันเดียวกันว่า ลาวเริ่มฆ่ากำจัดสัตว์ปีกในหมู่บ้าน 3 แห่งใกล้กรุงเวียงจันทน์ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกที่ตรวจพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

โฆษกกระทรวงต่างประเทศลาว กล่าวว่า แม้ไม่พบการระบาดครั้งใหม่ แต่ได้มีมาตรการกักกันโดยรอบพื้นที่ฟาร์มภายในรัศมี 5 กิโลเมตร หลังจากลาวฆ่ากำจัดไก่ไปแล้ว 1.9 หมื่นตัว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ครั้งนี้นับเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของลาวนับตั้งแต่เมื่อปี 2547 ทั้งนี้ ถึงขณะนี้ลาวยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนก

 

พ่นยาสกัดเชื้อจากฝั่งลาว

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่ จ.หนองคาย นายทองพูน แก้วบุตร ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายประเวศ สีปานแก้ว หัวหน้าด่านกักกันสัตว์หนองคาย และกำลังเจ้าหน้าที่ออกติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือพ่นยาฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนก ที่บริเวณด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เมือง จ.หนองคาย

 

พล.ต.ต.ยุทธนา ปาละนิติเสนา ผบก.ภ.จว.หนองคาย กล่าวว่า ได้สั่งการให้จุดตรวจ จุดสกัดทั้งจังหวัด รวม 11 จุด คุมเข้มห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายของเชื้อโรค

 

 น.พ.สมภพ พันธุโฆษิต รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย น.พ.ธำรง ทัศนาญชลี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงยอดผู้ป่วยเฝ้าระวังที่พบใน จ.นครพนมว่า มีจำนวน 7 ราย เป็นเด็กชาย 4 ราย และเด็กหญิง 2 ราย และมีผู้หญิงอีก 1 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผลตรวจยืนยันได้ผลลบ 3 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนอีก 4 รายกำลังรอผลตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง

 

ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจำนวน 79 ราย โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ นายนิคม เกิดขันหมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อสรุปสถานการณ์และประเมินผลการดำเนินการของทางการที่ผ่านมา พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นจะหาทางเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อขอพักชำระหนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะเริ่มกลับมาเลี้ยงไก่ได้อย่างเดิม พร้อมหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพด้วย

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ด้านการเร่งทำลายสัตว์ปีกกว่า 3 แสนตัวใน จ.นครพนม จนถึงขณะนี้ล่วงเลยเข้าสู่วันที่สามแล้ว ปรากฏว่า สามารถทำลายได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากทั้งหมดเป็นฟาร์มแบบเปิด และมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ล่าสุดได้ระดมกำลังเพิ่มอีกกว่า 1,200 คน ลงพื้นที่เร่งทำลายสัตว์ปีกให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

 

น.พ.ประจักษ์ วัฒนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ชี้แจงว่า สถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยมีผู้ป่วยรอการรักษาและผลการตรวจตามโรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.พิจิตร จำนวน 12 ราย ทั้งหมดอาการไม่น่าเป็นห่วง มีตัวเลขสะสมรวม 384 ราย ต่างจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีจำนวนคนไข้ที่ลดลง เห็นได้ว่าโรงพยาบาลบางแห่งจากที่เคยรับผู้ต้องสงสัยถึงวันละเฉลี่ย 10 คน ขณะนี้ไม่มีคนไข้เข้ามาเลย

 

ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท