ประสบการณ์ทุกท่วงท่า การต่อต้านเอฟทีเอในต่างประเทศ (2)

เช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2549 "เอฟทีเอ" กลายเป็นประเด็นพาดหัวอีกครั้งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เพราะรักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศต่างๆ ที่ทำเอฟทีเอค้างคาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐ และเตรียมเปิดเจรจากับประเทศใหม่ๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี หรือประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างคูเวต

 

ในอีกด้านหนึ่งภาคประชาชนจากประเทศต่างๆ ที่ต่อต้านการทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน และ "ประชาไท" เก็บตกเรื่องราวของโคลัมเบียมานำเสนอไปในตอนที่แล้ว

 

ตอนนี้เราจะมาเริ่มกันที่ประเทศเล็กๆ สุดเจ๋ง อย่าง "คอสตาริกา"

 

นอกจากการเข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกมาหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่เยอรมันแล้ว คอสตาริกายังมีอะไรน่าสนใจอีกมาก

 

ประเทศนี้ได้ชื่อว่า "เป็นสวิสเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง" ขนาบข้างด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกกับทะเลแคริบเบียน มีประชากรราว 4.5 ล้านคน รายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็ติดอันดับ TOP 5 ในการสำรวจประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุด (อันดับหนึ่งได้แก่ วานูอาตู ไงล่ะ)

 

แถมประเทศนี้ยังใช้พลังงานทดแทนที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากถึง 30% และ...ไม่มีทหาร!

 

สหรัฐได้เริ่มเข้ามาทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอเมริกากลางมาตั้งแต่ปี 2546 เรียกว่า ข้อตกลงการเสรีอเมริกากลาง (คาฟต้า) โดยใช้วิธีแยกเจรจาเอฟทีเอกับแต่ละประเทศก่อน พอเจรจาใกล้เสร็จก็ไปเพิ่มการเจรจากับประเทศใกล้เคียงข้างๆ

 

คอสตาริกา เปรียบได้ว่าเป็นประเทศหลังบ้านของสหรัฐ ที่สหรัฐพยายามจะครอบงำตั้งแต่ยุคประกาศเอกราช เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตั้งอยู่บนพื้นที่รอยต่อที่แคบที่สุด แต่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีแหล่งน้ำบริสุทธิ์มาก พูดภาษาการรบ หากสหรัฐต้องการรุกราน คอสตาริกาเป็นประตูที่สหรัฐต้องเปิดไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอเมริกากลาง

 

กรณีของคอสตาริกาน่าสนใจตรงที่ แม้รัฐบาลจะเซ็นเอฟทีเอกับสหรัฐไปแล้ว แต่รัฐสภากลับยังไม่ยอมลงนามรับรอง จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ประเทศในอเมริกากลางทั้งหลายรัฐสภาลงนามไปแล้ว ไม่ว่ากัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอกวาดอร์ นิการากัว  

 

"มาเรีย ยูจีนิโอ เทรโฮส" ตัวแทนภาคประชาชนจากคอสตาริกาวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้รัฐสภาคอสตาริกาไม่อาจรับรองเอฟทีเอฉบับนี้ไว้ว่า

 

1. ลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของคอสตาริกามีระดับการพัฒนาที่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในอเมริกากลาง คอสตาริกามีประชากรผู้รู้หนังสือ 96% ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ บริการไฟฟ้าเข้าถึงประชาชนกว่า 90% ที่สำคัญประชาชนรู้สึกพอใจระบบ "รัฐสวัสดิการ" ที่เป็นอยู่ และกลัวว่าจะเสียผลประโยชน์หากมีการทำเอฟทีเอ

 

2. ระบอบการปกครอง มีความเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นสูง ยึดหลักกฎหมายและมีกลไกการตรวจสอบเข้มแข็ง นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถตัดสินใจโดยพลการหรือเร่งรัดการเจรจาได้ ฉะนั้น การอนุมัติข้อตกลงใดๆ ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

 

ตรงนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น กัวเตมาลา รัฐสภาไปประชุมและอนุมัติข้อตกลงกันตามโรงแรม สนามกอล์ฟ แบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่ที่นี่ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด!

 

"เรามีปัญญาชนมาร่วมมาก เพราะนักวิชาการยิ่งได้อ่านมากก็ยิ่งต่อต้าน และยิ่งพยายามบอกเล่าให้ประชาชนเข้าใจ ต้องวิเคราะห์กันตลอดเวลาเพราะเนื้อหามันเยอะ ยิ่งวิเคราะห์ก็ยิ่งพบอะไรใหม่ เช่น คอสตาริกาไม่มีกองทัพ แต่เอฟทีเอ อนุญาตให้คอสตาริกานำเข้าอาวุธได้ นี่ทำให้คนสงสัย" มีเรีย ระบุ

 

3. ศึกษาและเผยแพร่การวิเคราะห์วิจัยอย่างกว้างขวาง โดยเริ่มจากการนำตัวอย่างและสบการณ์จากชิลี และเม็กซิโกมาศึกษา จนกระทั่งตอนหลังได้ร่างสัญญามาแล้วถึงมีการศึกษาลงลึกในตัวข้อสัญญา

 

"เราไม่เคยมีโอกาสรู้ข้อมูลก่อนหน้านั้นเลย ไม่เคยได้อ่าน ได้แต่ข้อสรุปจากรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อจะลงนามแล้ว"

 

"เรายังพบว่ามีมาตราหนึ่งระบุว่ารัฐต้องยกเลิกเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลสิทธิด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ถ้าไปละเมิดสิทธิด้านการค้า"มีเรียกล่าว

 

4. อนุสัญญาคุ้มครองสิทธิชนพื้นเมือง กำหนดให้รัฐบาลต้องหารือกับชนพื้นเมืองด้วย แต่สหรัฐบอกว่าไม่จำเป็นต้องหารือ จึงเกิดแรงต้านจากชนพื้นเมือง ซึ่งเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาคัดค้าน นั่นทำให้องค์กรภาคประชาชนสามารถเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ได้มากขึ้น จนในที่สุดส่งผลให้ชะลอการเจรจาออกไปได้

 

"เอฟทีเออเมริกากลางนี้ มี 2,600 กว่าหน้า ภายใต้กฎหมายของเราต้องทำสำเนาออกมา 4,000 ชุด แต่รัฐทำไม่ไหว ทำออกมาแค่ 1,500 ชุด ซึ่งเราก็เรียกร้องอยู่ว่าให้ทำให้ครบ"

 

"ตอนแรกก่อนการลงนามมีความแตกแยกกันอยู่ แต่พอจะมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองหนึ่งที่ไม่เอาด้วยกับเอฟทีเอชัดเจน" มีเรียกล่าว

 

เธอเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า ก่อนจะมีการเซ็นเอฟทีเอ กลุ่มต่างๆ ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีกลุ่มที่เสนอให้ตัดสินค้าเกษตรบางรายการ หรือตัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกไป บางกลุ่มอยากให้คงไว้ หรือบางกลุ่มก็ค้านทั้งฉบับ แต่ใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขบวนต่อต้านสามารถรวมตัวกันเพื่อต่อต้านอย่างเด็ดขาด เพราะการเลือกตั้งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกิดขึ้นหลังจากปิดการเจรจาไปแล้ว และกำลังรอให้มีการเซ็น

 

ในการเคลื่อนไหวมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นเพื่อทำงานประสานกับเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานในข่ายของตนอย่างเป็นอิสระ ไม่ได้รวมศูนย์ แต่ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วมในการหารือและตัดสินใจในยุทธศาสตร์โดยรวม ขณะเดียวกันแต่ละข่ายก็มีการรณรงค์แบบเจาะลึก ลงพื้นที่เข้าถึงคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย และคณะกรรมการทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์วิจัยและเผยแพร่ผลกระทบต่างๆ 

 

จนกระทั่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยผู้นำที่ประกาศว่าจะไม่เอาเอฟทีเอ ปรากฏว่ารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลที่มีกลุ่มนักธุรกิจเข้ามากุมอำนาจ จึงหักหลังประชาชนแล้วหันมาทำเอฟทีเอกับสหรัฐ แต่ทางรัฐสภาก็ยังไม่รับรองข้อตกลงนี้ มีการออกเสียงในสภา ผลลงคะแนนปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ไม่เอาเอฟทีเอ มันจึงยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้รัฐบาลจะลงนามไปแล้ว

 

"แต่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างเปิดเผยนัก ขบวนการต่อต้านจงต้องพยายามชะลอการส่งเรื่องนี้ให้รัฐสภา ในขณะที่รัฐบาลก็พยายามผลักดันอย่างหนัก ฉะนั้น การทำงานเคลื่อนไหวจึงจำเป็นต้องประสานคนจากภาคส่วนต่างๆ ให้กว้างขวาง" มีเรียว่า

 

สำหรับขบวนการรณรงค์นั้น ภาคประชาชนในคอสตาริกา ได้ชื่อว่าก่อการได้ดุเด็ดเผ็ดมัน และมีสีสันมากที่สุดประเทศหนึ่ง  โดยยึดหลัก "ใครใคร่ทำอะไร ทำโลด!"  มีทั้งการผลิตสื่อ เพลง วีดิโอ สปอตโฆษณาทางทีวี ทางอินเตอร์เน็ตให้ความรู้เกี่ยวกับเอฟทีเอ มีขบวนวัฒนธรรมเข้าร่วมด้วยอย่างคึกคัก โดยศิลปินท้องถิ่นก็มีการเขียนเรื่องสั้น บทกวี จัดคอนเสิร์ต แสดงละครกระจายไปตามท้องถิ่น และมีประเด็นหลากหลายในการต่อต้านเอฟทีเอ

 

"แม้กระทั่งการไปแข่งฟุตบอลโลกที่เยอรมันเร็วๆ นี้ ทีมฟุตบอลของเราก็ยังเอาป้ายผ้าต่อต้านไปในเยอรมันด้วย เป็นทีมฟุตบอลทีมแรกที่สนใจประเด็นแบบนี้เลยมั้ง"

 

"การเดินขบวนครั้งใหญ่อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำที่นี่ ตอนนี้ แต่เราต้องการทำหลายๆ ที่พร้อมกันทั่วประเทศ ในคอสตาริกายังไม่มียุทธศาสตร์ร่วมกัน แต่เรากำลังพยายามระดมมวลชนอยู่" มีเรียกล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีการทำวิจัยแบบลงลึกในเรื่องใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบวงกว้าง ไม่ว่าเรื่องการแปรรูปกิจการด้านพลังงาน โทรคมนาคม ประกันภัย การทำเอฟทีเอกับการละเมิดรัฐธรรมนูญ ฯ

 

ในการนี้เราพบว่ามีมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ 3 ใน 4 แห่งร่วมประกาศจุดยืนต่อต้านเอฟทีเอ เนื่องจากในระดับมหาวิทยาลัยมีการทำการศึกษาผลกระทบเรื่องนี้ในหลากหลายมิติ มีนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง 72% ของอาจารย์และนักศึกษาต่อต้านเอฟทีเอ

 

การให้การศึกษาเรื่องนี้ยังลามไปถึงนักเรียนในโรงเรียนมัธยม ครูอาจารย์ ตลอดจนสหภาพแรงงาน ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากถึง 4.5 หมื่นคน (เทียบกับประชากรทั้งหมดถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย)

 

คนที่ไม่เอาเอฟทีเอนอกจากประกอบด้วยกลุ่มผู้หญิง นักธุรกิจ คนชั้นกลาง ชาวไร่ชาวนา ชาวพื้นเมืองแล้ว ยังมีผู้ตรวจการรัฐสภา อดีตประธานาธิบดี รัฐวิสาหกิจ และหลังๆ สมาชิกรัฐสภาเองก็เริ่มก้าวออกมาร่วมต้านมากขึ้นด้วย

 

 

 

- - - - - - - - - - -

 

นี่คือภาพของคอสตาริกาที่คนค้านเอฟทีเอต้องอมยิ้ม มีกำลังใจ ส่วนคนหนุนเอฟทีเอคงต้องต้องบังเกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ว่า ทำไมคอสตาริกาถึงร่วมกันค้านหัวชนฝากันทั้งประเทศขนาดนี้!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท