ละติน ยุโรป และสหรัฐฯ: ขั้วอำนาจใหม่ในการเมืองโลก 2 (จบ)

 

 
 
โดย เจมส์ เพทราส
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียงจาก
James Petras, "Latin America, the EU and the US: The New Polarities"
www.dissidentvoice.org, May 22, 2006
 
 
ความเป็นจริงและความลวงในความขัดแย้งระหว่างประเทศ
มีความเข้าใจผิดและความสับสนอยู่มาก ทั้งในฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เกี่ยวกับ ธรรมชาติความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชาตินิยมละตินอเมริกากับรัฐบาลสหรัฐฯ/อียูและบรรษัทข้ามชาติ ประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจให้กระจ่างก็คือ เนื้อแท้ของ มาตรการชาตินิยม ที่ประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลาและประธานาธิบดีโมราเลสแห่งโบลิเวียนำมาใช้ ทั้งสองรัฐบาลไม่ได้ล้มล้างองค์ประกอบที่เป็นแก่นแกนสำคัญของการผลิตในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหากำไรของเอกชน, การอ้างกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ, การส่งกำไรกลับประเทศ, การเข้าถึงตลาดหรือการผลิตก๊าซ, พลังงานหรือสินค้าพื้นฐานอื่นๆ รวมทั้งไม่ได้ห้ามการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคตแต่อย่างใด
 
ความจริงแล้ว บ่อน้ำมันดิบโอริโนโค (Orinoco) ขนาดมหึมาของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ยังอยู่ในเงื้อมมือของทุนต่างประเทศ เสียงโวยวายเกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่ว่ากันว่า "ถึงรากถึงโคน" ของประธานาธิบดีชาเวซ ความจริงแค่วนเวียนอยู่ที่ประเด็นภาษีและค่าภาคหลวง ซึ่งเดิมเก็บน้อยกว่า 15% มาเพิ่มเป็น 33%---นี่เป็นอัตราที่ยังต่ำกว่าอัตราที่บริษัทน้ำมันต้องจ่ายให้รัฐในแคนาดา, ตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วยซ้ำ
 
สิ่งที่ทำให้สื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ และอังกฤษ (วอลล์ตรีทเจอร์นัล, ไฟแนนเชียลไทมส์, ฯลฯ) เรียงหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซกันจนน้ำลายแตกฟอง ไม่ใช่การวิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราภาษีและค่าภาคหลวงในประเทศต่างๆ ที่เก็บกันอยู่ในปัจจุบัน ทว่าเป็นการเปรียบเทียบย้อนหลังกับสมัยก่อนที่เก็บภาษีชนิดที่เหมือนได้เปล่า
 
อันที่จริง สิ่งที่ชาเวซกับโมราเลสทำ เป็นเพียงแค่การปรับความสัมพันธ์ของรัฐกับบริษัทน้ำมันให้ ทันสมัย และสอดคล้องกับมาตรฐานในโลกปัจจุบันเท่านั้นเอง กล่าวในแง่หนึ่งคือ ทั้งสองรัฐบาลปรับความสัมพันธ์เชิงสัมปทานเสียใหม่ เมื่อเห็นว่าภาคเอกชนกำลังกอบโกยกำไรมหาศาล สืบเนื่องจากข้อตกลงฉ้อฉลที่ทำไว้กับข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในสมัยก่อน ปฏิกิริยา รุนแรงของรัฐบาลสหรัฐฯ/สหภาพยุโรปและบรรษัทข้ามชาติด้านพลังงาน เกิดจากความเคยชินที่คิดว่า อภิสิทธิ์จนเกินขอบเขตเป็นบรรทัดฐานของ "การพัฒนาในระบบทุนนิยม" มากกว่าจะยอมรับว่า มันเกิดมาจากข้าราชการที่กินสินบน ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงต่อต้านการปรับความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาและโบลิเวีย ทั้งๆ ที่การร่วมทุนของภาครัฐกับเอกชนและการแบ่งปันผลกำไรเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในประเทศทุนนิยมส่วนใหญ่
 
ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ประธานบรรษัทรอยัลดัทช์เชลล์ เยรูน ฟาน เดอร์ เฟียร์ ออกมาแนะนำเพื่อนร่วมวงการน้ำมันว่า จุดยืนแบบชาตินิยมของประเทศแหล่งน้ำมันและการที่ประเทศเหล่านี้จะทบทวนสัญญาสัมปทาน เป็น "ความเป็นจริงใหม่" ที่บรรษัทพลังงานระหว่างประเทศต้องทำใจยอมรับให้ได้
 
นักสัจนิยมอย่างฟาน เดอร์ เฟียร์ ให้ทัศนะอีกแบบหนึ่งต่อ การปฏิรูปตามแนวทางชาตินิยม ว่า "ในเวเนซุเอลา เราเป็นบรรษัทแรกๆ ที่ยอมนั่งโต๊ะเจรจากันใหม่ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ เราค่อนข้างพอใจที่เราสามารถสร้างอนาคตที่นั่น เรากับรัฐบาลมีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนในโบลิเวีย ผมคาดว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจในที่สุด" (ไฟแนนเชียลไทมส์, 13 พ.ค. 2006 น.9)
 
เช่นเดียวกัน หลังจากโมราเลสออกมาประกาศ "โอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ" บริษัท Pan Andean Resources (PAR) ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซและพลังงานสัญชาติไอริช ยืนยันว่า บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่นในโบลิเวีย เดวิด ฮอร์แกน ประธานบริษัท PAR กล่าวสนับสนุนการร่วมทุนอุตสาหกรรมพลังงานก๊าซกับโบลิเวียว่า "เราไม่สนใจเลยว่าเงื่อนไขก่อนหน้านี้ [ที่ PAR มีข้อตกลงในการผลิตก๊าซกับรัฐโบลิเวีย] เป็นอย่างไร สิ่งที่ [บรรษัทน้ำมัน] ยักษ์ใหญ่เห็นเป็นปัญหา เรากลับเห็นเป็นโอกาส" (ไฟแนนเชียลไทมส์, 13 พ.ค. 2006, น.9)
 
วันที่ 29 พฤษภาคม 2006 ในโบลิเวีย รัฐบาลโมราเลสจะประกาศผู้ชนะการประมูลจากการประกวดราคาของบรรษัทเหมืองแร่เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเข้าไปร่วมทุนกับบริษัท Mutun ของรัฐในการทำเหมืองแร่เหล็กที่มีอยู่ถึง 40,000 ล้านตัน รองประธานาธิบดีลิเนรา ผู้เป็นกระบอกเสียงคนสำคัญของรัฐบาลโบลิเวีย บอกถึงเงื่อนไขใหม่ไว้คร่าวๆ ซึ่งให้หลักประกันทางกฎหมายที่มั่นคงแก่การลงทุนทั้งหมด เพื่อแลกกับการแบ่งผลกำไรและการมีส่วนร่วมในการบริหาร เห็นได้ชัดว่า บรรษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ก็มาจากสำนัก "นักสัจนิยม" ที่ยินดีกอบโกยกำไรก้อนใหญ่จากวัตถุดิบที่มีราคาสูง โดยยอมแลกกับการจ่ายภาษีในอัตราสูงขึ้นและเปิดโอกาสให้เทคโนแครตชาวโบลิเวียเข้ามาอยู่ในทีมบริหาร
 
ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งจึงไม่ใช่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม ไม่ใช่แม้แต่ปัญหากรรมสิทธิ์เอกชนที่ขัดแย้งกับการยึดทรัพย์สินกลับมาเป็นของชาติ ยิ่งไม่ใช่การปฏิวัติสังคมที่จะนำไปสู่สังคมเสมอภาค แต่ประเด็นขัดแย้งหลักๆ อยู่ที่: 1) การเพิ่มอัตราภาษี, ราคาและค่าภาคหลวง 2) การเปลี่ยนจากการให้สัมปทานเป็นการร่วมทุน 3) มีตัวแทนจากภาครัฐอยู่ในคณะกรรมการบริหาร 4) สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างผู้บริหารที่แต่งตั้งจากทุนต่างประเทศและแต่งตั้งจากรัฐบาล 5) สิทธิทางกฎหมายที่จะแก้ไขทบทวนสัญญา 6) การจ่ายเงินชดเชยแก่สินทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ และ 7) การจัดการในด้านการกระจายทรัพยากรและการส่งออก
 
ข้อบังคับและการปฏิรูปที่นำเสนอใหม่อาจช่วยเพิ่มเงินคงคลังและอิทธิพลของรัฐ แต่ไม่มีประเด็นขัดแย้งข้อไหนเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือความสัมพันธ์ทางการผลิตของสังคมที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นการปฏิรูป ในท่วงทำนองเดียวกับนโยบายที่พรรคสังคมประชาธิปไตยในยุโรปใช้กันระหว่างปลายทศวรรษ 1940-1960 และเป็นนโยบายที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเกือบทุกประเทศในโลกนำมาใช้ในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งรวมทั้งประเทศอาหรับที่ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ ประเทศอาหรับในระบอบสาธารณรัฐทั้งที่ปกครองตามหลักศาสนาอิสลามและฆราวาส อันที่จริง รัฐบาลในอดีตของเวเนซุเอลา (1976) และโบลิเวีย (1952 และ 1968) เคยใช้มาตรการที่ถึงรากถึงโคนกว่านี้ในการยึดอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเหมืองแร่อื่นๆ เป็นของชาติมาแล้ว
 
เวเนซุเอลาเพิ่มภาษีและค่าภาคหลวงที่เก็บจากบรรษัทปิโตรเลียมข้ามชาติ เพราะอัตราเดิมนั้นต่ำกว่าระดับโลกมาก นอกจากกิจการขนาดเล็กสองสามแห่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติกาใหม่และถูกยึดกิจการไปเป็นของรัฐแล้ว ไม่มีบรรษัทยักษ์ใหญ่แห่งไหนถูกยึดกิจการเลย อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนงาน-นายจ้างในรัฐวิสาหกิจ PDVSA หรือในบรรษัทต่างชาติ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โครงสร้างการบังคับบัญชาในแนวตั้งก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังที่นักสหภาพแรงงานระดับรากหญ้าจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ ตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ/อียู ที่ดำเนินกิจการในเวเนซุเอลา มีผลกำไรทำลายสถิติเป็นเงินหลายพันล้านยูโร/ดอลลาร์ แม้จะอยู่ท่ามกลางวาทกรรมว่าด้วย "การปฏิวัติโบลิวาร์" แต่ก็ไม่มีบรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่บรรษัทไหนแสดงอาการว่าจะยอมทิ้งสัมปทานที่ทำกับรัฐเวเนซุเอลา ซึ่งสร้างกำไรให้พวกเขามหาศาล แม้ว่าจะมีโวหารเผ็ดร้อนพ่นออกมาจากวอชิงตันหรือบรัสเซลส์ไม่ขาดสายก็ตาม
 
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ/อียูกับเวเนซุเอลา จึงเป็นเรื่อง การเมือง และ อุดมการณ์ พอๆ กับเรื่องอำนาจและผลกำไรของบรรษัทน้ำมัน ประเทศมหาอำนาจคัดค้านระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานของเวเนซุเอลา พยายามขัดขวางไม่ให้เวเนซุเอลาใช้โมเดลอัตราภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งจะมา แทนที่ โมเดลแบบเดิมที่ใช้อัตราภาษีต่ำ-เปิดเสรี-แปรรูป-ไร้สัญชาติ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในละตินอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และปัจจุบันกำลังนำไปใช้ที่อื่น (ลิเบีย, อิรัก, อินโดนีเซีย, บราซิลและเม็กซิโก) ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ ประธานาธิบดีชาเวซ ซึ่งมาจากฐานการเมืองและเศรษฐกิจระดับชาติที่เข้มแข็ง อันเป็นผลมาจากทรัพยากรน้ำมันที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตอนนี้ชาเวซกำลังเรียกร้องให้มีการผนึกกำลัง ระดับภูมิภาค ให้มากกว่าเดิม---โดยปลอดจากอิทธิพลของสหรัฐฯ และอียู ประเด็นนี้แหละที่แหย่รังแตนในวอชิงตันและบรัสเซลส์ ทั้งนี้เพราะพวกเขากลัวว่า การผนึกกำลังของละตินอเมริกาในระดับภูมิภาคอาจเป็นอุปสรรคต่อการเจาะตลาดและการลงทุนในอนาคต
 
ในการเมืองระดับโลก การที่ชาเวซอ้าแขนรับและคอยปกป้องแนวทางกำหนดการปกครองด้วยตัวเอง (self-determination) ของทุกประเทศทั่วโลก ทำให้เขาต่อต้านการรุกรานทางทหารที่สหรัฐฯ กระทำต่ออิรัก, การยึดครองอัฟกานิสถานของสหรัฐฯและอียู รวมทั้งการที่สองมหาอำนาจจับมือกันข่มขู่คุกคามอิหร่านด้วยไฟสงคราม จุดยืนของชาเวซส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐฯ มีส่วนพัวพันในการรัฐประหารที่ล้มเหลวในเวเนซุเอลาเมื่อปี ค.ศ. 2002
 
กล่าวโดยสรุป นี่คือคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายผู้นำชาตินิยมที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่อุดหนุนสวัสดิการสังคม กับฝ่ายสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างตัวเป็นจักรวรรดินิยม ด้วยนโยบายที่นิยมการแทรกแซงประเทศอื่น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษา "ยุคทอง" ของการปล้นสะดมด้วยระบบเศรษฐกิจแปรรูปที่ไร้การกำกับดูแล และการจ่ายภาษีต่ำติดดินของบรรษัทข้ามชาติเพื่อเบิกทางเข้าไปขูดรีดทรัพยากรด้านพลังงาน
 
ความขัดแย้งระดับประเทศที่กำลังทวีขึ้น ระหว่างโบลิเวียกับบราซิล/สเปน/อาร์เจนตินา และกับมหาอำนาจที่คอยหนุนหลังในสหรัฐฯ/อียู เดินซ้ำรอยเดียวกับความขัดแย้งที่เวเนซุเอลามีกับสหรัฐอเมริกา เริ่มแรกด้วยนักโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทน้ำมันต่างชาติพยายามวาดภาพประธานาธิบดีโมราเลสเป็น "ศิษย์" หรือ "สาวก"ของชาเวซ และกล่าวหาว่านโยบายชาตินิยมของโมราเลสเป็นแค่ลูกไล่ใต้อำนาจของชาเวซ
 
ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลและไม่มีหลักฐานเลยว่าโบลิเวียถูกแทรกแซงจากภายนอก กระแสคัดค้านการแปรรูปและการประท้วงโดยทั่วไปเกิดขึ้นทั่วประเทศโบลิเวียตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1996 สองปีก่อนที่ชาเวซจะได้รับเลือกตั้งด้วยซ้ำ การคัดค้านข้อตกลงแปรรูปก๊าซธรรมชาติเข้มข้นขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่และโค่นล้มประธานาธิบดีซานเชส เด โลซาดา และเรียกร้องให้โอนกิจการก๊าซและน้ำมันมาเป็นของรัฐ ในปี ค.ศ. 2004 การลงประชามติได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนถึง 80% เรียกร้องให้เพิ่มอัตราภาษีและค่าภาคหลวง รวมทั้งให้รัฐเข้าไปควบคุมทรัพยากร
 
สิ่งที่โบลิเวียแตกต่างจากเวเนซุเอลาก็คือ โมราเลสต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในหนักหน่วงจากสหภาพแรงงานและองค์กรมวลชน ที่คอยบีบให้เขาปฏิบัติตามคำสัญญาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โครงการปฏิรูปด้านสังคม-เศรษฐกิจทั้งหมดของประธานาธิบดีโมราเลส รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและความชอบธรรมของรัฐบาลของเขา ขึ้นอยู่กับการรีดภาษีเพิ่มเติมจากบรรษัทข้ามชาติมาให้ได้ เมื่อดูจากข้อเท็จจริงที่รัฐบาลชุดก่อนทิ้งมรดกให้เขาเป็นงบประมาณที่ขาดดุลมหาศาลและหนี้ต่างประเทศก้อนโต (ซึ่งโมราเลสรู้สึกว่าจำเป็นต้องจ่ายคืน) อีกทั้งเขายังยอมรับโปรแกรมเข้มงวดทางการเงินแบบ IMF มาด้วย ทางออกเพียงอย่างเดียวที่โมราเลสมีก็คือ หารายได้เพิ่มขึ้นจากน้ำมันและก๊าซ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในเมื่อโมราเลสได้รับเลือกตั้งมาบนพื้นฐานของ "การนำศักดิ์ศรีมาสู่ประชาชนชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง" เขาย่อมไม่อาจเพิกเฉยต่อท่าทีโอหังที่บรรษัทน้ำมันและก๊าซเคยบอกปัดข้อเสนอครั้งแรก ที่เขาขอเปิดเจรจาเรื่องอัตราภาษีและการร่วมทุน
 
เมื่อมีแรงหนุนหลังทางการเมืองและการเงินจากประเทศร่ำรวยน้ำมันอย่างเวเนซุเอลา โมราเลสจึงกล้าประกาศวาระ "โอนกิจการมาเป็นของชาติ" เพื่อเป็นกลยุทธ์กดดันให้บรรษัทต่างๆ ต้องยอมนั่งโต๊ะเจรจาด้วย การรัฐประหารที่สหรัฐฯ หนุนหลังและการหยุดกิจการน้ำมันของผู้บริหารระดับสูง ทำให้นโยบายสังคม-เศรษฐกิจของประธานาธิบดีชาเวซต้องถึงรากถึงโคนมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันใด โมราเลสก็ต้องใช้ยุทธวิธีที่ถึงรากถึงโคนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษาสัมปทานทางเศรษฐกิจและบังคับให้บรรษัทข้ามชาติด้านก๊าซและน้ำมันต้องยินยอมเจรจาอย่างจริงจังฉันนั้น
 
เป้าหมายของโมราเลสคือเปิดเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เรียกร้องส่วนแบ่งกำไรและเพิ่มอัตราภาษี หากบรรษัทก๊าซและน้ำมันยังไม่ยอมอ่อนข้อให้ นโยบายแบบ "ทั้งหมดหรือไม่เอาเลย" ย่อมผลักดันให้ฐานเสียงของรัฐบาลเขามีความถึงรากถึงโคนมากขึ้น เพราะ "คนที่ขัดขวางการปฏิรูปย่อมทำให้เกิดการปฏิวัติ" แน่นอน โบลิเวียภายใต้ประธานาธิบดีโมราเลสยังห่างไกลจากการใช้นโยบายปฏิวัติต่อต้านทุนนิยมอีกไกลโข แม้กระทั่งการเพิ่มภาษีเป็น 82% ก็เป็นแค่มาตรการ "ชั่วคราว" ที่ต่อรองได้ กระนั้นก็ตาม อย่างน้อยโมราเลสก็แสดงออกถึงความเต็มใจที่จะขับเคลื่อนและขยายอิทธิพลของรัฐให้มีผลต่อการดำเนินงานของบรรษัท เขาชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สัญญาสัมปทานน้ำมันในปัจจุบันผิดหลักรัฐธรรมนูญ
 
ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านก๊าซและน้ำมันยังไม่ตระหนักว่า ตนจะได้ประโยชน์มากกว่าหากยอมเจรจากับโมราเลส แทนที่จะไปยั่วโมโหขบวนการสังคมในโบลิเวีย อย่างมากที่สุด การเจรจาน่าจะลงเอยด้วยการขึ้นภาษีและค่าภาคหลวง---นั่นคือในราว 50% ราคาซื้อของก๊าซน่าจะขึ้นไปพอประมาณ และจะมีการลงนามในข้อตกลงด้านการบริหารร่วมบางอย่างระหว่างรัฐกับเอกชน ผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารบรรษัทพลังงานชาวบราซิลและยุโรปสามารถหลีกหนีจาก "การเผชิญหน้า" มาหา "การต่อรอง" และความร่วมมือได้
 
แต่การณ์กลับปรากฏว่า ข้อเสนอเรื่องการร่วมทุนและการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานของโมราเลสกลับต้องเผชิญแรงกดดันจาก IMF, รัฐมนตรีด้านการเงินของสเปน (นายโซลเบส) และรัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิล (นายอโมริน) ที่พยายามบีบให้โบลิเวียต้องจ่ายมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด---ซึ่งอาจทำให้รัฐของโบลิเวียถึงขั้นล้มละลายได้เลย มีการข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อจำกัดบทบาทที่รัฐโบลิเวียจะเข้ามาควบคุมกิจการก๊าซ ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีซาปาเตโรของสเปนและประธานาธิบดีลูลาของบราซิลก็อาศัยทั้งการเจรจา การใช้แรงกดดันจาก "วงใน" และความช่วยเหลือระหว่างรัฐ เพื่อหาทางบีบให้โมราเลสผ่อนคลายนโยบายปฏิรูปของตน
 
ไม่ว่าข้อยุติจะเป็นเช่นไร กุญแจสำคัญย่อมอยู่ที่ รายละเอียด: กล่าวคือรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารงาน, การควบคุมข้อมูล, การผลิตและกระบวนการในการทำตลาด ซึ่งคาดหมายล่วงหน้าได้เลยว่า ผู้บริหารที่อยู่ในตำแหน่งย่อมทำทุกวิถีทางเพื่อบ่อนทำลายการควบคุมของรัฐ ในขณะที่การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับนานาชาติมีความเข้มข้นมากขึ้น วิกฤตการณ์ภายในกำลังก่อตัวขึ้นในสหรัฐอเมริกา ความล้มเหลวทางการทหารอย่างน่าทุเรศในอิรักทำให้สหรัฐฯ เหลือทางเลือกแค่สองทาง กล่าวคือ ถอนทัพออกจากอิรัก เพื่อกลับมาสร้างเสริมซ่อมแซมอำนาจจักรวรรดินิยม และวางแผนทำสงครามทางอากาศกับอิหร่าน เพื่อฟื้นฟูอำนาจจักรวรรดินิยม กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยองค์กรใหญ่ๆ ที่ถือหางอิสราเอล, นักการทหารพลเรือนของเพนทากอน, สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่และประชาชนกลุ่มน้อย สนับสนุนทางเลือกในการรุกรานทางการทหารแบบนี้ ส่วนแนวทางตรงกันข้ามได้รับการสนับสนุนจากนายทหารจำนวนมากที่เกษียณอายุ, ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมัน, องค์กรส่วนใหญ่ของชาวคริสต์และชาวมุสลิม รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
 
สงครามหลายด้านในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ อีกทั้งการที่ชาวอเมริกันเองไม่พอใจกับต้นทุนที่เสียไปในการทำสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถแทรกแซงละตินอเมริกันได้อย่างเต็มพิกัด รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจำใจพึ่งพาอาศัยรัฐบาลบริวารในละตินอเมริกาและ "พันธมิตร" ชาติยุโรป ให้ช่วยกันโดดเดี่ยวและหาทางทอนกำลังรัฐบาลชาตินิยมของชาเวซและโมราเลส รวมทั้งหาทางป้องปรามฝ่ายคัดค้านที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ทั้งในภาคประชาชนและการเลือกตั้ง ไม่ว่าในประเทศเม็กซิโก, นิคารากัว, เอกวาดอร์, โคลอมเบีย, เปรูและบราซิล
 
ปัญหาของวอชิงตันก็คือ ประธานาธิบดีบริวารในละตินอเมริกาล้วนแล้วแต่อ่อนแอหรือกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง พอถึงสิ้นปีนี้ (2006) ประธานาธิบดีบริวารที่เชื่อฟังวอชิงตันมากที่สุดจะสิ้นสุดวาระลงเกือบหมด ในบางประเทศ เป็นไปได้ที่ตัวตายตัวแทนทางการเมืองจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ แต่ในอีกหลายๆ ประเทศ ผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาคนใหม่อาจไม่เต็มใจที่จะสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลชาตินิยมเพื่อนบ้าน
 
ขณะที่ฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกส่งเสียงเชียร์กันอย่างคึกคัก แต่อันที่จริง รัฐบาลชาตินิยมในละตินอเมริกาและคิวบาต้องเผชิญการท้าทายภายในประเทศที่แหลมคมจากกลุ่มฐานเสียงสนับสนุนของตนเอง แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการต้านทานแรงกดดันของจักรวรรดินิยมและสามารถเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีทุนต่างชาติ แต่รัฐบาลเหล่านี้ก็ยังละเลยการปฏิรูปทางสังคมที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดสำหรับฐานเสียงของตน ทั้งในเวเนซุเอลาและคิวบา แม้จะมีคำมั่นสัญญาจากรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังเชื่องช้าล้าหลังในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง ความพยายามที่จะสร้างความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเกษตร (การผลิตน้ำตาลเป็นเอธานอลและการผลิตอาหารในคิวบา การผลิตเนื้อวัว, สัตว์ปีก, ปลาและธัญญาหารในเวเนซุเอลา) ภาคการผลิต (โดยเฉพาะอาวุธ, เครื่องอุปโภค, สินค้าไอทีและอิเล็กทรอนิกส์) และการแปรรูปแร่ ยิ่งกว่านั้น ในเวเนซุเอลามีประชาชนจำนวนมาก อาจมากถึงราว 50% ของกำลังแรงงาน ที่มีช่องทางเข้าถึงบริการสังคมแบบให้เปล่ามากขึ้น แต่ยังต้องทำงานอยู่ใน "เศรษฐกิจนอกระบบ" ที่ให้ค่าจ้างต่ำ
 
ในโบลิเวีย โมราเลสประกาศโครงการปฏิรูปที่ดิน โดยอาศัยที่ดินรกร้างที่เวนคืนมาเป็นหลัก แต่ไม่แตะต้องที่ดินขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาลของกลุ่มธุรกิจเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของเมืองซานตาครูซ โมราเลสทำแค่แจกจ่ายที่ดินของรัฐที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เท่าไร ทั้งยังตั้งห่างจากตลาดและถนน กุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของการปฏิรูปภาคการเกษตรอยู่ที่กระบวนการดำเนินงานและชี้ขาด รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในด้านสินเชื่อและเทคนิค
 
นอกจากนั้น นโยบายเงินเดือนและรายได้ของโมราเลสดีขึ้นกว่ารัฐบาลเสรีนิยมชุดก่อนๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนให้ครูและพนักงานภาครัฐในส่วนอื่นๆ ยังมากกว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ คำสัญญาที่เขาเคยให้ไว้ว่า จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกเท่าตัว คือจาก 50 เป็น 100 ดอลลาร์ต่อเดือน สุดท้ายก็ขึ้นมาได้แค่ 6 ดอลลาร์
 
กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หากการแบ่งขั้วในระดับนานาชาติไม่ตั้งอยู่บนฐานของนโยบายกระจายความมั่นคั่งในประเทศเสียใหม่ และแตะต้องจัดการกับความมั่งคั่งและสินทรัพย์ของกลุ่มคนรวยที่สุดบ้าง เป็นไปได้ที่ทั้งในเวเนซุเอลาและโบลิเวีย ภาคประชาชนส่วนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นฐานเสียงสนับสนุนการเผชิญหน้าระหว่างประเทศที่ตึงเครียดจริงจัง อาจไม่เล่นด้วยขึ้นมาก็ได้ การแสดงบทบาทใหญ่โตในเวทีนานาชาติ, การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและนโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยม ไม่สามารถเอามาเป็นข้ออ้างแทนความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่ลึกซึ้งกว่านี้ และตอบสนองความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย, งานและเงินเดือนที่สูงขึ้น
 
การแบ่งขั้วทางชนชั้นและภูมิภาค: วิกฤตการณ์ในโบลิเวีย
ดังที่เราให้เหตุผลไปแล้วข้างต้น หากการแบ่งขั้วที่ปรากฏขึ้นในละตินอเมริกา เป็นการแบ่งขั้วระหว่างระบอบเสรีนิยมใหม่ที่มีจักรวรรดินิยมเป็นศูนย์กลางกับระบอบประชานิยม-ชาตินิยม-ปฏิรูป สิ่งที่ตามมาก็คือ การคลี่คลายความขัดแย้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสมมติฐานเบื้องต้นของนักยุทธศาสตร์เชิงปฏิรูป กล่าวคือความเชื่อว่า การปฏิรูปทางสังคม-เศรษฐกิจมีความสอดคล้องต้องตรงกับการพัฒนาทุนนิยมแห่งชาติขึ้นมา ในกรณีของประธานาธิบดีโมราเลส ผู้เขียนบทความต้องการชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่เกิดมาจากวาระการเลือกตั้งต่างหาก ที่กำหนด การวิเคราะห์ ทางการเมืองและสังคม-เศรษฐกิจของเขา
 
สมมติฐานเบื้องต้น ของนโยบายปฏิรูปฉบับโมราเลส ถูกกำหนดจากสมมติฐานที่น่าสงสัยหลายข้อด้วยกัน กล่าวคือ
 
1) ความเชื่อว่า เราสามารถแยกทุน "ที่มีการผลิต" ออกจากทุน "ที่ไม่มีการผลิต" ได้ ดังนั้น การปฏิรูปที่ดินในขอบเขตจำกัดและแตะต้องเฉพาะ "ที่ดินทิ้งร้าง" หรือ "ที่ดินที่ไม่มีบทบาททางสังคม-เศรษฐกิจ" ย่อม ไม่ สร้างความเป็นปฏิปักษ์ กับชนชั้นสูง และน่าจะสอดคล้องกับกลุ่มพันธมิตรในการเลือกตั้งที่มีหลากหลายชนชั้นได้ ประเด็นนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าที่ดิน "ที่มีการผลิต" ขนาดใหญ่ ต่างคัดค้านการปฏิรูปที่ดินอย่างรุนแรง และได้รับการหนุนหลังจากชนชั้นนำทางธุรกิจและการธนาคาร โดยเฉพาะในซานตาครูซ ทั้งนี้เนื่องจากคนกลุ่มนี้ถือครองการลงทุนที่หลากหลายไขว้ไปไขว้มาในหลายภาคส่วนด้วยกัน (ประกอบด้วยธนาคาร, อุตสาหกรรม, ที่ดินที่มีการผลิตเพื่อส่งออกและที่ดินที่ไม่มีการผลิตเพื่อการเก็งกำไร)
 
2) สมมติฐานที่ผิดพลาดประการที่สองของยุทธศาสตร์การปฏิรูปฉบับประธานาธิบดีโมราเลส ตั้งอยู่บนการวินิจฉัย "ทวิลักษณะ" ระหว่างทุนต่างชาติและทุนชาติที่ผิดพลาด ประธานาธิบดี โมราเลสเชื่อว่า ใน "การโอนกิจการกลับมาเป็นของชาติ" หรือกล่าวให้ถูกต้องก็คือ ดึงบรรษัทน้ำมันและก๊าซที่เป็นของต่างชาติให้กลายเป็นวิสาหกิจร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน เขาจะสามารถสนับสนุนการพัฒนาทุนนิยมแห่งชาติขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้ทุนชาติหนุนหลังเขา
 
"การวิเคราะห์" เช่นนี้แสดงว่า เขาประเมินสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางกับกิจการของต่างชาติ ต่ำ ไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง บริษัทของชาวโบลิเวียจำนวนมากเป็นซัพพลายเออร์, ผู้รับเหมาช่วงและผู้นำเข้า ที่ต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ, สินเชื่อและการสนับสนุนทางการเงินจากบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลต่างประเทศ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ทั้งฝ่ายค้านทางการเมืองในสภาคองเกรสและกลุ่มธุรกิจใหญ่ของโบลิเวีย ต่างคัดค้านต่อต้านนโยบายปฏิรูประดับชาติของโมราเลส---ทั้งๆ ที่พวกเขานั่นแหละคือกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
 
3) สมมติฐานที่ผิดพลาดประการที่สามในยุทธศาสตร์ปฏิรูป-ชาตินิยมของประธานาธิบดีโมราเลสคือ ความเชื่อว่ารัฐบาลที่ถือเป็น "ซ้ายกลาง" ในบราซิล, อาร์เจนตินา และสเปน จะเต็มใจเจรจาและยอมรับการปรับปรุงแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่โบลิเวียทำไว้กับบรรษัทข้ามชาติของประเทศเหล่านี้ และยอมรับราคาซื้อของก๊าซที่เพิ่มขึ้นพอประมาณ โมราเลสประเมินความมีประสิทธิภาพของ "สายสัมพันธ์ทางการทูตส่วนบุคคล"และความใกล้ชิดทางอุดมการณ์ที่เขามีกับลูลาแห่งบราซิล, เคิร์ชเนอร์แห่งอาร์เจนตินาและซาปาเตโรแห่งสเปน สูงเกินไป รวมทั้งประเมินสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมีอิทธิพลที่คนเหล่านี้มีกับบรรษัทข้ามชาติ ต่ำเกินไป ด้วย
 
ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลลูลาจึงปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดของโมราเลส รวมทั้งข้อเสนอที่เขาต่อรองให้เพิ่มราคาซื้อของก๊าซขึ้นไปอีกสองดอลลาร์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงข้อเสนอที่เขาขอร่วมทุนกับบรรษัทเปโตรบราสของบราซิล ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลเคิร์ชเนอร์ในอาร์เจนตินาเลื่อนการพบปะเพื่อเจรจาการขึ้นราคาก๊าซไปหลายครั้ง และผู้แทนรัฐบาลอาร์เจนตินาไม่ยอมกำหนดวันนัดเจรจาเงื่อนไขนี้ใหม่ด้วยซ้ำ ส่วนซาปาเตโรที่มี IMF คอยหนุนหลัง ยืนกรานว่าบรรษัทผู้ถือหุ้นของสเปน (REPSOL, BBV) จะต้องได้รับการชดเชยค่าหุ้นเต็มอัตราในทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโบลิเวียไม่มีทางทำได้ เนื่องจากงบประมาณที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย
 
เรื่องตลกร้ายที่สุดก็คือ ในขณะที่ประธานาธิบดี "ซ้ายกลาง" อย่างเคิร์ชเนอร์, ลูลาและซาปาเตโร ต่างปฏิเสธข้อเสนอของโบลิเวียที่จะขึ้นอัตราภาษีที่เก็บจากบรรษัทข้ามชาติของประเทศเหล่านี้ สภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่จัดเป็น "พวกปฏิกิริยา" กลับรับรองกฎหมายที่อนุญาตให้เพิ่มส่วนแบ่งผลกำไรในน้ำมันของรัฐบาลโบลิเวียได้อีก 20,000 ล้านดอลลาร์ (ไฟแนนเชียลไทมส์ หน้า 3, 20-21 พ.ค., 2006) ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่สหรัฐฯ ยอมจ่ายเงิน 6 ดอลลาร์ต่อก๊าซหนึ่งพันคิวบิกฟุต ลูลากับเคิร์ชเนอร์กลับคัดค้านข้อเสนอของโมราเลสที่ขอเพิ่มราคาก๊าซเป็น 5 ดอลลาร์ต่อหนึ่งพันคิวบิกฟุต ในเมื่อมี "เพื่อนของประชาชนโบลิเวีย" แบบนี้ ก็ไม่ต้องหาจักรวรรดินิยมที่ไหนมาขูดรีดประเทศที่ยากจนที่สุดในละตินอเมริกาอีกแล้วกระมัง?
 
กล่าวโดยสรุปคือ สมมติฐานทางการเมืองของโมราเลสทั้งหมดตั้งอยู่บน "ข้อเท็จจริงที่จินตนาการขึ้นมา" ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและการเมือง เมื่อไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นจริงเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังเพียงพอ จึงส่งผลให้เกิดการยัดเยียด "ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ตั้งอยู่บนพันธมิตรทางการเมืองหลากหลายชนชั้น" ในโลกที่มีการแบ่งขั้วทางชนชั้น/จักรวรรดิ อุดมการณ์ปฏิรูปของโมราเลส"สร้าง" มายาภาพเกี่ยวกับโลกการเมืองที่เขาจะผนึกกำลังกับ "นายทุนที่ทำการผลิต" รัฐบาลซ้ายกลางที่เป็นมิตร, แรงงานและเกษตรกร เพื่อต่อต้าน "เจ้าที่ดินที่ไม่ทำการผลิต" และบรรษัทข้ามชาติที่ฉ้อฉล บนเส้นทางที่จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจผสมผสาน, งบประมาณสมดุลและการปฏิรูปสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ทางตันที่โมราเลสเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อันเกิดมาจาก "หุ้นส่วน" ที่ไม่เต็มใจร่วมมือ ทำให้รัฐบาลและพันธมิตรต่างประเทศของเขา (กล่าวคือ เวเนซุเอลาและคิวบา) ต้องยืนอยู่บนทางแพร่งที่มีขวากหนามทั้งสองข้าง นั่นคือ ถ้าโครงการปฏิรูปไม่ได้ผล เขาควรผ่อนคลายวาระ "ชาตินิยม" ให้อ่อนลงและรักษาความเป็น "รัฐบาลหัวก้าวหน้า" ไว้แค่เปลือกนอก หรือเขาควรผลักดันนโยบายให้ถึงรากถึงโคนยิ่งขึ้น เพื่อกระชับแรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศให้แน่นแฟ้น โดยยอมแลกกับการตั้งป้อมประจันกับจักรวรรดิต่างทวีปอย่างเข้มข้นกว่าเดิม?
 
................................................................
ประวัติผู้เขียนบทความ
เจมส์ เพทราส (James Petras) เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาเป็นนักเขียนและนักกิจกรรมที่ประกาศตัวเป็น "นักปฏิวัติและต่อต้านจักรวรรดินิยม" เคยทำงานร่วมกับขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในบราซิลและขบวนการคนว่างงานในอาร์เจนตินา เขาเขียนหนังสือและบทความไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานหนังสือมีอาทิเช่น:
  • Social Movements and State Power: Argentina, Brazil, Bolivia, Ecuador, with Henry Veltmeyer (2005)
  • Globalization Unmasked: Imperialism in the 21st Century, with Henry Veltmeyer (2001)
  • The Dynamics of Social Change in Latin America, with Henry Veltmeyer (2000)
  • Empire or Republic: Global Power or Domestic Decay in the US, with Morris Morley (1995),
  • Latin America in the Time of Cholera: Electoral Politics, Market Economics, and Permanent Crisis, with Morris Morley (1992)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท