Skip to main content
sharethis

โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์


 



 


 


ข่าวประชาไทรายงานไปแล้วถึงกระแส "เสื้อเหลือง" ในการประท้วงผลการเลือกตั้งที่เม็กซิโก รวมทั้งรายงานข่าวล่าสุดที่ศาลตัดสินให้นับคะแนนใหม่เป็นบางเขตเท่านั้น ในขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนนายโลเปซ โอบราดอร์ ต้องการให้นับคะแนนใหม่แบบบัตรต่อบัตรในทุกเขตการเลือกตั้ง


 


แม้ว่าประธานาธิบดีบุชจะรีบชิงตัดหน้าออกมาแสดงความยินดีกับ "ว่าที่" ประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโก กล่าวคือ นายเฟลีเป คัลเดโรน ที่ชนะในการนับคะแนนรอบแรกไปอย่างฉิวเฉียด (0.6%) ประธานาธิบดีบุชอาจจะรู้หรือแกล้งไม่รู้ก็ตามแต่ แต่ตามกฎหมายเลือกตั้งของเม็กซิโก การนับคะแนนเสร็จสิ้นยังไม่ได้หมายถึงการชนะเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด หากต้องรอให้ศาลการเลือกตั้งแห่งชาติรับรองการนับคะแนน ตัดสินข้อพิพาทให้เสร็จสิ้น และประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการเสียก่อน


 


ไม่ว่าประธานาธิบดีบุช ประธานาธิบดีแคนาดา สื่อกระแสหลักในสหรัฐอเมริกา หรือตัวคัลเดโรนเองจะเสียมารยาท "อย่างหนา" ด้วยการประกาศชัยชนะอย่างไร แต่ถ้ายึดถือตามกฎหมายเม็กซิกัน ขณะนี้ยังไม่มีผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีคนต่อไปจะเข้ารับตำแหน่งก็ต้องรอไปจนถึงเดือนธันวาคม อีกทั้งกฎหมายเม็กซิโกยังให้เวลาศาลการเลือกตั้งแห่งชาติไปจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ศาลมีอำนาจในการเปิดกล่องบัตรลงคะแนน สั่งให้นับคะแนนใหม่ หรือแม้กระทั่งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้


 


ฝ่ายสนับสนุนโลเปซ โอบราดอร์ ยืนยันให้มีการนับคะแนนใหม่แบบบัตรต่อบัตรในทุกเขตการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็เพราะมีปัญหาบัตรเสียที่น่าจะมากถึง 1 ใน 3 ของหน่วยการเลือกตั้งทั้งหมดที่มีอยู่ 130,000 หน่วย มีจำนวนบัตรเสียที่ถูกตัดออกจากการนับมากกว่า 2.5 ล้านใบ อันเป็นตัวเลขที่อาจหมายถึงชัยชนะของโอบราดอร์ที่จะมีเหนือคัลเดโรน


 


นอกจากมวลชนที่สนับสนุนโอบราดอร์แล้ว สถาบันที่เป็นที่นับหน้าถือตาในเม็กซิโก อาทิเช่น ศาสนจักรคาทอลิกก็ออกมาสนับสนุนให้มีการนับคะแนนใหม่เช่นกัน และถึงขั้นเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วง หากว่าศาลตัดสินให้คัลเดโรนชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีการนับคะแนนใหม่


 


การโกงการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ในเม็กซิโก แม้ว่าการซื้อขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้งจะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน และผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศจะรายงานว่า ไม่พบการทุจริตก็ตาม แต่การโกงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมัยนี้ทำได้แนบเนียนกว่าสมัยก่อน และคัลเดโรนกับพรรคพวกฝ่ายขวาในเม็กซิโกก็มีตัวอย่างชั้นดีให้เจริญรอยตาม นั่นคือ คะแนนเสียงเลือกตั้งที่ชนะมาอย่างน่ากังขาของประธานาธิบดีบุชนั่นเอง


 


กลิ่นตุ ๆ ในการนับบัตรลงคะแนนของเม็กซิโก เป็นกลิ่นตุ ๆ คล้าย ๆ กลิ่นที่เคยโชยหึ่งในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2000 ถ้ายังจำกันได้ เจบ บุช ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา น้องชายของจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งถอนชื่อของพลเมืองผิวดำหลายแสนคนออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยอ้างว่าคนเหล่านี้ทำผิดคดีอาญา ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่หลังจากเข้าไปตรวจสอบ อาชญากรรมเพียงอย่างเดียวของคนเหล่านี้ก็คือ การเกิดมาเป็นคนผิวดำและเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ฐานเสียงจำนวนที่ดูเหมือนไม่มากที่หายไปนี่เอง ทำให้ฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกาเอาทำเนียบขาวใส่พานถวายแก่ประธานาธิบดีบุชไปจนได้


 


รายชื่อผู้หมดสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในคราวนั้น เป็นผลงาน "สร้างสรรค์" ของบริษัทเอกชนชื่อ ChoicePoint of Alpharetta แห่งรัฐจอร์เจีย (หากผู้อ่านไม่ทราบ ก็ขอเรียนให้ทราบว่า การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกานั้น มีการ "แปรรูป" ให้เอกชนเข้ามาจัดการเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว) บริษัทชอยซ์พอยนท์นี่เองที่เข้าไปรับจัดการเรื่องการลงคะแนนเสียง (ซึ่งใช้ตู้อัตโนมัติและนับคะแนนด้วยเครื่องจักร)....จะที่ไหนอีกเล่าถ้าไม่ใช่ที่เม็กซิโก โดยมีรัฐบาลบุชหนุนหลังให้เสร็จสรรพ ภายใต้ข้ออ้าง "ต่อต้านการก่อการร้ายและส่งเสริมประชาธิปไตย" ในละตินอเมริกา


 


แน่นอน ในละตินอเมริกาไม่มีผู้ก่อการร้ายประเภทที่จะมาถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีแต่อาการ "เลี้ยวซ้าย" ที่ทำเนียบขาวทนทานไม่ได้


 


เช่นเดียวกับในฟลอริดาเมื่อ ค.ศ. 2000 ผู้สื่อข่าวนอกกระแสที่ออกไปสำรวจในกรุงเม็กซิโกซิตีพบว่า ประชาชนในละแวกยากจน โดยเฉพาะที่เป็นฐานเสียงนิยมนโยบายแบบเอียงซ้าย บอกว่าชื่อของพวกเขาหายไปเฉย ๆ จากรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียง นอกจากนั้น ยังมีบัตรที่เครื่องนับคะแนนไม่ยอมนับและกลายเป็น "บัตรเสีย" ถึง 827,000 ใบ (ในขณะที่คัลเดโรนชนะโอบราดอร์ไปแค่ 243,934 คะแนน) ทำให้ต้องกระหวัดนึกถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2000 ที่รัฐฟลอริดามีบัตรเสียถึง 179,000 ใบ 88% ของบัตรเสียมาจากเขตการเลือกตั้งที่ผู้ลงคะแนนเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ส่วนบัตรเสียในการเลือกตั้งของเม็กซิโกคราวนี้ ส่วนใหญ่มาจากเขตการเลือกตั้งในชุมชนยากจนที่เป็นฐานเสียงของโอบราดอร์


 


ด้วยเหตุนี้เอง โลเปซ โอบราดอร์และพรรคปฏิวัติประชาธิปไตย (PRD) ของเขา จึงเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยขอให้นับด้วย "มนุษย์" ไม่ใช่ "เครื่องจักร" รวมทั้งต้องเป็นการนับแบบบัตรต่อบัตรในทุกเขตการเลือกตั้งด้วย ดังนั้น การที่ศาลตัดสินให้มีการนับคะแนนใหม่เป็นบางเขต จึงถือเป็นความพ่ายแพ้ในขั้นต้นของโอบราดอร์


 



 


ทางแพร่งของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนในเม็กซิโก


แต่โอบราดอร์พ่ายแพ้จริงหรือ? หรือว่าตอนนี้ต่างหากคือห้วงเวลา---และอาจเป็นห้วงเวลาเดียวในชีวิตทางการเมืองของเขา---ที่เขาถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างแท้จริง?


 


การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าในโลกที่หนึ่ง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือในโลกที่สาม เช่น ในเม็กซิโก ประเทศไทย ฯลฯ เมื่อการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองสร้างรอยแยกขึ้นมาในประเทศ การชนะด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เด็ดขาด หรือการแบ่งขั้วทางการเมืองชนิดไม่ยอมเผาผีกัน เป็นอาการที่บ่งชี้ถึงความผุพังของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนเสียงข้างมาก (Representative Democracy)


 


ความขัดแย้งทางการเมืองในเม็กซิโกคราวนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการนับคะแนนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความคลางแคลงใจของประชาชนที่มีต่อความโปร่งใส, ความยุติธรรมทางสังคม และเส้นทางในอนาคตของประเทศด้วย


 


แม้ว่าฝนจะตกลงมาอย่างหนักตามฤดูกาล แต่ประชาชนจากทั่วประเทศยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ในจัตุรัสโซกาโลหน้าทำเนียบ ในวันที่ 31 กรกฎาคม มีประชาชนถึง 2 ล้านคนทนรอโอบราดอร์ขึ้นมาปราศรัย ถึงอากาศจะร้อนจัดจนมีหลายคนอยากกลับก่อน แต่ก็มีเสียงเรียกร้องให้อดทนต่อไป เพราะการประท้วงครั้งนี้ไม่ใช่แค่การประท้วงเลือกตั้ง แต่ถือเป็นการแสดงออกเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของชาวเม็กซิกันรากหญ้า ที่ปักใจเชื่อว่าตนถูกชนชั้นคนรวยและมีอำนาจปล้นเอาความยุติธรรมไปอีกแล้ว


 


ส่วนผู้สนับสนุนปีกขวาของเฟลีเป คัลเดโรน ใช้กลยุทธ์ต่างไปอีกแบบหนึ่ง พรรคกิจประเทศ (PAN) ของเขาจัดการพบปะกับบรรณาธิการบริหารของสื่อต่างประเทศยักษ์ใหญ่ และหาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจที่มีอิทธิพลระดับหัวแถวในเม็กซิโก คัลเดโรนบอกผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า เขาจะไม่ระดมมวลชนลงไปชนกับโลเปซ โอบราดอร์ตามท้องถนน แต่จะปกป้องคะแนนเสียงเลือกตั้งของตนด้วยวิธีอื่น คัลเดโรนเตรียมแถลงนโยบายต่อภาคส่วนต่าง ๆ ราวกับเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแน่นอนแล้ว


 


ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้สนับสนุนของโลเปซ โอบราดอร์ ชุมนุมอยู่ตามถนน ส่วนฝ่ายหนุนหลังคัลเดโรนมีบทบาทอยู่ตามห้องประชุมคณะกรรมการบรรษัทและห้องแถลงข่าวกับสื่อมวลชนต่างชาติ


 


โลเปซ โอบราดอร์ชนะใจชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเม็กซิกัน ด้วยการใช้โวหารที่อ้างถึงสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (แต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติจริงจังเสียที) เขาเสนอนโยบายลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ซึ่งถ่างกว้างขึ้นภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี


 


ส่วนแนวนโยบายของพรรค PAN เป็นไปตามโมเดลนี้ไม่มีผิดเพี้ยน ภายใต้ข้ออ้างว่าอะไรที่ดีต่อธุรกิจย่อมดีต่อประเทศ สำหรับชนชั้นกลางและล่างที่รอให้ผลประโยชน์ตามโมเดลนี้หยดหยาดลงมาถึงตนและรอเก้อมาหลายสิบปีแล้ว ข้ออ้างนี้จึงหมดสิ้นแรงโน้มน้าวใจ ประชาชนเชื่อว่าประเทศนี้เป็นหนี้พวกเขา และความมั่งคั่งของชนชั้นสูงแลกมาด้วยราคาที่ประชาชนเป็นคนจ่าย


 


ความคับแค้นที่คั่งค้างมานานของชาวเม็กซิกันนี่เอง ทำให้อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ หรือที่เรียกกันเป็นชื่อเล่นว่า อัมโล (AMLO—มาจากตัวย่อของชื่อเขา) สามารถระดมมวลชนได้หลายล้านคนทั่วประเทศ ไพ่ทางการเมืองที่เหนือกว่าในมืออัมโลตอนนี้ก็คือ การระดมมวลชนนั่นเอง


 


จัตุรัสโซกาโลที่ใหญ่เป็นที่สองของโลกรองจากจัตุรัสเทียนอันเหมินจึงลานตาไปด้วยสีเหลือง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรค PRD การแสดงพลังทางการเมืองแบบนี้ ทำให้นึกถึง "การปฏิวัติสีส้ม" ในเมืองเคียฟของยูเครน หลังการเลือกตั้งอันน่ากังขาในปี ค.ศ. 2004


 


แต่ถ้าหากโลเปซ โอบราดอร์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาก็คงชนะด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิวเช่นกัน เขาจะต้องทำงานกับสภาสูงและสภาล่างที่ไม่ได้เป็นมิตรกับเขาเลย ทั้งยังต้องเผชิญกับการปกครองประเทศที่แบ่งแยกทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรุนแรง


 


ลงท้ายแล้ว โลเปซ โอบราดอร์ ก็อาจเป็นเช่นนักการเมือง "เอียงซ้าย" ไม่รู้กี่คนต่อกี่คนในละตินอเมริกา เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งจริง ๆ กลับสร้างความผิดหวังแก่มวลชนที่อุ้มชูเขาขึ้นมา การที่เขาเอื้อมไม่ถึงตำแหน่งประธานาธิบดีในตอนนี้ต่างหาก ที่ทำให้มวลชนศรัทธาในตัวเขามากขึ้นกว่าเดิม โอบราดอร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการขัดขืน เป็นความฝันของชาวเม็กซิกัน เหมือนอย่างที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสเคยเป็นมาก่อน เพียงแต่เอลซุปไม่ได้แสวงหาอำนาจและไม่ได้มาจากสถาบันการเมืองในระบบอย่างอัมโล


 


หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างน่าเคลือบแคลง โอบราดอร์จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากระดมมวลชนออกมาต้านกระแส เพราะหากยอมจำนนตอนนี้ ก็ไม่แน่ว่าเขาจะมีอนาคตทางการเมืองเหลืออยู่อีก และชั่วขณะนี้คือชั่วขณะที่ความนิยมในตัวเขากำลังพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด หากเขายอมรับผลการเลือกตั้งอย่างว่าง่าย เขาจะสูญเสียความนิยมไปทันที เพราะมวลชนเม็กซิกันโหยหาการต่อต้านขัดขืน ไม่ใช่การยอมจำนน ถ้าหากเขาทำให้มวลชนผิดหวัง เป็นไปได้ที่มวลชนอาจจะหันไปหารองผู้บัญชาการมาร์กอสอีกครั้ง


 


แต่ในอารมณ์พลุ่งพล่านที่มวลชนรู้สึกเคียดแค้นเสียหน้าที่ชนชั้นสูงกำลังปล้นชัยชนะไปครั้งที่ไม่รู้เท่าไร ชาวเม็กซิกันอาจลืมไปว่า โลเปซ โอบราดอร์ ไม่ได้มีจุดยืนต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเต็มตัว ไม่น่าเป็นไปได้ที่อัมโลจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนและพาประเทศเลี้ยวซ้ายไปได้เท่าที่ประชาชนคาดหวัง ชาวเม็กซิกันต้องการเห็นรัฐบาลที่ต่อต้านสหรัฐฯ ต้องการเห็นชุดนโยบายซ้าย ๆ แบบถึงใจอย่างในเวเนซุเอลาและโบลิเวีย (ส่วนจะทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่พวกเขาลืมไปว่า อัมโลไม่น่าจะเป็นชาเวซหรือโมราเลสคนที่สองได้เลย


 


 


(อ่านต่อตอนหน้า ซาปาติสตา และ "ผู้แทนหมายเลขศูนย์")


 


 


................................................


ข้อมูลอ้างอิง


Laura Carlsen, "Mexico"s Critical Moment", IRC | August 2, 2006 http://americas.irc-online.org/


 


Mark Engler, "Mexico: Allow More Time For Democracy," http://www.democracyuprising.com


 


Sujatha Fernandes, "Way Forward for the Left?," http://www.zmag.org/content/showarticle.cfm?SectionID=59&ItemID=10735


 


John Gibler, "Designer Uprising: Scenes from Mexico City"s Post-electoral Mobilizations," http://www.zmag.org/content/showarticle.cfm?SectionID=20&ItemID=10724


John Gibler, "Scenes from the Oaxaca Rebellion," http://www.zmag.org/content/print_article.cfm?itemID=10708&sectionID=59


Dima Khatib (Aljazeera correspondent in Mexico), "Mexico: A Yellow revolution brewing?," http://english.aljazeera.net/NR/exeres/6BB5D6E4-47A9-4E3F-BB28-9C0F210CF020.htm


 


Greg Palast, "Mexico and Florida have more in common than heat," The Guardian,
Saturday July 8, 2006


John Ross, "Zapatistas at Critical Crossroads," http://www.counterpunch.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net