เสียงโต้จากกลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เซาดารอ)

ทางสำนักข่าวประชาไท มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่รายงานเรื่อง "เจาะวงใน "นักศึกษามุสลิม" กับสถานการณ์ร้ายชายแดนใต้" มีผลกระทบต่อนักศึกษามุสลิมในวงกว้าง และยินดีอย่างยิ่งที่ทาง "กลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือเซาดารอ ได้ใช้พื้นที่ของสำนักข่าวประชาไท เพื่อชี้แจงและตอบโต้ข้อเขียนชิ้นนี้ ซึ่งทำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ข้อมูลและความคิดที่รอบด้านยิ่งขึ้น

 

สำหรับ "นักการศึกษา" ที่กล่าวถึงในรายงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลพาดพิงถึงกลุ่มเซาดารอ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ดังที่ปรากฏในการชี้แจงและตอบโต้ข้างต้น ทางสำนักข่าวประชาไทขอยืนยันว่า ไม่ใช่ "ดร.วรวิทย์ บารู" ดังที่บางฝ่ายเข้าใจ

 

0 0 0

 

เสียงโต้จากกลุ่มส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เซาดารอ)

 

สืบเนื่องจากรายงานข่าวประเภท "ใส่ร้ายป้ายสี" มีเรื่องที่สมควรพิจารณาและทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้าใจผิดและนำสู่ความบาดหมางนั้น จะขอเกริ่นนำเหตุผลที่ทำให้ต้องชี้แจงสักเล็กน้อย

 

ก่อนอื่นนั้นทาง เซาดารอ ขอบอกถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการจัดตั้งกลุ่ม เซาดารอ ก่อน ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงนั้นคืออะไร เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ และทำไมต้องจัดตั้งกลุ่มเซาดารอขึ้นมา วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการจัดตั้งกลุ่มเซาดารอ มีดังนี้

 

1. เพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป

 

2. เพื่อนำศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนทุกภาคส่วนในประเทศ

 

3. เพื่อถ่ายถอดสภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และการยึดมั่นในหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดของคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้สื่อผ่านวัฒนธรรมให้ผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ ได้รับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ อันจะนำมาซึ่งความสามัคคีและปรองดองกัน

 

4. เพื่อสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามและสร้างความภาคภูมิใจให้กับเยาวชน

 

5. เพื่อรักษาและประพฤติปฏิบัติธรรม จริยธรรม ตามวัฒนธรรมอิสลาม

 

6. เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

 

จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เห็นได้ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของกลุ่มเซาดารอนั้นไม่มีส่วนหรือวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดนเลย แต่กลับตรงข้ามกันเสียอีกที่วัตถุประสงค์ของกลุ่มเซาดารอนั้นมีส่วนหรือมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความสามัคคีและความปรองดองกันภายในชาติ แต่ที่ ดร.วรวิทย์ บารู ได้กล่าวหาว่ากลุ่มเซาดารอนั้นเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้น ทางกลุ่มเข้าใจว่าเกิดจาก อคติส่วนตัว ที่ท่านมีต่อกลุ่มเซาดารอ เพราะกิจกรรมที่ทางเซาดารอจัดขึ้นนั้น เป็นกิจกรรมที่ผิดกับแนวคิด วะฮะบี ดังนั้นท่านจึงพยายามในทุกวิธี ที่จะทำลายกลุ่มเซาดารอ ไม่วิธีนั้นจะเป็นวิธีที่ ทุเรศเพียงใดก็ตาม

 

หนังสือที่อ้างอิงถึงนั้น(ประชาไท) ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม 2549

 

ได้อ้างคำพูดการให้สัมภาษณ์ของ ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ ตลอดจนเป็นนักการศึกษาผู้คลุกคลีอยู่กับนักเรียน - นักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาต่อเนื่องและยาวนาน นอกจากนักการศึกษาผู้นี้ได้พูดถึงคดีชื่อบุคคล ตามที่ปรากฏในข่าวแล้ว มีข้อความหนึ่งที่น่าสนใจและควรวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ

 

"นักการศึกษา" ผู้คลุกคลีอยู่กับนักเรียน - นักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาต่อเนื่องยาวนาน เชื่อว่าตอนนี้ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้" ส่งสมาชิกเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่ง ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ ไปจนถึงกรุงเทพมหานคร

 

นักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวกันทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ "กลุ่มเซาดารอ" เป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษา ที่มาจาก 5 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะเพิ่มอีก 5 โรงเรียนขนาดรองลงมาในภายหลัง

 

"ตอนยังนี้ไม่พบว่า มีนักศึกษาที่มาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย" นี่คือ ข้อมูลบางส่วนที่อยู่ในมือของ "นักการศึกษา" ผู้นี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่มีอยู่ชุดเดียวกับที่รัฐมีหรือไม่ แต่เท่าตรวจสอบพบว่า มีบางข้อมูลซ้ำกับที่เจ้าหน้าที่รัฐได้มา

 

กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน มีจำนวนที่แน่นอน เพียงพอกับงานเคลื่อนไหวในภารกิจแบ่งแยกดินแดน

 

จากที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มนี้ "นักการศึกษา" รายนี้ระบุว่า เป็นนักศึกษาที่มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ ที่จะต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะผู้ต้องหา หรือสถานะอื่นใดก็ตาม

 

จากข้อความที่ยกมาอ้างตอนหนึ่งนั้นตีความได้ว่านักวิชาการผู้นี้บอกว่า

 

(1) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนส่งสมาชิกเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งในภาคใต้และกรุงเทพมหานคร

 

(2) นักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อ "กลุ่มเซาดารอ"

 

(3) กลุ่มของนักศึกษากลุ่มนี้มาจากโรงเรียนเอกชนชื่อดัง 5 แห่งและรองอีก 5 แห่ง

 

(4) นักศึกษากลุ่มนี้ถูกจัดตั้งตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเพียงพอกับภารกิจในการแบ่งแยกดินแดน

 

(5) นักศึกษากลุ่มนี้มีความแน่วแน่ที่จะต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนไม่ว่าจะต้องตกอยู่ในสถานะอื่นใดก็ตาม

 

ข้อชี้แจงพร้อมกับวิเคราะห์ :

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความสูญเสียต่อหลายฝ่ายและมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายเพื่อจะให้ยุติปัญหานี้ด้วยวิธีการมากมาย

 

นักวิชาการผู้นี้แทนที่จะทำความเข้าใจด้วยเหตุด้วยผลอย่างกับอาจารย์ผู้มีวุฒิภาวะแต่กลับใส่ร้ายป้ายสีและสร้างฟิตนะฮ (ใส่ร้ายป้ายสี) อย่างร้ายแรง ด้วยการตีความเชื่อมโยงเหตุการณ์ข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้วโยนความสกปรกในความคิดขอตนให้กับคนนั้นคือ "กลุ่มเซาดารอ" ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำไม ? อะไรที่ทำให้เขาคิดอย่างนั้น ?

 

ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไม่รู้เลยว่าตั้งแต่กลุ่ม วะฮะบี เข้ายึดวิทยาลัยอิสลามมานั้น ก็พยายามจะยึดหรือมีส่วนในการตัดสินใจระดับคณะและวิทยาเขตด้วย

 

ดังนั้นการขยายตัวของแนวคิดวะฮะบี ในวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแห่งนี้ สร้างความอึดอัดใจแก่นักศึกษาที่ไม่ใช่ วะฮะบี และสร้างความหนักใจแก่ผู้ปกครองนักศึกษาที่จะส่งลูกหลานมาศึกษาต่อในสถาบันแห่งนี้ และสิ่งผู้ปกครองเป็นห่วงมากที่สุดคือการที่จะถูกครอบงำบุตรหลานของตน เพราะแนวคิดของ วะฮะบี ในภาคใต้นั้นสามารถแยกได้จากแนวคิดหลักของสามจังหวัดภาคใต้ ดังนี้

 

1. การจัดงาน เมาลิด เพื่อระลึกท่านศาสดาตามประเพณีมุสลิมภาคใต้ส่วนใหญ่จะปฏิบัติ แต่ว่ากลุ่ม วะฮะบี กล่าวว่าเป็นการกระทำที่ บาป

 

2. การจัดงานวัน อาซูรอ ซึ่งเป็นประเพณีมุสลิมภาคใต้ที่ปฏิบัติกันแต่ว่ากลุ่ม วะฮะบี กล่าวว่าเป็นการกระทำที่ บาป

 

3. ดูถูกและเสียดสีระบบการศึกษาแบบ ปอเนาะ ดั้งเดิม

 

4. การละหมาดฮะญาต ก็ผิด และอื่นฯ

 

กิจกรรมของกลุ่มซาดารอได้รับการตอบรับทั้งนักศึกษาและประชาชนข้างนอกค่อนข้างสูง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ดร. วรวิทย์ บารู ถึงได้ลำบากใจ เพราะอาจารย์ วะฮะบีใน มอ. (รวมถึง ดร. วรวิทย์ บารู) พยายามอย่างยิ่งที่จะครอบงำนักศึกษาด้วยกิจกรรมต่างๆ ผ่านการครอบงำ ชมรมมุสลิม สโมสรวิทยาลัยอิสลามศึกษา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยหนุนเสริม วางแผน จัดอบรม สัมมนาล้วนแต่หน้าเดิมๆ กลุ่มเดียว คือ กลุ่มวะฮะบี คอยควบคุมอยู่ กิจกรรมใดถ้าผิดแนว วะฮะบี ก็จะไม่อนุญาต เช่น งานเมาลิดและอื่นๆ

 

กลุ่มวะฮะบีใน มอ.จึงเป็นเครือข่าย (วะฮะบี บราโอ และเครือข่ายวะฮะบีโลกภายใต้แหล่งเงินสนับสนุนจาก สะอุดี (อันดับหนึ่ง )และอื่นๆ เพื่อขยายอิทธิพลแนวความคิดของวะฮบี เช่น

 

1. เงินสร้างมัสยิดที่สร้างความแตกแยกในสังคมมุสลิม

 

2. งานอบรมภาษาอาหรับที่เลือกพวกพ้องไปเรียนต่อ จนโรงเรียนปอเนาะหลายโรง แค่รู้ว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็นผู้จัด เขาก็รู้แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร

 

จากการเดินหน้าอย่างมั่นคงและมีความหวังที่จะฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่มเซาดารอ ก็คงจะแสลงใจ ดร. วรวิทย์ บารู กลัวว่านักศึกษาวะฮะบีจะมีบทบาทนำลดลง จึงจำเป็นต้องลดบทบาทนักศึกษากลุ่มที่ไม่ใช่วะฮบีลง แต่เสียดายแทนที่จะแข่งขันในการทำความดีแต่ ดร.วรวิทย์ บารู กลับใส่ร้ายป้ายสีข้อหาฉกรรจ์ขึ้นกับกลุ่มเซาดารอ เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน

 

ในอิสลามถือว่าการใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น อย่างขาดเหตุผลและมีจุดมุ่งหมายที่ชั่วร้ายนั้น เป็นบาปใหญ่

 

เมื่อคำนึงถึงกิจกรรมและเพื่อตอบสนองสิ่งที่ขาดหายไปใน มอ. เพราะถูกวะฮะบีกีดกันตั้งแต่ในวิทยาลัยอิสลามศึกษา (ระดับคณะ) และในวิทยาเขต ระดับผู้บริหาร จึงไม่แปลก ทว่า ในสมัยที่ ดร.วรวิทย์ บารู เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและชุมชนสัมพันธ์นั้น ได้สร้างความแตกแยกในหมู่นักศึกษามากมาย วิทยาเขตน่าจะศึกษาข้อมูลเจาะลึก เพื่อรวบรวมและหามาตรการแก้ปัญหา

 

ขออนุญาตเพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนรู้มาจากบรรดาอาจารย์ที่เป็นพุทธและมุสลิม ได้สอนสั่งวิชาความรู้และจริยธรรมให้แก่นักศึกษา ที่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ แต่ ดร.วรวิทย์ บารู กลับกล่าวหา นักศึกษากลุ่มเซาดารอเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แถมยังรวมไปถึงในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศอีกด้วย ดร.วรวิทย์ บารู ต้องการยกย่องกลุ่มวะฮะบีให้เด่นด้วยการใสร้ายป้ายสีคนอื่น ดั่งสุภาษิตไทยกล่าวว่า ดีใส่ตัว ชั่วใส่ผู้อื่น อย่างนี้หรือ

 

กลุ่มเซาดารอได้พยายามดำเนินเรื่องจัดตั้งชมรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีระเบียบของชมรมอย่างเปิดเผยตั้งแต่สมัย ดร. วรวิทย์ บารู เป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและชุมชนสัมพันธ์แล้ว แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ปัจจุบันก็กำลังดำเนินเรื่องอยู่ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องคอยติดตามดูต่อไปว่า จะมีอุปสรรคกันอย่างไร แต่แปลกตรงที่ว่าความคิดอิสระ ถูกต้องดีงาม และมีความหลากหลายกลับถูกวะฮะบีกีดขวาง เพียงเพื่อตัวเองจะได้เป็นผู้นำเท่านั้น ดร. วรวิทย์ บารู ควรไปทบทวนปรัชญา "เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา" ของในหลวงให้ลึกซึ้ง ถึงจะนำคนอื่นได้

 

อ่านแล้วกรุณาไปค้นหาแบบเจาะลึกและจะรู้ว่าสิ่งที่บอกไว้นี้ เป็นความจริงทุกประการ

 

ที่พูดถึงนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การขยายตัวของวะฮะบีมีอีกเยอะ และมันเกี่ยวโยงเป็นเครือข่ายสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างไร ดีไม่ดีอาจจะมีฉบับต่อไป

 

กลุ่มเซาดารอ (ผู้บริสุทธิ์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท