Skip to main content
sharethis


โดย นายหอกหัก


 


 


ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยละล้าละลังว่าจะจัดการชุมนุมขึ้นดีหรือไม่ ทางเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรก็ได้ดำเนินการชุมนุมและปิดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของตน


 


เครือข่ายหนี้สินเกษตรมีความรู้ในวิชาพื้นฐานของการเมืองบนท้องถนนในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 เรื่อง คือหนึ่ง รู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร สอง รู้ว่ากระทรวงเกษตรตั้งอยู่ที่ไหน     


 


ความรู้ทั้งสองเรื่องนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถ้าขาดความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไป การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรจะเป็นอย่างไร เราจะจำลองเหตุการณ์ให้ท่านดู     


 


เหตุการณ์แรก กลุ่มเกษตรกรไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงของตนเอง แต่รู้ว่ากระทรวงเกษตรฯ ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก เมื่อกลุ่มเกษตรกรเดินทางมาถึงกระทรวงเกษตรจะเกิดแรงกดดันต่อผู้รับผิดชอบกระทรวงฯ ยิ่งยืดเยื้อมากเท่าไร แรงกดดันก็มากขึ้น รัฐมนตรีอาจจะหลบหน้าไม่เข้ากระทรวงเกษตรไปพักหนึ่ง แต่หากเกษตรกรยังคงปักหลักกดดันอยู่ รัฐมนตรีอาจจะออกมาแก้ตัว หรือให้สัญญาบางอย่างแก่เกษตรกร เป็นต้นว่า สัญญาว่าจะให้เกษตรกรได้รับการรักษาพยาบาลฟรี สัญญาว่าสมัยหน้าจะเลิกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้อีก เป็นต้น


 


กลุ่มเกษตรกรอาจจะพอใจและบางส่วนอาจไม่พอใจ


 


เหตุการณ์ที่สอง เกษตรกรรู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร แต่ไม่รู้ว่ากระทรวงเกษตรอยู่ที่ไหน มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มเกษตรกรอาจเดินทางไปชุมนุมที่สวนลุมพินี ถนนราชดำเนิน หน้าทำเนียบ สนามหลวง  สวนจตุจักร ถนนบางนา-ตราด สยามพารากอน กกต. ศาล ฯลฯ เป็นต้น (เนื่องจากเกษตรกรไม่รู้จักกรุงเทพดีพอ)      


 


จากเหตุการณ์จำลองนี้จะทำให้กลุ่มเกษตรกรอ่อนล้าและหมดแรงไปเองในที่สุด บางส่วนที่ยังไม่หมดแรงก็ยังคงเดินทางไปชุมนุมตามที่ต่างๆ ต่อไป  


 


เครือข่ายหนี้สินเกษตรกรใช้ความรู้ทั้ง 2 ข้อได้เหมาะเจาะกับสถานการณ์ทางการเมือง ราวสี่เดือนก่อน เครือข่ายหนี้สินเกษตรกรเดินทางมายังกระทรวงเกษตรฯ อันเป็นช่วงเวลาที่พันธมิตรฯ กำลังเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล รัฐบาลที่ถูกกดดันจากชนชั้นกลางอย่างรุนแรง ด้วยเหตุที่ไม่อาจเปิดศึกหลายด้านทำให้รัฐมนตรีฯ ต้องให้สัญญาแก่เกษตรกรว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินให้พวกเขา


 


คล้ายกับเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน รัฐบาลสุจินดา คราประยูร ถูกกดดันจากชนชั้นกลาง เครือข่ายกรรมกรได้เรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจนเป็นผลสำเร็จ


 


เงื่อนไขของการเมืองในระดับชาติจึงอาจไม่ใช่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของคนจนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามอาจเป็นเงื่อนไขในทางสนับสนุนด้วยซ้ำ  


 


แต่ในช่วงครึ่งปีมานี้ เราแทบจะไม่เห็นกลุ่มชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวปัญหาความเดือดร้อนของตนเองเลย เกิดอะไรขึ้นกับขบวนการภาคประชาชนไทยหรือ?  


 


ย้อนมาดูช่วงเริ่มต้นของสมัชชาคนจน


 


"ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายและทางเลือกของสังคมของสมัชชาคนจนจึงยืนอยู่บนฐานของปัญหาที่แต่ละกรณีปัญหาประสบอยู่... เราจะให้ชาวบ้านมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องผลักดันในเชิงนามธรรมแต่เพียงอย่างเดียวได้อย่างไร ในเมื่อปากท้องของพี่น้องยังหิวอยู่" (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, 15 กันยายน 2540)


 


การเริ่มต้นชัดเจนครับ ประชาธิปไตยต้องกินได้  


 


ต่อมาก็คือ การยกระดับการเคลื่อนไหวปัญหาเฉพาะกลุ่มของตน มาเป็นปัญหาการเมืองสาธารณะ


 


คำที่ใช้ในหมู่สมาชิกว่า "ประชาธิปไตย" มีความชัดเจนว่า สมัชชาคนจนมีจุดหมายในประเด็นเรื่องสภาพการดำรงชีวิต แต่ก็เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อมีการผลักดันให้มีการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วย ดังนั้นจุดหมายในอีกระดับ/มิติหนึ่งของสมัชชาคนจน จึงเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการสร้างหลักการและกติกาใหม่ในระบบการเมืองด้วย" (จากสรุปคัดย่อ "การเมืองบนท้องถนน" ของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง)


 


แม้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะมุ่งไปที่ประชาธิปไตยที่กินได้ อย่างไรก็ตาม ขบวนการชาวบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมในสังคมไทย ที่ยังคงมีพี่เลี้ยงเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือรวมเอานักวิชาการเข้าไปด้วยก็ได้


 


แนวทางการเคลื่อนไหวทั้งหมดในห้วงระยะเวลานี้ถูกกำกับและชี้นำโดย "ตั่วเฮีย" ของภาคประชาชน ด้วยคำอธิบายว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะมีปัญหาเฉพาะของตน ค่าแรงต่ำ ถูกขับไล่จากพื้นที่ป่า ฯลฯ แต่ควรให้ความสำคัญกับการเมืองระดับชาติก่อน การขับไล่ทักษิณและปฏิรูปการเมืองจะเป็นคำตอบให้กับประชาชนในระยะยาว


 


เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเดือดร้อนเรื่องใดๆ ก็พับเอาไว้ก่อน จำเวทีพันธมิตรฯ ไม่ได้หรือครับ ปัญหาความรุนแรงที่ภาคใต้กว่าจะได้พูดก็นู่น........ตีสอง ถ้าหัวค่ำช่วง prime time ก็ต้องท้ากษิณ.....กันก่อน


 


แต่เชื่ออะไรไหม เมื่อถึงเวลาปฏิรูปการเมือง กลุ่มชาวบ้านนั่นแหละที่จะถูกให้ความสำคัญในลำดับท้ายๆ และก็จะลงเอยด้วยปฏิรูปเสร็จแต่ชาวบ้านไม่ได้อะไรติดมือเลย ข้อเสนอเพื่อการสร้างความคืบหน้าแก่ขบวนการประชาชนไทยก็คือ อย่ามัวไล่ทักษิณอย่างเดียว ใครมีปัญหาอะไรก็ไปนัดเจอกันที่หน้ากระทรวงหรือทำเนียบเลยครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net