Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 ส.ค. 49     คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 10 (พ.ศ.2550-2554) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( สศช.)เสนอ โดย ครม.จะส่งร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป


 


แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 มีเป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจตั้งเป้าปรับเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยกำหนดสัดส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศต่อภาคการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 75% หรือภาคเศรษฐกิจในประเทศมีสัดส่วน 75% ขณะที่ภาคการค้าต่างประเทศมีสัดส่วน 25% ผลิตภาพการผลิตรวมเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไม่เกิน 3% ต่อปี


 



ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ไม่เกิน 50% ความยืดหยุ่นในการใช้พลังงานไม่เกิน 1 : 1 ตลอดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่10 รายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูง 20%ระดับบน ต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย 20% ต้องไม่เกิน 10% และสัดส่วนผลผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 40% ในปี 2554


 



ด้านพัฒนาชุมชนและแก้ปัญหาความยากจน ตั้งเป้าพัฒนาทุกชุมชนให้มีแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแผนชุมชน ไปใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณ ลดคดีอาชญากรรมและยาเสพติดลง 10% ขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนและการมีส่วนร่วม ลดสัดส่วนผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนเหลือ 4% ภายในปี 2554


 



ด้านคุณภาพบุคลากร ตั้งเป้าให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สร้างศักยภาพให้ตนเอง เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมไทย โดยเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเป็น 10 ปี



นอกจากนี้ จะพัฒนากำลังแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่มเป็น 50% ของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานจะเพิ่มขึ้น 4.5% และเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยเป็น 10 คนต่อประชากร 1หมื่นคน กำหนดอายุเฉลี่ยคนไทยสูงขึ้นเป็น 80 ปี พร้อมลดอัตราเจ็บป่วยจากโรค 5 อันดับแรก คือ หัวใจ ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง และหลอดเลือดสมอง เพื่อลดรายจ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว


 



ด้านธรรมาภิบาล มุ่งเน้นให้ธรรมาภิบาลประเทศดีขึ้น โดยมีคะแนนภาพลักษณ์ความโปร่งใสอยู่ที่ 5.0 คะแนนภายในปี 2554 ระบบราชการมี ขนาดเหมาะสมและคุ้มค่า ลดกำลังคนภาครัฐให้ได้ 10% ภายในปี 2554 เพิ่มธรรมาภิบาลภาคเอกชน ท้องถิ่นมีความสามารถเก็บรายได้และมีอิสระ ขณะที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง และมีส่วนร่วม ตลอดจนรับผิดชอบบริหารจัดการประเทศ รวมทั้งมีการศึกษาวิจัย พัฒนาความรู้ด้านวัฒนธรรม ประชาธิปไตยปีละไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง


 



เป้าหมายสุดท้ายคือ สร้างความมั่นคงด้านฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ารักษาความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยต้องมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 33% เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่า 18% ของพื้นที่ประเทศ รักษาพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานไม่น้อยกว่า 31 ล้านไร่



นอกจากนี้ยังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และไม่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศ รักษาคุณภาพของแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 85% คุณภาพอากาศมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควบคุมขยะในเขตเมืองไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และลดอันตรายจากชุมชนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30%


 



อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์แผนพัฒนาฯดังกล่าว ในเวทีที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นต่อแผนเมื่อ วันที่ 11 ส.ค. โดยนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อ่านแล้วจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ แต่จะทำให้ประเทศมีปัญหามากในภายหลัง เนื่องจากครอบคลุมทุกเรื่องแบบครอบจักรวาลเกินไป โดยชี้ไม่ได้ว่าเงินที่มีจะนำไปทำอะไร พัฒนาอะไร จะเกิดปัญหากับสำนักงบประมาณ เพราะหน่วยงานรัฐมักจะอ้างว่าโครงการที่เสนอเป็นไปตามแผนพัฒนาฯและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)


 


ในวันนั้น นายฉลองภพยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า คือเรื่องการฟื้นฟูเอกลักษณ์สังคมไทย การรู้จักพัฒนาแบบทางสายกลาง การวางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับโลกภายนอกเพื่อรองรับกับการเปิดเสรี การพัฒนาด้วยการวางยุทธศาสตร์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและเชื่อมเส้นทางการค้าโดยเฉพาะกับจีนตอนใต้ มิฉะนั้นอาจตกรถไฟเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 แม้จะมีเรื่องพลังงานแต่ไม่มีแผนปฏิบัติ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชนยังขาดความชัดเจน ทั้งที่ควรมีรายละเอียดเนื่องจากต้องใช้วงเงินลงทุนมูลค่ามหาศาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net