Skip to main content
sharethis

ภาคใต้ - 16 ส.ค.49 ประเด็นโจรจีนคอมมิวนิสต์(จคม.)กับสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นที่สนใจขึ้นมามากขึ้นเมื่อผู้บัญชาการทหารบกหยิบยกขึ้นมาบอกกล่าวแก่สังคม แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ลองฟังเสียงอดีต จคม.ในเนื้อหา


 


ค้นคลังอาวุธ - ค่ายฝึกพบหลักฐานโยงคอมมิวนิสต์     


รายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา แจ้งว่า จากการปฏิบัติการร่วมของตำรวจจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) นำโดย พล.ต.ต.วรพงษ์ ชิวปรีชา หัวหน้าศูนย์ฯ และ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจ 24 อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กว่า 200 นาย เข้าตรวจค้นที่ซ่องสุมอาวุธและค่ายฝึกของกองกำลังจรยุทธ์ของกลุ่มอาร์เคเค ได้แก่ เกาะกลางน้ำเหนือเขื่อนบางลาง และ บริเวณเทือกเขาตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ตั้งค่ายพักของโจรจีนคอมมิวนิตส์มลายา (จคม.)ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา


 


ผลการปฏิบัติการครั้งนี้ ตรวจค้นพบคลังระเบิดที่บริเวณเขาน้ำตกจิ้งจก ต้นแม่น้ำฮาลู บ้านวังไทร หมู่ที่ 2 ตำบลแม่หวาด อาวุธที่พบ ได้แก่ ดินระเบิดไดนาไมท์ (ชนิดแท่งกลม) 74 แท่ง หมอนลม (ส่วนควบของส่วนประกอบระเบิดแสวงเครื่อง) ที่จัดทำเป็นสะพานไฟ 25 อัน สายไฟอ่อนชนิด 220 โวลท์ 2 ม้วน หัวล้านชนกัน(สายไฟฟ้าประกอบวงจรจุดระเบิด) 50 ชิ้นลวดสะดุดสำหรับระเบิดแสวงเครื่องแบบสะดุดจำนวนหนึ่ง เหล็กแขวนลักษณะเหงือกปลาหมอ 100 ชุด ลังอลูมิเนียมใส่อุปกรณ์กันความชื้น 3 ลัง เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดไว้ เพื่อรอการขยายผลหาที่มาของระเบิดดังกล่าว


 


ก่อนหน้านี้ จากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้ พบเป็นระเบิดแบบกับดักสำหรับเท้าเหยียบ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดสงสัยว่า น่าจะเป็นระเบิดชนิดเดียวกันกับที่ตรวจพบได้ที่ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต และไม่แน่ใจว่าอาจเกี่ยวพันกับอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายูซึ่งชำนาญในการประกอบระเบิดแสวงเครื่อง โดยอาจรับจ้างทำระเบิดให้กลุ่มก่อความไม่สงบหรือไม่


 


อดีตโจรจีนเชื่อลูกน้องมุสลิมมีเอี่ยว


นายอากัง แซ่ยี อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายู ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปิยมิตร อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ข้อมูลของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เรื่องมีคอมมิวนิสต์ลงมาเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้อมูลที่มีน้ำหนัก เนื่องจากในปี 2513 - 2517 พรรคคอมมิวนิสต์มลายูมีความขัดแย้งทางความคิดแยกออกเป็น 2 กลุ่ม 3 พวก คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายูกลุ่มใหม่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายู พวกที่ 1 กรม 8 มีนายอี้เจียง เป็นหัวหน้า


           


ส่วนพวกที่ 2 คือพรรคคอมมิวนิสต์มลายู เขต 2 มีนายจางจงหมิง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เป็นหัวหน้าพรรค พวกที่ 3 ประกอบด้วยพรรคคอมมิวนิสต์มลายู กรม 10, กรม12, เขตพิเศษ, กองพิเศษ/เขตผสม มีนายจีนเป็ง เป็นหัวหน้า และต่อมาในปี 2523 รัฐบาลได้ประกาศใช้คำสั่งที่ 66/2523 ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย โดยปรับเปลี่ยนแนวทางใช้การปราบปรามควบคู่กับการเจรจา จนประสบผลสำเร็จ


 


โดย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2530 จคม.กลุ่มแรก คือ จคม.กรม 8 กลุ่มของนายบุญชัย แซ่อึ้ง หรือนายอี้เจียง ได้ออกมารายงานตัวที่กองร้อย ตชด.437 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวน 122 คน พร้อมมอบอาวุธปืน 328 กระบอกและกระสุน 102,238 นัด


 


เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2530 จคม.กลุ่มที่ 2 จคม.เขต 2 หรือพรรคคอมมิวนิสต์ มาเลเซีย กลุ่มของนายหยีเจียน แซ่เซียว (จางจงหมิง) ได้ออกมารายงานตัวที่บ้านบ่อน้ำร้อน ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 542 คนพร้อมกับ จคม.อีก 7 คนที่หลบออกมาก่อน รวมเป็น 549 คน โดยมอบอาวุธปืน 592 กระบอก กระสุน 133,400 นัดด้วย


 


ในขณะที่กลุ่มแรกและกลุ่มสองออกมารายงานตัวนั้น การดำเนินการในการเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายูกลุ่มสุดท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดกับ พล.ต.กิตติ รัตนฉายา ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.พล.ร.5/ผบ.กกล.ผสม ฉก.ไทย ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและผลการใช้การเจรจาก็ประสบผลสำเร็จ คือการลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ที่โรงแรมลีการ์เด้น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นการลงนามสัญญาระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลมาเลเซียโดยฝ่ายไทยเป็นพยานพรรคคอมมิวนิสต์ นำโดยนายจีนเป็ง มีจำนวนทั้งสิ้น 1,121 คน ได้ออกมารายงานตัวตามที่ตั้งต่างๆ ในวันที่ 11 มกราคม 2533 เป็นกลุ่มสุดท้ายของ จคม.


 


นายอากัง แซ่ยี อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายู กล่าวว่า กลุ่มสุดท้ายที่ออกมารายงานตัวนั้นต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 3 ปี กว่าจะเจรจาให้มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะอยู่ในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และมีกลุ่มมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่อยู่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายูกลุ่มสุดท้ายนี้


 


นายอากัง กล่าวว่า อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายูที่ออกมาเคลื่อนไหวตามข้อมูลที่ พล.อ.สนธิ ระบุนั้น น่าจะเป็นเครือข่ายหรือลูกน้องเก่าของนายจีนเป็ง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ที่เซ็นสัญญายอมวางอาวุธเพื่อพัฒนาชาติไทยในปี 2532 ในขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นบัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดยุคนั้น


 


โดยเฉพาะในพื้นที่แนวเทือกเขาบูโด ที่มีนายจีนเป็ง เป็นหัวหน้า และมีลูกน้องเป็นมุสลิมจำนวนมาก จึงเชื่อว่าน่าจะมีบางส่วนที่ยังไม่ยอมเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะบางคนยังปักใจอยู่กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตที่รัฐปัตตานีถูกกระทำโดยสยามประเทศ


 


"สิ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่า อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายูได้ให้ความร่วมมือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีรูปแบบและยุทธวิธีคล้ายกับที่พวกเราเคยใช้ต่อสู้กับทหารมาเลเซียในอดีต เช่น โฆษณาชวนเชื่อให้มาอยู่ร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ ยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน มีด และมือเปล่า รวมทั้งการวางระเบิดบนเส้นทาง และในเหตุการณ์ปัจจุบันก็ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" นายอากัง กล่าว


 


นายอากัง กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารูปแบบการวางระเบิดดังกล่าว ไม่จำเป็นที่อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายูต้องลงมือปฏิบัติเอง เพียงแต่นำความรู้และยุทธวิธีที่ได้รับการฝึกฝนในอดีตมาถ่ายทอดให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ หรือไม่ก็รับจ้างผลิตระเบิดที่ในปัจจุบันอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บางคนสามารถหาวัตถุดิบที่ฝังดินที่ซุกซ่อนไว้ในป่านำมาใช้ และระเบิดบางชนิดก็ยังมีอนุภาพการทำลายยังสมบูรณ์อยู่


 


นายอากัง กล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกันบางครั้งยังพบว่า อาวุธบางชนิดที่นำมาก่อเหตุ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในปัจจุบันด้วย จึงเชื่อว่า มีอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายูมาร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบป่วนใต้ในปัจจุบันแน่นอน แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย เพราะคนในยุคนั้นปัจจุบันมีอายุมากแล้ว และบางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนเป้าหมายของการร่วมมือนั้นเชื่อว่า มีเจตนารมณ์อยู่สามอย่างด้วยกัน คือ 1.การร่วมอุดมการณ์กับกลุ่มก่อความไม่สงบ 2.การขายอาวุธและวัตถุระเบิด และ 3. การรับจ้างประกอบระเบิด


 


พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมดเข้าร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะแนวความคิดจะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังคงมีอยู่


 


ตั้งกองกำลังทหารพรานประจำถิ่น


พล.ท.องค์กร เปิดเผยว่า กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวคิดจัดตั้งกองร้อยสันติสุข หรือกองกำลังทหารพรานท้องถิ่น 30 กองร้อยในพื้นที่ ได้เสนอความต้องการไปแล้ว เพื่อจะดูแลความปลอดภัยประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ก่อความไม่สงบกระทำรุนแรงต่อประชาชนโดยไม่เลือกทำให้ผู้ผู้บริสุทธิ์หลายคนได้รับผลกระทบ


 


พล.ท.องค์กร เปิดเผยอีกว่า กองกำลังชุดนี้ มาจากคนในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อทดแทนกองกำลังที่มาจากกองทัพภาคอื่น โดยจะเป็นกองกำลังประจำถิ่น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่ง จะถอนกำลังของกองทัพภาคที่ 1 และ 2 ออก ส่วนจะจัดตั้งได้เมื่อไหร่ ต้องรอให้รัฐบาลอนุมัติก่อน


 


 เตือนป่วนใต้วันครบรอบหะญีสุหลง


นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า มีรายงานข่าวแจ้งเตือนว่า ในช่วงดึกของคืนวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ซึ่งตรงกับวันที่นายหะญีสุหลง โต๊ะมีนา อดีตผู้นำมุสลิมเสียชีวิต จะมีการก่อความไม่สงบขึ้น เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งการให้ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มและระมัดระวังพื้นที่ล่อแหลม ย่านชุมชน โดยให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดลอย ป้องกันคนร้ายแอบแฝงเข้ามาก่อเหตุ  


 


"ฟัครุดดีน"อาการดีขึ้น เตรียมถอดเครื่องช่วยหายใจ


นายแพทย์สุเมธ พีรวุฒิ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  เปิดเผยอาการของนายฟัครุดดีน  บอตอ  รักษาการ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาส  ที่ถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า  อาการดีขึ้น  สมองที่บวมเริ่มยุบตัวลง  คนไข้รู้สึกตัว  การตอบสนองต่อคำสั่งดีขึ้นระดับหนึ่ง  แต่แขนขาซีกซ้ายไม่สามารถขยับได้เหมือนเดิม  เพราะสมองซีกขวาขาดเลือดหล่อเลี้ยงเป็นเวลานาน  อย่างไรก็ตาม  อาการของนายฟัครุดดีน  ยังไม่พ้นขีดอันตราย  ขณะนี้แพทย์พยายามจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก  เพื่อให้คนไข้สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง 


 


"ส่วนอาการของครูจูหลิง  ปงกันมูล  ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ  จังหวัดนราธิวาส  ที่ถูกชาวบ้านทำร้ายบาดเจ็บสาหัส  ยังคงไม่รู้สึกตัวเหมือนเดิม ไม่มีการตอบสนองของสมองและก้านสมอง  ม่านตาขยายกว้างไม่ตอบสนองต่อแสง  สัญญาณชีพคงที่  ความดันโลหิตและชีพจรปกติ  ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง  จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจควบคุมการหายใจทั้งหมด  ซึ่งขณะนี้ครูจูหลิง รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นวันที่ 88 แล้ว" นายแพทย์สุเมธ กล่าว


 


ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน-วางบึ้มตำรวจเจ็บ


เมื่อเวลา 06.25 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2549 บนถนนสาย 4060 หมู่ที่ 4 ตำบลตาโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เกิดเหตุคนร้าย4 คน ใช้จักรยานยนต์ 2 คัน ใช้ปืนขนาด 9 มิลลิเมตร ประกบยิงนายรอมือลี วาบา อายุ 45 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลตาโละเดอรามัน ขณะออกไปกรีดยางพารา อาการสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกะพ้อ ตำรวจคาดว่าเป็นการก่อความไม่สงบ     


 


เวลา 09.40 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2549 เกิดเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องบริเวณศาลาริมทาง บริเวณปากทางเข้านิคมพัฒนาตนเอง หมู่ที่ 11 ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ขณะรถตำรวจ 191 เข้าจอด แรงระเบิดทำให้ ด.ต.ประกอบ แก้วมณี ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net