Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม : มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory license) จำเป็นสำหรับการรักษา



โดย นาธาน์ ฟอร์ด


หัวหน้าหน่วยแมนสัน ลอนดอน


องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF)


 


ภายในสถานที่ประชุมเอดส์โลกครั้งที่ 16 ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ดูราวกับช็อปปิ้งมอลล์ขนาดมโหฬาร กลุ่มผู้คนเดินออกจากห้องสัมมนาห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ยิ่งห้องประชุมไหนมีคนดังก็จะยิ่งดึงผู้คนให้ไปมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดังอย่าง บิลทั้งสอง (บิล คลินตัน และบิล เกตต์) และพระเอกฮอลลีวู้ด ริชาร์ด เกียร์ บรรดาผู้จัดงานก็มีตั้งแต่หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติจนไปถึงบริษัทยา  


สารที่การประชุมเหล่านี้พยายามสื่อ คือ ทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างดีแล้ว ขอเพียงให้มีการทำอย่างนี้เพิ่มขึ้นไปอีก หัวข้อของการประชุมครั้งนี้ก็คือ "ถึงเวลาลงมือได้แล้ว" (Time to Deliver) ดูเหมือนว่าจะเป็นคำพูดที่สื่อสารไปถึงทุกคน แต่ไม่เจาะจงกับผู้ใดเลย



อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของการแถลงข่าว การรายงานความก้าวหน้า ตัวเลขสถิติจำนวนมาก ข่าวตัด-ข่าวแปะทั้งหลาย ยังมีรายงาน "เศรษฐศาสตร์ของความมีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายให้การรักษาเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย" (The Economic of Effective AIDS Treatment Evaluating Policy in Thailand) ของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในวานนี้ (16 สิงหาคม) ได้ส่งสารที่ชัดเจนมากมาปลุกรัฐบาลไทยให้ตื่นจากหลับ  


รายงานดังกล่าวเป็นผลของการประเมินผลงาน 3 ปีของความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขไทยในการขยายการรักษาด้วยยาต้านไวรัส รายงานดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนว่า หากยังไม่มีการตัดสินใจเร่งด่วนที่จะสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงยาตัวใหม่ๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะถีบตัวสูงขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลต้องหยุดโครงการการให้ยาต้านไวรัสที่ถือเป็นตัวอย่างที่กำลังได้รับการชื่นชมอยู่ในขณะนี้



ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 80,000 คนในประเทศไทยกำลังได้รับการรักษา ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยยาชื่อสามัญที่ผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรมของไทย ทำให้ราคายาต้านไวรัสลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน ซึ่งจากรายงานของธนาคารโลกชี้ว่า โครงการนี้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง 


เอชไอวี/เอดส์เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาตลอดชีวิต นั่นหมายความว่า การสร้างความมั่นใจที่จะสามารถเข้าถึงยาตัวใหม่ๆ ที่สามารถลดปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ติดเชื้อบางส่วน และบางส่วนที่เผชิญกับภาวะดื้อยาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโครงการรักษาเอชไอวี/เอดส์



ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ยาใหม่ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นยาที่ติดสิทธิบัตร และมีราคาแพงมาก มากกว่ายาสูตรพื้นฐานที่ผู้ติดเชื้อฯใช้อยู่ จากรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อทำให้ยาเหล่านี้มีราคาลดลง ค่าใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลจะต้องเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าภายในระยะเวลา 15 ปี 


ยกตัวอย่างยาต้านไวรัสตัวสำคัญ โลพินาเวีย/ริโทรนาเวีย (Lopinavir/ritonavir) หรือมีชื่อทางการค้า Kaletra ของบริษัทแอ๊บบอท (Abbott) ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อฯ ที่ดื้อยาในสูตรพื้นฐาน ปัจจุบันราคาในประเทศไทยอยู่ที่ 125,000 บาทต่อผู้ป่วยต่อปี กลุ่มแพทย์ นักวิชาการ ได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ติดเชื้อ รวมทั้งองค์การหมอไร้พรมแดน (องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนโครงการการรักษาเอชไอวี/เอดส์มาตั้งแต่ปี 2538) ได้ร่วมกันผลักดันให้ผู้ผลิต คือ บริษัทแอ๊บบอท (Abbott) ลดราคายาตัวนี้มาตั้งแต่ต้นปี



แต่เชื่อว่าเป็นเพราะต้องการประชาสัมพันธ์เพื่อภาพพจน์ที่ดีมากกว่าที่จะรับฟังข้อห่วงใยของสาธารณชนอย่างแท้จริง บริษัทแอ๊บบอท (Abbott) ได้ประกาศในการประชุมเอดส์โลกที่โตรอนโต ว่าจะลดราคาให้โดยอยู่ที่ 88,000 บาท แต่ก็ยังคงเป็นราคาที่แพงเกินไปสำหรับประเทศไทย นั่นหมายความว่า ยานี้ยังคงอยู่ไกลเกินเอื้อม 


อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจการลงมือกระทำสามารถลดราคาลงได้ จากรายงานของธนาคารโลกชี้ว่า ด้วยการตัดสินใจใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory license) จะสามารถลดราคายาสูตรสำรอง (second-line treatment) ได้ถึง 90% รัฐบาลไทยจะสามารถลดงบประมาณแผ่นดินมากถึง 127,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้า นี่ไม่ใช่เป้าหมายที่ไร้เหตุผล เพราะต้องขอบคุณยาชื่อสามัญที่เข้ามาแข่งขัน ที่ทำให้ราคายาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน (first-line treatment) ลดราคาลงมาจาก 400,000 บาทต่อผู้ป่วยต่อปี มาอยู่ที่ 14,400 บาท ซึ่งลดราคาลงมาได้มากถึง 97%



อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยการตัดสินใจทางการเมืองที่เข้มแข็ง เพราะนี่เป็นสิ่งที่บรรษัทยาและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่อยากให้เกิดขึ้น ในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ที่กำลังดำเนินอยู่จะทำลายการเข้าถึงยาชื่อสามัญของยาสูตรสำรองเหล่านี้ ในการเจรจา สหรัฐฯกดดันให้มีกฎระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมายที่จำกัดความสามารถของรัฐบาลไทยในการปฏิเสธสิทธิบัตร ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถดำเนินโครงการรักษาผู้ติดเชื้อฯตั้งแต่เริ่มแรก  


ธนาคารโลกได้ส่งสารที่ชัดเจนถึงประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อรับประกันการรักษาเอชไอวี/เอดส์ในระยะยาวจะสามารถดำเนินต่อไปได้ การสั่งย้ายผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศไทยที่เคยเสนอแนะให้ประเทศไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อสร้างความมั่นคงในการเข้าถึงยาต้านไวรัสสูตรสำรองในราคาที่คนไทยสามารถจ่ายได้ แสดงให้เห็นว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองระดับโลกเพื่อขจัดอุปสรรคขวางกั้นนี้ ยังมีความก้าวหน้าน้อยมาก



ดังนั้น ประเทศไทยควรแสดงความแข็งแกร่งทางการเมืองตามข้อเสนอแนะของธนาคารโลก ด้วยการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาต้านไวรัสสูตรสำรอง มิเช่นนั้น พวกเราก็คงไม่สามารถทำได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net