Skip to main content
sharethis

วางผังภาคใต้เน้นอุตสาหกรรมคู่พื้นที่อนุรักษ์


 


กรมผังเมือง ลุยวางผังภาคใต้ เน้นพื้นที่อุตสาหกรรมคู่พื้นที่อนุรักษ์ ชูขยายถนน 4 เลนเชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึก ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กปะทิว กำหนดชายหาดพังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน หนุนเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพม่าส่งขายไทย


 


หาดใหญ่—22 ส.ค. 2549 กรมผังเมือง ลุยวางผังภาคใต้ เน้นพื้นที่อุตสาหกรรมคู่พื้นที่อนุรักษ์ ชูขยายถนน 4 เลนเชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึก ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กปะทิว กำหนดชายหาดพังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน หนุนเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพม่าส่งขายไทย


 


เมื่อเวลา 09.00 วันที่ 21 สิงหาคม 2549 ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ ครั้งที่ 5 เรื่องการวางและจัดทำผังประเทศและผังภาค: กลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ประเทศไทยและภาคใต้ มีผู้เข้าร่วม 200 คน


 


นายสุรพล คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเปิดสัมมนาว่า โครงการวางและจัดทำผังประเทศและผังภาค ดำเนินการระหว่างปี 2547 - 2549 โดยการสัมมนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอร่างผังกลยุทธ์ ซึ่งจะมีการระบุเป้าหมายของกิจกรรมและพื้นที่ รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการอย่างชัดเจน โดยจัดทำโครงการพัฒนา ซึ่งจะแสดงทั้งแผนงานโครงการและงบประมาณ


 


นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางและจัดทำผังภาคใต้ บริษัท ทีม คอลซัลแตนท์ จำกัด ได้นำเสนอหัวข้อ ผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ประเทศไทยและภาคใต้ว่า มีแนวคิดการพัฒนาภาคใต้ที่เน้นกระจายความเจริญแบบหลายศูนย์กลาง สร้างความสมดุลการพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม เสริมเสถียรภาพ ความเข้มแข็งจากระดับชุมชน ชุมชนเมืองและชนบท ร่วมมือและเชื่อมโยงการพัฒนาเป็นเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ศูนย์กลางหลัก กลุ่มพื้นที่ศูนย์กลางบริการ และเครือข่ายการพัฒนาเมืองและชนบท สำหรับผังนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบเมืองและชุมชน


 


นายพิภพ นำเสนอด้วยว่า ส่วนผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ แบ่งออกเป็นระยะ 5 ปี ระยะ 10 ปี และระยะ 15 ปี สำหรับผังกลยุทธ์ระยะ 5 ปี ได้แก่ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ จัดระเบียบและพัฒนาบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์กลางชุมชนหลักและระดับรอง พัฒนากลุ่มพื้นที่เมืองและชุมชน กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเมืองยาง ปาล์มน้ำมัน อาหารฮาลาล และอุตสาหกรรมส่งออก พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนสะเดา, ปาดังเบซาร์, ระนอง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา นิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ ทางหลวง และทางรถไฟเชื่อมโยง พัฒนาระบบทางด่วนช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี พัฒนาโครงข่ายทางหลวง 4 ช่องจราจร ช่วงชุมพร-ระนอง พัฒนาระบบรถไฟรางคู่ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางการเกษตรรองรับอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขนานาชาติ


 


นายพิภพ นำเสนอต่อว่า ส่วนในระยะ 10 ปี ได้แก่ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง พัฒนาบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์กลางชุมชนแต่ละระดับอย่างต่อเนื่อง พัฒนากลุ่มพื้นที่เมืองและชุมชน และเครือข่ายเมือง - ชนบท พัฒนากลุ่มและเครือข่ายอุตสาหกรรมทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนเบตง สุไหงโก - ลก พัฒนาระบบทางด่วนช่วงสุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ พัฒนาโครงข่ายทางหลวง 4 ช่องจราจร ช่วงระนอง - กระบี่ พัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางการเกษตรรองรับอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขนานาชาติ ระยะที่ 2


 


นายพิภพ นำเสนออีกว่า สำหรับผังกลยุทธ์ฯ ระยะ 15 ปี อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน พัฒนาบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์กลางชุมชนแต่ละระดับอย่างต่อเนื่อง พัฒนากลุ่มพื้นที่เมืองและชุมชน และเครือข่ายเมือง - ชนบท พัฒนากลุ่มและเครือข่ายอุตสาหกรรมทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ตากใบ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 นิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ ทางหลวง และทางรถไฟเชื่อมโยง พัฒนาโครงข่ายทางหลวง 4 ช่องจราจร ช่วงกระบี่ - พัทลุง พัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ช่วงหาดใหญ่ - สุไหงโกลก


 


ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดิน กลุ่มระบบโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มระบบเมืองและชุมชน เพื่อระดมความเห็นในการจัดวางผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ประเทศไทยและภาคใต้ในอนาคต


 


สมศักดิ์ เพรียบพร้อม จากสถาบันคลังสมอง ได้นำเสนอข้อเสนอของกลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินว่า ที่ประชุมเสนอให้เพิ่มแม่น้ำลำคลองและพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น กำหนดพื้นที่สะพานเศรษฐกิจเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำผังพัฒนาพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและพื้นที่โดยรอบท่าเรือระนองในระยะเร่งด่วนและตั้งศูนย์การศึกษาด้านพาณิชยนาวี


 


นายสมศักดิ์ เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้พัฒนาอุตสาหกรรมเมืองยางในจังหวัดสงขลาและสตูลพร้อมกันในระยะ 5 ปี ส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงครบวงจรที่จังหวัดระนองและภูเก็ต กำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่สัมพันธ์กับพื้นที่อุตสาหกรรมประมง กำหนดให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล


 


นายสมศักดิ์ เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้กำหนดที่ตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น (โรงถลุงเหล็ก) และอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรในอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร กำหนดพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันโดยสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ให้เพิ่มพื้นที่ปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ ปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ เช่น กล้วยไม้ กำหนดพื้นที่เกษตรผสมผสาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง


 


นายสมศักดิ์ เสนอว่า ที่ประชุมเสนอให้พัฒนาพื้นที่และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วย และเร่งพัฒนารถไฟรางคู่รองรับอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา และพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางชุมพร - ระนอง


 


นายนิรามาน สุไลมาน กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี และนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล อนุกรรมการโลจิสติกส์ หอการค้าจังหวัดสงขลา นำเสนอข้อเสนอของกลุ่มการพัฒนาระบบเมืองและชุมชนว่า ที่ประชุมเสนอให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ เช่น เดียวกับที่พัทยา


 และเสนอให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย, เมืองมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ, ศูนย์กลางวิจัยยางและตลาดอาหารฮาลาล


 


นายนิรามาน เสนอว่า ที่ประชุมเสนอให้พิจารณาจังหวัดตรังและสตูลเป็นเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องจากจังหวัดระนอง เสนอให้จังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นพื้นที่แปรรูปปศุสัตว์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่แปรรูปสินค้าเกษตร จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและเครื่องแต่งกายมุสลิม กำหนดให้อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางคมนาคม ขยายสนามบินบ่อทอง จังหวัดปัตตานี รองรับการบินพาณิชย์ พัฒนาเมืองชายแดนเพื่อรองรับแรงงานฝีมือ ควรเน้นอุตสาหกรรมแบบใช้ฝีมือ


 


นายนิรามาน เสนออีกว่า ที่ประชุมเสนอให้ ตั้งศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่จังหวัดสงขลาและอิสลามที่จังหวัดปัตตานี เสนอให้อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จังหวัดพัทลุงเป็นเมืองเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จังหวัดปัตตานี และอำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


 


นายนิรามาน เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอว่า การวางผังควรกำหนดเขตอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมการปลูกข้าวเพิ่มในภาคใต้ เสนอให้พัฒนาพลังงานทางเลือกจากผลผลิตทางการเกษตรแทนน้ำมัน เน้นการใช้เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ให้มีศูนย์กลางการแพทย์แผนไทย ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ


 


นายเกษียร ประเสริฐสุข รองนายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม นำเสนอของกลุ่มระบบโครงสร้างพื้นฐานว่า ที่ประชุม เสนอให้พัฒนาระบบทางด่วนพิเศษ(Motorway)ช่วงชุมพร - หาดใหญ่ - ภูเก็ต ในระยะ 5 ปี แทนที่จะพัฒนาช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี และ ช่วงหาดใหญ่ - สะเดา - มาเลเซีย อย่างเดียว เสนอให้พัฒนาถนน 4 ช่องจราจรในระยะ 5 ปี ช่วงชุมพร - ระนอง และสุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต และภูเก็ต - นครศรีธรรมราช พัฒนา รถไฟทางคู่ในระยะ 5 ปี ช่วงชุมพร - ทุ่งสง - หาดใหญ่ พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงภาคใต้ - ภาคกลาง สร้างเส้นทางขนส่งรถบรรทุกระหว่างท่าเทียบเรือระนอง - ชุมพรและระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล - สงขลา ในระยะ 5 ปี เสนอให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือชุมพร ในระยะ 5 ปี และพิจารณาตั้งcontainer yard ที่ชุมพรและสงขลา


 


นายเกษียร เสนอว่า ที่ประชุมเสนอให้ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยไม่ควรสร้างเขื่อนบนภูเขา แต่ให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำดิบแทน พัฒนาแหล่งน้ำรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว พัฒนาโครงข่ายน้ำจากแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ด้วยระบบท่อ ระบบคลองและระบบสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, พังงาและกระบี่ โครงข่ายลุ่มน้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานีและโครงข่ายน้ำลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และปากแม่น้ำปัตตานี


 


นายเกษียร เสนอด้วยว่า ที่ประชุมเสนอให้จัดหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน พัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์ ในช่วง 5 และ 10 ปี พัฒนาการใช้พลังงานพลังน้ำขนาดเล็ก โดยใช้ไดนาโมในการผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งน้ำผ่านระบบท่อไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ในระยะ 5 ปีในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและยะลา ในระยะ 10 ปีในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และพัฒนาการใช้พลังงานน้ำขนาดใหญ่ในระยะ 15 ปีในพื้นที่ลุ่มน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง


 


นายเกษียร เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้ส่งเสริมนักลงทุนไทยไปก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานจากถ่านหินในประเทศพม่าฝั่งตรงข้างจังหวัดชุมพร แล้วส่งไฟฟ้ามาขายในประเทศไทย จัดทำผังปลูกพืชพลังงานทดแทน ในระยะ 5 ปี ในจังหวัดกระบี่, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราชและชุมพร พัฒนาพลังงานคลื่นในฝั่งอันดามัน จัดทำผังพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในระยะ 10 ปี ในจังหวัดสงขลาและปัตตานี แล้วเพิ่มทุกครัวเรือนในทุกพื้นที่ และจัดทำผังพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยพลังงานลม ในระยะ 15 ปีในจังหวัดสงขลา ปัตตานีและนครศรีธรรมราช


 


นายเกษียร เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านโลจิสติกส์และด้านธุรกิจการบิน เร่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยยางครบวงจรตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ชุมพรและสุราษฎร์ธานี พัฒนาศักยภาพของวิทยาลัยการต่อเรือและซ่อมเรือในจังหวัดสตูล ตั้งศูนย์การศึกษาด้านภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในทุกจังหวัดของภาคใต้ ตั้งศูนย์การพัฒนาโรงเรียนปอเนาะ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนปอเนาะให้มีถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพร้อมกับเพิ่มเติมหลักสูตรการศึกษาระดับสามัญ


 


นายเกษียร เสนอต่อว่า ที่ประชุมเสนอให้พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข โดยสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติ ได้แก่จัดตั้ง ศูนย์บริการสาธารณสุขระดับนานาชาติในระยะ 5 ปี ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดภูเก็ต จัดตั้ง"ศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์ส่งต่อระดับภาคด้านหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งและอุบัติเหตุ ในระยะ 5 ปี ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และระยะ 10 ปีในจังหวัดภูเก็ต


 


นายเกษียร เสนอด้วยว่า ที่เสนอให้ตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขระดับภาค และกระจายสู่ระดับอำเภอ ตั้งศูนย์เสริมสร้างสุขภาพระดับจังหวัด ตั้งศูนย์บริการด้านสาธารณสุขเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและศูนย์พักฟื้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่จังหวัดพังงา กระบี่และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net