Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ส.ค. 49     น.ส.โซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยว่า ได้เห็นบันทึกข้อตกลงที่ทำโดยสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี ภายใต้การบริหารงานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เรื่องการแลกเปลี่ยนสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมจากสวนสัตว์สาธารณะเชียงใหม่กับ Chime-Long Nigth Zoo สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างบริษัท Guangzhon Panyu Xinngjiang Safari Park จำกัด กับเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี


 


เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี ตกลงมอบสัตว์จำนวน 4 ชนิด จำนวน 29 ตัว ประกอบด้วยช้างไทย 5 เชือก ค่าง 5 สี ตะโขง ส่วนทางกวางโจวตกลงมอบสัตว์ 14 ชนิด 89 ตัว ซึ่งมีเสือขาวรวมอยู่ด้วย โดยอ้างว่าเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี


 


น.ส.โซไรดา กล่าวอีกว่า ช้าง 5 เชือก ที่จะนำส่งไปประเทศจีนในครั้งนี้มีช้างพลาย 2 เชือก คือพลายโดโด้และพลายแตงอ่อน ช้างพัง 3 เชือก คือ พังสาวลำดวน พังรำพึง และพังหนุงหนิง โดยระบุว่ามีการฝังไมโครชิพทุกเชือก


 


แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าช้างทั้ง 5 เชือก เพิ่งได้ตั๋วรูปพรรณช้างในวันที่ 24 พ.ย.48 ออกให้โดยนายทะเบียนอ.เมืองสุรินทร์ ไม่ระบุอายุช้างแต่ละเชือก แต่ระบุในเอกสารว่าอายุระหว่าง 3-8 ปี เมื่อ คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารการส่งช้างออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบช้างทั้ง 5 เชือก ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าช้างทั้ง 5 เชือกนี้ จะมีประวัติการฝังไมโครชิพ รับรองโดยสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ก็ตาม แต่โครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี ไม่สามารถหาประวัติของแม่หรือพ่อของช้างทั้ง 5 เชือกได้ และไม่สามารถตรวจสอบพ่อหรือแม่ของช้างแต่ละเชือก ตามคำขอของกรมอุทยานได้ นอกจากนี้ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า (ฝ่ายวิทยาการอนุสัญญา) ได้มีหนังสือด่วนให้ความเห็นว่าการส่งลูกช้างออกไปจากประเทศจะกระทบต่อความมั่นคงของประชากรช้างบ้านในระยะยาว


 


ด้าน นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดหนังสือที่ระบุว่ากรมอุทยานให้ความเห็นว่าการส่งช้างไปต่างประเทศจะกระทบต่อความมั่นคงของประชากรช้างบ้านในระยะยาว แต่ไม่ว่ากรณีส่งช้างไปออสเตรเลียหรือจะส่งไปประเทศอื่น ๆ ปัญหาอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะถ้าอ้างยังอิงตั๋วรูปพรรณช้างที่ยังไม่รัดกุม ขาดการตรวจสอบ ซึ่งเป็นช่องโหว่ของกฎหมายก็คงจะแก้ปัญหาช้างทั้งระบบไม่ได้


 


ทั้งนี้ ยืนยันข้อเสนอว่าควรแก้กฎหมายช้างใหม่ โดยการออกตั๋วรูปพรรณช้างตั้งแต่แรกเกิด มีพ่อแม่ช้างยืนยันชัดเจน และตรวจสอบทุกปี เพื่อป้องกันการลักลอบนำลูกช้างป่ามาสวมตั๋ว แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ากระทรวงมหาดไทยในฐานะที่ดูแลช้างบ้านซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ.สัตว์พาหนะจะรับลูกหรือไม่


 


สำหรับการจะทำหนังสือระงับการส่งช้างทั้ง 5 เชือก หรือไม่นั้น นายดำรงค์ กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน เพราะแม้จะออกตั๋วรูปพรรณตามที่กล่าวอ้าง แต่ถ้ายังไม่สามารถหาแม่หรือพ่อช้างมายืนยันได้ก็ให้ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเหมือนกรณีช้าง 8 เชือก ไปออสเตรเลีย เพราะหากเป็นช้างบ้านก็ควรหาพยานหรือตรวจสอบประวัติความเป็นมาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net