Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ส.ค.2549  เว็บไซต์ประชาไทจัดเสวนา "กระทู้นรกโคตรๆ ... โปรดพิจารณา" โดยเชิญผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ณ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)


 



 


 


สมเกียรติ ตั้งนโม ผู้ดูแลเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงกรณีการปิดเว็บบอร์ดในเว็บไซต์ดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อันที่จริงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดมาแล้ว 3 ครั้ง โดยถูกทำให้กลายเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค กระทู้เคยหายไปถึง 7,000 กระทู้ แต่สามารถกู้คืนได้ราว 5,000 กระทู้ กรณีล่าสุดที่มีปัญหาเมื่อเร็วๆ นี้นั้น เป็นกระทู้ที่ตกไปอยู่ในหน้า 5 แล้วและถูกปิดโดยโฮสติ้งไม่ใช่ตำรวจ


 


สมเกียรติ ให้ความเห็นว่า แม้เขาจะไม่เคยเซ็นเซอร์กระทู้ในเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แต่การเซ็นเซอร์นั้นมีความจำเป็น เพราะเจ้าของเว็บจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่สำหรับเขาสิ่งที่น่ากลัวกว่าโทษจำคุกในกฎหมายคือรัฐธรรมนูญทางวัฒนธรรม (หรือแปลว่า สหบาทา) ดังนั้น จึงควรมีการควบคุมระดับหนึ่ง เพราะเสรีภาพไม่ได้เป็นเป้าหมายในตัวเอง เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีกว่า เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน น่าอยู่สำหรับทุกคน


 


ในส่วนของนิยาม "กระทู้นรก" สมเกียรติเห็นด้วยกับแนวคิดของ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ที่ระบุว่าสังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Transitional Democracy) ซึ่งอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ และผ่านมา 75 ปีก็ยังไม่ไปถึงไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการต่อรองแย่งชิงอำนาจระหว่างสถาบันและธนกิจการเมือง


 


"สถานการณ์ตอนนี้มันกลายเป็นการเผชิญหน้าของทหารไซเบอร์ (cyber soldier) ทั้ง 2 ฝ่าย และเว็บบอร์ดก็เป็นสนามรบของฝ่าย royalist กับ anti-royalist เว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ต้องปิดไปก็เพราะเราถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามรบ" เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวและว่าปัญหาที่ต้องเซ็นเซอร์อาจเป็นการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ใช้คำหยาบสาดโคลนใส่กันมากกว่าจะเป็นเรื่องหาที่ถกเถียงกัน


 


ในส่วนหลักพื้นฐานของเว็บบอร์ดนั้นสมเกียรติระบุว่า มันทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ เป็นที่ที่ผู้คนสามารถเปิดใจรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของตนเอง เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถถกเถียงทางการเมืองได้ ซึ่งในสังคมไทยแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะสื่อสาธารณะโดยทั่วไปถูกยึดครองโดยนักการเมืองและโฆษณา แต่การถกเถียงไม่ควรจบเพียงเท่านั้น ควรนำไปสู่ฉันทามติ หรือข้อโต้แย้งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม


 


อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่จิตวิทยาสังคม สมเกียรติระบุว่า การแสดงความคิดเห็นแบบไม่รับผิดชอบ เสมือนการบ้วนทิ้งบนเว็บบอร์ดนี้อาจเป็นการระเหิด หรือการระบายความอัดอั้นของผู้คน เป็นการรักษาเยียวยาต่อบุคคลนั้นๆ เหมือนกับกาต้มน้ำที่มีรูระบายไอน้ำ


 


ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า ปรัชญาเบื้องต้นของการก่อตั้งประชาไทคือต้องการมีสื่อที่อิสระ และเว็บไซต์เป็นช่องทางที่ใช้ต้นทุนต่ำ มีการบริหารเนื้อหาโดยใช้ระบบเครือข่าย อาสาสมัครจำนวนไม่น้อย สิ่งที่เป็นปัญหาคือหลังจากการเมืองเริ่มร้อนแรงจากการขับไล่ทักษิณ กระทู้ท้ายข่าวหรือบทความนั้นรุนแรงขึ้นมาก จนเกิดคำถามว่ากระทู้เหล่านี้ไปลดทอนความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่นำเสนอหรือไม่ และจำเป็นที่อาสาสมัครหรือแหล่งข่าวต้องเปลืองตัวกับการถูกรุมด่า หรือโพสต์ความเห็นที่ไม่รับผิดชอบหรือไม่ หรือนี่คือต้นทุนของเสรีภาพที่ต้องจ่าย ขณะนี้เรื่องนี้ก็ยังแก้ไม่ตก


 


"ทุกวันนี้ถ้าเราไม่เลือกข้างเราจะโดนทั้ง 2 ข้างถล่ม ทำให้วันนี้หน้าหนาขึ้น ใครด่าก็จะเฉยมาก แต่มันสะเทือนใจที่เพื่อนที่เราชวนมาเป็นอาสาสมัครจะโดนหนัก สัมภาษณ์แหล่งข่าวแหล่งข่าวก็โดนหนัก ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยโดนคุกคามจากรัฐ แต่ว่าเราโดนจากเพื่อนมิตรของเราเองที่มีจุดยืนต่างกัน" ชูวัสกล่าว


 


ชูวัสกล่าวอีกว่า มีคอลัมนิสต์อย่างอุทัยวรรณ เจริญวัย ฝากความเห็นมาด้วยว่า ในต่างประเทศเว็บบอร์ดในเว็บไซต์ของฝ่ายซ้ายซึ่งเน้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ของบล็อก ซึ่งผู้เขียนสามารถเขียนอะไรก็ได้โดยรับผิดชอบเองมากกว่า หรือหากมีเว็บบอร์ดก็จะจัดแยกพื้นที่ต่างหากจากบทความหรือข่าวที่นำเสนอ


 


วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิพย์ดอทคอม กล่าวว่า ในเว็บพันทิพย์เป็นการจัดการกับรูปแบบความคิดเห็นมากกว่าเนื้อหา เพราะเนื้อหาในเว็บพันทิพย์กว้างมาก ในยุคแรกไม่มีมาตรการอะไรเลย แต่ดูแล้วคงไม่อาจพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์สังคมได้ จนกระทั่งต้องมีการจัดการหรือการสร้างกติกาบางอย่าง เช่น การลงทะเบียน มีชื่อประจำ เพื่อให้ 1 ชื่อเท่ากับ 1 คนในโลกของความจริง และเจ้าหน้าที่จะทำลายข้อมูลทิ้งทุกๆ สิ้นเดือน รวมถึงการโหวตกระทู้เพื่อแก้ปัญหาคนดูแลไม่พอ


 


นอกจากนี้ยังมีการนำกลไกไฟเขียว-ไฟแดง มาทดลองใช้ให้สังคมไซเบอร์สเปซควบคุมกันเอง  โดยคนอ่านกระทู้ที่เห็นว่าเนื้อหากระทู้ใดไม่เหมาะสมก็สามารถให้ไฟแดงได้ หากครบ 7 อันกระทู้นั้นก็จะถูกซ่อนไว้ แต่ในความเป็นจริงก็เกิดการประลองกำลังกันในเชิงปริมาณระหว่างฝ่ายไฟเขียว ไฟแดงว่าใครจะครบ 7 คนก่อน


 


วันฉัตรกล่าวด้วยว่า การที่คนไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อเนื้อหานั้นอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าติดตามตัวไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีขณะนี้หากจะทำก็ทำได้ เพียงแต่ยุ่งยาก ดังนั้นหากไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนำสืบสักพักก็จะเลิก ขณะที่ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกานั้นไม่ค่อยมีปัญหาความไม่รับผิดชอบ เพราะสืบหาไอพีได้เลย อย่างไรก็ตาม ในอินเตอร์เน็ตน่าจะมีมาตรฐานกำกับอันเดียวกับโลกความเป็นจริง


 


ขณะเดียวกันเขาระบุว่า คนอ่านเองก็ต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร โดยในมุมมองของเขาคิดว่าการสื่อสารมีหลายระดับตั้งแต่เกรด A คือ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีการอ้างอิง มีการวิจัยที่มาที่ไป เกรดB คล้ายข่าวมีการแสดงความคิดเห็น และเกรด C หมายถึงความคิดดิบๆ ของมนุษย์ ซึ่งเว็บบอร์ดได้ให้พื้นที่ในการแสดงออกตรงนี้ ในมุมหนึ่งหากเราเข้มงวดกับการแสดงความเห็นมากเกินไปก็อาจทำให้สารที่เป็นความดิบของมนุษย์นี้หายไป


           


ภูมิจิต ยอง อุปนายกคนที่2 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า การถือกำเนิดของสมาคมผู้ดูแลเว็บเกิดขึ้นในเชิงเทคนิคล้วนๆ แล้วจึงขยายมาเป็นเรื่องปัญหาสังคม มีการร้องเรียนทั้งเรื่องเทคนิค กรณีหมิ่นประมาท เว็บโป๊ เว็บหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


เธอกล่าวว่า ในส่วนของจริยธรรมการดูแลเว็บบอร์ด เราเชื่อว่าหากผู้ให้บริการสามารถดูแลกันเองได้ รัฐก็จะไม่เข้ามาควบคุมมากนัก โดยหลักพื้นฐานของจริยธรรมในอินเตอร์เน็ตก็คือ ไม่แต่งเติมเนื้อหาเกินจริง ขออนุญาตลิขสิทธิ์ หากการพาดพิงต้องมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาด้วย


 


ส่วนกรณีเมื่อปีที่แล้วที่มีการบล็อค เว็บไซต์ของเอฟเอ็ม 92.5 เมกกะเฮิร์ต และเว็บไซต์ไทยอินไซด์เดอร์ ทางสมาคมฯ ซึ่งยึดมั่น ม. 39 ก็ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการบล็อคเว็บ แต่ก็ทำได้เท่านั้น จะให้เรียกร้องมากกว่านั้นคงลำบากเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และสมาคมฯ ไม่ฝักใฝ่การเมือง เป็นสมาคมวิชาชีพ ขณะที่บางแห่งมีปัญหาเชิงเทคนิคแต่กลับเหมาว่าเป็นเรื่องการเมือง ถูกอำนาจรัฐบล็อคเว็บก็มี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net