Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี


 


"อยากเรียน ต้องได้เรียน" แผลงฤทธิ์ กยศ.ฟ้องแล้วกว่า 4 หมื่นราย ด้านศาล จ. อุบลฯ เร่งไกล่เกลี่ยลดปริมาณการฟ้อง ประมาณการปีหน้า ถูกฟ้องกว่า 2 พันราย ด้านลูกหนี้เผยเหตุไม่ชำระ ว่างงาน เงินน้อย


 


จากการจัดโครงการรณรงค์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องกองทุนกู้ยืมเงินให้เพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านมานั้น


 


นายวรรัฐ สังข์ใหม่ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องกองทุนกู้ยืมเงินให้เพื่อการศึกษา (กยศ.)ในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องต่อศาล และเพื่อช่วยเหลือนักเรียน นิสิต และนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กยศ.และถูกบอกเลิกสัญญาให้เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องศาล โดยการเจรจาหาแนวทางในการยุติข้อพิพาทให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ลูกหนี้ยังได้รับโอกาสในการผ่อนผันการชำระหนี้ และได้รับเงื่อนไขที่ตรงตามความต้องการ ประกอบกับสามารถทราบผลทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลามาศาลอีก รวมทั้งลูกหนี้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกชำระหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อการไกล่เกลี่ยสำเร็จลูกหนี้ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีต่อศาล และยังเป็นการฝึกให้อาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชุมชนจำนวน 17 คนได้เพิ่มประสบการณ์ และช่วยลดปริมาณคดีที่มาจาก กยศ.ที่จะขึ้นสู่ศาลกว่า 1,500 คดีอีกด้วย


 


"ปีนี้ กยศ.ได้ฟ้องนักเรียนกู้ยืมเงินแล้วกว่า 40,000 ราย ประกอบกับต้องการให้นักเรียนไม่ถูกฟ้อง สิ่งที่นักเรียนจะได้คือ ถ้ามาตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความผ่อนชำระหนี้ถึง 9 ปี ลดเบี้ยปรับที่ค้าง 50 %จนกว่าจะผิดนัดอีกครั้งจึงจะปรับ ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้คือปิดบัญชีได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จะลดเบี้ยปรับให้ 80 % ถ้าถูกฟ้องจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกหลายประการ มีคดีติดตัวไปเข้าสมัครงานก็จะลำบาก"


 


สำหรับการไกล่เกลี่ยฯเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.49 นั้น ขณะนี้ได้ติดต่อกลับมากว่า 700 ราย จากจำนวนที่ต้องถูกฟ้องกว่า 2,000 รายในปี พ.ศ.2550 ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่อยู่ในข่ายที่ต้องถูกฟ้องร้องคือ รายที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวซึ่งในหนังสือระบุว่าหากไม่ชำระหนี้กองทุนฯขอเลิกสัญญา และรายที่จบการศึกษาแล้วปลอดหนี้ 2 ปี แต่ไม่ชำระหนี้ 4 ปี


 


สาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมมาชำระหนี้นั้นหลายรายยังมีความเข้าใจว่าเงินกองทุนดังกล่าวเป็นเงินให้เปล่า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะงบประมาณเป็นภาษีของประชาชน ต้องชำระคืนแน่นอน ประกอบกับเบี้ยปรับของกองทุนมีอัตราที่ไม่สูง


 


"กองทุนให้เวลา 2 ปีให้ไปหางานทำ จะไม่มีงานทำเลยเหรอ ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ไปแจ้งกองทุนขอผ่อนผันได้อีก 6 เดือนแต่นักเรียนไม่เคยแจ้งมาเลย จึงเกิดคำถามว่าเด็กสมัยนี้เลือกงานเกินไปหรือไม่ ผมแนะนำว่ามีงานอะไรให้ทำไปก่อนเพื่อฝึกประสบการณ์ของเรา"


 


นอกจากนี้จากการสอบถามผู้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวพบว่า สาเหตุที่ไม่มาชำระหนี้เพราะยังมีรายได้น้อยประกอบกับส่วนหนึ่งอ้างว่างานที่ทำอยู่ยังไม่มีความมั่นคง ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้มากขึ้น โดยหลังจากไกล่เกลี่ยแล้วหลายคนตั้งใจที่จะนำเงินมาชำระคืนกองทุนฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net