Skip to main content
sharethis

23 ส.ค. 2549 โรงเรียนตกมาตรฐานกว่า 2 หมื่นแห่ง เหตุครูไม่ครบตามเกณฑ์ ส่งผลให้นักเรียนด้อยคุณภาพ คิดเป็น 2 ใน 3 ของโรงเรียนทั้งประเทศ และจำนวนนักเรียนที่ตกอยู่ในวังวนด้อยคุณภาพนี้ถึง 4.5 ล้านคน ด้านครูช่วยราชการ 3 จังหวัดชายแดนใต้บุกกระทรวงศึกษาธิการ เผยส่วนใหญ่กว่า 1,900 คน ไม่ขอกลับไปสอนในพื้นที่สีแดง หวั่นชีวิตไม่ปลอดภัย


 


ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้สรุปการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาในทุกสังกัด ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรอบแรก พ.ศ. 2544-2548 จำนวน 30,010 โรง ทำต่อจากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 17,000 โรงทั่วประเทศ พบมีโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานปรากฏอีก 10,000 กว่าโรง รวมกับของเก่าที่เข้าขั้นวิกฤติ 10,000 โรง รวมเป็นขณะนี้มีโรงเรียนที่ต่ำว่าคุณภาพที่ทาง สทศ. ตั้งไว้ถึง 20,000 โรง คิดเป็น 2 ใน 3 ของโรงเรียนทั้งประเทศ และจำนวนนักเรียนที่ตกอยู่ในวังวนด้อยคุณภาพนี้ถึง 4.5 ล้านคน


 


สำหรับโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานส่วนมากจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 300 คน ซึ่งอยู่ห่างไกลและถูกทอดทิ้ง บางแห่งแม้อยู่ใกล้ตัวเมืองใหญ่แต่พบว่าคุณภาพต่ำสุดก็มี เช่น ที่ จ.นครปฐม และที่น่าตกใจโรงเรียน 10,000 โรง ที่เคยตรวจพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์ ยังไม่ได้มีการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น


 


ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า นับต่อจากนี้จะมีโครงการให้ออกซิเจนกับกลุ่มโรงเรียนเก่าที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำหรือเข้าขั้น I.C.U. จำนวน 10,000 โรง รวมไปถึงอีก 10,000 กว่าโรงที่พบใหม่ด้วย โดยจะทำโครงการพัฒนามาตรฐานให้กับโรงเรียนเหล่านี้ ตั้งเป้างบประมาณไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ระยะเวลา 4 ปี ทางสมศ. รับอาสาจะหาเงิน 3 ใน 4 ให้ ส่วนอีก 1 ส่วนจะให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้รับผิดชอบ


 


สำหรับวิธีดำเนินการจะเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการประเมินผลในรอบเดิมให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดก่อน จึงค่อยเริ่มประเมินคุณภาพโรงเรียนรอบ 2 ประมาณ 7,000 โรง ในช่วงเดือน ต.ค. 2549-2553 ทั้งนี้จะมีการเสนอให้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่เป็นลักษณะขององค์กรมหาชนขึ้นมา 2 องค์กร โดยทำหน้าที่แตกต่างกันไป องค์กรแรกจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้โรงเรียนพัฒนาศักยภาพไปตามเป้าหมายที่วางไว้


 


อีกองค์กรหนึ่งจะทำหน้าที่ในการจัดสรรเงินกองทุนให้เป็นแบบมาตรฐาน คือถ้ามีการเสนอโครงการไปก็สามารถที่จะจัดสรรเงินให้ได้เลย โดยไม่ต้องติดระบบข้าราชการที่อาจทำให้งานชะงัก ไม่ทันกิน


 


 "ผลการประเมินคุณภาพโรงเรียนจะเชื่อมโยงกับผลการทดสอบ O-NET และ A-NET ด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องของเหตุผลที่ว่าโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานถึง 2 ใน 3 ค่าเฉลี่ยผลสอบที่ออกมาเลยตกแบบประทับใจ คือ ตกมันหมดทุกวิชา เพราะฉะนั้นอยากฝากไปถึงนักเรียนด้วยว่าอยากให้ทำข้อสอบ O-NET เต็มที่"


 


อย่างไรก็ตามในการสำรวจครั้งล่าสุด มีข้อดีที่ว่าทางชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ตนเองมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีการถ่ายโอน แต่อยากให้ทาง อปท.ใช้เงินแผ่นดินที่ได้รับจัดสรร 35% มาใช้ในการศึกษาให้มากขึ้น โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และการถ่ายโอนก็จะไม่ใช่ประเด็นยืดเยื้อกันอีกต่อไป


 


ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินขั้นต่ำก็คือ ขาดอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาผู้เรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามลักสูตรต่ำ ขาดแคลนครูทั้งปริมาณและคุณภาพ สมศ.จึงแนะนำว่าให้โรงเรียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน 8,000 โรง ได้รับการรับรองเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 35 พ.ร.บ.บริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง


 


ด้านนางพรนิภา ลิปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ไม่รู้สึกแปลกใจที่ สมศ.ระบุโรงเรียนไม่ผ่านการประเมินกว่า 2 หมื่นโรง เพราะเคยรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปว่า หากใช้การประเมินตามเกณฑ์ของ สมศ. แค่เรื่องสัดส่วนครูใช้เกณฑ์ของ สมศ.จะขาดครูกว่า 1 แสนคน ดังนั้น อยากให้ สมศ.ปรับเกณฑ์ในการประเมินใหม่ ควรมีการปรับเกณฑ์หลากหลายระดับ โรงเรียนที่อยู่ในเมือง โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ควรแตกต่างกัน นอกจากนี้อยากให้มีเกณฑ์ยืดหยุ่น ครูที่อยู่ห่างไกลแล้วมีนักเรียนจำนวนไม่มาก อาจใช้เกณฑ์ครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน


 


วันเดียวกัน นายเจริญ อ่อนเจริญ ประธานศูนย์เครือข่ายครูช่วยราชการฉุกเฉิน จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สพท.สงขลา 3 พร้อมคณะครู เดินทางมากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกล่าวว่าต้องการให้บรรจุครูช่วยราชการ สอนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย แทนการเรียกกลับไปสอนโรงเรียนในพื้นที่สีแดง


 


ทั้งนี้ ในสมัยที่ นายอดิศัย โพธารามิก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลมีนโยบายให้ครูในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สงขลา เขต 3 (สพท.) แจ้งความประสงค์ขอย้ายออกไปช่วยราชการตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้ ขณะเดียวกัน ก็จ้างครูอัตราจ้างมาสอนชั่วคราวในโรงเรียนที่ขาดครู โดยส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่เข้าไปสอนแทน เพื่อความปลอดภัยของครู


 


นโยบายดังกล่าวได้มีครูช่วยราชการกว่า 1,900 คน แต่การขอย้ายไปช่วยราชการเป็นสัญญาปีต่อปี แล้วเดือนกันยายนนี้จะครบกำหนดตามสัญญา หากครบกำหนดแล้วครูจะต้องย้ายกลับไปสอนยังโรงเรียนเดิม ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ยังรุนแรงมีการไล่ล่าฆ่ารายวัน จากข้อมูลข่าวกรองทางทหาร พบว่า ช่วง 2 เดือนมีการถูกทำร้าย ฆ่า กว่า 60 เรื่อง


 


"ครูส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายกลับไปสอนโรงเรียนเดิม เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิต ผมก่อนที่จะย้ายออกมาเคยถูกคนร้ายไล่ฆ่ามาแล้ว 2 ครั้ง แต่รอดมาได้ หากจะให้ย้ายกลับไปสอนอีกใครจะมารับรองเรื่องความปลอดภัย อยากให้ผู้บริหารกระทรวงคำนึงถึงความปลอดภัยของครู ลองนึกดูว่าชุดคุ้มกันยังถูกลอบทำร้าย แล้วครูซึ่งมือถือชอล์กจะไปสู้รบปรบมือกับผู้ที่จ้องทำร้ายได้อย่างไร" นายเจริญกล่าว


 


ด้านนางพรนิภากล่าวว่า ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเรียกตัวกลับไปสอนยังโรงเรียนเดิม เพราะศธ.ยังมีนโยบายให้สอนในโรงเรียนที่ช่วยสอนอยู่ในขณะนี้


 


ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net