Skip to main content
sharethis

26 ส.ค. 2549 - สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "สู่ความชัดเจนในระเบียบธรรมาภิบาล: ประเด็นสืบเนื่องจากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น" จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อระดมความเห็นจากนายธนาคาร นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจผ่านไป 10 ปี ได้มีการแก้ไขในเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540


 


นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของไทยยังเหมือนเดิม แม้จะพยายามพัฒนาให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ แต่ยังมีช่องโหว่เรื่องกฎหมายและกติกาไม่ชัดเจน จึงทำให้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบุคคลเป็นหลักและให้อำนาจกับบุคคลตัดสินมากเกินไป ทำให้เกิดช่องโหว่ที่เอต่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง


 


ดังนั้น ควรจะมีการปรับปรุงกฎกติกาที่ชัดเจนชี้ชัดว่าอะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรโปร่งใส ซึ่งหากระบบธรรมาภิบาลของประเทศยังมีปัญหาจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจจะไม่ได้รับการพัฒนา มีเพียงผู้มีอำนาจและพวกพ้องที่จะหาผลประโยชน์จนเติบโต ทุกคนยอมรับว่าก่อนวิกฤติเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล มีการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล เพื่อกระจายไปสู่พวกพ้องและญาติมิตร เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาธรรมาภิบาลก็ยังคงอยู่ เช่น กรณีการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจโดยตรง และยังคงเป็นประเด็นที่คลุมเครือถึงปัจจุบัน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นข้อมูลทางวิชาการอย่างแท้จริง ไม่ได้มุ่งหาคำตอบว่าการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร


 



ในงานเสวนากลางปีครั้งนี้ กล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเฉพาะกรณีการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการสอบสวนกรณีนอมินี ซึ่งระบุว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของตุลาการหรือวุฒิสภาขึ้นมาตรวจสอบ แต่คณะกรรมการจะต้องมีความน่าเชื่อถือและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง


 


เนื่องจากคณะกรรมการที่ทำการตรวจสอบในปัจจุบันเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชารัฐบาล แต่ต้องมาดำเนินการตรวจสอบผู้บังคับบัญชา จึงขาดอำนาจที่แท้จริง เพราะหากผลการตรวจสอบออกมาว่ามีความผิด ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บังคับบัญชา แต่หากผลสอบออกมาว่าไม่ผิด สังคมอาจจะไม่ยอมรับ จึงควรจะมีการสร้างหลักการคานอำนาจ เนื่องจากกรณีหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นเป็นประเด็นที่มีข้อสงสัยตลอดปีที่ผ่านมา และถือเป็นจุดอ่อนของนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้ หากยังคลุมเครือเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้


 



นอกจากนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มีความเห็นว่าควรจะปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดมาก เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ก.ล.ต. ทั้งที่รัฐมนตรีคลังไม่เคยเข้าร่วมประชุม ขณะที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบลงนามในประกาศ ก.ล.ต.ทั้งหมด ส่วนกรรมการ ก.ล.ต.คนอื่นมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งมีภารกิจมาก จึงเสนอให้มีคณะกรรมการ ก.ล.ต.แบบเต็มเวลา เพื่อจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะก.ล.ต.มีความซับซ้อนและยุ่งยาก รวมทั้งเสนอให้มีการบัญญัติอำนาจของ ตลท.ให้ชัดเจน อย่าให้มีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง


 



ด้านนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นต่างกรณีภาระภาษีหุ้นชินคอร์ป โดยระบุว่ากรณีบุตรชายและบุตรสาวนายกรัฐมนตรีได้หุ้นในราคาต่ำกว่าตลาด ซึ่งกรม สรรพากรชี้แจงว่าแม้จะถือเป็นประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ผู้ซื้อยังไม่ได้รับ จะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อขายหุ้นดังกล่าวไปแล้ว จึงถือว่าไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน โดยส่วนตัวเห็นว่า ส่วนต่างจากการซื้อทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้ซื้อ ขณะที่ซื้อได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสียภาษี


 



ส่วนกรณีบริษัทกุหลาบแก้ว ซึ่งมีนายพงศ์ สารสิน และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 51 อาจจะดูเหมือนเป็นบริษัทคนไทย และเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าทั้ง 2 คน เป็นนอมินีให้กับนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ แต่สามารถพิสูจน์ได้จากการดูพยานแวดล้อมและข้อเท็จจริง รวมทั้งการใช้หลักการ การใช้สิทธิโดยสุจริตตามมาตรา 5 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


 


ในกรณีดังกล่าวอาจเชื่อได้ว่าทั้ง 2 คน เป็นนอมินีของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนปกติไม่น่าจะลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ์ของบริษัทกุหลาบแก้ว เพราะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตร ขณะที่ไม่มีความมั่นคงและไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการ ดังนั้น ถ้าใช้หลักการการใช้สิทธิโดยสุจริตดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นคำถามว่าใครจะลงทุนในหุ้นกุหลาบแก้ว สำหรับข้อเสนออยากให้ขอให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีกลางปีของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประโยชน์ที่ได้รับส่วนลดที่น่าจะถือเป็นเงินได้ จะต้องเสียภาษีกลางปี ซึ่งต้องยื่นแบบต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 กันยายน 2549 นอกจากนี้ ยังควรแก้ไขประมวลรัษฎากร


 



นายธิติพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรต้องตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นว่าจะเก็บเหมือนภาษีทั่วไปหรืออาจให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากหากไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางภาษี นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาศึกษามาตรการป้องกันการเลี่ยงภาษี เช่น การตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่มีหนี้สินสูง ซึ่งสามารถนำดอกเบี้ยมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เกินสมควร หรือการป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยการตั้งบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริงในต่างประเทศ


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net