Skip to main content
sharethis



 


 


การออกเดินทางจากบ้านในวันแม่ ซึ่งลูกๆ ส่วนใหญ่ตัดสินใจอยู่กับบ้าน อาจทำให้ผู้เป็นแม่เกิดความกังขาอยู่บ้าง แต่สำหรับวัยรุ่นที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับเพื่อนเสียมาก คงไม่ได้ตระหนักรู้ใดๆ ว่าพวกเขามีความสำคัญต่อบ้านเพียงไร


           


วันแม่ที่ผ่านมา วัยรุ่นจากบ้านน้ำเค็มและบ้านบางใหญ่ร่วม 40 คน หอบหิ้วกระเป๋าจากระนองข้ามเขตไปยังภูเก็ต เพื่อร่วม "โครงการฟื้นฟูจิตใจและพัฒนาทักษะชีวิต ค่ายวัยรุ่นกับความรุนแรง" ณ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต จ.ภูเก็ต โดยค่ายครั้งนี้เป็นความร่วมมือของมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และสหไทยมูลนิธิ ที่มุ่งหวังให้ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นเบาบางลง


           


ไม่ทันที่จะผ่านพ้นกิจกรรมวันแรกก็ทำให้น้ำตาของความรักความห่วงใยที่แม่ลูกมีให้กันรินหลั่ง น้องๆ ในค่ายหลายคนร้องไห้เพราะซาบซึ้งในความรักที่แม่เขียนข้อความสั้นๆ ส่งถึงพวกเขา เพื่อให้น้องๆ อ่านในกิจกรรมช่วงค่ำ


           


ช่วงวันแรกๆ ความอยากเรียนรู้ในกิจกรรมใหม่ๆ มีไม่มากนัก เพราะอาจด้วยความไม่คุ้นชินในรูปแบบของกิจกรรมที่ต้องรวบยอดประเด็นไปสู่ความคิดใหม่ๆ พร้อมกับสื่อสารออกมาเป็นสื่อละคร วันแรกๆ ของวัยรุ่นกลุ่มนี้จึงมีแต่เสียงสอดแทรกด้วยเรื่องราวอื่นๆ และการลุกออกจากสถานที่ทำกิจกรรมเป็นระยะๆ


           


แต่เมื่อกิจกรรมเริ่มเข้าสู่กระบวนการลงมือทำจริง ด้วยการแบ่งความชอบออกเป็นการผลิตสื่อละคร การเขียน การวาดภาพ และบทเพลง น้องๆ เริ่มกระตือรือร้นมากขึ้น หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าวันแรกของการเดินทางเป็นวันแม่ซึ่งหลายๆ คนไม่อยากอยู่ห่างแม่


           


"ฉ๊ะ" ณัฐพร หมาดหยา วัย 15 ปี วัยรุ่นจากบ้านบางใหญ่ เล่าว่า "ถ้าอยู่บ้าน ก็จะช่วยที่บ้านเก็บหอยมากินบ้าง มาขายบ้าง แต่มาที่นี่ก็ดีที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เพราะกิจกรรมเป็นการสอนชีวิตไปด้วย"


           


น้องฉ๊ะ ไม่เลือกทำกิจกรรมใดๆ จากทั้งสี่กิจกรรม เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ถนัดในการสื่อสารผ่านงานศิลปะเหล่านั้น แต่น้องฉ๊ะเลือกที่จะบริการน้ำและขนมให้เพื่อนๆ ถ้ามีเวลาก็จะไปร่วมระบายสีหรือนั่งชมละครที่เพื่อนๆ ซ้อมก่อนการแสดงจริง


           


เช่นเดียวกับ "เล็ก" วณัตยา โคกเคียน เพื่อนร่วมรุ่น ที่บอกว่ารู้สึกสนุกกับการเตรียมอาหารเพราะปกติก็ชอบทำอาหารมากกว่าอยู่แล้ว แต่การมาครั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยลดความรุนแรงที่วัยรุ่นมักใช้เป็นเครื่องมือในการหาทางออกได้ดี


           


สำหรับละครของวัยรุ่นกลุ่มนี้ อิงอยู่กับเรื่องราวของแม่ และปัญหาวัยรุ่นที่แก้ปัญหาด้วยการเสพยา แต่ด้วยความรักที่แม่มีต่อลูก จึงอดทนรอคอยวันลูกกลับมาอยู่พร้อมหน้าอีกครั้ง ซึ่งปัญหาที่น้องๆ ถ่ายทอดออกมานี้ไม่ได้เกิดขึ้นหลังสึนามิมาสร้างความสั่นคลอนให้กับสภาพชุมชนของพวกเขาแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ปัญหาดังกล่าวกลับยืนควบคู่ไปกับความทันสมัยของสังคมในปัจจุบันเสียมากกว่า


           


น้องสาว ผู้รับบทเป็นแม่ในละครเรื่องนี้ ชี้ว่า "การแก้ไขปัญหาเหมือนอย่างในละครไม่มี เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยสนใจปัญหาในชุมชน ต้องปล่อยให้คนในชุมชนรับปัญหาเอาเอง"


           


เห็นได้ชัดว่าน้องๆ มีการเสนอทางออกที่พวกเขาวาดฝันให้เป็นไปโดยยึดหลักความเป็นจริงของสังคมอยู่มาก และมิใช่ว่าวัยรุ่นแล้วจะมุ่งแต่เรื่องสนุก ไม่สนใจเรื่องราวในสังคมแต่เพียงอย่างเดียว


           


ละครเรื่องนี้สนุกมากยิ่งขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบของงานศิลป์อื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทกวีเปิดเรื่อง การแทรกดนตรีในช่วงตอนที่ตัวละครกำลังค้นหาเส้นทางชีวิต หรือแม้แต่ฉากหลังที่เน้นสีชมพู ซึ่งเป็นสีแห่งการสร้างความรักต่อกัน


           


หลังการเล่นละคร น้องๆ ต่างกล้ามากขึ้นและภูมิในในผลงานที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วม หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ามือที่เคยจับไม้ไล่ตีเพื่อนด้วยความคึกคะนองในวันที่ผ่านมา จะกลายเป็นมือที่มาจับกีตาร์ร้องเพลง จับพู่กันระบายสี และจับปากกาบรรยายความรู้สึกในเสี้ยวส่วนดีผ่านตัวหนังสือ...


           


จบค่ายครั้งนี้ น้องๆ เรียกร้องการไปเที่ยวนอกบ้านมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการทำกิจกรรมเช่นนี้อีก ซึ่งพวกเขาคงเข้าใจได้ในวันหนึ่งว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นฝีมือสร้างสรรค์จากพลังในตัวของเขาเองทั้งสิ้น


           


ทั้งนี้ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งใช้สื่อละครเพื่อสร้างกระบวนการสื่อสารเพื่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมนานกว่า 25 ปี สาเหตุที่ใช้สื่อละครเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร เพราะข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอผ่านละครจะอยู่ในรูปของการกระทำ ซึ่งข่าวสารที่เป็นการกระทำเช่นนี้จะสามารถโน้มน้าวใจผู้รับสารได้ดีกว่าการใช้คำพูดหรือตัวหนังสือ


โดยได้ใช้สื่อละครเป็นทั้งเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และเป็นการดึงให้กลุ่มเยาวชนต่างถิ่น ต่างปัญหาเข้ามาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เยาวชนสามารถผลิตละครเพื่อสื่อสารเรื่องสันติวิธีในวิถีชุมชนของตนเองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net