รายงานชุด More Than Football : การเปลี่ยนแปลงรูปแบบฟุตบอลอังกฤษในทศวรรษ 1990"s


โดย : วิทยากร บุญเรือง, กานต์ชนก เกตุมงคล

 

 

 

บทนำ

คำประกาศอันลือลั่นของสตรีเหล็ก "Margaret Thatcher" ด้วยประโยคเด็ด "There is No Alternative (TINA)" ซึ่งถือว่าเป็นการสถาปนาแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) บนเกาะอังกฤษและตามมาด้วยทั่วโลก

 

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามหลักแนวคิด Neo-Liberalism การทำให้ทุกอย่างสร้างกำไรได้ ไม่เพียงแต่ค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการของอังกฤษเท่านั้น* เกมกีฬาฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

 

*หลังจากนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี ค..1979 รัฐบาลแธตเชอร์พยายามรื้อทำลายแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ (welfare state) และนำเสนอแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ด้วยการปฏิเสธระบบราชการว่าด้อยประสิทธิภาพกว่าภาคธุรกิจเอกชน และมุ่งเน้นผลักดันแนวคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐให้เข้าสู่ตลาดหุ้น หรือแปรสภาพกลายเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้หลักการของทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย  รัฐบาลแธตเชอร์ลดบทบาทของหน่วยงานรัฐลง และนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการแนวใหม่ ด้วยการให้ภาคเอกชนและกลไกตลาดเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น รัฐวิสาหกิจต่างๆ ถูกขายเข้าตลาดหุ้นและกลายมาเป็นบริษัทเอกชนอย่างรวดเร็ว  ชั่วระยะเวลาเพียงสามปี ระหว่างปี ค.. 1980 ถึง 1982 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมันอย่าง British Petroleum (BP) บอร์ดรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (National Enterprise Board) การเคหะแห่งชาติ (New Town Development Corporations) การประปาส่วนภูมิภาค (Regional Water Aughorities) หน่วยงานการบินและอวกาศ (British Aerospace) องค์การสื่อสารมวลชน (Cable and Wireless) บริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำของประเทศอังกฤษอย่าง Amersham International บริษัทขนส่งสินค้า (The National Freight Company) ไปจนถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Agents) ถูกขายให้กับภาคเอกชนเพื่อให้ไปดำเนินงานบริหารจัดการแทนหน่วยงานของรัฐที่ถูกยุบเลิกไป  ในเวลาเดียวกัน คลังน้ำมันสำรองของประเทศ สำนักงานป่าไม้ กรมทางหลวงรวมทั้งสถานีบริการต่างๆ และการเคหะท้องถิ่น ที่ดินและอาคารของหน่วยงานเหล่านี้ ก็ได้รับการแปรรูปหรือขายให้กับภาคเอกชน  ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือจะกล่าวให้ถูกต้องในบริบทของประเทศอังกฤษก็คือลัทธิแธตเชอร์นั้น เชื่อว่า ตลาดเสรีจะสร้างกลไกในการควบคุมและตรวจสอบในภาคธุรกิจเอกชนด้วยตัวเอง ภายใต้หลักการของการแข่งขันเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของธุรกิจเอกชน ดังนั้น ระบบตรวจสอบหรือการประเมินคุณภาพจึงถูกสร้างขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ --http://www.bangkokbiznews.com/2004/08/02/jud/index.php?news=column_14016766.html

 

ช่วงท้ายของทศวรรษที่ 80"s เกมกีฬาฟุตบอลเริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ก่อนหน้านั้นการลงทุนในเกมกีฬาฟุตบอลแทบที่จะไม่เรียกว่า "ธุรกิจ" ด้วยซ้ำเนื่องจากเป็นการลงทุนที่ขาดทุนอยู่บ่อยครั้ง แต่หลังจากคำประกาศ "TINA" ของ Thatcher นอกจากการปรับตัวของคนในวงการฟุตบอลอังกฤษแล้ว กีฬาฟุตบอลก็ยังถูกจับจ้องจาก "สุนัขจิ้งจอกใส่สูท" ในวงการธุรกิจบนโลกทุนนิยมทั้งหลายอย่างไม่กระพริบตา

 

หลังยุคทศวรรษที่ 80"s เป็นต้นมา ทีมใหญ่ๆ บนเกาะอังกฤษที่เรียกว่า "Big Five"* เริ่มทำธุรกิจขยับห่างจากเพื่อนร่วมลีก พร้อมกับการเข้ามาของ Sky TV ในการซื้อลิขสิทธิ์จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA)

 

*ประกอบด้วย Liverpool, Everton, Manchester United, Arsenal, Tottenham

 

นอกจากนี้เริ่มมีการดึงนักธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล แต่มีความสามารถในเชิงบริหารธุรกิจตามแบบอย่างบรรษัทเข้ามาในสโมสรฟุตบอลต่างๆ เช่น Doug Ellis  ของ Aston Villa, Ken Bates ของ Chelsea และ Irving Scholar ของ Tottenham เขาเหล่านี้ถูกมอบหมายให้เข้ามาดูแลเรื่องการทำธุรกิจโดยเฉพาะ

 

เมื่อก้าวย่างเข้าสู่ยุค 1990"s ฟุตบอลอังกฤษก็เริ่มกลายเป็นธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ …

 

0 0 0

 

การปรับปรุงสนาม

 

สนามฟุตบอลในยุคใหม่

ที่มา ...  http://www.archined.nl

 

 

เมื่อนักธุรกิจทั้งหลายต้องการให้เกมฟุตบอลสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด หลายสิ่งหลายอย่างในเกมนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อจุดประสงค์นั้น แต่ก่อนพื้นที่ในสนามฟุตบอล ในส่วนของพื้นที่ชมเกมคำนึงถึงแต่เรื่องการจุจำนวนแฟนบอลให้ได้มากที่สุด แต่หลังจากโศกนาฏกรรมที่ Heysel และ Hillsborough* การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น 

 

*Heysel Stadium มีผู้เสียชีวิต 39 ราย จากการก่อความรุนแรงของแฟนบอล Liverpool และ Juventus เหตุความรุนแรงนี้เองทำให้ทีมจากอังกฤษถูกห้ามการแข่งขันในบอลถ้วยยุโรปถึง 5 ปี และก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ที่ สนาม Hillsborough ซึ่งต้นเหตุอย่างหนึ่งของเหตุการทั้งสองก็คือการปล่อยให้มีตั๋วยืนในสนามฟุตบอลนั่นเอง

 

การปรับปรุงอัฒจันทร์ของแต่ละสโมสรนอกจากจะใช้เงินจากค่าผ่านประตูของแฟนบอลซึ่งเป็นรายได้หลักแล้ว สโมสรฟุตบอลเริ่มที่จะมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ในการนำมาปรับปรุงสนามอีกด้วย

 

นอกจากการปรับปรุงอัฒจันทร์เพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัยสำหรับแฟนบอลแล้ว พื้นที่ต่างๆ ในสนามฟุตบอล (และรอบข้างที่เกี่ยวข้อง) ธุรกิจบริการต่างๆ เริ่มเข้ามาจับจองและหาผลประโยชน์ร่วม ไม่ว่าจะเป็น บาร์,คาเฟ่,ร้านอาหารของสโมสร, รวมทั้ง Franchised ของธุรกิจครอบโลกต่างๆ เช่นร้าน McDonald ในสนาม Anfield นอกจากนี้ยังมีการขยายสิ่งอำนวยความสะดวก-สถานที่ท่องเที่ยวในสโมสรฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ของสโมสร , ร้านขายของที่ระลึก , โรงแรม , ศูนย์ประชุม และศูนย์การค้า เป็นต้น โดยสโมสรแรกๆ ที่เริ่มทำจริงๆ จังๆ ก็คือสโมสร Chelsea และ Sheffield United (สนามฟุตบอลแห่งชาติของอังกฤษแห่งใหม่ "New-Wembly" ก็มีองค์ประกอบเหล่านี้พร้อมสรรพเช่นกัน)

 

การจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกมอันเป็นรายได้หลักตั้งแต่ก่อนยุค 1990"s เริ่มไม่สามารถพยุงธุรกิจลูกหนังได้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป สโมสรฟุตบอลต่างๆ เริ่มมีการขยายปีกทางธุรกิจและสินค้าอื่นๆ เพื่อตอบสนองแฟนฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นการขายของที่ระลึก เสื้อสโมสร บัตรเครดิต และสินค้าอื่นๆ ที่มีตราของสโมสรแปะเอาไว้ ในร้านค้าของสโมสรเองก็เริ่มมีเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

 

พื้นที่ต่างๆ ในสนามฟุตบอลถูกทำให้กลายเป็น "ธุรกิจเพื่อความผ่อนคลาย" แข่งขันกับ โรงภาพยนต์ , เวทีคอร์นเสิร์ต , หรือโรงละคร จากที่เคยเป็นแหล่งนัดพบของ "คอบอล" อาทิตย์ละหนึ่งวัน กลับกลายเป็นว่าวันที่ไม่มีการแข่งขัน คุณก็สามารถเข้าไปหาซื้อ VCD แมตซ์คลาสสิค ของทีม Liverpool หาอาหารว่างดีๆ กินซักมื้อ แวะชมพิพิธภัณฑ์ของทีม ก่อนไปรับลูกที่โรงเรียน

 

0 0 0

 

การปฏิวัติการเงินของสโมสรฟุตบอล

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาสนาม , การซื้อ-ขาย ตัวผู้เล่น , รวมถึงการจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะ

 

หลังจากยุคทศวรรษที่ 1960"s ที่มีการทำลายเพดานค่าเหนื่อยนักฟุตบอล จวบจนถึงยุคทศวรรษที่ 1990"s ที่ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจเต็มตัว กอปรกับการปฏิวัติการย้ายสโมสรได้แบบ Free transfer ตามกฎ Bosman สโมสรจำเป็นจะต้องจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักฟุตบอลอย่างสมน้ำสมเนื้อเพื่อการดึงตัวผู้เล่นดีๆ และรักษาผู้เล่นที่มีค่านั้นไว้สร้างกำไรในอนาคตต่อไป

 

ค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลตั้งแต่ต้นยุคทศวรรษที่ 1990"s เป็นต้นมา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากว่า "ตัวนักฟุตบอล" เองก็เป็น "ทุน" ที่มีค่าในธุรกิจนี้

 

 

แสดงการเพิ่มขึ้นของการจ่ายค่าเหนื่อยของทุกทีมในสโมสรฟุตบอลอังกฤษในยุคทศวรรษที่ 1990"s

ที่มา http://news.bbc.co.uk

 

 

 

โดยเฉพาะทีมใหญ่ในลีกอังกฤษที่จะต้องมีภาระจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะระดับดาวดังเป็นจำนวนเงินมหาศาล (ในปี ค.. 2000 ว่ากันว่า 3 ทีมยักษ์ใหญ่ใน Premier League จ่ายค่าเหนื่อยให้กับผู้เล่นเป็นจำนวนมากกว่า 48 ทีมในลีกดิวิชั่น 2 และ 3 รวมกัน)

 

Hull City, Crystal Palace และ QPR เป็นทีมเล็กๆ ที่ถูกผลกระทบจากการจ่ายค่าเหนื่อยอย่างเกินจริง เนื่องจากการเข้ามามีส่วนร่วมมากเกินไปของเอเยนต์นักเตะ และการประเมินฝีเท้าตนเองสูงเกินไปของนักเตะหลายๆ คน

 

การซื้อตัวผู้เล่นเข้ามาเสริมทีม ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ถ้าผู้เล่นที่เข้ามาในทีม ไม่สามารถเข้ากับระบบทีม , ผลงานแย่ , หรือทีมไม่ประสบความสำเร็จ

 

การย้ายจาก Blackburn Rovers ของ Alan Sherer สู่ Newcastle มูลค่าถึง 15 ล้านปอนด์ ก็ไม่เคยทำให้ Newcastle ประสบความสำเร็จใดๆ เช่นเดียวกับ Sebastian Veron ซึ่ง Manchester United ซื้อสัญญาจาก Lazio ถึง 28 ล้านปอนด์ ก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับฟุตบอลสไตล์อังกฤษได้

 

การเข้าสู่ธุรกิจอย่างเต็มตัว ถ้าการบริหารจัดการมีข้อผิดพลาด สโมสรฟุตบอลต่างๆ อาจจะพบกับผลประกอบการที่ขาดทุนและเป็นหนี้สินตามมา

 

จากการสำรวจของ Deloitte and Touche ในปี ค.. 2000 รายได้ก่อนหักภาษีของ Blackburn Rovers ในปี 1999 ขาดทุนประมาณ 8 ล้านปอนด์, Everton ขาดทุน 10.8 ล้านปอนด์, Liverpool ขาดทุน 8 ล้านปอนด์ Leicester City ขาดทุน 6.1 ล้านปอนด์ และ Sheffield Wednesday ขาดทุน 9.2 ล้านปอนด์

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีสโมสรใหญ่ที่มีภาระค้างจ่ายหนี้สินอยู่หลายสโมสร เช่น Everton เป็นหนี้ถึง 20 ล้านปอนด์ และ Nottingham Forest เป็นหนี้ถึง 15 ล้านปอนด์ จนกระทั่งทำให้ต้องมีการรัดเข็มขัดในการซื้อขายนักเตะ ทำให้ผลงานในช่วงนั้นของทีม (ฤดูกาล 2000-2001) แย่ไปตามลำดับ

 

จากที่ได้กล่าวไปนั้น สโมสรฟุตบอลต่างๆ จึงจำเป็นจะต้องหารายได้หลักจริงๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การขายตั๋ว,ขายของที่ระลึก และธุรกิจเล็กน้อยข้างสนามบอล หนึ่งก็คือ ผู้ให้การสนับสนุนทีมซึ่งต้องแลกกับการนำทีมไปเป็น Presenter ขายของให้กับสินค้านั้นๆ

 

ธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนทีมฟุตบอลนั้น แทบจะเรียกได้ว่ามีครบครันเกือบจะครอบคลุมทุกแขนงธุรกิจ เพราะเกมกีฬาฟุตบอลเป็นเกมที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จากผู้คนหลากหลายมหาศาล … ซึ่งก็คือผู้บริโภคของสินค้าและบริการต่างๆ นั่นเอง

 

และทีมใหญ่ๆ ที่มีแฟนฟุตบอลติดตามมาก ธุรกิจอื่นๆ ก็พร้อมที่จะลงทุนด้วยเสมอ

 

ตัวอย่างเช่น ในปี ค.. 2000 Vodafone จ่ายเงินให้กับ Manchester United เป็นจำนวนถึง 30 ล้านปอนด์ เพื่อให้นักเตะผีแดงคาดโลโก้ติดอกในเกมการแข่งขันที่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เป็นระยะเวลาถึง 6 ปี

 

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กีฬาต่างๆ ที่ให้เงินสนับสนุนแต่ละสโมสรเพื่อให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง  ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะ win-win (สโมสรได้เงิน-ผู้ผลิตเครื่องกีฬาได้ยอดขาย)

 

 

 

แสดงถึงธุรกิจต่างๆ ที่สนับสนุนทีมฟุตบอลและผู้ผลิตเครื่องกีฬาที่สนับสนุนทีมฟุตบอลในยุโรป

ฤดูกาลที่ 2004 - 2005

(ปัจจุบันหลายทีมเปลี่ยนสปอนเซอร์หลักไปแล้ว เช่น Man U. มี AIG ให้การสนับสนุน) …

ที่มา http://www.footballeconomy.com

 

 

การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่สโมสรฟุตบอลในเกาะอังกฤษ (รวมถึงสก๊อตแลนด์)ใช้ในการหาทุนเพื่อทำธุรกิจของแต่ละสโมสร

 

ธุรกิจสื่อสารต่างๆ ก็พยายามเข้ามามีส่วนกับการถือหุ้นของแต่ละสโมสร ทั้งนี้เป็นตัวบ่งชี้ได้ดีว่า อนาคตของธุรกิจฟุตบอลมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นธุรกิจครอบโลก "ธุรกิจสื่อ" จึงหวังที่จะเข้ามาร่วมวงไพบูลย์นี้

 

โดย Granada ถือหุ้นของ Liverpool 9.9% Sky TV ถือหุ้นของ Leeds United, Chelsea และ Sunderland 9.9% ส่วน NTL ถือหุ้นของ Newcastle และ Aston Villa 9.9% เช่นเดียวกัน

 

 


 

แสดงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักร

วันที่เข้าตลาด / ราคา / จนถึงราคาล่าสุด เมื่อปี ค.. 2005 …

ที่มา http://www.footballeconomy.com

 

0 0 0

 

สรุป

ธุรกิจฟุตบอลกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกทุนนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีพัฒนาการมาจากต้นทศวรรษที่ 1990"s เป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้น "ผลกำไร" ของสโมสรฟุตบอลไม่ใช่เป้าหมายหลัก

 

แต่หลังจากนั้น สโมสรฟุตบอลในยุคใหม่ "ผลกำไรและเม็ดเงินในการทำธุรกิจ" กับ  "ผลงานในสนามฟุตบอล" กลายเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างยิ่ง

 

ความสำเร็จของทีมฟุตบอลในยุคใหม่ เม็ดเงินมหาศาลที่ทุ่มลงไปนั้น การกลับคืนสู่กระเป๋าพร้อมผลกำไรสู่ผู้ลงทุน เป็นเป้าหมายหลักๆ ของผู้ที่ก้าวลงมาในธุรกิจนี้ การบริหารจัดการตามแบบอย่างบรรษัทจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการนำพาไปสู่หลักชัยของแต่ละสโมสร

 

นอกจากเรื่อง จิตวิญญาณ,ความสนุกสนานและเรื่องการเมือง ในเกมฟุตบอลแล้ว หลังจากยุค 1990"s เป็นต้นมา …. สิ่งหนึ่งที่เราจะปฎิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ได้มีอยู่ในเกมกีฬาอันเก่าแก่นี้

 

นั่นก็คือ "ธุรกิจเต็มรูปแบบ" นั่นเอง!

 

 

 

………………………………………………………………………….

 

ประกอบการเขียน - แหล่งข้อมูลแนะนำ

 

Football Industry Group. FIG FACT-SHEET THREE: THE TRANSFORMATION OF FOOTBALL IN THE 1990s. University of Liverpool, 2001
Jose Luis Arnaut . Independent European Sport Review 2006. Uk Presidency of The EU , 2006

http://news.bbc.co.uk/1/hi/business/1898854.stm

http://news.bbc.co.uk/hi/english/business/newsid_1898000/1898854.stm

http://www.bangkokbiznews.com/2004/08/02/jud/index.php?news=column_14016766.html

http://www.footballeconomy.com

http://www.le.ac.uk (Centre for the Sociology of Sport, Department of Sociology, University of Leicester)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท