Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด


 


ปัญหาการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เป็นปัญหาร่วมและเรื้อรังทั่วประเทศ ชุมชนรอบเทือกเขาบรรทัดเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งประสบปัญหาดังกล่าว เมื่อกฎหมายป่าไม้ไม่อนุญาตให้ชุมชนอาศัยในเขตป่า ฝ่ายนโยบายไม่ยอมรับว่ามีการประกาศเขตทับซ้อน คนบังคับใช้กฎหมายไม่เชื่อว่าชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ ชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมหลายชุมชนจึงถูกจับกุมฐานบุกรุกป่า บ้างก็ถูกยึดที่ดินทำกิน บางรายถูกยึดที่อยู่อาศัย


 


เมื่อปี พ.ศ. 2544 ชุมชนรอบเทือกเขาบรรทัด 3 จังหวัด คือ ตรัง นครศรีธรรมราช และพัทลุง ได้รวมตัวกันต่อสู้ในนาม "เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด" มีการผลักดันให้แก้ไขปัญหาร่วมกัน จนเกิดกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ราชการ องค์กรชุมชน และนักวิชาการ อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวยังไม่ทันแก้ปัญหาได้เต็มที่ก็ถูกยุบตัวไปพร้อมกับการปฏิรูประบบราชการ


 


ปัจจุบันเริ่มมองเห็นหนทางแก้ปัญหาอีกครั้ง เมื่อนายเชิดพันธ์ ณ สงขลา มากุมนโยบายที่จังหวัดตรังด้วยท่าทีรับฟังและประนีประนอม ผลการประชุมร่วมในวันที่ 6 มิ.ย. 2549 จึงยอมรับว่าการสำรวจการครอบครองที่ดินของชาวบ้านอาจมีการตกหล่น อาจต้องตรวจสอบอีกครั้ง ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภอ และชุมชนร่วมกันจัดทำแผนการจัดการป่า โดยอาจใช้งบประมาณซีอีโอ กรณีมีการบุกรุกป่าเพิ่มต้องจัดการ


 


หลังจากนั้น องค์กรชุมชนต่างๆ ใน 6 อำเภอของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดได้กลับมาจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ป่า, ดิน, น้ำ, พันธุกรรม) และข้อตกลงการอยู่ร่วมกับทรัพยากร ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ผู้ใหญ่บ้าน หรือ นายก อบต. หรือกำนัน หรือทั้งหมด) แผนการจัดการดังกล่าวยึดหลักสิทธิชุมชน ตามมาตรา 46 และอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 หากสมาชิกชุมชนคนใดไม่ดูแลรักษาป่าตามแผนและข้อตกลงดังกล่าวถือว่าไม่ใช่สมาชิกขององค์กรชุมชน ให้เจ้าหน้าที่จัดการตามความเหมาะสม


 


นายอำเภอปะเหลียน และสารวัตร ส.ภ.ต.หนองเอื้อง ได้รับรองแผนการจัดการขององค์กรชุมชนบ้านตระ และองค์กรชุมชนบ้านทุ่งข่า, ลำปลอก ต.ปะเหลียน ส่วนนายอำเภอรัษฎาเห็นชอบกับแผนการจัดการขององค์กรชุมชนบ้านน้ำปลิว มอบหมายให้องค์กรชุมชนประสานงานแก้ปัญหาร่วมระหว่างราชการกับชาวบ้าน ทั้ง 2 อำเภอมีแนวโน้มที่จะหาทางออกร่วมกันได้


 


สำหรับอีก 4 อำเภอ คือ เมือง ห้วยยอด นาโยง และย่านตาขาว ยังไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเท่าที่ควร บางอำเภอยืนยันที่จะแก้ปัญหาโดยการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ส่วนบางอำเภอกลไกการแก้ปัญหายังไม่ไปในทางเดียวกัน จึงไม่ค่อยสอดคล้องกับข้อตกลงในวันที่ 6 มิ.ย. 2549


 


นายอานนท์  ศรีเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ทางเครือข่ายไม่ยอมรับการแก้ปัญหาโดยยึดมติ 30 มิ.ย. 2541  เนื่องจากละเมิดสิทธิชุมชน ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม และสุดท้ายชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมยังคงถูกจับกุมและยึดที่ดิน ทั้งนี้เครือข่ายจะต่อสู้ด้วยการนำเสนอแผนการจัดการทรัพยากร ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ต่อไป


 


ด้านนางศยามล  ไกยูรวงศ์ อนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายของผู้ว่าฯ ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกันแนวเขตเป็นนโยบายที่ดี บางอำเภอเห็นด้วยในหลักการ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบไม่ร่วมมือในข้อตกลง ซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหา และยังทำให้ปัญหาบานปลายไปสู่ความขัดแย้ง สถานการณ์ในตอนนี้การพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 และออกโฉนดที่ดินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะทำให้ชาวบ้านแตกแยก และเสี่ยงต่อการเปลี่ยนมือที่ดิน ประเด็นสำคัญคือการกำหนดเขตร่วมระหว่างป่าไม้และชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านต้องมีแผนการจัดการชัดเจน ไม่ให้คนในหมู่บ้านบุกรุกเพิ่ม เจ้าหน้าที่ต้องให้ความมั่นใจในการทำกิน นำไปสู่การออกบัญญัติท้องถิ่น ก่อนกฎหมายป่าชุมชนจะออกมา วิธีนี้จะแก้ปัญหาได้จริง รู้คนบุกรุกป่า ช่วยเจ้าหน้าที่ในการจับกุม


 


ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมือง ปัญหาที่ดินในเขตป่าของจังหวัดตรังจะทุเลาลงบ้างหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่น่าจับตาและท้าทายอำนาจซีอีโอ ตลอดจนทดสอบความตั้งใจแก้ปัญหาของฝ่ายปกครอง รวมทั้งพิสูจน์พลังของภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net