Skip to main content
sharethis

โดย นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือ


 


ก่อนที่ชาวเชียงใหม่หรือคนไทยทั้งประเทศจะเตรียมการฉลองต้อนรับเข้ามาของหมีโคอาล่า หรือจิงโจ้  จากออสเตรเลียสู่สวนสัตว์เชียงใหม่และไนท์ซาฟารี  ควรจะได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า  แท้จริงแล้ว ชะตากรรมของช้างไทยในต่างแดนเป็นเช่นไร  รายงานนี้จะลองติดตามต่อไปถึงปฏิบัติการปล้นช้าง 8 เชือกที่กาญจนบุรีโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประเคนสัตว์เอกลักษณ์ของชาติไปให้ต่างชาติ  และลองทำความเข้าใจถึงขบวนการค้าช้างว่าโยงใยเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์มหาศาลเช่นไร 


 


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ที่ศูนย์สตรีศึกษา มีหลายองค์การด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "ชะตากรรมช้างไทยที่เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" โดยมีการอภิปรายถึงกรณีช้างไทย 8 เชือกถูกส่งออกไปให้ออสเตรเลียเพื่อแลกกับสัตว์จากออสเตรเลียมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งชีวิตช้างไทยในต่างแดนด้วย


 


ผู้มีอำนาจมุดช่องกฎหมาย


นายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างไนท์ซาฟารี การมีแนวคิดจะกินเนื้อสัตว์ป่า การจะนำสัตว์จากเคนยามา การอุ้มช้างหนี หมาหลุด ฯลฯ เป็นอาการของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐไทยเลือกใช้กฎหมายเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ  เห็นได้ชัดเจนยิ่งในกรณีของการสร้างไนท์ซาฟารีในผืนป่าอุทยานแห่งชาติสุเทพ - ปุย (ขณะนี้มีการโอนให้มาอยู่ในอำนาจขององค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน-อพท.) ทั้งๆ ที่กิจกรรมเช่นนี้ทำในอุทยานแห่งชาติไม่ได้ ขัดต่อหลักการอุทยานอย่างสิ้นเชิง เป็นพื้นที่ที่พิจารณาแล้วว่ามีความสมบูรณ์และสำคัญ ต้องดูแลให้เชื้อพันธุ์ของพืชและสัตว์ได้กระจายไป  ไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้มีอำนาจอยากจะใช้อะไรก็ใช้  


 


ด้านกฎหมายสากลคืออนุสัญญาไซเตรสที่มีขึ้นเพื่อลดการค้าขายสัตว์ป่า ดำเนินการตั้งแต่ปี 2516 ก็ระบุชัดเจนว่า ช้างและเสือ เป็นสัตว์ในบัญชีห้ามค้าเด็ดขาด แต่เปิดช่องเล็กๆ ไว้ว่าเว้นแต่ทำระหว่างรัฐต่อรัฐในกรณีมีโครงการศึกษาวิจัยเพื่อเพาะพันธ์  ขณะที่ช่องนี้ถูกเบียดมาก ช้าง 8 เชือกก็เบียดไปในช่องโหว่นี้  แต่ในอนุสัญญาก็ระบุด้วยว่าสัตว์ที่จะส่งไปต้องเป็นรุ่นหลานที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง ถ้าเป็นช้างที่ไม่มีที่มาส่งไม่ได้ หรือแม้ตรวจสอบพบว่าเป็นรุ่นลูกก็ไม่ได้ กรณีช้าง  8 เชือกที่ส่งไปออสเตรเลียยังไม่มีพิสูจน์ว่าเป็นรุ่นไหนจึงเป็นการผิดกฎหมายระหว่างประเทศ  ด้านประเพณีวัฒนธรรมก็ผิด เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บารมีพระเจ้าแผ่นดิน  และตั้งแต่พ.. 2548 ช้างถือเป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงไม่ใช่ว่าใครมีอำนาจอยากจะทำอะไรก็ทำได้ 


 


"ทางออกคือจะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ ประเทศไทยเคยมีคณะกรรมการชุดนี้ แต่ปัจจุบันเหลือแค่เพียงอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติเท่านั้น นี่คือความไม่โปร่งใส  ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย"


 


แฉปฏิบัติการอุ้มช้างไทยให้ต่างชาติ


นางภินันท์  โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์และเครือข่ายคัดค้านส่งช้างไทย 8 เชือก เล่าว่า  การปล้นช้างไทยให้ออสเตรเลียที่ดังราว 3 เดือนมานี้ เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปีแล้วที่มีช้างไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตไทรโยก จ.กาญจนบุรี  ตนเองอยู่ในพื้นที่ได้ไปพบว่ามีการสร้างกรงขนาดใหญ่ และได้ข้อมูลว่าจะส่งช้างทั้งหมดนี้ไปออสเตรเลีย  เมื่อตั้งคำถามว่าช้างมาจากไหน ก็ไม่ได้คำตอบ  จึงทำหนังสือไปถึงทุกหน่วยงาน จนได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นกรรมาธิการของส..และส..  จึงได้คำอธิบายว่า เขาจะส่งไปเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี  แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องส่งไปตั้งโขลงคือ 8 ตัว  จากนั้นได้พบเอกสารจากที่ประชุมถึงรายละเอียดของรูปพรรณช้าง  หลายตัวไม่ระบุอายุ  ไม่มีพ่อแม่


 


"ที่บอกว่าที่จะส่งออกไปนั้นจะต้องซื้อขายไม่ได้ ปรากฏว่าเมื่อเราจัดการสัมมนาและผู้สื่อข่าวไปเจาะข่าวก็พบว่าเจ้าของปางช้างที่อยุธยายืนยันว่าขายตัวละ 5 แสน คนสุรินทร์คนหนึ่งก็บอกว่าเขาขายได้ 4.3 แสน ทุกคนยอมรับว่ามีการซื้อขาย ต่อมาควาญช้างคนหนึ่งบอกว่าช้างทองดีกับช้างน้ำอ้อยเป็นของเขาเองขายไปตัวละ 4.4 และ 4.3 แสนบาท  แต่มาดูตั๋วรูปพรรณ เจ้าของช้าง 2 เชือกนั้นก็ไม่ใช่ชื่อเดียวกันกับควาญช้างคนนั้น แบบนี้สวมตั๋วหรือเปล่า เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้เพราะเขาฝังไมโครชิพช้างบ้าน แต่เรารู้มาว่าการฝังไมโครชิพ ก็แค่เข้าป่า ยิงยาสลบ ฝังชิพและลากช้างออกจากป่าได้เลย เราจึงมีสิทธิตั้งข้อสงสัยว่า  ช้าง 8 เชือกนี้จะเป็นช้างป่าเมืองกาญจน์หรือไม่ ที่มีตั๋วลอยมาสวม"


 


นางภินันท์  เล่าต่อว่า จากนั้นมีหนังสือยืนยันจากอธิบดีฯ ว่า มีตั๋วรูปพรรณและมีไมโครชิพ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีหนังสือด่วนให้ผู้อำนวยการสวนสัตว์ทำการพิสูจน์พ่อแม่ช้างแต่ละเชือกในระดับตรวจดีเอ็นเอไว้เพื่อพิจารณาส่งช้างไปออสเตรเลีย  ซึ่งเป็นหนังสือตราครุฑ ทำให้วางใจได้ว่าหากไม่มีผลตรวจจะนำช้างไปไหนไม่ได้  แต่ต่อมามีคนบอกว่ามีการเอารถเทลเลอร์มาฝึกช้างขึ้นลงรถ  ทางเราจึงไปถามหาผลตรวจ เขาก็บอกว่าเมืองไทยไม่มีใครตรวจดีเอ็นเอได้ แต่ไม่มีการแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร   ในที่สุดก็มีการเคลื่อนช้างจริงๆ 


 


"ครั้งแรกพวกเราก็เข้าไปขวางรถ ยื้อกันอยู่ 20 ชั่วโมงเขาถึงยอมปล่อยช้างลงมา ก็มีคำสัมภาษณ์จากทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่นอธิบดีฯ ก็บอกว่าจะเจาะเลือดเพื่อให้โปร่งใส รัฐมนตรียงยุทธ บอกว่าจะให้ตรวจดีเอ็นเอครั้งใหม่อีกรอบ ทั้งๆ ที่ไม่เคยตรวจ โกหกอีกก็ไม่เป็นไร แค่ขอให้ตรวจก็แล้วกัน แต่ก็ยังไม่ตรวจ หลังจากนั้นอธิบดีฯ ก็มาบอกอีกว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าให้หมอจุฬาฯ ตรวจดีเอ็นเอช้างทั้ง 8 เชือก และยังจะให้ อาจารย์ ปานเทพ รัตนากร คณบดีจากมหาวิทยาลัยมหิดลตรวจสอบ แต่จากนั้นไม่นานก็เกิดการปล้นช้างเราได้อย่างไร "


 


ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์และเครือข่ายคัดค้านส่งช้างไทย 8 เชือก เล่าอีกว่า ระหว่างนั้นได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าซีอีโอกาญจนบุรี 2 ฉบับว่าเรื่องช้าง 8 เชือกจะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติมาแก้ไข แต่ระหว่างนี้ขอให้ผู้ว่าฯ สั่งการให้ปศุสัตว์ไปถ่ายรูปและตั้งคนในพื้นที่ช่วยดูแลไม่ให้มีการขนช้าง ได้หรือไม่ ปรากฏว่าซีอีโอก็ไม่มีความหมาย 


 


"วันที่เขามาปล้นช้างไปนั้นเรียกว่ามากันเป็นกองกำลัง ดับไฟหมด สิ่งที่เขาทำคือเอารถเครนมา ยกท่อน้ำถังส้วมวางเป็นแถวเรียงกั้นไว้ ที่ผิดสังเกตคือคนของเราจะรู้ว่าฝรั่งเขาทำงานแล้วจะออกไปราว 5 โมง แต่วันนั้นร่ำไรอยู่จนถึง 6 โมง และเมื่อออกไปก็กลับมาอีกซึ่งผิดปกติ มีคนโทรไปบอกดิฉัน แรกๆ ไม่แน่ใจเพราะไม่เห็นว่าเอารถมา แต่ก็ตัดสินใจมาดู ไฟดับมืดไปหมด เขาวางแผงกั้นและประกาศบอกนักศึกษาว่ามีโจรพม่าข่มขืนหลบหนีเข้ามาในมหาวิทยาลัย 6 คน ต้องปิดไฟ สร้างสถานการณ์ พอเขาเอาช้างเข้ากรงได้สำเร็จ ประมาณสองทุ่มสิบล้อมา และห้าทุ่มก็เอารถมาลากท่อที่ขวางอยู่และเอารถวิ่งออกไปทางที่ไม่ใช่ถนนด้วย"


 


คุณภินันท์ไล่กวดรถขนช้างไปตามถนนสายต่างๆ แต่ถูกสกัดกั้น จนไปพบที่อู่ตะเภา และเห็นกับตาว่าส่งช้างขึ้นเครื่องบินไป ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการปล้นทรัพยากรของชาติไปให้ออสเตรเลียต่อหน้าต่อตา และกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ใช้กำลังกว่า 400 นาย


 


เปิดโปงขบวนการส่งออกช้าง


คุณโซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เล่าว่า การส่งออกช้างไทยไปนอกมีตั้งแต่ปี 2517  ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น กรณีของประเทศออสเตรเลีย เริ่มรู้เมื่อปี 2545  มูลนิธิเพื่อนช้างจึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 20 .. 2545 ว่า สวนสัตว์ทารองก้าประเทศออสเตรเลียต้องการช้างไทยนับ 100 เชือก  และมูลนิธิยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลยต้องใช้เวทีโลกเปิดแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อสิงหาคม 2547 ขอให้ญี่ปุ่นอย่านำเข้าช้าง เพราะรัฐบาลไม่ฟังเสียงคนไทย  กรณีของออสเตรเลียซื้อช้างไทยไว้ 9 เชือก  เงินที่สร้างส่วนกักโรคที่มหิดลก็เป็นเงินที่สวนสัตว์ทารองก้ามอบให้  ทางมูลนิธิฯ ขอพบวุฒิสมาชิกของออสเตรเลีย ขอร้องว่ารัฐบาลออสเตรเลียอย่าเอาช้างไทยไปเลย  แต่ที่สุดก็มีการนำช้างไปออสเตรเลียจนได้ ซึ่งเสียใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งออสเตรเลียมีการโจมตีสร้างภาพลบกับประเทศไทยแล้วทำเหมือนเป็นการช่วยช้างไทยจากขุมนรกอีกด้วย 


 


"การส่งช้างไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่สังคมโดยรวมควรทราบว่าว่าช้างเป็นทรัพยากรของชาติไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายรัฐจะชี้เป็นชี้ตายว่าจะเอาไปเมื่อไหร่" 


 


นายสัตวแพทย์ปรีชา  ปวงคำ อดีตผู้อำนวยการสถาบันคชบาล เล่าถึงขบวนการค้าขายช้างว่ามีมานานแล้ว โดยกระทำเหมือนการขายไม้ ที่หลายแห่งบอกว่าสามารถผลิตลูกช้างได้ แต่คำถามคือช้างที่ผลิตได้เป็นรุ่นหลานจริงหรือ และเป็นช้างเลี้ยงจริงหรือ เนื่องจากฐานอายุของช้างเป็นรูปปิรามิดทรงคว่ำ ช้างอายุเกิน 30 ปีมีราวร้อยละ 60  ส่วนช้างที่อายุต่ำกว่าวัยเจริญพันธุ์มีไม่ถึงร้อยละ 20  การที่ลูกช้างเกิดปีละไม่ถึงร้อยกับช้างแก่ที่ตายลงทุกปี ทดแทนกันได้จริงหรือ


 


"แต่ละที่ที่ค้าขายช้างจะเอาลูกช้างที่เกิดขึ้นได้วางไว้หน้าปางเหมือนโรงเลื่อย แต่หลังโรง ไม้จากที่ไหน ไม้แปรรูปขายออกไปมาจากไหน" 


 


นายสัตวแพทย์ปรีชากล่าวด้วยว่า การที่มีช้างออกเดินไปตามแหล่งท่องเที่ยว หรือเมืองกรุงต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างเงื่อนไข  เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี คนเกิดความรำคาญและสร้างความชอบธรรมให้ต้องจัดการกับปัญหาช้างเร่ร่อนด้วยการส่งออกไปต่างประเทศ  ดังนั้นการที่ผอ.องค์การสวนสัตว์ระบุว่าให้ช้างไปอยู่เมืองนอก อาบน้ำอุ่น สบายกว่าอยู่เมืองไทย สะท้อนว่าเขาคิดอะไรกันอยู่


 


อดีตผู้อำนวยการสถาบันคชบาลอธิบายขั้นตอนการสวมตั๋วพิมพ์รูปพรรณช้างว่า ง่ายดายมาก  เพราะการจดทะเบียนใช้คน 2-3 คน เท่านั้น จะเป็นกำนันหรือผู้ที่น่าเชื่อถือ ไปอำเภอหานายทะเบียนพร้อมตั๋วพิมพ์รูปพรรณ และบอกว่าช้างตกลูก ก็จะได้บัตรออกมาเหมือนบัตรประชาชน ซึ่งโดยปกติช้าง 7 ขวบถึงจะทำได้   ซึ่งมูลนิธิฯ พยายามขอให้เปลี่ยนเป็นจดทะเบียนตั้งแต่อายุ 3 เดือน


  


ขณะที่ช้างที่นำมานั้นเป็นไปได้ว่าเป็นช้างป่า เพราะขณะนี้ที่ประเทศพม่ามีช้างกว่า 3,000 เชือกที่อยู่ในสภาพตกงานเพราะไม่ได้ชักลากไม้ เมื่อช้างพักงานก็ออกลูก แต่ลูกช้างพม่าเป็นภาระ เนื่องจากไม่มีการจัดการด้านการท่องเที่ยวเหมือนไทย เลยจะขายออกไป มีพ่อค้ามารับซื้อในราคาตัวละ 40,000 - 100,000 บาท อายุต่ำกว่า 1 ขวบ ไปจนถึง 1 ขวบ  โดยจะมีคำสั่งซื้อไปยังนักค้าตามชายแดน  และนำเข้ามาทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี ตากและแม่ฮ่องสอน 


 


ขั้นตอนต่อมาคือการเพิ่มมูลค่าและสร้างราคาเพิ่มขึ้นได้ถึง 300,000 บาท โดยผ่านการฝึก แหล่งฝึกจะอยู่ที่ภาคอีสานคือชัยภูมิ บุรีรัมย์ อัตราค่าฝึกท่าละ 30,000 บาท เช่น ให้นอน เก็บของ  ยกขา จากนั้นก็นำไปแจ้งออกตั๋วพิมพ์รูปพรรณเป็นลูกช้างบ้าน 


 


ขั้นตอนต่อมาคือการให้เช่าช้างสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำและการส่งออก โดยนายทุนในธุรกิจนี้จะมีราว 30 คน ให้เช่าช้างในอัตราเดือนละ 6,000 บาท การลงทุนแบบนี้คุ้มค่ากว่าเอาเงินไปฝากธนาคาร เพราะเงิน 1 ล้านบาท สามารถซื้อช้างได้ 3 เชือก ให้เช่าเดือนละ 6,000 บาทได้เงินมากมาย และยังได้ฐานเสียง เพราะการเช่าช้างทำเป็นครอบครัว  และช้างเหล่านี้ก็นำไปเดินในกรุงเทพ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 


 


หรืออีกขั้นตอนหนึ่งอาจขายช้างให้กับเจ้าของปางช้างเพื่อที่จะกู้เงินไปลงทุนต่อ และเจ้าของปางช้างก็อาจนำไปขายต่อ  เจ้าของบางคนเคยให้ข้อมูลว่าขายช้างไปเมืองจีนมากที่สุดในประเทศไทยคือ 50 เชือก ทำเงิน 60,000 บาทต่อเดือนต่อเชือก โดยส่งข้ามเรือผ่านแม่น้ำโขงไปเพื่อแสดง และจะอยู่ได้ 6 เดือน - 1 ปี เมื่อส่งไปแล้วก็จะแจ้งว่าช้างตายแล้วเอาไปขายต่อ โดยจะมีรายใหญ่ 2-3 รายเท่านั้นที่ส่งได้ 


 


ส่วนกรณีจะส่งออกต่างประเทศก็จะมีการสร้างเงื่อนไขว่า ช้างที่ส่งไปจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเร่ร่อนภายในประเทศด้วย


 


"การส่งช้างไปต่างแดนใครได้ ควาญช้างได้ไม่มาก เจ้าของได้ไม่มาก ส่วนมากนายทุน เช่นที่เจ้าของช้างบอกว่า 4 แสน ราคาจริง 5 แสน คนกลางได้ไปแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธได้หรือไม่ว่าไม่เกี่ยว"


 


อนาถชะตากรรมช้างไทยในต่างแดน


รศ.สุจิตร พิตระกูล  อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า เพิ่งเดินทางกลับมาจากออสเตรเลีย  พบว่าที่สวนสัตว์เมืองเมลเบิร์น มีการสร้างบ้านช้างเป็นกระต๊อบ ประกาศว่ามีครอบครัวช้างไทยมาอยู่   แต่ไปดูแล้ว ช้างมีสภาพที่ผอมมาก เนื่องจากที่ออสเตรเลียมีปัญหากล้วยขาดแคลน ราคากล้วยเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กล้วยน้ำว้ากิโลกรัมละ 22 ดอลลาร์ หรือ 600 กว่าบาท ขณะนี้ลดลงเหลือ 12 ดอลลาร์ หรือ 360 บาท ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่หวีละ 5 - 10 บาทเท่านั้น แต่ก็น่าแปลกที่ไทยและออสเตรเลียเปิดทำเอฟทีเอแล้วไม่สามารถไปขายกล้วยราคาแพงที่ออสเตรเลียได้ ดังนั้นอาหารที่ให้ช้างกินที่ออสเตรเลียจึงเป็นอาหารเม็ดทำให้ช้างสุขภาพไม่ดี นอกจากนั้นองค์กรที่รับช้างไปในสวนสัตว์ประกาศว่าการที่มีปัญหาต่อต้านในประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียหายกับเขาเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์ หรือ 150 ล้านบาทอีกด้วย 


 


นายสัตวแพทย์ปรีชาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาหารหลักของช้างไทยในต่างประเทศคืออาหารเม็ดที่ผลิตขึ้น  รองลงมาคือหญ้าแห้ง เพราะหญ้าสดขาดแคลนและเก็บรักษายาก รวมไปถึงอาหารประเภทที่ใกล้หมดอายุจากห้างสรรพสินค้าที่ไปประมูลมา เช่น ผลไม้  ผัก ขนมปัง  แต่สิ่งที่แย่กว่านั้นคือสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก  โดยจะมีการทำห้องและมีฮีทเตอร์ให้เข้าไปอยู่เป็นช่วงตอนอากาศเย็น ในห้องจะมีการฝั่งท่อที่ทำให้เกิดความอุ่นขึ้น เมื่อช้างปัสสาวะก็จะเกิดเป็นไอขึ้นมา และพบว่าช้างมีปัญหาเรื่องตาตามมาทุกเชือก จะออกไปข้างนอกก็ไม่ได้เพราะอากาศเย็นมาก


 


นอกเหนือจากช้างไทยไปออสเตรเลีย 8 เชือก จากเดิมที่ยื่นขอมากกว่า 100 เชือกแล้ว นายสัตวแพทย์ปรีชายังให้ข้อมูลด้วยว่า ยุคที่เขาเป็นผู้อำนวยการสถาบันคชบาลมีอีกไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศที่ทำเรื่องขอแลกเปลี่ยนนำเข้าช้างจากประเทศไทย โดยอ้างเรื่องสัมพันธไมตรี เช่นศรีลังกา  อุซเบกิสถาน จีน เป็นต้น


 


นี่คือชะตากรรมของช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย !


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net