องค์กรผู้บริโภคฟ้องศาลปกครอง แปรรูป ปตท. ขัดกม.

ประชาไท - 1 ก.ย. 2549 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เวลา 10.30 น. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคน.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กทม. ในฐานะกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค (สอบ.) นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดกาญจนบุรี และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เดินทางไปที่ศาลปกครองสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและนายวิเศษ จูภิบาล รักษาการ รมว.พลังงาน ที่ได้ยกเลิกและแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมบัติของชาติไปเป็นของเอกชน

 

โดยผู้ฟ้องทั้งห้า ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกเลิกและเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา (...) กำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) .. 2544 และ พ...กำหนดเงื่อนไขเวลาการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.. 2544

 

ในคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องเป็นผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสามได้ดำเนินการยกเลิกและแปรสภาพกิจการ ปตท. ที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของ กระทรวงพลังงาน ไปเป็น บมจ.ปตท. ซึ่งกระบวนการแปรรูป ปตท. ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

 

เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะองค์ประกอบคณะกรรมการดังกล่าวไม่ครบถ้วนซึ่งตาม มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ ให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คนต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชี และให้มีคนในกิจการของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปอย่างน้อยด้านละ 1 คน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวคือ นายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีต ประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. และนายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการเตรียมการจัดตั้งฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 12 และ 18 เพราะได้เป็นผู้ถือหุ้นใน บมจ.ปตท. ทั้งที่กฎหมายห้ามคณะกรรมการฯ ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่ได้มีการแปรรูป

 

ในส่วนการตรา พรฎ. ทั้ง 2 ฉบับ ปรากฏด้วยว่าคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนโดยไม่เปิดเผยและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 และการกระทำดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ที่ได้รับรองให้บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผลของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ก่อนดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อตนเอง

 

ทั้งยังปรากฏด้วยว่าในการตรา พรฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ฯ มีเจตนาไม่สุจริตที่ส่งผลให้ บมจ.ปตท. มีอำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดิน การประกาศเขต และรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน มีผลทำให้มีการนำทรัพย์สินบางอย่างอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้ไปอยู่ในการถือครองเอกชนที่แสวงหากำไร

 

นอกจากนี้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ ยังส่งผลให้ บมจ.ปตท. มีอำนาจผูกขาดขายน้ำมันราชการ ผูกขาดการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติ สิทธิการยกเว้นการเสียภาษีป้าย รวมทั้งสิทธิการวางหนังสือค้ำประกันธนาคารต่อกรมศุลกากร และอื่น ๆ นอกจากนี้ในการจัดสรรและกระจายหุ้นยังพบว่า ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม คือ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิเข้าถึงการเป็นเจ้าของ บมจ.ปตท. ซึ่งขัดกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ ปตท.ก่อนการแปรรูป ที่ว่า แปรรูปเพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของ บมจ.ปตท.

 

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด รับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำหมายเลข ฟ.47/2549 เพื่อมีคำสั่งต่อไปว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดที่จะมีคำพิพากษาได้หรือไม่ต่อไป

เอกสารประกอบ

คำฟ้อง ฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท