Skip to main content
sharethis


นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย จัดอันดับนักธุรกิจไทยที่ร่ำรวยที่สุด 40 คน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ติดอันดับ 4 ด้วยสินทรัพย์ 2,200 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 83,600 ล้านบาท แต่คงไม่มีใครเชื่อว่า "ครอบครัวชินวัตร" จะมีสินทรัพย์เพียงเท่านี้ โดยเฉพาะบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ "ฟอร์บส์" ยังล้วงไปไม่ถึงอีกมาก


เฉพาะปี 2548 เพียงปีเดียว "บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น" (ชิน คอร์ป) แจ้งไว้ในรายงานประจำปีว่า  "ครอบครัวชินวัตร" ได้รับเงินปันผลจากหุ้น "SHIN" เป็นเงินสด..สูงถึง 3,470 ล้านบาท ขณะที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้น "SC" อีกจำนวน 78 ล้านบาท



ถึงแม้การเมืองจะกระทบ แต่รายได้ของ "ครอบครัวชินวัตร" คงจะไม่มีวันกระเทือน หากไม่มีใครคิด "ปฏิวัติ" ถึงขั้นล้มล้างระบอบทักษิณ และ "ยึดทรัพย์" มาเป็นของหลวง



ที่แน่ๆ "ครอบครัวชินวัตร" ในวันนี้ เป็นยิ่งกว่า "เสือนอนกิน" จากเงินสดจำนวนมหาศาล ที่อยู่ในบัญชี และอาจจะแปรสภาพไปสู่ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทน ปีละไม่ต่ำกว่า "4-5 พันล้านบาท" เป็นอย่างน้อย



 "รายได้ระยะยาว" ตัวหนึ่ง ที่ครอบครัวนี้ "นอนกิน" แบบไม่เสี่ยง (เลย) ก็คือ "ค่าเช่า-ค่าบริการ" ที่ได้รับจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท..ขึ้นไป



ฐานรายได้ดังกล่าว มีลักษณะคล้าย "หนวดปลาหมึก" ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อยๆ  เข้าไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอาคารสำนักงาน อาทิเช่น "อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 1,2,3" "อาคารเอสซี สาธรแมนชั่น" (ถ.สาทรใต้) "อาคารไวท์ เฮ้าส์" "อาคารการประปานครหลวง" "คลังสินค้า" (บริเวณแขวงคันนายาว) "อาคารสำนักงาน" (บริเวณ ถ.นครไชยศรี) "อาคารแขวงทุ่งสองห้อง" (บางเขน) "โครงการวังหินคอนโดทาวน์" "อาคารไทยคม เทเลพอร์ต ดีทีเอช เซ็นเตอร์" (ที่ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี)  "อาคารสำนักงาน" (ที่ จ.เชียงใหม่) และอีกมาก



ในปี 2548 เฉพาะ "บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 60.82%)  มีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่สำนักงาน (อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3) และให้บริการแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 25 บริษัท มีมูลค่ารวม 574 ล้านบาท



เฉพาะ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เพียงเจ้าเดียว มาใช้บริการเช่าพื้นที่ ผ่าน "เอสซี แอสเสท" มากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 240.10 ล้านบาท  "ไอทีวี" 71.09 ล้านบาท "แคปปิตอล โอเค" 40.41 ล้านบาท "ดิจิตอล โฟน" 18.02 ล้านบาท "มหาวิทยาลัยชินวัตร" 11.01 ล้านบาท และ "บ.เพย์เมนท์ โซลูชั่น" 6.73 ล้านบาท เป็นต้น



แต่หาก "โฟกัส" เฉพาะ "ค่าเช่า" และ "ค่าบริการ" ที่ได้รับจาก "เครือชินคอร์ป" (SHIN-ADVANC-SATTEL-ITV) ในรอบปี 2548 จะมีมูลค่ารวม ประมาณ 840 ล้านบาท



เป็นการจ่ายให้กับ "บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น" (SC) จำนวน 199 ล้านบาท และจ่ายให้กับ "บ.เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 99.99%) มากที่สุด 325 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแห่งนี้มี "ชานนท์ สุวสิน" และ "กาญจนาภา หงษ์เหิน" คนสนิทของ "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" นั่งเป็นกรรมการบริษัท



เช่นเดียวกับอีกนับสิบบริษัท ก็วางตัวให้ "ชานนท์" และ "กาญจนาภา" เข้าไปนั่งบริหารแทนในฐานะ "นอมินี" คนสนิทของ "คุณหญิงพจมาน"



ขณะที่ "ชานนท์ สุวสิน" ยังถูกส่งเข้าไปเป็นรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย อีกหน้าที่หนึ่งด้วย



ที่ผ่านมาเส้นทางผลประโยชน์เกี่ยวโยงระหว่าง "กระเป๋าเงินบริษัท" กับ "กระเป๋าเงินของครอบครัว" (ชินวัตร) ถูกจัดสรรไว้อย่างลงตัว..โดยทำให้ "ชินคอร์ป" ทั้งอาณาจักร หายเข้าไปใน "ตึกชินวัตร" และบริษัทที่ครอบครัวนี้ ถือหุ้นใหญ่



จากนั้นจะ "ถ่ายเงิน" ไปสู่ความมั่งคั่งของเครือข่าย แบบไม่ต้องกังวล ผ่านรายได้ "ค่าเช่า" และ "ค่าบริการ" อื่นๆ ตามมา



 "บ.เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค" เป็นเจ้าของอาคาร "ชินวัตรทาวเวอร์ 1,2" ที่ผ่านมานำสินทรัพย์ไปจัดตั้ง "กองทุนแอสเสท เน็ตเวิร์ค" หรือ "ANET" (SC ถือหุ้นกองทุนนี้ 30%) ส่วน "บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น" (SC) เป็นเจ้าของอาคาร "ชินวัตรทาวเวอร์ 3" ซึ่งเป็น "ฐานรายได้หลัก" ของครอบครัวนี้



 "บ.โอเอไอ แอสเสท" (SC ถือหุ้น 100%) ให้เช่าพื้นที่สำนักงาน และพื้นที่จอดรถในอาคารไวท์ เฮ้าส์ และ อาคารการประปานครหลวง



 "บ.ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 99.99%) เป็นเจ้าของอาคารไทยคม เทเลพอร์ต ดีทีเอช เซ็นเตอร์" ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อใช้เป็นสถานีให้บริการภาคพื้นดิน สถานีดาวเทียมไทยคม "บ.เวิร์ธ ซัพพลาย" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 68.17%) เป็นเจ้าของตึกให้เช่าทั้งหมด ที่ จ.เชียงใหม่



ส่วน "บ.บี.พี.พร็อพเพอร์ตี้" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 88.22%) เป็นเจ้าของอาคาร เอสซี สาธรแมนชั่น ที่ถนนสาทรใต้ ขณะที่ "บ.พี.ที.คอร์ปอเรชั่น" (ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 99.98%) เป็นเจ้าของคลังสินค้า บริเวณแขวงคันนายาว อาคารสำนักงาน บริเวณถนนนครไชยศรี และเป็นเจ้าของโครงการวังหินคอนโดทาวน์ เป็นต้น



ถึงแม้ "เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์" กองทุนของรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ "ชิน คอร์ป" แล้ว แต่ทั้งอาณาจักร ก็ยังตกอยู่ในอุ้งมือของ บริษัทที่ครอบครัวชินวัตรจัดตั้งขึ้นมาหาผลประโยชน์ (เข้ากระเป๋าตัวเอง) ต่อไป..แบบไม่สิ้นสุด



เพราะเหตุว่า "ชิน คอร์ป" ได้ลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่ไว้อย่างครบครัน (เจ้าของตึกไม่ได้ลงทุนเอง) หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เช่า จะส่งผลต่อภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก



ถ้าสายสัมพันธ์ระหว่าง "เทมาเส็ก" กับ "ครอบครัวชินวัตร" ไม่ถึงขั้น "ขาดสะบั้น" ลงเสียก่อน ทุกๆ ปี กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ จะต้องจ่ายค่าเช่าและค่าบริการอื่นๆ ให้กับครอบครัวนี้ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ต่ำกว่าปีละ 800 ล้านบาท..ไปเรื่อยๆ



ที่น่าสนใจ ก็คือ ในบางธุรกิจที่ "ชิน คอร์ป" ควรจะดำเนินการเองได้ แต่ครอบครัวนี้กลับเข้าไปรับงานบริการมาทำเสียเอง อย่างเช่น "บ.อัพคันทรีแลนด์" (SC ถือหุ้น 100%) เข้าไปเป็น "ผู้ให้เช่า" สถานที่ทุกแห่ง สำหรับติดตั้งชุมสาย ประเภท Mobile Switching Center ของ AIS (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ทั้งในกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค รวม 103 แห่ง



ทุกวันนี้ "บ.อัพคันทรีแลนด์" นอนกินค่าเช่าจาก AIS ปีละ 130-135 ล้านบาท แบบไม่ต้องลงแรง..แต่รับเงินลูกเดียว



ที่น่าสนใจ ก็คือ ครอบครัวชินวัตร ไม่ได้ถือหุ้น บ.อัพคันทรีแลนด์ ทางตรงก็จริง แต่บริษัทแห่งนี้ก็มาเช่าที่ดิน (บางส่วน) ต่อจาก "บ.พี.ที.คอร์ปอเรชั่น" ที่ ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 99.98% เท่ากับว่าจะได้รับผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึง 2 เด้ง



ขณะที่ "บ.โอเอไอ ลีสซิ่ง" ที่ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 45% และดามาพงศ์ ถือหุ้น 55% จัดตั้งขึ้นมาทำธุรกิจ "ให้เช่ารถยนต์" แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  เพื่อใช้งานประจำสาขาต่างๆ จำนวน 258 คัน ซึ่งในรอบปี 2548 ที่ผ่านมา AIS จ่ายค่าเช่าให้กับบริษัทแห่งนี้ รวม 44.52 ล้านบาท หรือ จ่ายค่าเช่าเฉลี่ย ที่ 172,500 บาท/คัน/ปี เป็นตัวเลขที่สูงมาก



หรืออย่างเช่น "บ.บางกอกเทเลคอม เอ็นจีเนียริ่ง" บริษัทนี้ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 100% ได้เข้าไปว่าจ้างให้บริการติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคม รับค่าบริการจาก AIS ในปีที่แล้วไป 88.35 ล้านบาท โดย AIS อ้างว่า บริษัทของครอบครัวชินวัตร แห่งนี้ มีความชำนาญในการติดตั้งสถานีฐาน และได้มีการยื่นซองประกวดราคาตามระเบียบปฏิบัติของการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท แต่กลับได้รับการ "ว่าจ้าง" (แบบผูกขาด) มาตลอด



ขณะที่ "บ.โอเอไอ คอนซัลแตนท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์" ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้น 84.21% มีห้องจัดเลี้ยงให้บริษัทในเครือชินคอร์ป เช่าจัดงาน จัดสัมมนา และฝึกอบรมพนักงาน มีรายได้ค่าบริการจาก "ชิน คอร์ป" ปีละ 1-2 ล้านบาท



ส่วน "บ.ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเมนท์" ที่มี "พานทองแท้-พิณทองทา ชินวัตร" ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 58.96% มีรายได้จากบริษัทในเครือชินคอร์ป มาซื้อสื่อโฆษณาในรายการโทรทัศน์ของ "ฮาวคัม" ในปีที่แล้ว สูงถึง 10.2 ล้านบาท



ทาง "ชิน คอร์ป" ระบุไว้ในรายงานว่า บริษัทของลูกรักษาการนายกรัฐมนตรี นำเสนอรายการตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และไม่มีรายการโทรทัศน์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่ฟังดูแล้ว..ใครๆ ก็ย่อมรู้สึกว่า "แปร่งๆ ชอบกล"



ทั้งหมดนี้ คือ เส้นทางถ่ายโอนผลประโยชน์จาก..เครือชินคอร์ป มาเข้ากระเป๋าส่วนตัว ได้อย่างแนบเนียน



……………………………………………………..


ที่มา : http://www.bangkokbizweek.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net