Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ทันทีที่ถ้อยแถลงเรื่องผลรางวัลซีไรต์ประจำปี 2549 ถูกกล่าวขานออกมาดังๆ ให้สาธารณชนได้รับรู้ทั่วกัน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็อึงมี่ขึ้นมาทันที (...และหัวข้อที่ถกเถียงกันก็แทบไม่ต่างอะไรจากที่ได้ยินกันมาเกือบทุกปี)


 


บางกระแสเห็นว่า "ความสุขของกะทิ" ถูกล็อกไว้แต่แรกเพื่อให้เป็นหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ในปีนี้ โดยพยายามที่จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมืองและเส้นสายภายในระหว่างผู้เขียนและคณะกรรมการ


 


อีกบางกระแสก็เห็นว่าประเด็นที่พูดถึงในหนังสือเรื่องความสุขของกะทิเป็นเพียงเรื่องของปัจเจกที่เล็กน้อยเสียจนไม่น่าจะถูกหยิบยกมาพูดถึงในงานวรรณกรรม โดยเฉพาะเมื่อนำความสุขของกะทิไปเทียบกับผลงานเข้าชิงเรื่องอื่นๆ ที่พูดถึงปัญหาหนักๆ ระดับสังคมและประเทศชาติ


 


แต่ถ้ามองถึงความจริงที่ว่าการดำรงอยู่ของ "รางวัล" และ "เวทีประกวด" ถือเป็นความจำเป็นชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลต่อยอดขายของสำนักพิมพ์และรายได้ของนักเขียน หรืออย่างน้อยที่สุด--ก็มีผลในแง่ของการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าแวดวงวรรณกรรมยังมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นบ้าง เพราะอย่างนั้น การตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานการตัดสินรางวัลจึงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็ได้…


 


เพราะเรื่องราวเล็กๆ ของเด็กหญิงวัยเก้าขวบอย่าง "กะทิ" ต่างหากที่เราต้องครุ่นคิดคำนึงถึงเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง


 


ชีวิตอันเรียบง่ายของกะทิถูกถ่ายทอดผ่านภาษาอันสละสลวย ชวนให้คนอ่านคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย และสิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฏขึ้นในชีวิตประจำวันของกะทิก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่คนไทยส่วนใหญ่ได้พบเห็นอยู่ทุกวัน ความรู้สึกเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านและเนื้อหาของนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย


 


เรามองเห็นความงามของสร้อยสายบัวที่ถูกหักเป็นข้อๆ ให้เด็กหญิงกะทินำมาคล้องคอ และจินตนาการว่านั่นคือเครื่องประดับอันงดงาม เช่นเดียวกับที่เราสามารถรับรู้ถึงความสงบในยามเช้าที่สองยายหลานออกมาใส่บาตรกับพระสงฆ์ที่พายเรือตามลำน้ำมาบิณฑบาตกับญาติโยม


 


และถึงแม้ว่าเด็กหญิงกะทิจะต้องทนเหงาและว้าเหว่กับการที่ตัวเองไม่มีแม่มาคอยดูแลเหมือนเพื่อนคนอื่น แต่เธอก็ไม่เคยบ่นออกมาอย่างน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเธอเกรงว่าคุณตาคุณยายที่เลี้ยงเธอมาจะลำบากใจหากเธอตั้งคำถามที่ท่านตอบได้ลำบาก


 


ถ้าใครมีลูกสาวอย่างเด็กหญิงกะทิสักคน เขาและเธอจะต้องเป็นพ่อแม่ที่โชคดีมากๆ เพราะนอกจากกะทิจะเป็นเด็กหญิงน่ารักน่าเอ็นดู เธอยังมีจิตใจที่ดีงาม ว่านอนสอนง่าย และคำนึงถึงจิตใจของคนอื่นเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลยถ้าใครต่อใครจะพากันตกหลุมรักเด็กหญิงกะทิในหนังสือเล่มนี้


 


แม้กระทั่งช่วงเวลาที่กะทิต้องเผชิญกับทุกข์อันใหญ่หลวงของชีวิต นั่นคือการได้พบกับความจริงว่าแม่ของเธอกำลังจะตาย กะทิก็ยังรับมือกับความเจ็บปวดแห่งการสูญเสียได้อย่างเข้มแข็ง


 


หากประเด็นสำคัญก็คือ กะทิสามารถเผชิญหน้ากับสัจธรรมอันเจ็บปวดได้เพราะเธอมีมือที่แข็งแรงคอยโอบอุ้มประคับประคอง และมือเหล่านั้นก็ได้แก่คุณตาคุณยาย หลวงตา รวมถึงเพื่อนรักทั้งสองคนของแม่ที่คอยดูแลและค่อยๆ สอนให้กะทิรู้จักตัวตนอันลึกซึ้งของผู้ให้กำเนิด


 


ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้และเป็นที่โดนใจนักอ่านทั้งหลายจึงน่าจะได้แก่ความอบอุ่นเหนียวแน่นของสถาบันครอบครัว รวมถึงมุมมองตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่สอดแทรกอยู่เป็นระยะ แต่ไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกสั่งสอน เพราะผู้เขียนมีความสามารถสูงในการบรรยายและเรียงร้อยถ้อยความ


 


อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปในความสุขอันง่ายงามของกะทิ นักอ่านย่อมสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องเดาว่าสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กหญิงกะทิไม่ใช่ความธรรมดาสามัญ เพราะคุณตาคุณยายที่เลี้ยงดูกะทิมาตลอดนั้น-หาใช่ชาวบ้านต่างจังหวัดทั่วไป แต่เป็นถึงผู้มีอันจะกินที่ปลีกตัวจากความวุ่นวายของเมืองหลวงมาใช้ชีวิตอย่างสงบหลังจากเกษียณอายุการทำงานแล้ว


 


เช่นเดียวกับครอบครัวของกะทิที่เป็นครอบครัวฐานะดี (ถึงขึ้นดีมาก) ขนาดที่จะมีบ้านพักตากอากาศริมทะเลหัวหินได้ และยังมีที่พักอยู่ในเมืองหลวงอีกหนึ่งแห่งด้วย  


 


คนที่อยู่รอบตัวกะทิก็ล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษา มีทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักปล่อยวาง และรู้จักแปรความโศกเศร้าให้กลายเป็นประสบการณ์อันมีค่าได้


 


ความสุขของกะทิจึงดูงดงามและเรียบง่ายเหมือนอย่างที่ผู้เขียนพยายามจะบอกได้ เพราะเธอสามารถหาความพึงพอใจในชีวิตจากทุกคนและทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รายล้อม และทุกปัจจัยที่ว่ามานั้นก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความหวังดีที่มีมากเสียจนกะทิไม่รู้สึกว่าตนเอง "ขาด" อะไรเลย  


 


เมื่อรับรู้เรื่องราวของเด็กหญิงกะทิไปจนจบ นักอ่านส่วนใหญ่ก็ยิ่งอิ่มเอมตื้นตันใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะภาพชีวิตและบรรยากาศรอบตัวกะทิที่ถูกถ่ายทอดออกมาดูชวนฝันและงดงามเกินกว่าที่ความโหดร้ายในโลกจริงจะเอื้อมมือไปฉีกทึ้งทำลายได้


 


หัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักของกะทิจึงงดงามอย่างที่ควรจะเป็น และกะทิก็คงจะเป็นเด็กผู้หญิงในอุดมคติที่ทุกครอบครัวอยากมีไว้สักคน แม้ในความเป็นจริงแล้วสังคมของเราจะไม่มีเด็กหญิงที่หัวใจงดงามได้ขนาดนี้ เพราะสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้เด็กหญิงแบบกะทิมีตัวตนอยู่จริงสักเท่าไหร่


 


ทุกวันนี้...ยังมีเด็กหญิงและเด็กชายอีกมากที่ต้องทนทุกข์และเผชิญกับความเจ็บปวดโดยไม่มีใครยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นคงจะหดหู่และไม่ทำให้ใครรู้สึกดีได้ ซึ่งนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องสั้น นิยาย หรือแม้แต่วรรณกรรมเยาวชนในบ้านเราจึงไม่ค่อยมีเรื่องที่มองจากมุมของ "ผู้ขาดแคลน" ดูบ้าง


 


"ความสุขของกะทิ" จึงเป็นหนังสือที่ควรสนับสนุนให้เด็กๆ ได้อ่านกัน เพราะเรื่องราวทั้งหมดนั้นจะช่วยให้เด็กๆ มองโลกในแง่ดีได้มากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก และดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่แนบเนียนนุ่มละมุนกว่าการบังคับให้เยาวชนไทยร้องเพลง "เด็กเอ๋ยเด็กดี" วันละหลายๆ รอบเสียด้วยซ้ำไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net