Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

: The Real War


 


 



 


 


 


 


อุทัยวรรณ เจริญวัย แปล


 


 


 


 


Through early morning fog I see


visions of the things to be


the pains that are withheld for me


I realize and I can see...


 


that suicide is painless


It brings on many changes


and I can take or leave it if I please.


 


…………………


 


Suicide is Painless,


Original soundtrack from M*A*S*H, 1970


 


 


  


หมายเหตุ - แปลจากรายงาน 'I can't go to Iraq. I can't kill those children' - Suicide soldier's dying words to his mother โดยคาฮาล มิลโม (Cahal Milmo) หนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนท์ (อังกฤษ) วันที่ 25 สิงหาคม 2006


 


 


เดือนนี้ ขณะที่เพื่อนนักเรียนของเขาที่โรงเรียน St Augustine's Catholic School  กำลังเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือไม่ก็เตรียมตัวทำงานหลังเรียนจบ เจซัน เชลซี (Jason Chelsea) กลับกำลังยุ่งอยู่กับอนาคตที่ไม่เหมือนใครของตัวเอง นั่นก็คือ การไปรบครั้งแรกในอิรัก


 


ทหารราบวัย 19 ปีจาก วีแกน (Wigan, Greater Manchester) รายนี้ ได้รับความทุกข์ทรมานใจอย่างมาก อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขา เมื่อกรมทหารราบที่เขาสังกัด (King's Lancaster Regiment) จะต้องเดินทางไปอิรัก ที่ซึ่งทหารอังกฤษได้เอาชีวิตไปสังเวยถึง 115 ศพแล้วตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา


 


เขาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า ผู้บังคับบัญชาของเขาได้กล่าวเตือนทหารก่อนไปว่า เขาอาจจะได้รับคำสั่งให้ยิงเด็กได้...ถ้าต้องสงสัยว่าเป็นพวกบอมบ์พลีชีพ


 


เขาไม่เคยเจอกรณีแบบนี้มาก่อน และมันทำให้เขารู้สึกกลัว ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่เขาสารภาพเรื่องนี้ให้ที่บ้านฟัง พลทหารเชลซีก็ต้องจบชีวิตลง หลังจากที่กินยาแก้ปวดเข้าไปจำนวนมากและลงมือกรีดข้อมือตัวเองทั้งสองข้าง


 


บนเตียงนอนที่เขาพยายามจะฆ่าตัวตาย เขาทิ้งข้อความถึง แครี (Kerry) แม่ของเขาว่า "ผมไม่สามารถไปที่นั่นและยิงเด็กๆ ได้ ผมไปรบที่อิรักไม่ได้จริงๆ ผมไม่สนใจหรอกว่าเด็กๆ พวกนั้นจะเป็นฝ่ายไหน แต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้"


 


วันนี้ เพื่อนทหารในหน่วยเดียวกันจะไปร่วมงานศพของพลทหารเชลซี พวกเขาจะใส่เสื้อผ้าสีโปรดของเชลซีไปด้วย นั่นก็คือ สีของทีมเชลซีและวีแกน สองทีมฟุตบอลทีมโปรดของเขา กระทรวงกลาโหมกำลังจะเริ่มสืบสวนหาความจริงเกี่ยวกับความตายของเขา รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า เขาถูกใครคุกคามหรือรังแกเอาหรือเปล่า ในข้อความสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ เขาเขียนถึงตัวเองว่า เขาเป็น "แค่เศษขยะ" สิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับใคร.....


 


เมื่อวานนี้ พ่อแม่ของเขากล่าวว่า ความทุกข์ทรมานอย่างที่ลูกชายของเขาต้องเจอะเจอนี้ ทำให้พวกเขาเชื่อว่า ขั้นตอนการฝึกอบรมของกองทัพอังกฤษก่อนที่จะส่งทหารไปประจำการที่อิรัก สมควรจะได้รับการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน


 


โทนี เชลซี (Tony Chelsea) ที่ปรึกษาฝ่ายผลิตของโรงงานแห่งหนึ่ง กล่าวว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายของผม ทำให้เขาต้องรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้างอย่างมาก เขาคงรู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ ข้างใน แต่เขาเก็บกดมันเอาไว้ จนกระทั่งเมื่อมันมาถึงจุดที่เขารับมือไม่ไหวอีกแล้ว เขาถึงปริปากบอกเราถึงสิ่งที่เขากลัวว่าจะต้องเจอในอิรัก"


 


"ในการฝึก พวกเขาจะตกอยู่ในสถานการณ์จำลองและถูกบังคับให้ต้องต่อสู้กับศัตรูที่ทำขึ้นมาเป็นดัมมี (เป้าโจมตีเลียนแบบของจริง) ตามที่เจซันเล่า พวกเขาบอกเจซันและทหารที่ถูกฝึกว่า ทุกคนอาจจำเป็นต้องต่อสู้กับเด็ก และต้องพร้อมที่จะยิงเด็ก เพราะเด็กพวกนั้นอาจจะเป็นพวกบอมบ์พลีชีพที่มีระเบิดติดอยู่กับตัวก็ได้ เขาพูดว่านโยบายที่ให้ไว้ก็คือ (ในกรณีที่สงสัย) ให้ยิงก่อน-แล้วค่อยหาความจริงทีหลัง"


 


แม่ของเขาเสริมว่า "เจซันบอกว่า ระหว่างการฝึกเพื่อเตรียมตัวไปรบที่อิรัก ผู้ฝึกบอกเขาว่า แม้แต่เด็กที่ยังเล็กมากๆ ขนาด 2 ขวบ ก็อาจจะมีระเบิดพลีชีพได้ และเขาอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องยิงเด็กคนนั้นเพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยของเขาและเพื่อนทหารในหน่วยเดียวกัน ฉันคิดว่าวิธีการฝึกทหารที่มีอายุน้อยๆ เหล่านี้ก่อนไปรบที่อิรัก...ควรจะได้รับการทบทวนข้อดีข้อเสียอีกครั้ง"


 


มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่เข้าใจกันดีในการฝึกทหารอังกฤษเพื่อไปรบที่อิรักว่า ให้ยิงเด็กที่ต้องสงสัยได้เลยโดยไม่ต้องมีการเตือนล่วงหน้า แต่แหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า คำแนะนำเช่นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละกรมกองที่เป็นต้นสังกัดมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีกรณีของบอมบ์พลีชีพที่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ...เกิดขึ้นในอิรักมาก่อน


 


ความตายของพลทหารเชลซี ที่กองทัพเคยส่งไปประจำการที่เยอรมันและไซปรัสมาแล้ว กำลังจะส่งผลต่อความกังวลรอบใหม่ ว่าด้วยความกดดันที่มีต่อสภาพจิตใจของทหารอังกฤษที่ถูกส่งไปรบที่อิรัก เพียงสี่วันก่อนหน้าเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของทหารราบนายนี้ กระทรวงกลาโหมเพิ่งจะเปิดเผยตัวเลขข้อมูลที่ว่า มีทหารอังกฤษจำนวน 1,541 รายที่กำลังทนทุกข์และตกอยู่ภายใต้ความเจ็บป่วยทางจิต ผลจากการถูกส่งไปรบในอิรัก ปีที่แล้วมีบันทึกผู้ป่วยในกรณีนี้ถึง 727 ราย คิดเป็นเกือบ 10% ของทหารอังกฤษที่ประจำอยู่ในอิรัก ปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในอิรักแล้ว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาทหารที่ต้องเผชิญกับความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม ในอังกฤษก็มีหน่วยงานที่ให้บริการที่ว่านี้เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าพลทหารเชลซีจะรู้สึกว่าเขาไม่สามารถสื่อสารเรื่องนี้กับคนเหล่านั้น


 


เขาไปสมัครเป็นทหารตอนอายุ 16 หลังเข้าเรียนที่โรงเรียน St Augustine's  แล้ว เขาบอกกับที่บ้านว่า การเป็นทหารน่าจะใช่หนทางชีวิตอย่างที่เขาต้องการ เขาอยู่ระหว่างลาหยุดและพักอยู่กับบ้าน ในเดือนนี้...ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มกลัวขึ้นมา


 


หลังจากดูการแข่งขันฟุตบอลจบ คืนวันที่ 10 สิงหาคม เขามีท่าทีสงบและเริ่มลงมือเขียนบันทึกความในใจก่อนฆ่าตัวตาย เขาบอกพ่อของเขาว่า เขาเขียนจดหมายถึงญาติ จากนั้น เขาก็กินยาแก้ปวดเข้าไป 60 เม็ด และเอามีดเชือดที่ข้อมือตัวเอง วูบหนึ่ง ระหว่างที่เขานอนรอความตาย ปล่อยให้เลือดไหลออกมานั้น เขากดโทรศัพท์หมายเลข 999 พูดกับผู้รับสายว่า "ผมเพิ่งจะทำอะไรโง่ๆ ลงไป"


 


ในสภาพร่างกายปกติ พลทหารเชลซี ซึ่งมีประวัติเป็น ดิสเล็กเซีย (Dyslexia - มีปัญหาในการอ่าน เขียน มีปัญหากับการใช้ตัวอักษร เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างในสมอง) สามารถรอดชีวิตได้จากบาดแผลครั้งนี้ แต่เมื่อแพทย์เริ่มตรวจเช็คที่ตับของเขาเพื่อประเมินความเสียหายจากยาที่กินเข้าไป ผลปรากฏว่าตับของพลทหารเชลซีถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์จนไม่สามารถจะเยียวยาได้อีกแล้ว แพทย์บอกครอบครัวเชลซีว่า ตับของเขาเหมือนกับคนที่ดื่มเหล้ามา 20 ปี และเขาจะไม่สามารถรอดชีวิตได้จากการผ่าตัด เขาสิ้นใจตายในวันที่ 14 สิงหาคม ที่โรงพยาบาล St James's Hospital ในเมืองลีดส์ หลังจากที่ครอบครัวของเขาได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะอื่นๆ ที่เหลือของเขาให้กับโรงพยาบาลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผ่าตัดต่อไป


 


พ่อของเขาเชื่อว่า เหตุผลที่ทำให้เขาดื่มจัด คือเหตุผลที่ทำให้เขาพยายามฆ่าตัวตายมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2004 เขาเคยเชือดข้อมือตอนที่อยู่ในค่ายทหารมาแล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้น เขาได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ในกองทัพจนกระทั่งเขาฟื้นตัวกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง


 


โทนี เชลซีกล่าวว่า "ลูกชายผมเริ่มดื่มเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว เขาทำลายตับของเขาภายในช่วงเวลาไม่ถึงปีครึ่งเท่านั้น ผมเชื่อว่าเป็นเพราะเขาคงถูกใครเล่นงานเข้าอีก และเขาก็คงจะไม่อยากจะเอาเรื่องด้วย เขาอยู่ในกองทัพ เขารู้ว่าเขาต้องแข็งแกร่งและอดทน แต่เรื่องแบบนี้...บางทีมันก็เป็นเพราะคำพูดแค่ไม่กี่คำ ครั้งนั้น เขาเล่าว่า เขาได้รับคำตำหนิต่อว่าอันเนื่องมาจากโรคดิสเล็กเซียของเขา มีคนบอกว่า เขาจะทำให้เพื่อนทหารด้วยกันถูกฆ่าตายเพราะความโง่"


 


"ผมสนับสนุนกองทัพอังกฤษและภารกิจของพวกเขา แต่ผมอยากจะยืนอยู่ตรงหน้าทหารในหน่วยเดียวกับลูกชายผม ถือรูปของเขาในเครื่องแบบ และขอให้ใครก็ตามที่ตำหนิติเตียนลูกผมครั้งแล้วครั้งเล่า...ได้คิดถึงผลระทบในสิ่งที่พวกเขาทำลงไปบ้าง"


 


ความสิ้นหวังของพลทหารเชลซีปรากฎชัดอยู่ในบันทึกสุดท้าย...ที่ว่า "ผมเสียใจจริงๆ ครับ พ่อและแม่ ผมเป็นลูกที่ไม่เอาไหนเลย ผมไม่ดีพอสำหรับพ่อและแม่ ผมคงต้องจบทุกอย่างลงสักที ผมมันเป็นแค่เศษขยะที่ไร้ค่า"


 


กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รู้สึก "เสียใจอย่างใหญ่หลวง" ต่อการเสียชีวิตครั้งนี้ แต่รายละเอียดต่างๆ ยังเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนกันต่อไป โฆษกกองทัพพูดว่า "เราขอแสดงความเห็นใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวพลทหารเชลซี และเราจะจัดประชุมคณะกรรมการสืบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เบื้องหลังความตายครั้งนี้"


 



 


 


กรณีฆ่าตัวตายหลังบุกอิรัก-อีก 5 กรณี


 


กุมภาพันธ์ 2004


พลทหารแกรี บอสเวล (Pte Gary Boswell), 20, สังกัด Royal Welch Fusiliers, แขวนคอตายใกล้บ้านในเมืองมิลฟอร์ด เฮเวน (Milford Haven) อยู่ระหว่างช่วงหยุดพักจากสงครามอิรัก


 


31 ตุลาคม 2004


สิบโทเดนิส โรส (Staff Sgt Denise Rose), 34, หน่วยสืบสวนพิเศษของ Royal Military Police, ถูกพบเป็นศพยิงตัวตายที่ฐานทัพอังกฤษในบาสรา


 


26 ธันวาคม 2004


สิบเอกพอล คอนนอลลี (Sgt Paul Connolly), 33, สังกัดกรมทหารช่างที่ 21 ของ Royal Engineers, ถูกพบเป็นศพยิงตัวตายที่ฐานทัพส่งกำลังบำรุงชายบาห์ (Shaibah) ตะวันตกเฉียงใต้ของบาสรา


 


5 ตุลาคม 2005


ร้อยเอกเคน มาสเตอร์ส (Capt Ken Masters), 40, หน่วยสืบสวนพิเศษของ Royal Military Police แขวนคอตายในห้องทำงานที่บาสรา เพียง 5 วันก่อนครบกำหนดการทำงานในอิรัก


 


2 มีนาคม 2006 (ที่อัฟกานิสถาน)


สิบโทมาร์ก คริดจ์  (Cpl Mark Cridge), 25, กรมทหารสื่อสารที่ 7 ยิงตัวตายที่แคมป์แบสเชิน (Camp Bastion) จังหวัดเฮลมานด์ (Helmand) อัฟกานิสถาน


 


 


- - - - - - - - - - - - - - - - - -


 


The only way to win is cheat


And lay it down before I'm beat


and to another give my seat


for that's the only painless feat.


 


that suicide is painless


It brings on many changes


and I can take or leave it if I please.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net