Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



รามี  เอลฮานัน


 


 


รามีกับ  กาซี  บรีเกธ  ชาวปาเลสไตน์ที่น้องชายถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิต


 


โดย ภควดี วีระภาสพงษ์ 


 


ทุกครั้งที่มีสงครามกลางเมือง ทุกครั้งที่มีระเบิดทั้งพลีชีพและไม่พลีชีพ แต่ละครั้งล้วนตอกลิ่มลงไปในความบาดหมางของสังคม ตั้งแต่ดินแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จนถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คำถามว่า "แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?" คือคำถามที่ท้าทายที่สุดต่อประชาชนทุกฟากฝ่าย การเรียนรู้จากผู้สูญเสียน่าจะช่วยชำระล้างจิตใจของเราได้บ้าง และหยุดคิดก่อนจะทำอะไรที่ยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งให้ลงลึกกว่าเดิม


 


ในหนังสือเล่มใหม่ของ John Pilger ชื่อ Freedom Next Time (Bantham Press, 2006) มีบางบทตอนที่เปิดตาให้เรารู้ว่า มีชาวอิสราเอลไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของตน แม้เขาจะเป็นผู้สูญเสียก็ตาม


 


0 0 0


 


สำหรับ รามี เอลฮานัน กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอิสราเอล การพลีชีพซึ่งเป็น "สมบัติชิ้นสุดท้าย" ของชาวปาเลสไตน์ คือต้นเหตุการตายของ ซมาดาร์ ลูกสาววัย 14 ปีของรามี เขามีเทปวิดีโอที่ถ่ายเล่นในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดูภาพในวิดีโอนั้น ซมาดาร์กำลังเล่นเปียโน สะบัดผมไปข้างหลังและหัวเราะ เธอผมยาว เพิ่งตัดผมได้สองเดือนก่อนเสียชีวิต "นั่นเป็นวิธีที่เธอประกาศความเป็นตัวของตัวเอง" รามีเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม "พวกพี่ๆ ผู้ชายชอบล้อเธอ เพราะเธอเป็นนักเรียนที่ดีมาก แต่เธอรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เธออยากเป็นหมอและเธอรักการเต้นรำ"


 


บ่ายวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1997 ซมาดาร์กับเพื่อนสนิทชื่อ ซีวาน มีนัดสอบสัมภาษณ์เพื่อสมัครเข้าโรงเรียนเต้นรำ ตอนเช้า ซมาดาร์เถียงกับแม่ นูริทไม่ค่อยสบายใจที่ลูกสาวจะเข้าไปใจกลางกรุงเยรูซาเล็มเพื่อซื้อหนังสือที่ต้องใช้ในโรงเรียน "ฉันเป็นห่วงเรื่องระเบิดพลีชีพที่เกิดขึ้นบ่อยๆ" นูริทเล่า "แต่ฉันไม่อยากทะเลาะกับลูก ก็เลยให้เธอไป"


 


รามีกำลังขับรถ เมื่อเขาเปิดวิทยุฟังข่าวตอนบ่ายสามโมง และได้ยินรายงานข่าวเรื่องระเบิดพลีชีพในศูนย์การค้าเบนเยฮูดา ชาวปาเลสไตน์สามคนเดินเข้าไปกลางฝูงชนและกลายร่างเป็นระเบิดมนุษย์ มีผู้บาดเจ็บเกือบสองร้อยคนและเสียชีวิตหลายคน ไม่กี่นาทีต่อมา โทรศัพท์มือถือของรามีก็ดังขึ้น นูริทร้องไห้มาตามสาย เธอได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนคนหนึ่งของลูกชาย เขาเห็นซมาดาร์กำลังเดินไปที่ห้างเบนเยฮูดาไม่นานก่อนเกิดระเบิด รามีกับนูริทตามหาลูกสาวตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายชั่วโมง "ในที่สุด" รามีเล่า "ตำรวจคนหนึ่งค่อยๆ พูดแนะนำให้เราไปที่สถานที่เกิดเหตุระเบิด จากนั้นก็มีคนพาเราไปที่ห้องเก็บศพ"


 


รามีเอ่ยถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เป็นเสมือน "การดำดิ่งลงสู่ความมืด" มันยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อสันติภาพอันน่าสะเทือนใจด้วย ผม (หมายถึงจอห์น พิลเจอร์) ไม่เคยพบใครเหมือนรามี การพบปะที่ผมนั่งสัมภาษณ์เขาในห้องรับแขกสว่างไสวในบ้านของเขาที่กรุงเยรูซาเล็ม สร้างความประทับใจแก่ผมอย่างลึกซึ้ง บางครั้ง หนทางแก้ไขปมปัญหาการเมืองที่ดูเหมือนสางไม่ออก กลับคล้ายอยู่ใกล้แค่เอื้อม เมื่อมีคนอย่างรามี เอลฮานัน ผู้กล้าพูดในสิ่งที่พูดไม่ได้


 


"มันเจ็บปวดที่จะยอมรับ แต่มันเป็นเรื่องพื้นๆ ที่สุดทีเดียว" เขากล่าว "ไม่มีความแตกต่างทางศีลธรรมขั้นพื้นฐานใดๆ ระหว่างทหารที่ด่านตรวจ ที่ไม่ยอมให้ผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกผ่านด่าน จนทำให้ลูกของเธอต้องตาย กับผู้ชายที่ฆ่าลูกสาวของผม และเช่นเดียวกับที่ลูกสาวของผมเป็นเหยื่อคนหนึ่ง [ของการยึดครอง] ฆาตกรคนนั้นก็เหมือนกัน"


 


บนหิ้งด้านหลังมีรูปภาพซมาดาร์ตอนอายุ 5 ขวบ เธอถือป้ายเขียนว่า "ยุติการยึดครอง" รามีเรียกเธอว่า "เด็กน้อยแห่งสันติภาพ" รามีและนูริทต่างถูกเลี้ยงดูจนเติบโตด้วยความเชื่อว่า การก่อตั้งประเทศอิสราเอลในฐานะประเทศบ้านเกิดของชาวยิว เป็นการกระทำเพื่อรักษาชนชาติยิวเอาไว้ พ่อของรามีรอดตายมาจากค่ายเอาชวิทซ์ ในขณะที่ปู่ย่ากับลุงป้าอีก 6 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์โฮโลคอสต์ พ่อของนูริท มัตตี เปเลด เป็นนายพล วีรบุรุษสงครามในปี ค.ศ.1948 (ปีที่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลและทำสงครามอาหรับครั้งแรก) รามีพูดถึงพ่อตาว่าเป็น "หนึ่งในนักบุกเบิกที่แท้จริงในการสร้างสันติภาพกับชาวปาเลสไตน์" เขาเป็นชาวอิสราเอลคนแรกๆ ที่ไปเยือนยัสเซอร์ อาราฟัต ระหว่างลี้ภัยในตูนิเซีย นูริทเองเคยได้รับรางวัลสันติภาพจากรัฐสภายุโรปเช่นกัน


 


รามีระบุถึงวันเวลาที่เขา "ตระหนักถึงความจริงที่เราไม่กล้าพูด" คือสมัยที่เขาถูกเกณฑ์ทหารในวัยหนุ่ม สงครามปี 1967 เพิ่งผ่านพ้นไปและมันไม่ใช่ "การแทรกแซงทางทหารเพื่อเป้าหมายอันสูงส่ง" อย่างที่วาดภาพกันในอิสราเอล โดยเฉพาะในหมู่ "ผู้ตั้งถิ่นฐาน" ที่สร้างป้อมค่ายผิดกฎหมายลงบนดินแดนที่ยึดครองมาใหม่ เขากล่าวว่า เหตุการณ์นั้นเป็น "จุดเริ่มต้นของโรคมะเร็งในหัวใจของอิสราเอล" ในภายหลัง ในฐานะทหารที่เข้าร่วมสงครามวันยอมคิปปูร์ (วันทางศาสนาของชาวยิว) ในปี ค.ศ.1973 เขาตระหนักว่า "มือผมเปื้อนเลือดเช่นกัน"


 


รามีและนูริทอยู่ในกลุ่มที่ก่อตั้งชมรมพ่อแม่หรือ "ครอบครัวผู้สูญเสียเพื่อสันติภาพ" ซึ่งประสานทั้งครอบครัวชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ต้องสูญเสียสมาชิกที่รักไป รวมถึงครอบครัวของผู้ระเบิดพลีชีพด้วย พวกเขาร่วมมือกันรณรงค์ในด้านเผยแพร่ความรู้และพยายามล้อบบี้นักการเมืองให้เริ่มการเจรจาที่จริงจังเสียที ตอนที่ผมพบรามี พวกเขาเพิ่งจัดวางโลงศพหนึ่งพันโลงหน้าตึกที่ทำการสหประชาชาติในนิวยอร์ก ทุกโลกคลุมด้วยธงชาติอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ "เป้าหมายของเรา" รามีอธิบาย "ไม่ใช่ลืมหรือให้อภัยอดีตที่ผ่านมา แต่หาหนทางอยู่ร่วมกันให้ได้"


 


ผมถามเขาว่า: "คุณแยกแยะความรู้สึกอย่างไร ระหว่างความรู้สึกโกรธแค้นในฐานะพ่อที่สูญเสียลูกสาวกับความรู้สึกที่ต้องการประสานรอยร้าวนี้?"


 


"นี่เป็นเรื่องธรรมดามาก ผมเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ ผมเสียลูกไป แต่ไม่ได้เสียสติ การคิดและการกระทำจากความบ้าบิ่นรังแต่จะขยายวงจรนองเลือดไม่มีสิ้นสุด คุณต้องคิดว่า พวกเราสองชนชาติต่างก็อยู่ที่นี่ ไม่มีฝ่ายไหนระเหยหายไปเป็นอากาศได้ เราต้องหาทางประนีประนอม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และคุณต้องทำให้ได้ด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยความกล้าแบบโง่ๆ"


 


"คุณเคยติดต่อกับพ่อแม่ของผู้ระเบิดพลีชีพที่สังหารซมาดาร์หรือเปล่า?"


 


"เคยมีความพยายามครั้งหนึ่ง มีคนต้องการทำหนังเรื่องนี้ แต่ผมไม่สนใจ ผมไม่ใช่คนบ้า ผมไม่ลืม ผมไม่ให้อภัย คนที่ฆ่าเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เป็นฆาตกรและสมควรถูกลงโทษ การติดต่อโดยตรงกับคนที่ทำร้ายผม นั่นไม่ใช่ประเด็น คุณเห็นหรือเปล่าว่า บางครั้งผมก็ต้องต่อสู้กับตัวเองเพื่อทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ แต่ผมแน่ใจว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผมเข้าใจดีว่า ผู้ระเบิดพลีชีพเป็นเหยื่อเท่าๆ กับลูกสาวของผม ผมแน่ใจในเรื่องนั้น"


 


"คุณเคยติดต่อกับพ่อแม่ของผู้ระเบิดพลีชีพคนอื่นๆ บ้างไหม?"


 


"เคย เป็นการพบปะที่อบอุ่นและให้กำลังใจมาก"


 


"คุณทำเพื่ออะไร?"


 


"เพื่อสร้างสันติและไม่ตั้งคำถาม มือผมก็เปื้อนเลือดเหมือนกัน อย่างที่บอกไปแล้ว ผมเคยเป็นทหารในกองทัพอิสราเอล...ตราบใดที่คุณยังขุดคุ้ยชีวประวัติของแต่ละคนและทุกๆ คน คุณไม่มีวันสร้างสันติได้ มีแต่จะสร้างความบาดหมางและโทษกันไปโทษกันมา พรุ่งนี้ ผมจะไปฮิบรอนเพื่อพบกับครอบครัวผู้สูญเสียชาวปาเลสไตน์ พวกเขาคือข้อพิสูจน์ถึงความเต็มใจของอีกฝ่ายที่จะสร้างสันติกับเราเช่นกัน"


 


"แต่อารมณ์ของคนทั่วไปในอิสราเอลแตกต่างจากคุณมากไม่ใช่หรือ?"


 


"เพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า สิ่งที่ผมกำลังทำคือพยายามวิดน้ำจากมหาสมุทรด้วยช้อน พวกเรา [ในชมรมพ่อแม่] เป็นคนส่วนน้อยมาก นี่คือความจริง และโลกนี้กำลังเดินตามผู้นำที่โง่เง่ามาก นั่นคือความจริงเช่นกัน ผมหมายถึงประธานาธิบดีอเมริกันและนายกรัฐมนตรีของประเทศผมเอง การใช้คำว่า "การก่อการร้าย" และปั้นแต่งทุกอย่างขึ้นมารอบคำนี้อย่างที่พวกเขาทำอยู่ มีแต่จะสร้างความทุกข์, สงคราม, การบาดเจ็บล้มตาย, ระเบิดพลีชีพ, การล้างแค้น, การลงโทษ ให้ขยายวงออกไปเรื่อยๆ แล้วมันนำพาเราไปไหน? ไม่ไปไหนเลย หน้าที่ของเราคือชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้ ยอร์จ วอชิงตันเคยเป็นผู้ก่อการร้าย, โจโม เคนแยตตาเคยเป็นผู้ก่อการร้าย, เนลสัน แมนเดลลาเคยเป็นผู้ก่อการร้าย การก่อการร้ายมีความหมายเฉพาะกับคนที่อ่อนแอและไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีหนทางอื่น" (โจโม เคนแยตตา คือประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา เขาเคยถูกจำคุกด้วยข้อหาก่อกบฏ รามีหมายความว่ารัฐบุรุษเหล่านี้เคยถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายมาแล้วเช่นกัน)


 


"เราต้องทำอย่างไรเพื่อยุติความเจ็บปวดทั้งหมดนี้?"


 


"เราต้องเริ่มต้นด้วยการต่อสู้กับอวิชชา ผมไปตามโรงเรียนต่างๆ และปาฐกถา ผมเล่าให้เด็กๆ ฟังว่าความขัดแย้งเริ่มขึ้นมาอย่างไร โดยให้เด็กๆ จินตนาการถึงบ้านหลังหนึ่งมี 10 ห้อง ซึ่งโมฮัมหมัดกับครอบครัวของเขาอยู่อาศัยกันอย่างสันติ แล้วในคืนพายุจัดคืนหนึ่ง มีเสียงเคาะประตู หน้าประตูยืนอยู่ด้วยโมเสสกับครอบครัวของเขา พวกเขาป่วย ถูกทำร้ายหัวซุกหัวซุน "ขอโทษที" โมเสสพูด "แต่ผมเคยอยู่ในบ้านหลังนี้มาก่อน" นี่คือเรื่องราวย่อๆ ของความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอลทั้งหมด และผมบอกเด็กๆ ว่า ชาวปาเลสไตน์ยอมสละพื้นที่ 78% ของประเทศที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นของตนไปแล้ว ดังนั้น ชาวอิสราเอลควรยอมสละพื้นที่ 22% ที่เหลือบ้าง [ตามตัวเลขหลังสงครามปี 1967]"


 


เขาให้เด็กนักเรียนดูแผนที่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีเอฮุด บารักเสนอต่อยัสเซอร์ อาราฟัตที่แคมป์เดวิด ก่อนที่ "กระบวนการสันติภาพ" จะล้มเหลว แผนที่นั้นแสดงให้เห็นว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกกันออกจากเขตเวสต์แบงก์และพื้นที่ส่วนใหญ่ตกเป็นของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว "นี่คือความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" เขากล่าว "เพราะบารักไม่เคยอนุญาตให้เผยแพร่แผนที่ [อย่างเป็นทางการ] เขากำลังยื่นข้อเสนอที่รู้ดีว่า ชาวปาเลสไตน์ไม่มีทาง...ไม่สามารถ...ยอมรับได้"


 


"คุณเผชิญกับปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ทั้งในโรงเรียน หรือตามที่สาธารณะ?"


 


"ผมมองดูใบหน้าเด็กๆ เมื่อให้พวกเขาดูแผนที่ และบอกเด็กๆ ว่า เรามีพื้นที่ถึง 78% ส่วนชาวปาเลสไตน์มีแค่ 22% และตอนนี้ชาวปาเลสไตน์ต้องการแค่นั้นแหละ ผมเห็นม่านหมอกของความไม่รู้ถูกปัดเป่าไปจากความคิดของเด็กๆ ในอิสราเอล พ่อแม่ผู้สูญเสียเป็นปูชนียบุคคล เพราะพวกเขาเป็นผู้จ่ายราคา ทุกคนจึงให้ความเคารพ ผมได้รับความเคารพ แต่แน่นอน มีคนไม่น้อยไม่ต้องการได้ยินคำพูดของผม"


 


ทุกๆ "วันเยรูซาเล็ม" ซึ่งเป็นวันที่ประเทศอิสราเอลเฉลิมฉลองการชิงเมืองศักดิ์สิทธิ์นี้มาได้ รามีจะยืนที่ถนนพร้อมกับรูปถ่ายของซมาดาร์ และพยายามชักชวนผู้คนให้มาเข้าร่วมภารกิจของการสร้างสันติภาพ วันเยรูซาเล็มปีที่แล้ว เขายืนอยู่หน้าธงชาติอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ปักไขว้กัน มีคนพูดใส่เขาว่า น่าเสียดายที่เขาไม่ถูกระเบิดตายไปเสียด้วย "นั่นคือมิติของปัญหา" เขากล่าว


 


"คุณจะทำอย่างนั้นในวันเยรูซาเล็มปีนี้อีกหรือเปล่า?"


 


"แน่นอน บางคนอาจจะถุยน้ำลายและสาปแช่งผม แต่ผมรู้ว่านั่นเป็นแค่ด้านหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น ยังมีอีกด้านที่เราต้องแก้ไข ผมกับพ่อแม่คู่อื่นๆ กำลังร่วมมือกันเริ่มต้น"


 


"สังคมต้องสูญเสียอะไรไปแค่ไหนเมื่อมันใช้กำลังทหารยึดครองดินแดนของคนอื่น?"


 


"สังคมต้องจ่ายราคาที่แบกรับไม่ไหว เริ่มตั้งแต่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม เมื่อเราไม่ยอมให้ผู้หญิงท้องผ่านด่านและปล่อยให้ลูกๆ ของเธอตาย เท่ากับเราลดตัวลงเหมือนสัตว์และทำตัวไม่ต่างจากผู้ระเบิดพลีชีพ"


 


"คุณอยากพูดอะไรบ้างกับชาวยิวในประเทศอื่นๆ เช่น ในอังกฤษ ชาวยิวที่สนับสนุนอิสราเอลเพราะรู้สึกว่าจำเป็น?"


 


"ผมอยากพูดว่า ชาวยิวควรซื่อตรงต่อคุณค่าแบบชาวยิวที่แท้จริง และสนับสนุนขบวนการสันติภาพในอิสราเอล ไม่ใช่สนับสนุนรัฐอิสราเอล แรงกดดันจากภายนอกเท่านั้น ไม่ว่าจากชาวยิว จากรัฐบาลประเทศต่างๆ จากความคิดเห็นของสาธารณชน จึงจะช่วยยุติฝันร้ายครั้งนี้ลงได้ ตราบใดที่มีแต่ความเงียบ ทำเป็นมองไม่เห็น คอยใส่ร้ายป้ายสีคนที่วิจารณ์ว่าเป็นพวกต่อต้านยิว ตราบนั้นเราก็ไม่ต่างจากคนที่ยืนดูเฉยๆ ในยามที่ชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเหตุการณ์โฮโลคอสต์ เราไม่เพียงสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรม แต่เราจะไม่มีวันรู้จักรสชาติของสันติภาพด้วย และลูกหลานของเราก็จะไม่มีวันรู้จัก ผมขอถามคุณหน่อยเถิด ทำแบบนี้มันคุ้มกันตรงไหน?"


 


"แต่ชาวยิวอาจเถียงว่า ชาวยิวตกอยู่ในอันตราย ชาวยิวจะถูกชาวอาหรับขับไล่ตกทะเล อิสราเอลจึงต้องยืนหยัดอย่างแข็งกร้าว?"


 


"ใครจะมาขับไล่เราตกทะเล? เราเป็นชาติมหาอำนาจที่สุดในตะวันออกกลาง เรามีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในปฏิบัติการครั้งล่าสุด [หมายถึงครั้งที่ชารอนโจมตีเวสต์แบงก์ในเดือนเมษายน 2002] เราส่งกองพลยานเกราะเข้าไปถึง 4 กองพลเพื่อรบกับประชาชนติดอาวุธราว 500 คนเท่านั้น มันน่าหัวเราะ ใครจะขับไล่เราตกทะเลหรือ? ใครสามารถขับไล่เราตกทะเล?... ปัญหาที่แท้จริงมีให้เห็นทุกวันที่ด่านตรวจต่างหาก หญิงชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งที่ถูกเหยียดหยามในตอนเช้า ลูกชายของนางอาจกลายเป็นผู้ระเบิดพลีชีพในตอนเย็น ชาวอิสราเอลไม่สามารถนั่งอยู่ในร้านกาแฟ จิบเครื่องดื่มกินอาหารอย่างสบายใจ ในขณะที่ห่างไปแค่สองร้อยเมตร มีประชาชนที่สิ้นหวังถูกรังแกและเด็กๆ ปาเลสไตน์กำลังจะอดตาย ผู้ระเบิดพลีชีพเป็นแค่ยุง การยึดครองต่างหากคือปลักตมที่เพาะยุงขึ้นมา"


 


ประธานของชมรมพ่อแม่ผู้สูญเสียคือ ยิทซัก แฟรงเกนธัล ลูกชายของเขาชื่ออาริกเป็นทหารเกณฑ์ อาริกถูกกลุ่มฮามาสลักพาตัวและสังหารทิ้ง หัวใจที่ยิ่งใหญ่ของยิทซักแสดงออกมาในคำปราศรัยเรียกร้องสันติภาพในการรณรงค์ที่เยรูซาเล็ม "ขอให้คนที่อวดอ้างว่าตัวเองสูงส่งดีงาม คนที่ประณามความอำมหิตของฆาตกรชาวปาเลสไตน์ คนพวกนี้จงมองดูตัวเองในกระจกให้ดีก่อน"


 


"[ลองถามตัวเองดูก่อนว่า] พวกเขาจะทำอย่างไร หากต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้การยึดครอง ผมบอกได้ว่า สำหรับตัวผมเองนั้น ผม นายยิทซัก แฟรงเกนธัล คงกลายเป็นนักรบเพื่อเสรีภาพอย่างไม่ต้องสงสัย และผมคงฆ่าฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะความมือถือสากปากถือศีลอันน่าทุเรศเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องต่อสู้กับเราไม่เลิกรา มาตรฐานที่เหลื่อมล้ำทำให้เราอวดอ้างถึงจรรยาบรรณขั้นสูงของกองทัพ ในขณะที่กองทัพของเรานี่แหละที่ฆ่าเด็กไร้เดียงสา... ถึงผมจะอยากทำอย่างนั้นแค่ไหน ผมก็ไม่สามารถพูดเต็มปากว่า ชาวปาเลสไตน์คือผู้ร้ายที่ฆ่าลูกชายผม นั่นเป็นหนทางมักง่าย เพราะเราต่างหากที่ไม่เต็มใจสร้างสันติภาพกับพวกเขา เราต่างหากที่ดันทุรังสร้างอำนาจควบคุมพวกเขาไว้ เราต่างหากที่คอยป้อนเชื้อไฟให้วัฏจักรของความรุนแรง..."


 


กลุ่มผู้ทวนกระแสในอิสราเอลเป็นกลุ่มคนที่กล้าหาญที่สุดที่ผมเคยพบเจอ นอกจากบุคคลที่โดดเด่นอย่าง มอร์เดชาย วานูนู ซึ่งใช้เวลาถึง 19 ปีในคุก โดยถูกขังเดี่ยวเกือบตลอดเวลา และทุกวันนี้ยังอยู่ภายใต้การจำกัดบริเวณในบ้าน กลุ่มคนที่คัดค้านรัฐอิสราเอลส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน และบทลงโทษที่พวกเขาต้องเผชิญมักไร้ความปรานี ในสายตาของชาวอิสราเอลจำนวนมาก พวกเขาคือคนทรยศ ไม่เพียงทรยศต่อประเทศชาติ แต่ยังทรยศต่อครอบครัว ต่อความเป็นชาวยิว และต่อความทรงจำในฐานะเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์


 


เจ้าของร้านหลายคนไม่ยอมขายของให้พวกเขา เพื่อนเก่าแก่เดินข้ามถนนหนีหน้าไม่ยอมพูดด้วย พวกเขาถูกตะโกนด่าใส่หน้าและถูกถุยน้ำลายใส่โดยไม่ทันตั้งตัว เหมือนอย่างที่รามีโดน


 


ขณะที่เขียนอยู่นี้ มีทหารอิสราเอล 635 นาย ไม่ยอมเข้าไปประจำการในเขตปาเลสไตน์ยึดครอง มีหลายร้อยคนถูกส่งตัวเข้าคุก อีกหลายคนประกาศเจตนารมณ์ในที่สาธารณะจนทำให้รัฐบาลวิตก ทหารเหล่านี้มีทั้งพลร่ม, นายทหารประจำรถถังและประจำหน่วยพิเศษ Sayeret-Matka ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 นักบินของกองทัพอากาศ 27 นาย หนึ่งในนั้นคือพลอากาศตรียิฟทาฮ์ สเปคเตอร์ วีรบุรุษในสงครามปี 1967 ประกาศว่า พวกเขาปฏิเสธที่จะออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ "ที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม" ต่อ "สถานที่ศูนย์กลางสำคัญของพลเรือน" ทหารส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธปฏิบัติการครั้งนี้เป็นทหารเกณฑ์หนุ่มที่ต้องรับราชการในกองทัพสามปี พวกเขาก่อตั้งองค์กรชื่อ "กล้าปฏิเสธ" (Courage to Refuse)


 


ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกองค์กรนี้ในบ่ายวันหนึ่ง อดีตจ่าอากาศโทอิสชัย โรเซน-ซวี เป็นชาวยิวที่เคร่งครัด เรานัดพบกันในสวนสาธารณะกลางกรุงเทลอาวีฟ พ้นจากหูตาที่ไม่เป็นมิตร ผมถามว่าอะไรที่ผลักดันให้เขากลายเป็น "ผู้ปฏิเสธ"


 


"มันใช้เวลานานกว่าผมจะยอมรับ เมื่อผมมาถึงฉนวนกาซากับหน่วยของผม ผมเห็นอยู่เต็มตาว่าสิ่งที่เราทำมันโหดร้าย แต่ผมก็ทำไปตามหน้าที่ ผมรู้สึกไม่สบายใจ อึดอัดใจ แต่ก็ยังทำตามหน้าที่ เวลาที่ได้ลาพัก พออยู่บ้าน ผมไม่เคยพูดเรื่องนี้ ผมกลายเป็นคนสองบุคลิกเหมือน ดร.เจคิลกับ มร.ไฮด์ ครั้นแล้ว ผมเริ่มตระหนักว่า ที่ด่านตรวจนั้น ผมอยู่ผิดที่ ด่านกั้นถนนที่เราต้องประจำการวันแล้ววันเล่า เรื่องราวที่แท้จริงของการยึดครองอยู่ที่ด่านกั้นถนนนั่นแหละ หน้าที่ของคุณที่นั่นไม่มีความหมายอะไร คุณแค่ยืนเฉยๆ และคิดว่าถ้าได้โทรศัพท์กลับบ้าน คุณอยากพูดว่า "มันน่าเบื่อ" แล้วทันใดนั้น ความคิดก็สว่างวาบขึ้นมาว่า ความไร้สาระนี้ที่จริงแล้วคืออะไร มันคือการกักกันให้คนหลายพันหลายหมื่นคนต้องทนทุกข์, อดสู, หิวโหย, โกรธแค้น"


 


"ลองนึกภาพดูสิ คุณยืนอยู่ตรงนั้นตอนตีห้า และคุณเห็นดวงตาของพวกเขา บางคนก็แก่คราวปู่ย่าของผม แล้วคุณก็มองเห็นความอดสูและความเกลียดชัง คุณอยากพาเขาออกมาและบอกเขาว่า "นี่คุณ ผมเป็นคนดีนะ ผมไม่ได้เกลียดชังอะไรคุณเลย" แต่แน่ล่ะ พูดไปก็เปล่าประโยชน์ สำหรับพวกเขา คุณคือการยึดครอง และ ไม่มีใคร ยอมสละอิสรภาพของเขาให้คุณเปล่าๆ"


 


ผมพูดว่า "รัฐบาลอิสราเอลยืนยันว่า ด่านกั้นถนนมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ระเบิดพลีชีพข้ามเข้ามา"


 


"ด่านกั้นถนนมีมาตั้ง 35 ปี ก่อนที่เริ่มจะมีระเบิดพลีชีพ ด่านมีไว้เพื่อควบคุม ควบคุมตลอดเวลาต่างหาก"


 


"ชาวปาเลสไตน์ที่รอด่านเปิดภายใต้การควบคุมของคุณเคยพยายามโต้เถียงกับคุณบ้างไหม?"


 


"เรามีอำนาจเบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่มีอำนาจเลย เรายึดบัตรประจำตัวของพวกเขาเมื่อไรก็ได้ แล้วพวกเขาก็จะไม่เหลืออะไรเลย เพราะถ้าไม่มีบัตรประจำตัว พวกเขาอาจถูกจับเมื่อไรก็ได้ พวกเขาจึงไม่อยากเสี่ยง ไม่โต้เถียง อาจนอบน้อมด้วยซ้ำ แต่ในใจไม่ใช่อย่างนั้นหรอก"


 


"ชาวอิสราเอลคนอื่นๆ มองคุณอย่างไร คนที่คุณพบเจอทุกวัน คนที่รู้ว่าคุณเป็น "ผู้ปฏิเสธ"?"


 


"บางคนมองว่าผมเป็นพวกซ้ายจัด ซึ่งตลกมาก เพราะผมเป็นคนเคร่งศาสนา คนพวกนี้ไม่เคยตั้งคำถามเรื่องศีลธรรม พวกเขาคิดแค่ว่าผมฟั่นเฟือน เพื่อนสนิทที่สุดของผมคนหนึ่งบอกว่า "โอเค มันเป็นสงครามที่งี่เง่า แต่สงครามก็คือสงคราม และเราต้องออกรบอยู่ดี" "


 


"ครอบครัวของคุณล่ะ?"


 


"เราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ หรือพยายามไม่คุย เมียผมพูดถึงแต่เรื่องอื่นตลอดเวลา เพราะมันยากมาก..."


 


"คุณจึงยืนหยัดด้วยตัวคุณเอง?"


 


"ใช่ ผมต่อสู้ตามลำพัง"


 


"คุณต้องสูญเสียอะไรบ้าง?"


 


"ผมไม่ใช่วีรบุรุษนะครับ เชื่อผมเถอะ ผมเป็นแค่คนที่เจ็บปวด ผมเจ็บปวดเมื่ออยู่ในตลาด แล้วมีคนที่ผมไม่รู้จักเข้ามาพูดว่า "ฉันอ่านเรื่องของแกในหนังสือพิมพ์ ทุเรศมาก คนอย่างแกนี่แหละที่ทำลายประเทศของเรา" มันรู้สึกเหมือนถูกมีดแทง ผมมักจมอยู่กับการต่อสู้ภายในหัวใจและในความคิด จะพูดอย่างไรดี....?"


 


"หมายความว่า คุณต้องคอยอธิบายให้ตัวเองฟังเสมอ?"


 


"ใช่ ใช่ และไม่ใช่แค่อธิบาย ผมต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ต้องคอยบอกตัวเองว่า "อิสชัย นาย ไม่ใช่ คนทรยศ" การพูดกับตัวเองคนเดียวแบบนี้เป็นเรื่องยากมาก"


 


"คุณอยากพูดอะไรกับชาวยิวในต่างประเทศที่มักบอกว่า การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของอิสราเอลคือลัทธิต่อต้านชาวยิว?"


 


"คำพูดแบบนี้เป็นการบิดเบือนอย่างแรง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่แย่ที่สุด ชาวยิวในอังกฤษหรือที่อื่นๆ ในโลก ที่เล่นเกมบิดเบือนแบบนี้ เท่ากับสนับสนุนให้การยึดครองและความโหดร้ายมีต่อไปไม่สิ้นสุด ชาวยิวไม่ควรสนับสนุนกลไกที่ลบหลู่ความทรงจำถึงความทุกข์ทรมานของชาวยิว แล้วเอาความทรงจำอันเจ็บปวดนั้นมาอ้างเป็นความชอบธรรมเพื่อกดขี่ชนชาติอื่น มันผิดหลักศาสนา"


 


"คุณอยากพูดอะไรกับเพื่อนร่วมชาติบ้าง?"


 


"ผมอยากพูดว่า ทุกคนควรใคร่ครวญเรื่องความรักชาติให้มากๆ เพราะการวิจารณ์รัฐบาลของเราในประเด็นนี้ เป็นความรักชาติ เพียงอย่างเดียว ที่เรายังเหลืออยู่"


 


 


............................................


จาก John Pilger, "The Last Taboo", ZNet June 07, 2006.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net