Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 13 ก.ย.49 นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นในชินคอร์ป ในส่วนของบริษัทกุหลาบแก้ว ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นนอมินีของต่างชาติว่า ตลท.ไม่มีกฎเกณฑ์และข้อจำกัดอะไรเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติและเชื้อชาติของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด(บจ.)


 


ดังนั้น การพิจารณาเรื่องสัญชาติของผู้ถือหุ้นของ บจ. โดยหน่วยงานอื่น ๆ จึงไม่มีผลเกี่ยวข้องกับความเป็น บจ.ใน ตลท. แต่อย่างใด ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชินคอร์ป คือเรื่องของคุณสมบัติในส่วนของการกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย โดย ตลท.กำหนดว่า บจ. ต้องมีสัดส่วนหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 และมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ต่ำกว่า 150 ราย


 


ส่วน ชินคอร์ป ตามข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2549 พบว่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย 1,294 ราย สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเพียงร้อยละ 3.85 เท่านั้น


 


ทั้งนี้ ตลท.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทให้แก้ไขคุณสมบัติดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะให้เวลาถึงเดือนพฤษภาคม 2550 หลังจากนั้นถ้าบริษัทยังแก้ไขไม่ได้ และร้องขอผ่อนผันเข้ามา ตลท. ก็อาจพิจารณาผ่อนผันให้อีก 6-12 เดือน หากยังไม่สามารถแก้ไขได้อีก หุ้นของชินคอร์ปจะต้องเข้าไปซื้อขายในระบบจับคู่ซื้อขาย หรือ คอลมาร์เกต แทนกระดานปกติ


 


ส่วนบริษัทย่อยของชินคอร์ป ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส, บมจ.ชินแซทเทิลไลท์ และ บมจ.ไอทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวพันกับสัมปทานภาครัฐ อาจถูกเรียกคืนสัมปทานหากชินคอร์ปถูกพิสูจน์ได้ว่า มีผู้ถือหุ้นต่างด้าวเกินสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ และหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ตลท.จะสอบถามไปยังบริษัทดังกล่าว เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลว่า เรื่องราวเกิดขึ้นเป็นอย่างไร


         


นอกจากนี้ยังจะให้คาดการณ์แนวทางการทำธุรกิจ และการรักษาสภาพการประกอบธุรกิจของตัวเองว่าเป็นอย่างไร เพื่อ ตลท. จะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาแจ้งให้ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม การสอบถามข้อมูลดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้ผลสรุปในเรื่องโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างด้าวในชินคอร์ปแล้วเท่านั้น


 


ส่วนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการเข้าตรวจสอบการถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปว่า มีการถือหุ้นแทนหรือนอมินี โดยคนต่างด้าวหรือไม่ ทั้งนี้ การนอมินีเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว


 


การเข้าไปตรวจสอบเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยตรวจสอบทะเบียนบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ในสัดส่วนผู้ถือหุ้นของคนไทยและคนต่างด้าว


 


จากการตรวจสอบ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ เข้าซื้อหุ้นเมื่อ 23 มกราคม 2549 โดยผู้ถือหุ้นที่เข้าถือหุ้นในบริษัทมีผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวโยงกันหลายทอด ผู้ถือหุ้นชั้นแรกในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด


 


ผู้ถือหุ้นที่สองซึ่งถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ต่อมาได้มีการร้องเรียนว่า ผู้ถือหุ้นในชั้นที่สอง คือบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด อาจมีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ทำให้บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย ผคือบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นชั้นแรก และบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็จะเป็นนิติบุคคลไทยตามไปด้วย


 


การตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียน พบจดทะเบียนตั้งบริษัทโดยครั้งแรก มีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท 10,000 หุ้น บริษัทเพิ่มทุนครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549เป็น 164,400,000 บาท (แบ่งเป็น 16,440,000 หุ้น) โดยมีผู้ถือหุ้น 7 คน โดยนายพงส์ สารสิน ถือหุ้น 5,096,396 หุ้น นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ถือหุ้น 3,288,000 หุ้น บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 8,050,700 หุ้น


 


บริษัทเพิ่มทุนครั้งสองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 เพิ่มทุนอีก 3,835,600,000 บาท รวมเป็น 4,000,000,000 บาท แบ่งเป็น 400,000,000 หุ้น โดยมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย นายพงส์ สารสิน ถือหุ้น 5,096,396 หุ้น นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ถือหุ้น 8,288,000 หุ้น บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 119,615,800 หุ้น นายสุรินทร์ อุปพัทธกุล ถือหุ้น 272,000,001 หุ้น


      


การตรวจสอบหลักฐานการชำระเงินค่าหุ้น ที่มาของเงินค่าหุ้นและอำนาจเบิกจ่ายเงินในบัญชีธนาคารของบริษัท ที่บริษัทส่งให้ ทำให้ทราบว่า บริษัทได้เปิดบัญชีกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 บัญชี คือ บัญชีเดินสะพัด และบัญชีออมทรัพย์ ชำระค่าหุ้น จากนายพงส์ สารสิน เป็นเงินสด ได้รับชำระค่าหุ้นจากบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงินโอน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับชำระค่าหุ้น ตามหลักฐานใบรับชำระเงินค่าหุ้นสอดคล้องกับใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดของธนาคาร (Bank Statements) ที่บริษัทส่งมาพร้อมกัน


 


ปรากฏว่าการรับชำระเงินค่าหุ้นทั้งหมดเป็นเงินโอนเข้าบัญชีบริษัทในยอดเดียวกันจำนวน 131,540,000 บาท


 


ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่และหลักฐานชี้แจง เกี่ยวกับบัญชีของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ปรากฏว่าได้มีเงินโอนเข้าบัญชีบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด จำนวน 131,540,000 (ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เท่ากับจำนวนเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นในขณะตั้งบริษัท นายพงส์ และบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ต้องชำระค่าหุ้นให้กับบริษัท) เป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานรัชโยธิน ของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด


 


นอกจากนี้ใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานรัชโยธิน ของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด มียอดเงินจำนวน 32,860,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินที่นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กู้ไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อไปชำระค่าหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว (จำกัด) โอนไปเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 1-2-74724-3 ธนาคารสาขาเดียวกันของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด


         


ผลสอบระบุว่า แหล่งที่มาของเงินที่เข้ามาในบัญชีของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทโอนไปเข้าบัญชีของบริษัท กุหลาบแก้ว ที่บริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ใช้ค้ำประกันเงินกู้ของนายศุภเดช รวมถึงวงเงินที่บริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด จ่ายชำระค่าหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงินโอนมาแหล่งเดียวกันคือ FULLERTON PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์


         


นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้นายศุภเดช กู้เงินวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาจำนวน 32,860,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR+3.5 ต่อปี ประกันเงินกู้โดยบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด


 


ส่วนเงินค่าหุ้นของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล จำนวน 2,720,000,100 บาท โอน BAHTNET จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น โดยธนาคารได้รับคำสั่งโอนเงิน จากบัญชีบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งที่ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ โดยมีบริษัท กรีนแลนด์ จำกัด มอบอำนาจให้นายสุรินทร์ อุปพัทธกุล เป็นผู้ดำเนินการลงทุนของบริษัท ก่อนนายสุรินทร์ สั่งโอนเงินเข้าบัญชีบริษัท กุหลาบแก้ว


 


อีกทั้ง ตั้งแต่เปิดบัญชีเป็นต้นมา ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในบัญชีธนาคารของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน คือ บุคคล 2 ใน 3 ประกอบด้วย 1.Mr S.Isawaran 2.Ms. Tan Ai Ching 3.Ms.Chia Yue Joo ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด และบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด แตกต่างไปจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามที่จดทะเบียนบริษัทไว้ คือ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด มีกรรมการ 3 คน คือ นายพงส์ สารสิน นายเอส ไอสวาราน และนางสาวไช ยู จู และกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน


         


จากการตรวจสอบบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ทั้ง 4 บริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องในการเข้าถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในที่เดียวกันเลขที่ 31/125-128 อาคารไทยวาทาวเวอร์ 2 ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร


 


อย่างไรก็ดีคณะทำงานได้เชิญนายพงส์เข้าชี้แจง ระบุว่า การลงทุนในบริษัท กุหลาบแก้ว ทางกลุ่มบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยนายเอส ไอสวาราน ตัวแทนของกลุ่ม เทมาเส็ก เป็นผู้ชักชวน โดยซื้อหุ้นมาจากนายสมยศ สุธีรพรชัย ทนายความของบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 3,000 หุ้น และชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด ให้นายสมยศ สุธีรพรชัย ประมาณ 30,000 บาท ต่อมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกกว่า 50 ล้านบาท และชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนวิทยุ จำนวน 50,933,000 บาท คืนให้แก่บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในวันเดียวกันที่ บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้ทดรองจ่ายค่าหุ้นให้ไปก่อน


         


จากการตรวจสอบใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดของนายพงส์ สารสิน เช็คฉบับดังกล่าวได้คัดจ่ายจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 29 พฤษภาคม 2549)


 


ส่วนเหตุผลที่ถือหุ้นบุริมสิทธิที่ด้อยกว่าสิทธิของหุ้นสามัญ เนื่องจากเป็นหุ้นประเภทที่ได้รับเงินปันผลแน่นอนร้อยละ 3 ต่อปี และเป็นประเภทปันผลสะสม ซึ่งคุ้มค่าทางธุรกิจและใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในขณะนั้น


 


ขณะที่ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ชี้แจงว่า การลงทุนในบริษัท กุหลาบแก้ว ได้มีการเจรจาระหว่างกลุ่มต่างประเทศ คือ บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และกลุ่มคนไทย คือ นายพงส์ และนายศุภเดช โดยใช้เวลาในการตัดสินใจร่วมลงทุนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท และชำระค่าหุ้นเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ สั่งจ่ายให้บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด


 


เงินค่าหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงินส่วนตัวของนายศุภเดช โดยกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ อัตราดอกเบี้ย MRR+3.5 ต่อปี โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องชำระเงินกู้คืนทั้งหมดภายใน 5 ปี


 


จากการตรวจสอบหลักฐานหนังสือชี้แจงของธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้แจงว่า ธนาคารได้ให้นายศุภเดช กู้เงินตามสัญญาเงินกู้เลขที่ 111-3-14434-9 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2549 จำนวน 32,860,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR+3.5 ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MRR ในขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 7.25 ต่อปี โดยจำนำสิทธิบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ของบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และค้ำประกันเงินกู้โดยบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด


 


ภายหลังการตรวจสอบนายศุภเดช ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าเงินกู้จำนวน 32,860,000 บาท ที่กู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ นั้น บริษัท ไซเพรส ได้เข้าค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว และนายศุภเดชได้ชำระเงินกู้คืนธนาคารไปหมดแล้ว


 


ขณะที่นายสุรินทร์ อุปพัทธกุล ชี้แจงว่า การลงทุนในบริษัท กุหลาบแก้วได้รับการชักชวนจาก โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่ประเทศสิงคโปร์ และก่อนที่จะร่วมลงทุนได้มาพบและเจรจาการเข้าร่วมลงทุนกับนายพงส์ ซึ่งยินดีที่นายสุรินทร์ ร่วมลงทุนด้วย โดยเข้าถือหุ้นสามัญ จำนวน 272 ล้านหุ้น และจ่ายเงินค่าหุ้นด้วยเงินของนายสุรินทร์เอง


 


จากการตรวจสอบหลักฐานบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรากฏว่า เงินค่าหุ้นจำนวน 2,720,000,100 บาท เป็นเงินโอน BAHTNET TRN, LP BKHQ 45764 จากธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามคำสั่งของนายสุรินทร์ และเงินดังกล่าวเป็นเงินโอนตามคำสั่งมาจากบัญชี Fairmont Investments Group Inc. ธนาคาร Credit Suisse, Singapore อีกทอด


 


ทั้งนี้ หลักฐานการจดทะเบียนบริษัท แฟร์มอนท์ อินเวสท์เมนท์ส กรุ๊ป จำกัด ปรากฏว่า บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่อาณาเขตหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ปณ.905 โรด ทาวน์ ทอร์โตลา หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ ทุนจดทะเบียน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบริษัทกรีนแลนด์ จำกัด มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และมอบอำนาจให้นายสุรินทร์เป็นผู้ดำเนินการลงทุน


                                      


เรียบเรียงจาก กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net