Skip to main content
sharethis


 


 


14 ก.ย. 2549 - คณะครูอาจารย์ นักจิตวิทยา นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและการดูแลสุขภาพเด็ก จากประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมรับมือกับผลกระทบของวัฒนธรรมยุคใหม่ที่จะส่งผลให้เยาวชนได้รับความกดดัน จนอาจกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต


 


กลุ่มคนจากสาขาอาชีพดังกล่าวได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่หนังสือพิมพ์เดอะเดลี่เทเลกราฟของอังกฤษ โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่าวัฒนธรรมขยะ หรือ  Junk Culture อันประกอบด้วย การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสด้านการศึกษา เกมคอมพิวเตอร์ และอาหารฟาสต์ฟู้ด คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กพยายามเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่โดยไม่ได้ปรับตัวไปตามวัยของตน ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กๆ ถูกจำกัดไว้แค่การเลียนแบบ แต่เด็กไม่อาจคิดหรือเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น


 


ทั้งนี้ กลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสุขภาพและพัฒนาการเด็กกล่าวว่าอาหารที่เด็กๆ ได้รับจากโรงอาหารของโรงเรียนส่วนใหญ่ เป็นอาหารขยะที่เต็มไปด้วยไขมันและคลอเลสเตอรอลสูงจนผิดหลักโภชนาการ


 


ขณะเดียวกัน การมุ่งเน้นให้เด็กยุคใหม่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีด้วยการปลูกฝังตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกกดดัน และถูกเร่งให้พัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้เพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิตัล แต่เด็กบางส่วนอาจยังไม่พร้อมที่จะต้องเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว เมื่อมีการเรียกร้องให้เด็กๆ ต้องปรับตัวและเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ จึงอาจทำให้เด็กถูกตัดขาดจากการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งหมายถึงการมีสถานที่จริงๆ ให้วิ่งเล่นด้วย


 


เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกยังระบุอีกด้วยว่าสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูอยู่ทุกวันคือสิ่งสำคัญในการช่วยให้เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ต่างกัน และมีส่วนอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของเด็ก


 


ด้าน ซู พาล์มเมอร์ นักจิตวิทยาเด็ก ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้รณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กถูกผลักดันให้เติบโตอย่างรวดเร็วเกินไป และแสดงความเห็นด้วยว่าพัฒนาการของเด็กต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามวัย ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างเร่งรีบเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กรายหนึ่งได้เอ่ยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยอ้างถึงคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กว่าการศึกษาของอังกฤษปัจจุบันมุ่งเน้นที่การจับ "กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด" มากกว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อเด็ก จึงควรจะมีการถกเถียงและอภิปรายอย่างเป็นทางการเพื่อรับมือกับปัญหาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กในศตวรรณที่ 21


 


นอกจากนี้ ไมเคิล มอร์เพอร์โก นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนมือรางวัล ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวด้วย พร้อมกับกล่าวว่าความกดดันด้านการศึกษาและแรงผลักดันเรื่องธุรกิจโรงเรียนจะยิ่งส่งผลให้เด็กรู้สึกย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม โดยมอร์เพอร์โกเปรียบเทียบความกดดันในด้านต่างๆ กับยาพิษที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็ก เพราะนับวันพื้นที่จริงๆ สำหรับเด็กในการอ่าน การใช้จินตนาการ การฟังเพลง การดูละคร การเสพย์ศิลปะ หรือแม้แต่การได้วิ่งเล่นอย่างมีอิสระ กลายเป็นเรื่องที่หาเจอได้ยากในสังคมยุคใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net